ภาพเด็กน้อยปะแป้งทานาคา แววตาไร้เดียงสา และภาพชีวิตประจำวันของชาวคะเรนนีในอดีตที่แต้มรอยยิ้ม เป็นนิทรรศการภาพที่ดึงดูดความสนใจ จากผู้ที่มาร่วม “เวทีสานสัมพันธ์ลมหายใจสองฝั่งสาละวิน” ที่จังหวัดเชียงใหม่
ดินแดนเพื่อนบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้าม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่ปรากฏในแผนที่โลก เนื่องจากเป็นที่รับรู้ว่าคือประเทศเมียนมา แต่พวกเขาเรียกพื้นที่ของเขาว่า “รัฐคะเรนนี” (Karenni State) มีเนื้อที่ประมาณ 11,700 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับจังหวัดเชียงราย ภูมิประเทศก็เหมือนหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยที่เป็นป่าไม้ ภูเขาสูง และเจอสถานการณ์ฝุ่นควัน ไฟป่าที่ผลกระทบทั้งในพื้นที่ และพัดข้ามแดนมายังประเทศไทยในทุกปี
Saphia Myar เจ้าหน้าที่จาก Kareni state consultant council ชวนเดินชมนิทรรศการเพื่อรู้จักทำความเข้าในสาเหตุของฝุ่นควันไฟป่า และสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยบอกถึง 2 ไฟในรัฐคะเรนนีที่เป็นต้นกำเนิดฝุ่นข้ามพรมแดน
นิทรรศการชุดที่ 1 ไฟป่า เล่าถึงช่วงฤดูร้อนของทุกปี รัฐคะเรนนีจะเผชิญกับไฟป่า ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ โดยวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวคะเรนนีจะปลูกข้าว ทำไร่หมุนเวียน และทำแนวกันไฟ แต่ในบางครั้ง อาจเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ฟ้าผ่า หรือไฟลุกลามซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลให้ความชื้นของพื้นดินที่ลดลงจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าที่สะสมมาตลอดหลายปี นอกจากนั้นการปรับวิถีการเกษตรไปสู่ระบบอื่น เช่นการปลูกพืชผสมผสาน อาจทำได้ยากเพราะปัจจัยเรื่องความไม่มั่นคงจากภัยสงคราม
นิทรรศการชุดที่ 2 ไฟสงคราม หลังจากการทำรัฐประหารของทหารเมียนมาในเดือนกุมภาพันธุ์ 2564 เกิดไฟขึ้นบ่อยมากในรัฐคะเรนนี เธอเล่าว่า ทหารเมียนมาเข้าเผาบ้านเรือน และชุมชน มีการโจมตีทางอากาศ และด้วยกระสุนปืนใหญ่ กลายเป็นสิ่งที่คนคะเรนนีต้องเผชิญ เป็นสาเหตุหนึ่งของหายภัยทางทางธรรมชาติ และบีบให้คนต้องอพยพย้ายถิ่น เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยธรรม และอื่น ๆ ตามมา และก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การเกษตรของพื้นที่ปรับจากไร่หมุนเวียนได้ยาก เพราะผู้คนไม่อาจจะอยู่ในถิ่นฐานได้นาน จากความไม่มั่นคง ปลอดภัยที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาการโจมตีทางอากาศและกระสุนปืนใหญ่เล็งเป้ามาที่พื้นที่ บ้านเรือย โรงเรียน โรงพยาบาล สถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ข้อมูลจาก KSCC มีการโจมตีรัฐคเรนนีจากทหารเมียนมา ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2567(3เดือน) จำนวน 314 ครั้ง ทำให้เมืองส่วนใหญ่ถูกทำลาย บ้านเรือนอย่างน้อย 871 เสียหาย และเกิดขึ้นมากที่สุดที่เมืองเมือง MESE
หากดูจากแผนที่จะเห็นได้ว่าเมือง MESE ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดนั้นเป็นเมืองที่ใกล้ชายแดนไทยที่สุด ห่างจากชายแดนบ้านเสาหิน จ.แม่ฮ่องสอน เพียง 8.9 กิโลเมตร ทำให้หลายครั้งเสียงระเบิด และการโยมตีทางอากาศสะเทือนมาจนถึงจิตใจของคนชายแดน
