ฟังเสียงจากใจคนหนองพะวา ความหวังในการฟื้นฟูสู่ปัญหาใหม่ที่ประทุในเปลวเพลิง

22 เม.ย. 2567 เกิดเหตุไฟไหม้โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสสฯ ที่ตั้งอยู่บ้านหนองพะวา หมู่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ควันดำลอยปกคลุมท้องฟ้า มีกลิ่นเหม็นของสารเคมีคละคลุ้ง และยังมีเสียงระเบิดดังออกมาเป็นระยะ

เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหนองพะวาอย่างหนักหนา ในฐานะพื้นที่ประสบภัยจากสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ถูกระบุชนิดและความร้ายแรง แต่สิ่งที่ชุมชนหนองพะวาต้องเผชิญไม่ใช่เพียงจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ มากกว่า 10 ปีมาแล้ว ที่พวกเขาต้องทนอยู่ในพื้นที่ที่ปนเปื้อนสารพิษ และนี้คือบทสัมภาษณ์ของผู้คนที่ต้องทนและสู้ เพื่ออยู่ในบ้านและพื้นที่ทำกินของตนเอง

จากเกษตรกรสู่การเป็นนักต่อสู้มลพิษของคนบ้านหนองพะวา

เส้นทางการต่อสู้ของคนหนองพะวา หมู่ที่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เมื่อบริษัท วิน โพรเสสฯ เข้ามาขอจัดตั้งโรงงานคัดแยกของเสียท่ามกลางพื้นที่ชุมชน  บริษัทได้นำขยะอุตสาหกรรมและของเสียจำพวกอื่นปริมาณมาก มากักเก็บ ฝังกลบและรีไซเคิลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นน้ำมันใช้แล้ว ตัวทำละลายใช้แล้ว กรดและด่างใช้แล้ว เป็นต้น

เสียงคัดค้านของชาวบ้านที่ไม่เป็นผล

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านที่แสดงเจตนารมณ์อย่างหนักแน่นเป็นหนังสือคัดค้าน คู่ขนานไปกับการ “ลอบประกอบกิจการ” ในปี พ.ศ.2560 บริษัท วิน โพรเสสฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการคัดแยกของเสีย, หล่อหลอมโลหะและกิจการรีไซเคิล พร้อมทั้งได้รับใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้ว จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เทียบ สมานมิตร

เทียบ สมานมิตร หรือ ลุงเทียบ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนที่นี่อุดมสมบูรณ์ อากาศดีใคร ๆ ก็อยากมาอยู่ แต่หลังจากประมาณสักปี 54 ก็มีโรงงานเข้ามา ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเริ่มได้รับผลกระทบ

“แต่ก่อนโรงงานเข้ามา ชาวบ้านคัดค้านตลอดเลยนะ พอเขาแสดงความคิดเห็นชาวบ้านก็รวมตัวกันไม่เอา แล้วยังทำอีก 2 ครั้งก็ไม่ผ่าน ครั้งหลังไม่รู้ผ่านมาได้ยังไง” ลุงเทียบเล่า

จากข้อมูลหนังสือพลเมืองสู้มลพิษ ของมูลนิธิบูรณะนิเวศ บันทึกไว้ว่า สมาชิกในที่ประชุมประชาคมแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานอย่างค่อนข้างเป็นเอกฉันท์และได้แจ้งว่า “ทำหนังสือไปยังอุตสาหกรรมแล้ว” หลังจากนั้นชาวบ้านยังได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร ซึ่งหนังสือถูกส่งต่อไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองในวันที่ 31 ต.ค. 2554

และในวันที่ 15 ก.พ. 2555 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานคัดแยกของเสีย ของบริษัท วิน โพรเสสฯ อีกครั้ง มีผู้มาลงความเห็นทั้งหมด 218 ราย ลงความเห็นไม่เห็นด้วย 213 ราย เห็นด้วย 2 ราย ไม่ออกความเห็น 3 ราย โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลสรุปได้ว่า “ประชาชนส่วนมากกลัวจะเกิดมลภาวะเป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่และโรงงานอยู่ใกล้ชุมชน”

