ทุ่งกุลาม่วนซื่น

ทุ่งกุลาร้องไห้ ชื่อเรียกพื้นที่ราบกว่า 2 ล้าน 1 แสน ไร่ กินพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคอีสาน ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร โดยความเข้าใจของใครหลายคนชื่อนี้แสดงถึงความทุกข์ยาก แห้งแล้ง ที่สุดในภาคอีสาน ถือเป็นมายาคติที่ส่งต่อกันมาอย่างช้านาน จากการที่คนนอกสื่อสาร

แต่ว่าสำหรับคนในพื้นที่นั้นทุ่งกุลาเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างดี จนมีวิถีพึ่งพาและรักษามาจากรุ่นสู่รุ่น 

“ทุ่งกุลาม่วนซื่น” เสียงยืนยันจากพ่อๆ แม่ๆ ในพื้นที่ ได้ยืนยันอย่างชัดเจนและหนักแน่นเพราะทรัพยากรที่มีทั้งบนบก ใต้ดิน ในน้ำ หรือยอดไม้ นั้นคือแหล่งอาหารและรายได้สำคัญของชาวบ้าน เป็นเป็นระบบนิเวศที่มีความความหลากหลาย หมุนเวียนมาตามฤดูกาล ให้ได้หาอยู่หากินได้ตลอดทั้งปี 

อย่างภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่24 กุมภาพันธ์ 2567 ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว แทบไม่มีฝนตกเลยต่อเนื่องหลายวัน แต่ในฤดูกาลนี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการหาอยู่หากินของชาวบ้านเลย เพราะในทุกๆฤดูจะมีอาหารตามฤดูกาลจากธรรมชาติ อย่างในฤดูร้อนนี้ชาวทุ่งกุลาก็จะมีปลาที่จากแหล่งน้ำที่แห้งขอดลง ซึ่งจะเป็นช่วงที่ปลาอพยพหาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก ไม่กระจัดกระจายเหมือนช่วงน้ำหลาก หรือชาวอีสานเรียกว่า “ปล่าข่อน” และในฤดูนี้ชาวบ้านจะสามารถจับปลาได้ง่ายและหาได้เป็นจำนวนมาก แบ่งกินแบ่งขาย อิ่มท้องและมีรายได้

ความพิเศษของพื้นที่ ทุ่งกุลามีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้ฤดูฝนเป็นพื้นที่รับน้ำที่หลากมาจากพื้นที่รอบๆ ของแอ่ง นำสารอาหารต่างๆ ลงมารวมกันเป็นวัตถุดิบในการสร้างสารหอม และเมล็ดข้าวที่มีลักษณะพิเศษคือ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา” เป็นสินค้าขึ้นทะเบียน GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก ใครที่ได้ลิ้มลองจะติดใจในรสสัมผัสที่นุ่ม เมื่อเคี้ยวไปก็จะได้กลิ่นที่หอมโดดเด่น จนเป็นสินค้าส่งออกระดับโลก

ภูมิปัญญาหาอยู่หากินและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นี้เหมือนอัญมนีล้ำค่าที่ถูกซ่อนไว้ในพื้นที่ เพราะคนนอกพื้นที่น้อยคนนักที่จะได้สัมผัส จึงเริ่มมีการเปิดพื้นที่ให้คนภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้และได้เห็นพื้นที่จริง เพื่อเปิดมุมมองใหม่ผ่านกิจกรรมผลิตหนังสั้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในเทศกาลหนังทุ่งกุลา ตอน มูนมังสังขยา ทุ่งกุลาบ้านเฮา  ที่เป็นความร่วมมือของ เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา, วัด, ชุมชน, สถาบันการศึกษา, องค์กรสื่อมวลชน, องค์กรอิสระและองค์กรภาคประชาชน ได้มาตุ้มมาโฮมกันที่พื้นที่ทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด เพืื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้รู้จักวิถีความเป็นอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลา รวมถึงประเด็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เข้าไปพิสูจน์ว่าทุ่งกุลานั้นมันแห้งมันแล้งดังความเขาว่าจริงหรือ

ทรัพยาการ วิถีภูมิปัญญา สิ่งเหล่านี้จะยังถูกส่งต่อไปได้อีกหลายรุ่น หากทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวิถี ความเชื่อ ระบบนิเวศ ของการพึ่งพาอาศัยกันของผู้คนกับธรรมชาติ ก็จะเกิดความตระหนัก รักและหวงแหน การสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้าใจ ขยายวงกว้างการเข้าถึง ทุ่งกุลาม่วนซื่นในสายตาคนในพื้นที่ อาจจะออกสู่สายตาคนภายนอก ลบภาพจำจากอดีตที่ถูกมองว่าแห้งแล้งได้ 

แชร์บทความนี้