มอง ‘การโกงของสาธารณะ’ และการรับมือจากท้องถิ่นสู่ประเทศ กับ ธานี ชัยวัฒน์ 

เวลาพูดคำว่า ‘คอร์รัปชัน’ ดูเป็นเรื่องไกลตัวที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในการทำงานการเมืองหรืออะไรก็ตามที่มีผลประโยชน์เกิดขึ้น สังคมไทยอยู่กับปัญหาคอร์รัปชันมาอย่างยาวนานและเรื้อรัง มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามเรื่องคอร์รัปชันอาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดหากใช้คำว่า ‘การโกง’ ซึ่งเป็นการโกงที่ส่งผลต่อสาธารณะ แต่อะไรบ้างคือการโกงที่ส่งผลต่อสาธารณะแล้วสังคมต้องรับมือและจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

ชวนคุยกับ ผศ. ดร. ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำวิจัยเกี่ยวกับรากฐานองค์ความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย มาอธิบายเรื่องวัฒนธรรมการคอร์รัปชันของสังคมไทย

คอร์รัปชัน คืออะไร?

คอร์รัปชัน คือ การขโมย แต่ถ้าจะให้ตรงคือ ‘การขโมยของสาธารณะ’ เช่น ยักยอกงบประมาณ ขโมยภาษีที่สาธารณะพึงได้รับ เช่น การรับส่วย สินบน หรือ การขโมยเวลา เช่น ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เวลาที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือแม้แต่ขโมยตำแหน่ง ขโมยความสามารถที่คนที่เก่งกว่าพึงได้รับ 

เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจง่ายที่สุด คอร์รัปชัน ก็คือ การขโมย บางอย่างจากของที่เราทุกคนเป็นเจ้าของ ซึ่งความยากของการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันก็คือ เมื่อทุกคนเป็นเจ้าของก็เลยแชร์ความเสียหายกันคนละนิดจนทำให้แต่ละคนไม่ได้มีความพยายามและความเสียหายมากพอที่อยากจะตรวจสอบ มันจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ และการกำกับการดูแลการตรวจสอบก็ยาก

เวลาเราพูดถึงการคอร์รัปชัน การโกง มันเป็นเรื่องที่ทุกคนก็รู้แต่ในสังคมไทยมักจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร? มันควรจะสำคัญหรือไม่?

มันควรจะสำคัญ เอาเข้าจริงสังคมที่ไม่โกงเป็นสังคมในอุดมคติ สัตว์ที่แข็งแรงกว่าเอาเปรียบ สัตว์ที่ฉลาดกว่าก็จะฉ้อฉลมากกว่า ภายใต้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของคนหรือสัตว์ ถ้าในมุมมองของธรรมชาติเป็นแบบนี้ แปลว่ามนุษย์ในฐานะสัตว์คนนึง ลึก ๆ มันมีความตั้งใจอยากจะได้ทรัพยากรบางอย่างด้วยความสบาย ๆ ไม่ต้องลงทุน ไม่เสี่ยง ไม่ลำบาก เอามาเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นการโกงจึงเป็นไปโดยธรรมชาติ 

แต่การไม่โกงที่จะทำให้นึกถึงความเสียหายของสังคม นึกถึงการกลัวการลงโทษตามกฎหมาย นึกถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ดี อันนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นไปตามสังคมและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นสังคมที่ทำให้คนในสังคมเรียนรู้ได้ว่าการโกงมันทำลายทั้งสังคม ทำลายคนอื่น ทำลายการอยู่ร่วมกัน มันเป็นเรื่องเลวร้าย เป็นสังคมที่ต้องพัฒนาคุณภาพของสังคมดีถึงจุดหนึ่ง จึงจะทำให้คนในสังคมเรียนรู้ร่วมกันว่าการโกงเป็นสิ่งไม่ดี