“เขาต้องทำประชาวิจารณ์ชาวบ้านก็ไปคัดค้าน ทำรอบหนึ่งก็ไม่ผ่าน สองรอบก็ไม่ผ่าน รอบสามก็ไม่ผ่าน แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำได้ยังไง โรงงานสำเร็จได้ยังไง เราก็คัดค้านกันมาตลอด แล้วตอนที่เขาทำประชาคมโรงงานเขาขนนู้นขนนี่มาทำทั้ง ๆ ที่โรงงานยังไม่ได้รับอนุญาต ยังไม่มีใบอนุญาต ยังไม่ถูกต้อง  ชาวบ้านเห็นไม่ดี เห็นขนของเข้า-ออก เริ่มสงสัยว่าทำไมน้ำมีกลิ่นเหม็น ทำไมน้ำมีสีเหลือง อย่างนี้ผิดปกติ ทำประชาคมไม่ผ่าน ก็ไม่รู้ว่าโรงงานมาตั้งได้ยังไง” พี่สนิท ผู้ที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่บ้านหนองพะวาตั้งแต่บริษัท วิน โพรเสสฯ เข้ามาในพื้นที่ 

“ที่เจ็บช้ำใจมากที่สุดก็คือตั้งแต่แรกเริ่มผมพบว่ามันมีการรั่วซึมมาจากในโรงงานผมแจ้งผู้นำหมู่บ้านแล้วเขาบอกไม่รู้มาจากไหน ทั้ง ๆ ที่เขาเห็นนะว่าไหลมาจากทางไหน แล้วโดนทางโรงงานบอกว่าทางฝั่งผมเป็นคนฝังกลบสารเคมีอยู่ก่อนที่เขาจะมาอยู่ เขาบอกว่างั้น ก็เลยโดนข้อครหาอีก นอกจากจะไม่รับผิดชอบ ยังป้ายความผิดมาให้คนอื่นอีกเป็นอะไรที่แย่

ที่เสียไปแล้วพื้นที่ทำนา 4-5 ไร่ได้ ยางที่ปลูกไว้โตตัดได้แล้วก็ประมาณ 2 ไร่ หมากอีก 2 ไร่ แล้วก็พื้นที่ปลูกผักอีก 1-2 ไร่ รวมแล้วก็ประมาณ 9 ไร่เต็ม ๆ เหลือที่ส่วนดีอยู่หน้าทางเข้าบ้าน 3 ไร่ นอกนั้นตายหมด” ลุงสัญญาเล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่ได้รับจากการการเข้ามาของโรงงานแห่งนี้

“เขาเริ่มทำประมาณ 1 ปีที่นี่ก็เปลี่ยนทันทีเลย พอโรงงานมาสร้างได้ประมาณปีหนึ่งน้ำเริ่มเปลี่ยนและจากใสเริ่มจะมีสี เริ่มจะดำและก็มีกลิ่น ต้นไม้ริมขอบสระก็เริ่มตายและหลังจากนั้นมาขยายวงกว้างขึ้นจนเอาไม่อยู่  ที่ของลุงตรงนี้ 30 กว่าไร่ ที่เสียชัดเจนไป 20 กว่าไรที่ต้นไม้ตายนะ แต่ที่ไม่ตายใต้ดินก็เต็มไปด้วยสารเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษมาเจาะหมดแล้วเจาะตรงไหนก็เจอ คือก็เสียหายทั้งหมด” ลุงเทียบ

นี่เป็นเพียงคำบอกเล่าส่วนหนึ่งของเหล่าชาวบ้านที่ต้องเสียพื้นที่ทำกินซึ่งเป็นมรดกจากรุ่นพ่อแม่ ที่ตั้งใจหวังส่งต่อให้ลูกหลานไว้ใช้เลี้ยงชีพ

พื้นที่ความเสียหายที่บ้านหนองพะวาจากการประมาณของกรมควบคุมมลพิษเมื่อปี 2563 คาดประมาณที่ 800 ไร่ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีใครสามารถคำนวนการกระจายของสารเคมีได้อย่างแท้จริงว่า ขยายวงกว้างไปเท่าไร

มลพิษที่รั่วไหลไม่ได้ทำลายแค่เพียง “พื้นที่” แต่ได้ลามไปถึง “จิตใจ” ของคนหนองพะวา

