สร้างพายุหมุน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้  

ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของหลากหลายหลายและศักยภาพในพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา  ถูกสะท้อนผ่านความสร้างสรรค์ ของคนรุ่นใหม่ๆ ที่ร่วมกันขยับเมืองผ่านการสร้างมูลค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ  เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับเมืองของตัวเอง

แล้วการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมภาคใต้เหล่านี้ จะเป็นแนวทางเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามอง ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะช่วยขับเคลื่อนให้ภาคใต้ไปได้ไกลอย่างไร ผ่านมุมมองจาก 3 พื้นที่ ปัตตานี สงขลา เเละนครศรีธรรมราช

ฮาดีย์ หะมิดง คณะทำงาน Pattani Decoded กล่าวว่า ปัตตานี decode คือ movement ที่รวบรวมเอาผู้คนที่อยู่ในเมืองปัตตานี ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักออกแบบ กราฟิก ดีไซน์เนอร์ นักวิชาการ พ่อค้า แม่ค้า นักเรียน นักศึกษามาทำงานร่วมกันเพื่อถอดรหัสสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่

อัตลักษณ์และวัฒนธรรม คือ ประเด็นใหญ่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทุกคนมีความภาคภูมิใจ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรม และเราก็เลือกสิ่งนี้มาถอดรหัสผ่านงานออกแบบและสร้างสรรค์ ปัตตานี decode  เมื่อปี 2024 หรือครั้งล่าสุดที่เราจัด เราใช้ธีมที่ชื่อว่า Unparalleled เป็นคอนเซ็ปต์ที่เรานำเสนอความไร้เทียมทานของคนพื้นที่ ผ่านเสื้อผ้า ผ่านอาภรณ์ เสื้อผ้าหรือการแต่งกาย คือ ภาษาหนึ่งในการสื่อสาร หลายคนสื่อสารอัตลักษณ์ผ่านเสื้อผ้า และที่สำคัญอย่างยิ่งเสื้อผ้าเองก็เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนปลดปล่อยตัวเองจากความยากจนโดยเฉพาะวงการเสื้อผ้ามือสอง ที่ถือว่าปัตตานีเป็นหนึ่งใน Hub สำคัญของประเทศนี้

เสื้อผ้าอาภรณ์ ทั้งในเชิงอัตลักษณ์ และเสื้อผ้ามือสอง การมิกซ์แอนด์แมช การเลือกใช้เสื้อผ้าการคัดสรรเสื้อผ้าเป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปัตตานีแต่เมื่อทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ มันจึงทำให้เห็นถึงความไร้เทียมทานของผู้คนในพื้นที่

ฮาดีย์ กล่าวต่ออีกว่า งาน ปัตตานี decode  เราทำงานในย่านเมืองเก่า เราทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เพราะเราอยากให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดงาน มีส่วนร่วมในการนำเสนอตัวตน ผ่านงานสร้างสรรค์ และการออกแบบ และที่สำคัญที่สุด  เราอยากสร้างการตระหนัก และเราอยากจะร่วมสร้างความคึกคักในเมือง เราอยากจะร่วมสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้คนออกมาเดินเที่ยวในเมือง

และที่สำคัญที่สุดเราอยากให้ ธุรกิจของปัตตานี มีคนมาจับจ่ายใช้สอย งานออกแบบถ้าไม่ตอบสนองคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ก็จะเป็นเพียงงานออกแบบที่สวยเท่านั้น แต่เราเชื่อว่างานออกแบบ และงานสร้างสรรค์ จะสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

สธนธร สุขสวี กลุ่มDE’ South กล่าวว่า ทุกวันนี้ ทุกคนมองเมืองหาดใหญ่ของเราเป็นยังไง เมืองการค้า เมืองชายแดน เมืองผ่าน หรือเมืองที่เคยเป็นหัวใจของเศรษฐกิจภาคใต้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมืองแห่งนี้ได้กลับมามีพลังอีกครั้งผ่านงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีค เทศกาลออกแบบปักษ์ใต้ ที่จัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ภายใต้แนวคิด DE’ South turn ถึงทีใต้ได้แรงอก

เวทีที่ได้รวบรวมนักสร้างสรรค์ และผู้พัฒนาเมือง จาก 14 จังหวัดภาคใต้ ที่มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ผ่านการชูอัตลักษณ์ และต่อยอดวัฒนธรรม ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างงาน สร้างโอกาส และสร้างการเปลี่ยนแปลง

เราในนาม DE’ South ค่ะ กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความหวัง และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเห็นเมือง และเห็นเมืองที่เป็นบ้านเกิดของเราเปลี่ยนแปลง เราได้ร่วมรังสรรค์งานปักษ์ใต้ design วีค ผ่าน Project ที่เราเรียกว่า ลักหยบหลังร้าน  Project ที่นำนักดีไซน์ 21 คน มานำเสนออัตลักษณ์ ความเป็นพหุวัฒนธรรมของเมืองหาดใหญ่ ที่ประกอบไปด้วยชาวไทยชาวจีน ชาวมุสลิม  และอีกหลายเชื้อชาติ นำเสนอผ่านมิติของอาหาร ผ่านงานดีไซน์หลากหลายรูปแบบ

เเละเรายังได้เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักคิด และกลุ่มนักพัฒนาเมือง ทำให้เราเจอกับสิ่งหนึ่งที่ท้าทายค่ะ คือ การรักษาสมดุล ระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ จะทำยังไง ให้เราสามารถนำทุนทางวัฒนธรรม  จะทำยังไงให้เราสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีอยู่  จะทำยังไงให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงง่าย และจับต้องได้ สำหรับคนในท้องที่