ถ้ามองย้อนกลับมาในสังคมที่มีการโกงเยอะโดยเฉพาะในสังคมที่บอกว่าคนก็รู้กันว่า การโกงเป็นสิ่งไม่ดีทำไมถึงยังโกงอีก? ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะมีคำพูดหนึ่ง เรียกว่า โดยสัญชาติญาณ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่มันจะมีขอบเขตอยู่ระดับนึงที่มนุษย์ไม่ได้อยากจะแปลกเกินไป เพราะถ้าแปลกเกินไปอาจจะถูกมองต่างจากคนอื่น เราจึงอยากจะอยู่รวมกลุ่มกันเป็นสังคมที่คล้าย ๆ กับคนอื่น 

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าการโกง หรือการโกงเป็นศูนย์ไปเลยไม่ดี แต่เรารู้ว่าคนส่วนใหญ่ก็โกงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การฝ่าไฟแดง การรับค่าน้ำร้อนน้ำชา รับของขวัญ ช่วยเหลือนิดหน่อยด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง และก็มองว่าใคร ๆ ก็ทำกันซึ่งการที่เรามองว่าใครก็ทำ เป็นเครื่องรองรับทำให้เรารู้ว่าเราก็แค่เหมือนกับคนอื่นในสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นเครื่องรองรับให้คนยังโกงกันได้ 

ประกอบกับคิดภาพว่าในสังคมที่คนจำนวนมากโกง คนนั้นแซงคิว คนนี้จ่ายเงินนิดเดียวก็มีอำนาจเหนือคนอื่น ทำให้การที่เราไม่โกงกลับรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ สุดท้ายก็นำไปสู่การที่โกงเหมือนคนอื่น และสังคมก็อยู่ในดุลภาพแบบนี้ กลายเป็นสังคมที่มีคุณภาพสังคมต่ำและยากที่จะเอาชนะธรรมชาติของสัตว์ที่เริ่มต้นจากการโกงหรือการเอาเปรียบ

เวลาที่เราดูคุณภาพสังคม ในทางวิชาการเราเรียกว่า ‘คุณภาพของสถาบัน’ เราดูจากทางเลือกและเปรียบเทียบคือถ้าย้อนกลับไปในสมัยก่อน (ผมคิดว่าตอนนี้ดีขึ้น) ถ้าผมฝ่าไฟแดง ตำรวจจราจรที่ไม่ดีบางคนพยายามจะเรียกเงินผม ผมควรจะจ่ายเงินตำรวจจราจรคนนี้หรือไม่ คำถามในหัวคือ จ่ายไป 500 แต่ถ้าไปจ่ายที่โรงพัก กว่าจะหาโรงพักและจอดรถเพื่อจ่ายเงินเสร็จ ต้องใช้เวลานานมาก เพราะฉะนั้นคุณภาพของสถาบันแบบนี้เอื้อให้คนโกง เพราะมันทำให้แรงจูงใจในการโกงง่ายและสบายกว่าการเป็นคนดี อีกทั้งการเป็นคนดีไม่มีอะไรเป็นรางวัลตอบแทน ในขณะที่การโกงทำให้ประหยัดเวลา 

“สังคมที่กำลังบอกว่าการเป็นคนดีมันต้องใช้ความอดทน ต้องใช้ความพยายามและยาก มันเป็นอะไรที่ประหลาด เพราะสังคมที่ดีควรจะทำให้เราไม่ได้คิดอะไรก็เป็นคนดีตามกลไก แต่ถ้าเราจะโกงมันต้องยาก เราต้องคิดเยอะ เราต้องลำบาก แต่ตอนนี้มันกลับกัน มันทำให้เราต้องคิดภาพบางอย่างกับสังคมไทยพอสมควร”

ทำความเข้าใจความคิดคนโกงกำลังคิดอะไรอยู่?

มีหลายแนวคิดที่อธิบายเกี่ยวกับการโกง แต่คิดว่าในสังคมไทยมี 2 แนวคิดที่มีอิทธิพลมาก ๆ  แนวคิดแรก คือ Distancing เวลาที่เราเห็นและเรารับรู้ว่าใคร ๆ ก็โกง ยิ่งข่าวบอกว่ามีคนโกง คนเอาเปรียบเยอะแยะเต็มไปหมด ทำให้ผมอยากเอาเปรียบคนอื่น เพราะผมเป็นคนดีในสังคมที่ข่าวเต็มไปด้วยคนโกงและคนเอาเปรียบมากมาย จับไม่ได้ ลงโทษไม่ได้ ผมรู้สึกว่าการเป็นคนดีกลายเป็นคนที่เสียเปรียบในสังคมนี้ การโกงจริง ๆ มันรวมไปถึงความรุนแรงและการเอาเปรียบอื่น ๆ เพราะฉะนั้นข่าวจะออกให้เยอะก็ได้ แต่ต้องมีการลงโทษให้ได้ เพราะฉะนั้นมันจะยิ่งทำให้ผมต้องฆ่าต้องปล้น และมันทำให้การโกงที่พึงเป็นไปได้สูงกว่าจะที่ควรเป็น