“ที่สูญเสียมากที่สุดก็คือ จิตใจนะเพราะนอกจากเขาจะไม่รับผิดชอบเขายังทิ้งอยู่ทุกวัน เขายังทิ้งอยู่นะ ศาลสั่งให้เอาไปบำบัดให้ถูกวิธีก็ไม่เห็นเอาไปไหนเลย ได้แต่ตัดเหล็กขายบ้างอะไรบ้าง  ไม่เคยคิดเลย ไม่เคยจริง ๆ จากหาเช้ากินค่ำลำบากอยู่แล้วก็หนักเข้าไปอีก เราได้รับผลกระทบโดยที่เราไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ก่อ ซ้ำยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้”  ลุงสัญญา เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและดวงตาที่มีน้ำคลอ

ลุงสัญญา

“ร่างกายสุขภาพของลุงเทียบนี่แย่มาก เครียดมากช่วงที่ยางตายเยอะ ๆ แล้วมีปัญหาอะไรต่อมิอะไรรุมเร้า แทบไม่มีเวลาทำงาน ไปซื้อของกลับมาลุงลืมไปเลยว่าขับรถ นึกได้อีกทีต้นไม้แล้ว ทุกวันนี้ลุงกลายเป็นเหมือนคนเบลอแป๊บเดียวลุงจำอะไรไม่ได้แล้ว” ลุงเทียบเล่าให้เราฟังเมื่อตอนที่เขาประสบอุบัติเหตุรถยนต์พุ่งชนต้นไม้ เนื่องจากมีความเครียดสะสมเพราะสวนยางกว่า 20 ไร่ เริ่มทยอยตาย

ลุงธนัส

“ใจคิดว่าบั่นปลายชีวิตจะมาตั้งรกรากอยู่ที่ตรงนี้แหละ มีบ่อปลา มีสวนไว้ตอนแก่ วันนี้ความหวังมันล่มไปหมดแล้ว มันก็สลดใจนะ มันท้อด้วย ท้อใจนะ ท้อมาก ๆ เลยแหละ” ลุงธนัสเล่าพร้อมพาเราเดินไปดูที่ดินที่ตั้งใจมาปลูกบ้านอยู่ในช่วงบั้นท้ายชีวิตแต่ปัจจุบันมีน้ำสารเคมีรั่วไหลมาขัง

“โรงงานนี้มันเกิดชีวิตชาวบ้านก็เปลี่ยนไป จากชีวิตมีความสุขกลายเป็นว่าเกือบซึมเศร้า มีความเครียดเข้ามา มีความกังวลเยอะ แม้กระทั่งความคิด แม้กระทั่งความรู้สึกมันเปลี่ยนไปหมดแล้วความเครียดมันก็เข้ามาเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนที่ได้รับผลกระทบจะมีอาการคล้าย ๆ กัน ถึงกับความจำไม่ดี พูดวกไปวนมา มีความสับสนในความรู้สึกตัวเอง”  พี่สนิท

ป้าสำรอง

ภาพพื้นที่สวนยางของป้าสำรองที่โดนน้ำสารเคมีรั่วไหลมาขัง กลายเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านหนองพะวาอยากพาทุกคนที่มาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้มาดู ไม่ใช่เพื่อความน่าประทับใจ แปลกใหม่ หรือสวยงาม แต่สถานที่แห่งนี้ที่เต็มไปด้วยร่องรอยของสารเคมี ต้นยางที่แห้งตาย ไร้สิ่งมีชีวิต คงเปรียบเสมือนสิ่งที่แทนคำพูดและสภาพจิตใจของคนหนองพะวากับเหตุการณ์ที่พวกเขาได้เจอมา

“ก็เสียดายมาเห็นมันก็อยากจะร้องไห้ แล้วก็มีกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา ไม่รู้ว่าสูดเขาไปมันจะเป็นไง น้ำที่นี่ไม่เคยโดนเลยนะ กลัว” ป้าสำรองกล่าวออกมาเมื่อพาเรามาดูทุ่งสีทอง ที่เมื่อก่อนเคยเป็นสวนยางของตน

“มันก็เริ่มเกิดจากน้ำที่ไหลมาขังและพอน้ำแห้งมันก็เป็นแบบนี้ เป็นสีทอง ตอนแรก ๆ มันเหม็นเหมือนสารส้มมันเหม็นออกเปรี้ยว ๆ ก็ไม่รู้เกิดจากอะไร น้ำก็ยังไม่แห้งพอแล้งน้ำแห้งก็เป็นสีทองแบบนั้น ก็ชาวบ้านแบบเราก็ไม่รู้ว่าเป็นสารเคมีชนิดไหนเราก็ไม่ได้มีความรู้ ผลผลิต (ต้นยาง) มันก็ไม่ได้” ป้าสำรองเล่าเหตุการณ์การเกิดทุ่งสีทอง

