ฟังเสียงคนใต้ : เปลี่ยนการเมืองใหม่ ผ่านการสรรหาสว.67?

จับตาก่อนก้าวสู่วันเลือก สว. 2567 ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ   ฟังเสียงประเทศไทย  ชวนฟังเสียงคนใต้ หลัง กกต. สรุปยอดผู้สมัครชิง สว.จากทั่วประเทศ 48,117 คน ตัวเลขนี้อาจไม่สูง แต่มีความหมาย และทำให้เห็นภาพความหลากหลายของกลุ่มคนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงเจตจำนงค์ทางการเมือง ภายใต้กติกาที่มีความซับซ้อน หลายคนยังมีความหวังว่าการสรรคหา สว.ในครั้งนี้เราจะเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนไป

เราเป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เปิดพื้นที่ให้เราทุกคนเข้าไปอยู่ในในสนาม ของการเลือกตัวแทน เพื่อไปทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง   

คนรุ่นใหม่คนรุ่นเก่ามารวมกันช่วยกันพัฒนาประเทศ

คัดกรองกฎหมายที่เป็นธรรม  แก้ไขรัฐธรรมนูญเเละมีหัวใจที่ยึดโยงกับประชาชน

นี่เป็นเสียงส่วนหนึ่งของเวทีรายการฟังเสียงประเทศไทยเราออกเดินทางเพื่อร่วมรับฟังเสียงสะท้อนของคนใต้ ผ่านเวที สรรหาสว.สะท้อนความคาดหวังของประชาชน ซึ่งถูกจัดขึ้น อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุงภายใต้การทำงานร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์สื่อสาธารณะ เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้าเเละภาคีเครือข่ายฯ  ล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นและความคาดหวัง ภายใต้แนวคิด  Deliberative  Dialogues สนทนาอย่างไตร่ตรอง

ผศ. ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน คณบดีวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า บริบทในเชิงพื้นที่ เราจะเห็นตัวเลขที่สำคัญคือยอดผู้สมัคร ก็คือว่าใน 3 ลำดับเเรก ก็คือมีจังหวัดนครศรีธรรมราช ถัดมาเป็นจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง เราดูตัวเลขของพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เราจะเห็นความยึดโยงว่าจริง ๆ แล้วตัวเลขเหล่านนี้ ถ้าเราย้อนกลับไปดูความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงของการเมืองระดับชาติที่เราเรียก สส. ก็จะเป็นไปลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราดูแค่เพียงเชิงพื้นที่ ผมคิดว่าอาจจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เราเดินทางมาไกลจนกระทั่งเราได้เห็นเชิงพื้นที่ เห็นคนใหม่ๆ เราเห็นปรากฏการณ์ชัด ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทางการเมืองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ในความหมายของผมไม่ได้หมายถึงเจนใหม่ แต่หมายความว่าคนในยุคปัจจุบันเริ่มมองเห็นและให้ความสำคัญทางการเมืองมากขึ้น ต้องการที่จะเอาตัวเองมาเป็นตัวแทนเพราะฉะนั้นข่าวสารที่บอกว่าสะเทือนบ้านใหญ่ไหม “ผมคิดว่าสะเทือนแน่” เพราะว่าคนเริ่มเข้าใจเเละอยากเข้ามาร่วมในกติกานี้

ผมคิดว่าก็จะดีขึ้นหากว่ากติกาทั้งหมดถูกเขียนโดยภาคประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนจริงๆ

ผศ. ดร.ทวนธง กล่าว

รอบนี้เราเห็นประชาชนที่สนใจการเมืองเข้ามาสมัคร ด้วยความรู้สึกว่าเราต้องเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนเพื่อไปเลือกตัวแทน หากดูตัวเลขทางใต้คึกคักอยู่ต้นๆของประเทศ เราจะเห็นได้ว่าภาคใต้เป็นภาคที่ยังมีความตื่นเต้นทางการเมือง ไม่มีอะไรจะรองรับได้ว่าคนบ้านเรา(พัทลุง)จะได้เป็นสว.ไหม เพราะกระบวนการมีความยุ่งยากซับซ้อน เเต่ก็มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนเสียงประชาชน สะท้อนภาพว่าความเป็นพลเมืองเเต่จะสะท้อนเสียงประชาชนจริงไหม ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็น ภาพจะชัดต่อเมื่อเราได้คน 200 คนแล้ว

ผศ.เจษฎา ทองขาว คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าว่า วันนี้ก็อย่างที่ทราบกันว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาประกาศตัวเองผ่านโซเชียลว่าเขาแค่ต้องการไปช่วยเลือก เขาไม่เป็นก็ได้แต่อย่างน้อยที่สุด 2,500 บาทของเขาจะเป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเป็นตัวเเทนจริงๆ ผมมองว่ามันอาจจะเห็น แม้จะไม่ชัดเจน แม้จะเลือนลาง ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้มันต้องมี สว. ตัวตึงเข้าไปบ้าง อย่างน้อยที่สุดที่มีการอภิปราย คนเหล่านี้พร้อมที่จะพูดในมุมของตัวเองเต็มที่ พร้อมที่จะสะท้อนความคิดเห็นเต็มที่โดยที่ไม่กลัวอิทธิพลในเรื่องของการเมืองใดๆ เป็นมุมของความหวัง แม้มันจะไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็ต้องหวัง ถ้าเราไม่มีความหวัง เราก็เดินกันต่อไปไม่ได้