“ในหลายประเทศมีกลไกจัดการความไม่สบายใจของการโกง เช่น ผมคอร์รัปชันเงินมาเยอะ สิ้นปีผมไปทำบุญสร้างวัด คำถามคือ ผมโกงเงินสาธารณะมามากมาย ไม่ได้แปลว่าทำบุญสร้างวัดไม่ดี แต่คำถามคือทำบุญสร้างวัดช่วยชดเชยความเสียหายของสังคมและระบบสังคมในประเทศนี้อย่างไร”

ถ้าผมเอาเปรียบผมโกงเงินงบประมาณมามากมาย แต่ผมเอามาช่วยเหลือพรรคพวกเพื่อพี่น้อง แล้วผมก็ได้สถาปนาว่าเป็นคนที่มีบุญคุณในพื้นที่ในสังคม แต่ผมใช้เงินสาธารณะ ผมเอาเปรียบสาธารณะ อย่างนี้เรียกว่า Moral licensing คือ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ 2 มันเป็นใบอนุญาตของการทำผิด คือผมทำไม่ดีมาจากเรื่องนึงและผมก็ชดเชยโดยการทำดีอีกเรื่องนึงเพื่อเคลียร์กันไป ซึ่งมันทำให้ผมกลับสู่ค่าเดิมในแบบที่ผมควรจะเป็นในสังคม และถ้าสังเกตดูในสังคมเรามีกลไกการชดเชยเรื่องพวกนี้เยอะมาก มันกลายเป็นเครื่องมือทางศาสนา บุญคุณ ความช่วยเหลือ และพรรคพวก เป็นกลไกสำคัญที่รองรับการโกงให้มากขึ้น

ถ้าเราจะออกแบบระบบให้ออกจากวัฒนธรรมของการโกงที่คุ้นเคยกัน สังคมต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร?

คิดว่าทางออกที่สำคัญคือ ในสังคมไทยเราเห็นวัฒนธรรมการด่าได้ผล อย่างน้อยอาจจะได้ผลเทียบเท่ากับกลไกอื่นหรือเทียบเท่ากับกลไกอื่นด้วย และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบหรือลงโทษ กลไกการด่าที่ได้ผลมันกำลังสอดคล้องกับแนวคิดที่เราจะเป็นคนดีขึ้น หรือ เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะมากขึ้น เมื่อทุกอย่างมันมีความโปร่งใส หรือ Transparency 

‘ความโปร่งใส’ ไม่ใช่แค่ open data แต่คือความโปร่งใสที่หมายถึงตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางต้องเห็นกลไกทั้งหมดว่ามีใครตัดสินใจและทำอะไรไปถึงตรงไหนบ้าง จนกว่าจะถึงปลายทาง open data มันคือจุดเริ่มต้น หรือแค่องค์ประกอบ หลังจากเปิดให้เห็นแล้ว ใครตัดสินใจเรื่องอะไร ให้ความเห็นอะไร และนำไปสู่สาธารณะอย่างไร อันนี้คือความโปร่งใส เช่น ผมจะยักยอก ผมจะโกง หรือแม้แต่ผมจะมีการตัดสินใจที่ปรารถนาดีแต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนทุกคนต้องผ่านการคิดเยอะมาก ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจสิ่งนั้น และสังคมไทยที่เราแคร์สังคมคนรอบข้างมาก ๆ ‘ความโปร่งใส’ จะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ต้องตัดสินใจอย่างดีและมีเหตุผล