“ก็จะเอาไว้ให้ลูก พ่อแม่เราให้เรามา เสียดายแต่ไม่รู้จะทำไง ต่อสู้ก็ไม่ได้ เราชาวบ้านธรรมดาขนาดไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐยังไม่ได้ ป้าก็ไม่อยากมา มาเห็นแล้วก็เสียดาย ช้ำใจมาก็ตอกย้ำช้ำใจ ไม่อยากมาเห็น” 

การต่อสู้ ชัยชนะ (แค่) ในชั้นศาล 

ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี ที่ชาวบ้านหนองพะวาที่ได้รับความเดือดร้อนจากประกอบกิจการของบริษัท วิน โพรเสสฯ พวกเขาพยายามยืนหยัด ปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนของตน ไม่ว่าด้วยการส่งหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานรัฐ การปักหลักชุมนุมหน้าโรงงาน ไปจนถึงฟ้องศาล

วันที่ 7 มิ.ย. 2564 ประชาชนชน จำนวน 15 คน จากบ้านหนองพะวาได้ยื่นฟ้องบริษัท วิน โพรเสสฯ พร้อมทั้งเจ้าของบริษัท เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและเรียกร้องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 

และในวันที่ 13 ธ.ค. 2565 ศาลจังหวัดระยองพิพากษาให้บริษัท วิน โพรเสสฯ และเจ้าของ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายแก่โจทก์ รวมกว่า 20 ล้านบาท และควบคุมสารเคมีมิให้รั่วไหล รวมทั้งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

“ที่หนองพะวานี้มันเหมือนกับเป็นครอบครัวของลุงเลยนะ ที่นี่เด็กเกือบพันคนแล้วลูกหลานลุงเทียบก็เยอะ แล้วมันเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นจะทำไง แรก ๆ ลุงกลัว หลัง ๆ ไม่กลัวแล้ว ตายเป็นตาย ไม่สู้หนองพะวามันก็จบ” ลุงเทียบ

“ที่ต่อสู้ตอนนี้เราชนะแต่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลยสักบาทเดียว ทุกคนที่ฟ้อง 15 ราย ก็ได้แต่ตัวเลขมานอนดูมานอนกอดไม่ได้ตัวจริง แต่บางคนไม่รู้อาจจะคิดว่าชนะคดีแล้วนี่ เขาได้ (เงิน) กันไปหมดแล้ว อันนี้ขอบอกเลยว่าทุกคนที่ชนะคดียังไม่มีใครได้เลยแม้แต่บาทเดียว” พี่สนิท

การฟื้นฟู ความหวังของหนองพะวา

“ไม่หวังว่าจะกลับมาเหมือนเดิมที่เราฟ้องเราก็คิดว่าไม่ได้ แต่ที่เราฟ้องเราต้องการให้เขารู้ว่าเราต่อสู้เราต้องการให้คุณมาเยียวยา เราต้องการให้คุณมาฟื้นฟู แต่ฟื้นฟูเรารู้ว่า 10 ปีไม่จบ 20 ปีไม่จบ แต่ชีวิตพี่ที่พี่ต่อสู้มาตั้งแต่เริ่มต้นจนวันนี้ 10 กว่าปีแล้วอยากเห็นการเริ่มฟื้นฟูพื้นที่หนองพะวาถึงชีวิตพี่จะไม่เห็นความสำเร็จในการฟื้นฟู แต่อยากเห็นการเริ่มต้นมาก จะได้สัก 10% 20% หรือ 50% ก็ยังดี” พี่สนิทพูดด้วยความหวังที่อยากเห็นหนองพะวาได้รับการฟื้นฟู

 “เขาบอกจะมีการฟื้นฟู แต่คนที่มาเขาก็บอกการฟื้นฟูมันยากต้องใช้เวลาเป็นสิบ ๆปีหรืออาจไม่ได้ฟื้นฟูเลย ลุงก็เลยตัดสินใจควักกระเป๋าตัวเองมาจ้างรถแม็คโครมามาขุดร่องน้ำในสวนให้มันลึกหน่อยเพื่อไม่ให้สารเคมีเข้ามา และทดลองปลูกต้นไม้หลายอย่างดู ทดลองดูนะ ก็ไม่รู้จะได้ผลรึป่าว แต่ก็ต้องลองเพราะลุงก็อายุมากแล้วมันรอไม่ได้ ก็ลองเสี่ยงดู” ลุงเทียบผู้ไม่ยอมแพ้ปรับที่ดินของตนใหม่เพื่อเริ่มปลูกต้นไม้อีกครั้ง