ศุภชัย เเกล้วทนงค์ กลุ่ม Creative Nakhon กล่าวว่า กลุ่ม Creative Nakhon เริ่มต้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2560 เรารวมตัวกัน จากกลุ่มคนเล็กๆนะครับ ประมาณ 4 คน พูดคุยกันว่า เรากลับมาที่บ้านเกิด เรารู้สึกว่า นักสร้างสรรค์ ไปอยู่ที่ตรงไหน หรือทำอะไรกันอยู่

เราก็เริ่มมีแนวคิดว่า เราอยากจะชวนนักสร้างสรรค์ มาทำความรู้จักกัน พูดคุยกัน เริ่มทำการที่จะชักชวนในกลุ่มเพื่อนฝูงเราพี่ๆ น้องๆ มาร่วมพูดคุยแล้วก็เสนอแนะกัน จนกลายเป็น กลุ่ม Creative Nakhon ขึ้นมาโดยกลุ่ม Creative Nakhon เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ใช้เรื่องราวของงานสร้างสรรค์ เป็นตัวแกน เราคิดว่างานสร้างสรรค์ มันจะเป็นตัวแกนในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ โดยนครศรีฯ มีนักสร้างสรรค์อยู่หลายแขนงมาก

มีทั้งนักออกแบบ มีสถาปนิกมี ศิลปิน มีนักเขียน และมีนักสร้างสรรค์อีกหลากหลายเลย เพราะงั้นการใช้งานสร้างสรรค์เป็นแกนเนี่ยเราสามารถที่จะรวบรวมกลุ่มคนต่างๆ เนี่ยได้เข้ามาร่วมทำกัน โดยได้เริ่มทำกิจกรรมครั้งแรกเนี่ย ในปี 2561 นะครับ โดยใช้ชื่อของกลุ่มเนี่ย เป็นตัวแทนในการสร้างกิจกรรมขึ้นมาชื่อว่างาน Creative Nakhon  ซึ่งในปีแรกๆ เป็นกิจกรรมเล็กๆ นะครับ เป็นนิทรรศการโดยยังไม่มีธีมงาน มีกิจกรรมที่เริ่มขึ้นโดยให้นักสร้างสรรค์เนี่ยเรียกว่าได้มาปล่อยปล่อยของ ปล่อยงาน ผลงานของตัวเองที่ทำอยู่ในปีแรก

ปีที่ 2 เนี่ยเราทำภายใต้ธีม ที่ชื่อว่า The Fruit Story เราเล่าเรื่อง ความอุดมสมบูรณ์ของเมืองนครผ่านผลไม้ ที่มีเยอะแยะมากในเมืองนครนะครับ

ปีที่ 3 เราทำงานภายใต้ธีมชื่อว่า The Root ค้นหาคุณค่าแห่งรากสู่การต่อยอด เพราะเราคิดว่ารากของวัฒนธรรม ของเมืองนครเนี่ย มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ และเรื่องราวเยอะมากที่ น่าสืบค้นแล้วนำมันมาสู่งานสร้างสรรค์

ปีที่ 4 เราทำงานซึ่งเริ่มเป็นสเกลใหญ่ขึ้น เพราะว่าเราทำงานร่วมกับทาง ca ในการขับเคลื่อน ให้เกิดเป็นย่านสร้างสรรค์ ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยทำงานกับนักสร้างสรรค์ที่เพิ่มมากขึ้น แล้วก็ทำงานภายใต้พื้นที่สร้างสรรค์ ท่าวังท่ามอญ

ในงานครั้งที่ 5 เราทำงานภายใต้ธีม คลั่งคราฟท์ Craft Aholic เราพูดถึงงานฝีมือ  งานหัตถกรรมงานช่างต่างๆ ที่มีมากในเมืองนครซึ่งเป็นจุดแข็งของเมืองนคร มาบวกกับงานสร้างสรรค์ของนักสร้างสรรค์ต่างๆนะครับ

เเละล่าสุดเราทำงานภายใต้ Theme ที่ชื่อว่า “จ้าน” หรือภาษาใต้ บอกว่า “จาน” คือ เราบอกถึงความมากมายหลากหลาย ของเมืองนคร ที่บอกว่ามีสิ่งนั้น สิ่งนี้ สิ่งโน้น มีวัฒนธรรม มีงานหัตถกรรม มีงานมีการแสดงมีการละเล่นต่างๆ ที่เยอะแยะ ภาษาใต้บอกว่า ทุกนครเนี่ย มี “ยังเพ” คือ “มีทุกอย่าง ทุกสิ่งเลย”

ขอบคุณภาพ Creative Nakhon

เรากำลังพูดถึงความรุ่มรวย ความร่ำรวย ของสินทรัพย์ในเมืองนคร ที่มีหลากหลาย แต่เราจะให้นักสร้างสรรค์ ได้มองและนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจผ่านการสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ทั้งงานออกแบบ งานศิลปะ เราทำงานมาทั้งหมด 6 ครั้งแล้ว ภายใต้งานสร้างสรรค์ เราคิดว่ากิจกรรมของเราเป็นการขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์ในเมืองนคร ซึ่งเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่บอกถึงศักยภาพของสินทรัพย์ในเมืองนคร ซึ่งนครมีสินทรัพย์ที่ดีอยู่แล้ว เราบวกงานสร้างสรรค์ที่ทำให้มันดีกว่าเดิม ซึ่งการขับเคลื่อนมันเป็นเรื่องยากมากในการทำงาน ดั่งคำที่ว่า “ปล้ำตัวกันทำงานมาก” แต่ปล้ำตัวครั้งนี้ ก็เพื่อบ้านเกิดของเรา

แชร์บทความนี้