ผมคิดว่าสังคมไทยโดยเฉพาะคนกลุ่มนึงเติบโตขึ้นมากแล้วก็มีเหตุผลในการเข้าใจในมุมที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันจะนำมาซึ่งความกังวลใจและความคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะของตัวเขาเอง ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองฝั่งธุรกิจ เราจะพบว่าเวลาที่ธุรกิจออกผลิตภัณฑ์หรือมีนโยบายอะไร จะมีคนด่า และมีแฟนคลับคอยปกป้อง กระบวนการเหล่าควรจะอยู่ในนโยบาย เพราะมันคือการมีส่วนร่วม เช่น ผมดำเนินพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วผมจะมีนโบายแบบนี้ ไม่ต้องมีคนเห็นด้วยกับผมทุกคนก็ได้ แต่อย่างน้อยควรจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ใหญ่พอในฐานะฐานเสียง หรือ ฐานของพรรคการเมืองผม เห็นด้วย รองรับ หรือเข้าใจวิธีคิดอย่างมีเหตุผลของผมที่มาช่วยปกป้อง แต่ในทางกลับกัน รัฐบาล หรือ พรรคการเมืองออกนโยบายอะไร คนด่า 90% อีก 10 % คือไม่ได้เห็นด้วยแต่กลับรู้สึกเฉย ๆ อีก 1% เห็นด้วย อันนี้แปลก 

เพราะฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่มีความโปร่งใสเป็นเงื่อนไขสำคัญในการบังคับและโดยสัญชาตญาณคือเราจำเป็นต้องประพฤติตัวให้ดี โดยเฉพาะในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผมคิดว่าอันนี้เป็นกลไกสำคัญแรก 

ในประเทศไทยทุกอย่างเป็นความลับหมด เราอยากรู้เรื่องอะไรในสังคมนี้บ้าง เราแทบจะไม่รู้เลย และในทางวัฒนธรรมมิติเศรษฐศาสตร์ เรามักจะถาม 2 คำถาม ที่สำคัญและน่าสนใจกับสังคมคือ ข้อแรกอะไรคือความจริงในสังคมนี้ เรามีคำตอบเรื่องนี้ไหม เราแทบจะตอบอะไรไม่ได้เลยว่าอะไรคือความจริงในสังคมนี้ และ ต่อมาคือ อะไรคือเป้าหมายของสังคมนี้ เราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายเป้าหมายของสังคมจะเป็นไปอย่างไรกันแน่ เพราะฉะนั้นใน 2 เรื่องนี้มันไม่เกิดเพราะว่าความโปร่งใสเราดีไม่พอ การมีส่วนร่วมก็ไม่เกิด การตกลงร่วมกันก็ไม่เกิด ความขัดแย้งก็เยอะ และมันก็จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจกับคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่รู้จะทำอย่างไร

“วัฒนธรรมการด่าก็เกิด แต่ในแง่ดี วัฒนธรรมการด่าที่ได้ผลก็ถือว่าเป็นความหวัง เพราะสิ่งนี้คือการมีส่วนร่วมของประชาชน และเราไม่ควรไปว่าเขาเพราะว่าวัฒนธรรมการด่ามันเกิดขึ้นเพราะสังคมนี้ไม่มีกลไกอื่นโดยเฉพาะกลไกจากภาครัฐ หรือ กลไกที่เป็นทางการที่มันได้ผลมากกว่าการด่า”

ถ้ามองภาพที่ใหญ่ขึ้น มนุษย์เป็นสัตว์ ในความเป็นสัตว์เราสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้โดยการเข้าถึงทรัพยากร อาจจะพูดถึงอาหารที่อยู่อาศัย หรือว่าการมีครอบครัวที่เป็นสุขปลอดภัย ในกลไกการจัดสรรทรัพยากรมี 3 เรื่อง คือ กลไกทางเศรษฐกิจ ผ่านระบบตลาด ซื้อขาย ทุนนิยม กลไกลทางสังคม ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว และ กลไกทางการเมืองที่มาจากการจัดสรรอำนาจที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ 