จากชัยชนะในชั้นศาลที่ยังไม่เคยเกิดผลในทางปฏิบัติ จนวันที่เหตุร้ายกลับมาซ้ำเติมชาวบ้านหนองพะวาอีกครั้ง

ช่วงเช้าของวันที่ 22 เม.ย. 2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมี ของ บริษัท วิน โพรเสสฯ จุดเกิดเหตุเริ่มจากเพิงต่อเติมบริเวณโกดัง5ที่เป็นที่เก็บถังสารเคมี มีการประทุ และระเบิดตลอดเวลา 

“เริ่มต้นเลยเวลาสัก8โมงกว่าๆพี่อยู่ในสวนก็มีชาวบ้านลงในไลน์กลุ่มหมู่บ้านหนองพะวาส่งเป็นรูปภาพควันไฟขึ้น แล้วข้อความว่าพบไฟไหม้โรงงานบริเวณสวนลุงเทียบ พี่อยู่ในสวนก็เห็นควันไฟพุ่งขึ้น พี่ก็รีบขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาเดี๋ยวนั้นเลย”

“พอชาวบ้านเริ่มรู้และเห็นว่ามีไฟไหม้โรงงานก็มายืนดูตรงถนนซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร ชาวบ้านเลยช่วยกันเคลียทาง เอาดินมาลง เอารถไถมาดันเพื่อจะให้รถดับเพลิงเข้าได้ง่าย ๆ” พี่สนิทเล่าให้เราฟังถึงการช่วยกันของชาวบ้านที่พอจะทำได้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถดับเพลิง

เพลิงที่ถาโถมและคนที่ไม่ยอมแพ้

“ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันนี้มันมากกว่า 48 ชั่วโมงแล้ว เหมือนการวางแผนยังไม่ถูกต้องในมุมมองของชาวบ้าน คือเจ้าหน้าที่ที่ลงมาดับก็ยังไม่รู้ บางจุดพอใช้น้ำฉีดเข้าไปควันมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่มีคนสั่งการ เท่าที่พี่ติดตามดูหน่วยกู้ภัยเขาเข้าไปดับไฟ การคุมสถานการณ์หรือคนบัญชาการไม่รู้ว่าตรงนั้นควรใช้สารตัวไหน จะต้องใช้โพม จะต้องใช้อะไรมาดับ ไม่รู้ว่าใช้สารอะไร มันก็เลยเป็นการที่ว่าดับยาก เขาก็ต้องถอนกำลัง เพราะเขาไม่รู้ว่าสู้อยู่กับอะไร คือเราไม่มีคนที่มีความรู้ในการควบคุมเพลิงไหม้สารเคมีมาคอยควบคุม” พี่สนิทเล่า

ปัญหาของการดับเพลิงสารพิษในครั้งนี้คือการไม่รู้ข้อมูลอย่างแน่ชัดของสารเคมีที่ถูกกักเก็บไว้ และในจุดระงับเหตุ ไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาคอยควบคุมดูแล การที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องถอนกำลังไม่ใช่ไม่เห็นความสำคัญของการพยายามดับไฟ แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องใช้ความรู้มากกว่านี้ในการควบคุมเพลิง

จากการพูดคุยกับพี่สนิทที่เสียงค่อยข้างอิดโรย พี่สนิทเลยเล่าให้ฟังว่า

“ตอนนี้พี่เหมือนคนเบลอ ๆ ทั้งอดนอน ทั้งสูดควันเข้าไป คือจากใจเลยพอเราเห็นกู้ภัยเขาทำงาน เห็นเขามานั่งพิงต้นยาง เราเห็นเขาเป็นจิตอาสาแล้วเขามาเสี่ยงให้เราขนาดนี้ การเซฟตี้ร่างกายเขาไม่ว่าจะเป็นถุงมือ เสื้อ กางเกงรองเท้า เขาไม่ได้พร้อมเลย เป็นห่วงเขามากและเห็นใจเขามาก กับเราแค่อดตาหลับขับตานอน ห่วงว่าเขามีน้ำไหม มีแมสไหม เราก็ต้องคอยดูให้เขาบ้างอะไรบ้าง”

