ท่องเที่ยว Low Carbon มิติใหม่ของการท่องเที่ยวยุคโลกรวน ที่เกาะลันตา

เรือหางยาวไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลำแรกของเกาะลันตา

กิจกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 8% ซึ่งนี่จะเป็นโจทย์ของคนทำท่องเที่ยวว่าจะมีส่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรบ้าง?

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์

หลังจากโควิด-19 การท่องเที่ยววิถีชุมชน ถือว่าเป็นที่นิยมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อย่างที่เกาะลันตา จ.กระบี่ มีการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ทำกันมาเป็นเวลานาน และผลักดันเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีผู้ประกอบการ ชาวบ้านชุมชนต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี

เกาะลันตาเองยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่เน้นแหล่งธรรมชาติภายใต้แนวคิด GO Green ประหยัดพลังงาน เพื่อผลักดันเกาะลันตา ให้เป็นพื้นที่นำร่องเรื่องการประหยัดพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ ภายโดย อัครวุฒิ สุขยะฤกษ์

“มีงานวิจัยรายงานว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 8% ซึ่งนี่จะเป็นโจทย์ของคนทำท่องเที่ยวว่าจะมีส่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรบ้าง”

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ 

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ ให้สัมภาษณ์กับเพจ C-South Thai PBS ในรายการแหลงให้ดัง ควังให้ชัด ถึงสาเหตุที่ทางเกาะลันตา ต้องเริ่มจัดการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon

“อย่างกิจกรรมเรือแจว ของทุ่งหยีเพ็ง หรือการใช้อาหารท้องถิ่นเสิร์ฟให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเมนูข้าวเหนียวปลาแดดเดียว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชน ลดการนำเข้า มีวิธีการแปลรูปโดยใช้พลังงานธรรมชาติอย่างแสงแดด นี่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon”

ภาพเรือแจว ทุ่งหยีเพ็ง โดย : กีรติ โชติรัตน์

ปัจจุบันทุ่งหยีเพ็ง มีการจัดทำเรือหางยาวโซลาร์เซลล์ สำหรับนำเที่ยว เป็นอีกความก้าวหน้าในเรื่องการจัดการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ของพื้นที่ ถือว่าเป็นต้นแบบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติพร้อมการประหยัดพลังงาน

“ในอนาคตสักวันหนึ่งการท่องเที่ยวเข้ามาถึงชุมชนของเรา ทำให้เราคิดถึงการเดินทางของหมู่บ้านพวกเราในอนาคตทั้ง 3 เรื่อง คือสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเรื่องสังคม”

นราธร หงส์ทอง

นราธร หงส์ทอง ประธานชุมชนท่องเที่ยวทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ภาพโดย อัครวุฒิ สุขยะฤกษ์

นราธร หงส์ทอง ประธานชุมชนท่องเที่ยวทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ พูดถึงการวางแนวทางของชุมชนเพื่อรับมือการท่องเที่ยว พร้อมเล่าถึงวิธีการสร้างชุมชนท่องเที่ยวจากฐานทรัพยากรชุมชน ที่ลดการสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ

“เราใช้การท่องเที่ยวชุมชน มาปรับสมดุลชุมชน ทุกสิ่งที่เรามีอยู่ในหมู่บ้าน เรานำมาจัดการท่องเที่ยวทั้งหมด ไม่ว่าจะทะเล ป่า ความเป็นอยู่ของผู้คน บ้านเรือน อาหารการกิน แสงพระอาทิตย์ ห้วงเวลาของธรรมชาติ เช้า เที่ยง เย็น กลางคืน ดึก สามารถนำมาจัดการท่องเที่ยวได้ทั้งหมด”

นราธร หงส์ทอง
เรือหางยาวไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลำแรกของเกาะลันตา

ปัจจุบันไฮไลท์การท่องเทียวชุมชนทุ่งหยีเพ็ง คือ การนั่งเรือแจว ชมแสงเช้า ทานมื้อเช้าฝีมือชุมชน ซึ่งนี่เป็นทริปท่องเที่ยวอีกทริปที่ขายดีของชุมชน และสามารถกระจายรายได้ให้คนในชุมชน จนเกิดเป็นโมเดลการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน

แชร์บทความนี้