ในประเทศไทย กลไกทางสังคมใหญ่สุด ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลอยู่ในทุกเรื่อง ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกำกับกลไกการเมืองและกลไกทางเศรษฐกิจ เมื่อเข้าสู่การเมืองแล้วเราหาคนที่ไว้ใจได้มาทำงานการเมืองร่วมกับเราดีกว่าเลือกคนที่ประชาชนเลือกมาและเขาได้รับเสียงมากพอมาทำงานกับเรา เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำเพื่อประโยชน์อะไรและไม่มีกลไกกำกับ เพราะฉะนั้นกลไกความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นกลไกที่มีพลังมาก ๆ ในสังคมไทย และแทบจะบอกได้ว่าไม่มีอะไรในเรื่องนี้ในประเทศไทยนี้ที่เราจะประสบความสำเร็จได้โดยที่เราไม่ตั้งคำถามว่าเราควรจะไปคุยกับใคร เราควรจะไปเริ่มที่ไหน เขาจะช่วยเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นพอเป็นแบบนี้ กลไกความสัมพันธ์ส่วนบุคคลไม่ได้ไม่ดี ปกติมันทำหน้าที่ในการเป็นความมั่นคงปลอดภัยในเวลาที่เราเจอวิกฤต หรือ ความไม่คาดฝัน มันควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราพึ่ง และควรป้องกันเวลาที่เราเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่คาดฝัน

เพราะฉะนั้นในกระบวนการเหล่านี้แปลว่าเราต้องออกแบบกลไกทางการเมือง และกลไกทางเศรษฐกิจ ป้องกันความสัมพันธ์ส่วนตัวให้ดี ตัวอย่างที่ดี แน่นอนมีข้อดีข้อเสีย คือ ญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลญี่ปุ่นในครอบครัวเข้มแข็งมาก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เดินออกนอกบ้าน ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลจะเริ่มหยุดลง หรือทำงาน้อยลง การเคารพสิทธิสาธารณะในการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในสังคมไทย ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ความกตัญญู ความช่วยเหลือกันดีมากเมื่ออยู่ในบ้าน

ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณอยู่ในระบบเศรษฐกิจหรือการเมือง ต้องเอาเรื่องนี้ออกให้ได้ ถ้าเอาออกไม่ได้ กลไกการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นทรัพยากรของสังคม มันจะกระจายอยู่ในเครือข่ายที่จำกัด และมันยากในสังคมไทยเพราะเราจะไม่ได้เห็นคอร์รัปชันที่เป็นเรื่องสินบน เงินใต้โต๊ะและเงินงบประมาณอีกต่อไป แต่เป็นคอร์รัปทางด้านเวลาและความสามารถหรือศักยภาพที่สาธารณะพึงได้รับจากผู้มีอำนาจที่มีศักยภาพเหมาะสม

ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมในสังคมไทยสูงมาก จากการมองย้อนกลับไปเรื่องของโควิด ที่จริงโควิดเป็นโอกาสที่ดี เพราะโควิดเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแต่เปลี่ยนให้คนเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีเป็นสูงมากขึ้นมาก ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน เพราะเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มีอะไรซับซ้อน โปร่งใส ทำเว็บก็ไม่ได้แพง โซเชียงมีเดียก็มากมายมหาศาล การจะทำเก็บข้อมูล หรือ document ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ยาก การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไม่ได้ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อน ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ต้องมานั่งถามประชาชนแล้วว่าเรื่องคอร์รัปชันมันเลวร้ายขนาดไหน คือในมุมมองของประชาชนเรียกว่าอยากจะแก้จะแย่อยู่แล้ว คือเลิกถามได้แล้วช่วยทำอะไรสักอย่างได้ไหม แต่เรากลับไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้เลยแม้โควิดจะผ่านไปสักพักแล้ว

สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมการกุมความลับที่ไม่เปลี่ยนแปลงในเชิงระบบทั้งที่มีความต้องการจำนวนมาก ไม่เปลี่ยนเลย ซึ่งวัฒนธรรมเราแข็งแกร่งมาก อันนี้เป็นการเสียโอกาสอันยิ่งใหญ่ แต่คิดว่าในมุมของระยะยาว เรื่องนี้มันต้องมีจุดสิ้นสุด เพราะเทคโนโลยีการต่อสู้กับคอร์รัปชันไม่มีอะไรซับซ้อน ถ้าดูเทคโนโลยีที่องค์การระหว่างประเทศใช้ เป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ การใช้ QRCODE เพื่อแจ้งบ่อแส กระบวนการติดตามตรวจสอบ tracking กระบวนการ คอลเซ็นเตอร์เวลาเอาของไปซ่อนเรายังตามได้เลยว่าอยู่ที่ไหน เรื่องใหญ่ของประเทศกฎหมายไหนไปถึงไหน คำร้องของใครไปถึง เรากลับตามอะไรไม่ได้เลย ผ่านไปสักระยะผมคิดว่าความพยายามของสังคมน่าจะผลักดันให้เรื่องนี้ค่อย ๆ ดีขึ้น  