เเละคาดหวังเห็น สว.ชุดใหม่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการร่วมโหวตแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสัดส่วน สว. ที่ต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลงต้องถึง 1 ใน 3 แต่ถ้าเข้าไปไม่ถึง ก็อยู่กันแบบนี้

ผศ.เจษฎา กล่าวอีกว่า สว.จะมาด้วยวิธีไหนไม่สำคัญ สำคัญตรงอำนาจที่มี โดบยังมีกฎหมายหลายฉบับที่รอ สว. ถ้าได้ สว.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ก็จะเข้าไปทำงานเพื่อประชาชน อย่างไรก็ตาม มองว่าหากได้ สว.ชุดใหม่ การประชุม สว. จะดุเดือดไม่แพ้ การประชุม สส. เพราะมีถึง 20 กลุ่มอาชีพ จึงอยากให้ประชาชนติดตามและส่งเสียงสะท้อนการทำงานของ สว.

กิตติพิชญ์ กลับคุณ ประธานหอการค้า จ.พัทลุง กล่าวว่า กติกาเลือก สว. ซับซ้อนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมยาก แต่ จ.พัทลุง ก็เป็นจังหวัดที่มีผู้ส่งใบสมัคร สว. 946 คน แต่มีไม่รู้เท่าไหร่ที่ขาดคุณสมบัติ ที่ต้องถูกตัดออกไป 

กิตติพิชญ์ กล่าวอีกว่า การเลือก สว.ในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ไม่น่าห่วงเท่าการเลือกในระดับประเทศ ซึ่งต้องมีการจัดตั้งแน่นอน ให้โหวตคนของใคร แต่ไม่ว่าใคร หากได้เลือกไปเป็น สว. ก็ยังอยากให้โอกาสลองทำงานดูก่อน ว่าจะทำเพื่อประเทศ เพื่อประชาชนจริงหรือไม่

ด้านรศ. ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราเห็นคือกติกาของการเลือกตั้ง สว. ชุดนี้เป็นการบังคับใช้ครั้งแรก เรากำลังเห็นการทดสอบระบบใหม่ ว่าการเลือกตั้ง สว. ก็คือสรรหากันเอง อาจจะนึกถึงประวัติศาสตร์การเมืองก็ได้ ว่ามันเคยมีอะไรแบบนี้ไหม ผมคิดว่าคนที่ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบบกติกา สว. ฉบับนี้ อาจจะคิดถึงสมัชชาแห่งชาติ หลัง 14 ตุลาคม 2516 ในแง่ประวัติศาสตร์ พอสิ้นรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร สมัยนั้นก็มีการโปรดเกล้า จำนวน 3,000 คน ให้ไปเลือกกันเอง เราเอาคนที่จำนวนคะแนนสูงสุดคิดไว้ที่ประมาณ 300 ให้โปรดเกล้าได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

รศ. ดร.บัณฑิต กล่าวต่ออีกว่า มันมีจินตนาการบางอย่างที่เราเชื่อว่าชุมชนทางการเมือง เมื่อเรามาด้วยกันเองเราจะได้คนที่ดีที่สุด แต่ว่าภายใต้กติกาฉบับนี้มันก็ดูเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะว่าการแบ่งกลุ่มอาชีพไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การแบ่งกลุ่มอาชีพอาจจะไม่สะท้อนความเป็นตัวแทน กติกาสำคัญของการเลือกคือการมีตัวแทนของคนทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้นพอไปกำหนด 2,500 บาท ใน พ.ร.บ. ผมยังไม่เข้าใจว่า 2,500 บาท กำหนดไว้ทำไม ในเมื่อ กกต. ก็ได้รับงบอยู่แล้ว เเละทำให้เห็นว่ากันคนจำนวนหนึ่งออก ในขณะที่คุณเปิดประตูข้างๆ อีกจำนวนหนึ่ง มันชวนให้เราคิดว่า การที่มีคนสมัครในบางกลุ่มมากผิดปกติ บางกลุ่มน้อยกว่าปกติก็เลยทำให้เราสงสัยในเรื่องความเป็นตัวแทน ซึ่งมันไม่ควรมีข้อกังขาใดๆ ว่านี่คือกติกาที่เราจะสร้างระบบการเมืองที่เอาไปคุ้มครองสิทธิ เอาไปกำกับการทำงานของรัฐบาล เอาไปสรรหาบุคคลต่างๆ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่แรก ฐานความชอบธรรมกับความเป็นตัวแทนมีปัญหาตั้งแต่แรก

ทิ้งท้าย ความฝันผมคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เขียนใหม่ทั้งฉบับ การเขียนรัฐธรรมนูญก็คือการตัดเสื้อใหม่ทั้งตัว มันต้องเขียนให้ร้อยรัดเชื่อมโยงกัน เพราะฉะนั้นถามว่าเปลี่ยนไหม มันไม่ได้เปลี่ยนหรอก ต้องเปลี่ยนกติกา มันถึงจะได้กระบวนการที่เป็นธรรมกว่านี้

ฟังข้อมูลส่วนหนึ่งไปแล้วจากข้อมูลข้างต้น ทีมงานได้ประมวลภาพฉากทัศน์ ที่อยากจะเห็นหรืออยากจะให้เป็น ล้อไปกับวงสนทนา ด้วยการเลือกภาพตั้งต้นจาก 3 ภาพ

หลังจากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมทั้งหมดแล้ว คุณอยากเห็น “ภาพอนาคตของใต้ และประเทศไทย  ” เป็นแบบไหน สามารถโหวตฉากทัศน์ได้ที่นี่……

แชร์บทความนี้