นิทรรศการชุดที่3 เล่าเรื่อง Everyday life in Kareni จากภาพชีวิตประจำวันที่ปกติสุขเป็นเหมือนคนละขั้วกับสิ่งที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจากภาพชุดไฟสงคราม หากไม่มีการโจมตีประชาชนในพื้นที่จะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องหวาดกลัว สามารถไปประกอบอาชีพ ทำการเกษตร หรือมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาได้
ส่วนชุดสุดท้ายว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงคะเรนนี หมู่บ้าน Kayahได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ผู้หญิงซึ่งทำหน้าที่ดูแลครอบครัวต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดตี 3 ตี4 ทุกวัน และเดินเท้าวันละ 2-3 ชั่วโมงเพื่อไปหาบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้ๆกับถ้ำในเขตภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเดียวในช่วงหน้าร้อน ส่วนหน้าฝนสามารถใช้บ่อน้ำตื้นได้ พวกเธอต้องไต่ลงไปกว่า 20 นาที เพื่อให้ครอบครัวมีน้ำดื่ม
Ah Moo Htoo คนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม Kareni Evergreen Group ได้เล่าเพิ่มถึงความพยายามจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทำงานเรื่องของไฟป่า หลายรูปแบบ เชื่อมโยงวิถีวัฒนธรรมกับการอนุรักษ์ จัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ ให้ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองและมีสิทธิในการจัดการของตัวเองมากขึ้น ทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เก็บข้อมูลในพื้นที่ และทำงานร่วมกับรัฐกะเหรี่ยง แต่การทำงานก็ต้องพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะเรื่องไฟป่า จากการทำเกษตร เพราะการต้องอพยพจากพื้นที่ ไม่สามารถปลูกต้นไม้ หรือกลับมาทำมาหากินในพื้นที่ จากความไม่ปลอดภัยของสงคราม
เธอเล่าว่ารัฐคะเรนนียังไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการควบคุมจัดการไฟป่า ต้องเก็บข้อมูล ทำงานวิจัยร่วมกับพื้นที่ และพัฒนาการสื่อสารเพื่อให้พัฒนาการทำงานได้ดีขึ้น ต้องทำงานให้ความรู้และทำงานร่วมกับคนกลุ่มต่างๆในพื้นที่ น่าจะมีผลที่ดีตามมามากกว่าทำเอง
ที่สำคัญคือปัญหาไฟป่าส่งผลกระทบไม่ใช่แค่เพียงรัฐคะเรนนี แต่เป็นปัญหาร่วม อยากให้ภาคประชาสังคมในไทยและผู้นำมีการพูดคุยกัน อาจจะทำแผนในการจัดการป่า หรือข้อกฎหมายด้วยกัน จากนั้นจึงค่อยนำไปใช้ในระดับพื้นที่ ใช้การศึกษาในการให้ความสำคัญของป่าให้กับชุมชน รวมถึงผู้นำประเทศไทยควรมีการทำงานร่วมและสนับสนุนเทคนิคต่างๆกับเพื่อนบ้าน .
เรื่อง / ภาพ วิชุดา ขวัญชุม
*เวทีสานสัมพันธ์ลมหายใจสองฝั่งสาละวิน จัดขึ้นวันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมทองกวาว สำนักบริการวิชาการ (UNISERV) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนปัญหาฝุ่นควัน และไฟป่าจากพื้นที่ไฟป่าแปลงใหญ่ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำสาละวิน รัฐคะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา จัดโดยสภาลมหายใจภาคเหนือ