ประเด็นถัดมา Transparency International ที่วัดค่า Corruption Perception Index ของไทย มักจะแนะนำ หรือพูดถึงกฎหมายตัวนึง คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งอันนี้มันมีคนพูดถึงกันพอสมควรแต่เรายังไม่ได้แก้ เพราะมันผิด มันผิดเพราะข้อมูลข่าวสารเป็นของสาธารณะ มันไม่ใช่ของราชการ ชื่อ 2 อันนี้ต่างกันตรงที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ราชการเป็นเจ้าของ คนอยากได้อะไรคนต้องไปขอราชการ แต่ต้องได้รับอนุญาตว่าจะให้หรือไม่ให้ ความยากก็คือ ไม่รู้ว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง จะรู้ได้อย่างไรว่าหน่วยงานนนั้นมีข้อมูลอะไรบ้าง และจะไปขอข้อมูลอะไรได้บ้าง อีกอย่างคือ เขาไม่ควรเป็นผู้ขอเพราะสาธารณะเป็นเจ้าของข้อมูล แต่ราชการเป็นแค่แอดมินในการดูแลข้อมูลให้กับสาธารณะ เพราะฉะนั้นศักดิ์สิทธิ์และอำนาจของประชาชนกลายเป็นน้อยกว่า กลายเป็นว่าราชการจะเป็นคนพิจารณาว่าอะไรให้หรือไม่ให้ 

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ แปลว่าราชการต้องบอกว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง และข้อมูลไหนที่จะไม่ให้ต้องชี้แจง ข้อมูลที่เหลือประชาชนจะต้องขอได้ เพราะฉะนั้นต้นทุนของธุรกรรมในการเข้าถึงข้อมูลมันอยู่ที่ราชการหรือประชาชน แต่ถ้าให้ความเป็นธรรมกับระบบราชการก็เข้าใจในมุมข้าราชการ งานในทุกวันก็แทบจะไม่ได้นอนจะเอาเวลาที่ไหนมาลงข้อมูลหรือหาข้อมูลให้ น่าจะเป็นวาระแห่งชาติอันนึง 

ระบบราชการไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับผิดชอบต่อสาธารณะ ถูกออกแบบมาให้รับผิดชอบกับผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นมันจะเป็นสายงานที่รับผิดชอบขึ้นข้างบน ทีนี้ต้องพลิกมุมมองการที่บอกว่าให้เขาเปิดข้อมูล ให้เขาแสดงข้อมูลข้างใน การเอา PDF มาลง อาจจะเป็นความพยายามที่ดีที่สุดที่ข้าราชการพึงจะทำได้ ถ้าเป็นคำในมุมของเขา ก็เข้าใจเขาในมุมนี้ ดังนั้นกระบวนการนี้มันอาจจะเป็นกระบวนการที่ต้องมีวาระแห่งชาติ ต้องมีคนหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องนี้จริงจังพอสมควร

เลือกตั้งอบจ. ที่ผ่านมา ประชาชนทำอะไรได้บ้างในมุมมองของผลักดันเรื่องธรรมาภิบาล?