พี่สนิท

“ตอนนี้ที่พี่กลัวมากเลย กลัวจะมีผลกระทบในระยะ 6 เดือน 1 ปี 2 ปี 3 ปี  ข้างหน้า ณ เวลานี้เรายังไม่รู้ว่าจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันหรือฝุ่นละอองพวกนี้กับร่างกายอย่างไร สำหรับตัวพี่ตอนนี้มันมีปฎิกิริยาบ้าง ออกผดผืนบ้าง คันบ้างนิดหน่อย อาจจะแน่นหน้าอก คอแห้ง ก็ยังถือว่าเรายังอยู่ได้ แต่ระยะยาวยังไม่รู้”

“มีความกังวลมาก แล้วมีคนที่อยู่ใต้ลมเขาได้รับสารพิษโดยที่เขาไม่รู้ตัว อยากให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนช่วยขยายความให้ชาวบ้านรู้ว่าควรจะต้องปฎิบัติตัวอย่างไรควรจะไปเช็คร่างกายอย่างไร และควรจะหาวิธีให้ตรวจร่างกายฟรี”

“และก็คิดว่าเมื่อเหตุการณ์ไฟไหม้มันสงบแล้วแต่ถ้าการเก็บกวาดของหน่วยงานรัฐไม่ 100% พอฝนตกลงมามันต้องเข้าพื้นที่ชาวบ้านแล้วก็ไปไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติแน่นอน” พี่สนิทเล่า

สิ่งที่เหลือไว้หลังกองเพลิงสงบลง

จากการสอบถามไปยัง เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศถึงความน่ากังวล เมื่อเพลิงสารพิษสงบลง

“ในอาคาร มีการเก็บน้ำที่มีความเป็นกรด จำนวนมาก ไว้ในบ่อต่าง ๆ มีความเป็นไปได้ว่า หลังเหตุการณ์สงบแล้ว จะมีที่ดินและแหล่งน้ำหลายส่วนเสียหายเพิ่มจากน้ำที่มีกรดสูง ส่วนกากอุตสาหกรรมที่เก็บและถูกไฟไหม้  มีบางชนิดที่มีสารโลหะหนักระดับสูง เป็นไปได้ว่า จะทำให้โลหะหนักกระจายตัวออกเป็นบริเวณกว้างขึ้น หมายถึงพื้นที่ปนเปื้อนจะกว้างขึ้นและจัดการยากขึ้น”

“นอกจากนี้มีสารอันตรายที่ไม่มีการตรวจวัดสารอันตรายอีกหลายตัว ยิ่งลักษณะไฟไหม้ ยิ่งทำให้เกิดสารอันตรายอีกหลายตัวที่มีความอันตรายมากขึ้นไปอีก และเป็นสารก่อมะเร็งด้วย ที่สำคัญคือจะปนเปื้อนอยู่ในอากาศ”

เพ็ญโฉมยังบอกอีกว่ามีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งแจ้งความห่วงกังวลมาเพิ่มเติมว่า ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของพื้นที่นี้คือ มีการลักลอบเก็บกรดเยอะ การดับเพลิงด้วยน้ำหรือฉีดน้ำลงไปเท่ากับน้ำปนกรดมีปริมาณเยอะมากขึ้น และกรดจะซึมลงดินมาก คุณสมบัติของดินในพื้นที่เป็นดินทรายด้วย เมื่อกรดในดินทราย โดนความร้อนแล้วกลายเป็นไอกรด ซึ่งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้วัดอากาศ ไม่ได้วัดไอกรดได้ทุกตัว จึงไม่แปลกที่ตรวจไม่พบไอกรด

“สิ่งที่น่าห่วงคือ ตอนนี้สภาพพื้นที่มีความชื้นอยู่เพราะน้ำที่ใช้ดับไฟ เมื่อน้ำแห้งไปแล้ว ดินจะกลายเป็นฝุ่น และปลิวฟุ้งกระจายไปทั่ว ชาวบ้านที่ตากผ้าไว้ เสื้อผ้าอาจจะเสียหายได้เพราะกรดในฝุ่น อากาศ และเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจได้”

นี่คือความเสียหายและผลกระทบในระยาวต่อผู้คน ดิน น้ำ ท้องฟ้าและทรัพยากรในพื้นที่ที่ต้องบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่เราทำหน้าที่เป็นได้เพียงผู้รับฟังและเฝ้าดู

แชร์บทความนี้