ผมว่าถ้ามองระยะยาวเราเห็นทิศทางที่ดีขึ้นมาก ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเวลาที่เราดูตลาดเลือกตั้งมีคนหลายกลุ่มอยู่ในนั้นมีคนที่ต้องการ แก้ไขปัญหาครับฉัน โดยการใช้เทคโนโลยีมาช่วย โดยการเปิดเผยโปร่งใสและเคยต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่ามันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ทุกอย่างก็โอเค ไม่เห็นจะเป็นไรเลย แต่ในโลกความจริงเราไม่รู้ว่าในท้องถิ่น 1-1 ใครเยอะกว่ากันระหว่าง 2 กลุ่มนี้ คือกลุ่มที่ 2 ที่รู้สึกว่าเฉย ๆ ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ทุกอย่างมันก็โอเค เสียงอาจจะเยอะกว่าแต่ไม่ดังเท่าไหร่ 

เมื่อเรามองเสียงของโลกออนไลน์ เรื่องกลไกประชาธิปไตยคือกลไกการตัดสินว่าเสียงส่วนใหญ่อยากจะไปทางไหนไม่เกี่ยวว่าถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยังมีคนบางกลุ่มที่คิดว่าเป็นอย่างนี้อยู่แล้วก็อยู่ได้เยอะกว่ามันก็ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปความรุนแรง การฉ้อฉล การเอาเปรียบและความช่วยเหลือในความสัมพันธ์ส่วนบุคคลก็จะเป็นแบบนี้ แต่ถ้ามองระยะยาว ก็ไม่น่าเกิน 10 ปี เพราะว่าคนกลุ่มนี้ก็อาจจะมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับคนกลุ่มใหม่ที่ขยายตัวขึ้น 

คำถามถัดมาคือแล้วถ้าการคอร์รัปชันมันไม่ได้ตรงไปตรงมา และประชาธิปไตยไม่ได้มีประสิทธิภาพขนาดนั้น ถามว่าทำอะไรได้บ้าง ทำได้ในตอนตรวจสอบ เพราะในมุมของการต่อสู้เรื่องคอร์รัปชัน เราก็อาจจะพูดได้ว่ามันเหมือนเดิมได้ เช่น รับเงินมาก็อย่าไปเลือก ต้องมีอุดมการณ์ที่ดี เลือกพรรคการเมือง หรือตัวแทนที่เหมาะสม อันนี้ก็อาจจะพูดได้เหมือนที่ผ่านมา แต่ในมุมอีกมุมหนึ่งคือ แม้กลุ่มที่มีอาจจะไม่เปิดเผยข้อมูลชนะการเลือกตั้ง ผมว่าหลังจากนี้ 4 ปีผ่านไปเนี่ยก็ไม่ได้ง่าย เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลง 

“ผมว่าการกำกับเรื่องความโปร่งใส การกำกับเรื่องการมีส่วนร่วม น่าจะมีบทบาทมากขึ้น สำหรับท้องถิ่นไม่ใช่โจทย์ง่ายของประเทศไทย เพราะว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมีความหมายมาก การเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นจะง่ายกว่าถ้าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ”

 ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยแผน อปท. ทุกแห่งต้องเปิดเผยโปร่งใส ต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายในทุกเรื่องทั้งท้องถิ่นและในระดับประเทศ จังหวัดทุกจังหวัดต้องเปิดเผย อันนี้จะเป็นไปได้ง่ายกว่าในสังคมไทย อาจจะเป็นเพราะข้อแรกคือ การปกครองที่รวมศูนย์ในสังคมไทย ถัดมาคือความสัมพันธ์ของท้องถิ่นนักการเมืองท้องถิ่นกับคนในท้องถิ่นมันมีแบบแผนมาก ๆ และสุดท้ายถ้าจะพูดให้ง่ายขึ้น 

เวลาผมสอนนิสิตนิสิตเข้าใจง่ายกว่าพ่อกับแม่ผมอีก เพราะว่าเวลาที่จะบอกให้พ่อแม่เปลี่ยนอะไรมันยากกว่า แล้วสุดท้ายผมก็รู้สึกว่าผมอยากออกมาเปลี่ยนให้สังคมดีขึ้นเหมือนจะมีความหวังบ้าง และกลับมาจะเปลี่ยนคนในครอบครัวของเราสักที เหตุผลที่มันเกิดขึ้นทั้งท้อ พ่อแม่ไม่ฟังเราเพราะเขาถืออำนาจบางอย่างอยู่อย่างคุ้นเคย เขาไม่ได้ยอมรับในตัวเรา พอเขาถืออำนาจมากในอีกด้านเราก็มีอำนาจน้อยและเราอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์อย่างแท้จริงและความสัมพันธ์ในเชิงบุญคุณ ดังนั้นถ้าในประเทศไทย ท้องถิ่นอาจจะมีคนที่ชอบแบบเดิมอยู่ แม้จะเยอะกว่าแล้วเรียกตังค์ออกมาเป็นแบบนั้นก็จริง แต่ผมว่าพลังของคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่กระจายอยู่ในหลายท้องถิ่น การเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ ดูจะมีอิมแพคว่าอันนี้ก็น่าจะเป็นกลไกที่เร่งให้การเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นแต่ผ่านระบบนิเวศของท้องถิ่นก็คือการกำกับดูแลในระดับประเทศ

ผมคิดว่าในปัจจุบัน นายกอบจ. เองจำนวนมากไม่ได้ถืออำนาจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วไม่ได้อยากให้จังหวัดตัวเองพัฒนา เพราะฉะนั้นในมุมของการพัฒนาโดยเฉพาะมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ เขาอยากมีรายได้ ก็ช่วยให้เขาหาเสียงง่ายขึ้นเป็นหน้าเป็นตาในการแสดงออก เพราะฉะนั้นในมิติทางเศรษฐกิจที่นักการเมืองจำนวนมาก ไม่ค่อยมีหัวทางด้านนี้เรามักจะบอกว่าท้องถิ่นทำอะไรก็เจ๊ง เจ๊งสิ เพราะว่าเขาไม่ได้มีหัวทางเรื่องนี้แล้ว เขาไม่ได้มีหัวทางเรื่องนี้แล้วเขาไม่สามารถทำได้ดี มองในแง่ว่าโอเค เรื่องคอร์รัปชันก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าในมิติของความตั้งใจก็อาจจะไม่ได้สำเร็จได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นในมุมของคนรุ่นใหม่ที่อยากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และอยากจะพ่วงกับการเมืองในการสนับสนุนด้วย ผมคิดว่าการเปลี่ยนวิธีสินค้าวัฒนธรรมหรือการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ในท้องถิ่นมีความหมายมากๆ ในการไปมีส่วนร่วมทางการเมือง 

ทีนี้ถามว่าเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้มีรายได้มากขึ้นสำคัญอย่างไร อันแรกรายได้ที่มากขึ้นทำให้คนเริ่มสนใจ ระบบที่เป็นทางการและเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ได้รอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะมันทำให้คนในพื้นที่มีศักยภาพที่เขาพึงมีรายได้ของตัวเองอย่างเหมาะสม และเขาจะเริ่มคิดถึงศักดิ์ศรีการมีงานทำและการเติบโต เพราะฉะนั้นการมีรายได้ทางเศรษฐกิจเป็นจุดเริ่มต้น ถัดมาคือ เศรษฐกิจสัมพันธ์กับงบประมาณ การมีรายได้ทางเศรษฐกิจ ทำให้ท้องถิ่นเริ่มเป็นอิสระมากขึ้นจากความสัมพันธ์กับงบประมาณภาครัฐ เริ่มเห็นไฟสว่างตอนกลางคืน ความโปร่งใส่ความร่วมมือการทำบางอย่าง เพราะฉะนั้นก็จะเริ่มมีบทบาทกับงบประมาณทำให้ท้องถิ่นเริ่มเป็นอิสระมากขึ้น แล้วก็สามารถหารายได้นำมาสู่ท้องถิ่นที่อาจจะต้องตอบสนองต่อกิจกรรมของในท้องถิ่นมากขึ้น และสุดท้ายคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ทำให้คนเข้าหาเศรษฐกิจมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามา มีผู้ซื้อสินค้า มีผู้ผลิตมีเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ท้องถิ่นมีความทันสมัยมากขึ้น และกลายเป็นข้อจำกัดของการใช้อำนาจมืดไม่ให้เกิดขึ้น ผมคิดว่าวัฒนธรรมนี้มันเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญแล้วก็เห็นในต่างประเทศที่เริ่มเห็นกลไกนี้พอสมควร

เรียบเรียง : กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ

สัมภาษณ์ : ธีรมล บัวงาม, แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง

ภาพถ่าย : เชาว์ นาคอินทร์ 

แชร์บทความนี้