สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 60 จะมีอายุครบวาระ 5 ปี โดยหลังจากที่ครบกำหนดในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ต้องมีการสรรหา สว.ชุดใหม่ ซึ่งจะมีจำนวน 200 คนที่มาจากผู้สมัครตามกลุ่มอาชีพคัดเลือกกันเอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือนกว่าที่กระบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จ โดยระหว่างกระบวนการดังกล่าว สว. ชุดเดิมที่แต่งตั้งโดยคสช. จะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในอำนาจต่อไปจนกว่าการคัดเลือกจะเสร็จสิ้นและสามารถนำ สว.ชุดใหม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้
กระบวนการเลือก สว. เลือกในกลุ่ม – ไขว้ข้ามกลุ่ม
การเลือก สว. มี 3 ระดับ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับอำเภอ :
- ผู้สมัครจะเข้า “กลุ่มอาชีพ” ตามที่สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียว 2 คะแนนไม่ได้ > เลือก 5 อันดับแรก จากแต่ละกลุ่มอาชีพ
- จับสลากแบ่งสายแต่ละกลุ่ม มี 3-5 กลุ่ม
- ผู้ที่ได้ 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 โหวต
- ผู้ผ่านเข้าสู่สนามระดับจังหวัด คือ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับจังหวัด :
- ผู้ชนะระดับอำเภอจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียว 2 คะแนนไม่ได้ > เลือก 5 อันดับแรก จากแต่ละกลุ่มอาชีพ
- จับสลากแบ่งสายแต่ละสาย มี 3-5 กลุ่ม
- ผู้ได้ที่ 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 โหวต
- ผู้ผ่านเข้าสู่สนามระดับประเทศ คือ 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับประเทศ :
- ผู้ชนะระดับจังหวัดจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 10 โหวต โหวตตัวเองได้ โหวตได้แค่คนเดียว หลายคะแนนไม่ได้ > เลือก 40 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่ม
- จับสลากแบ่งสายแต่ละสาย มี 3-5 กลุ่ม
- ผู้ที่ได้ 40 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 5 โหวต
- ผู้ชนะคือ 10 อันดับแรก อันดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มเป็นรายชื่อสำรอง
การกระบวนการเลือก สว. รอบนี้เรียกว่าเป็นวิธีการ “คัดเลือกกันเอง” ถือเป็นแนวทางการเลือกแบบใหม่ที่แปลกที่สุดนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นมา กล่าวคือ สว.แบบใหม่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาของ สว.แบบใหม่ว่า “ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมืองเพราะไม่ต้องหาเสียง คุยกันเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้ สว. ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือประชาชน”
คุณสมบัติการสมัคร สว. ปี 2567
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
- ผู้สมัครต้องลงสมัครตามกลุ่มอาชีพที่ระเบียบกำหนด
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท
สมัคร สว. ≠ อยากเป็น สว. แต่เพื่อมีสิทธิมีเสียง
- ผู้สมัครจะมีโอกาส ลงคะแนนโหวต ให้กับผู้สมัครคนอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มอาชีพของตัวเองและต่างกลุ่มอาชีพ เป็นช่องทางเดียวที่จะมีโอกาสได้เลือกคนที่มีแนวคิด อุดมการณ์ที่สอดคล้องกับตัวเอง
- ผู้สมัครจะมีโอกาส ลุ้นเข้ารอบ เพื่อไปโหวตให้กับผู้สมัครอีกหลายคนอีกหลายครั้ง ถ้าเข้ารอบสุดท้ายก็มีโอกาสเป็นเสียงตัดสินคนที่จะได้เป็น สว. จริง ๆ หรือมีโอกาสได้เป็น สว. เพื่อทำความฝันของตัวเอง
- ผู้สมัครที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ จะมีโอกาสช่วยกัน “จับตา” สังเกตสิ่งปกติหากมีการ “จัดตั้ง” หรือ “ล็อกผล” ในกลุ่มผู้สมัครคนอื่น
สว. ทำอะไรได้บ้าง
- เขียนรัฐธรรมนูญใหม่
: การเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ต้องอาศัยเสียงจาก สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จาก สว. ทั้งหมด 200 คน เท่ากับว่าต้องมีคนพร้อมโหวต “เห็นด้วย”อย่างน้อย 67 คน
2. พิจารณากฎหมาย
: สว. มีอำนาจลงมติเพื่อออกกฎหมาย การพิจารณากฎหมายบางประเภท สว. มีอำนาจเท่า สส. แต่บางกรณีก็มีบทบาทน้อยกว่า สส.
พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ : ทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส. นอกจากนี้ สว. สามารถลงชื่อร่วมกับ สส. เพื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) : พ.ร.ป. เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจะทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่ากับ สส.
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) : สว. มีบทบาทน้อยกว่า สส. ดังนั้น สว. ไม่มีอำนาจในการปัดตกร่างกฎหมาย แต่ สว. สามารถเห็นชอบ หรือ แก้ไขร่างกฎหมายที่ผ่าน สส. มาได้
3. เคาะเลือกคนมาตรวจสอบรัฐบาล
: สว. เป็นด่านสำคัญที่จะลงมติรับรองผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ดังนี้
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
- คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
- ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)
สว. ยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น
- อัยการสูงสุด
- ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.)
4. ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
: สว. สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ผ่านการอภิปรายและสะท้อนปัญหาของประชาชนไปยังรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้ถาม
ดังที่กล่าวมาข้างต้น บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. มีความสำคัญต่อกลไกทางการเมืองไม่แพ้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในการเป็นสภาสูงเพื่อถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของกลไกแบบรัฐสภา ดังนั้นการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะ สว. ก็สำคัญไม่แพ้กัน จึงเกิดการรวมตัวกันลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่พูดคุยและจัดเวทีเกี่ยวกับการเลือก สว.แบบใหม่ของภาคประชาชน
ภาคประชาชนร่วมเปิดตัวผู้สมัคร สว.สายศิลปิน – สื่อมวลชน -นักเขียน
ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาคประชาชนรวมตัวร่วมจัดเวทีพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับการเลือก สว. 67 หลายเวที หนึ่งในนั้นคืองาน “Senate for change 67 เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศไทยเปลี่ยน” ซึ่งเป็นงานรวมตัวกลุ่มศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน จัดที่พิพิธภัณฑ์จิมทอมป์สัน ภายในงานมีประชาชนที่แสดงความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการเลือก สว. ชุดใหม่
ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล ผู้เข้าร่วมงาน Senate for change 67 กล่าวถึงการเลือก สว.67 ว่า การเลือก สว. รอบนี้ถือเป็นระบบที่กีดกันให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ตั้งแต่ 2500 บาทที่ต้องเสียเพื่อจะเป็นค่าสมัคร เพื่อจะโหวตสว. ซึ่งจริง ๆ ควรจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ต้องเสียเงินเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ตัดโอกาสประชาชนไปเยอะพอสมควร
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจับกลุ่มที่แปลกประหลาด เช่น จัดกลุ่มอาชีพ 18 กลุ่ม กลุ่มอัตลักษณ์ 2 กลุ่ม แค่ในกลุ่มอาชีพเป็นกลุ่มที่เป็นข้าราชการเก่า และเป็นกลุ่มที่เป็นนายทุนไป 7 กลุ่ม แต่กลุ่มแรงงานมีจำนวนน้อยกว่า หรือกลุ่มอัตลักษณ์ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ถูกนำมาจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มประชากร ไม่ว่าเรื่องวิถีชีวิตหรือความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งมันไม่เป็นธรรม สิ่งที่คาดการณ์ไว้คือมันจะมีบัตรเสีย เพราะในการเข้าเลือกมันมีเวลาน้อยที่จะได้พิจารณาเลือกผู้สมัคร คนข้างนอกไม่สามารถเข้าไปจับตาการเลือกได้
ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล พูดถึงความเคลื่อนไหวใหม่ของ สว. 67 ว่า หลายคนอาจจะรู้สึกว่ายังไม่ได้ข่าวสารเกี่ยวกับ สว. มากนัก เพราะอาจจะมีข่าวสารประเด็นอื่นในสังคมที่ใหญ่กว่าเรื่องนี้ ความสำคัญก็คือหลายคนคิดว่าการที่ สว. ชุดใหม่ จะไม่สามารถเลือกนายกได้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไรกังวลแล้ว แต่จริง ๆ สว.มีหน้าที่สำคัญอยู่อีก ไม่ว่าจะเรื่องพิจารณากฎหมาย ยกมือให้คนเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระหลาย ๆ หน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการทำงานขององค์กรอิสระที่เลือกโดย สว. ชุดก่อนมีการทำงานแบบไหน รวมไปถึงการมีอำนาจถ่วงดุลในสภาฯด้วย ถึงแม้อำนาจในการเลือกนายกของ สว. จะหมดกับพร้อมกับบทเฉพาะกาล
“การเลือก สว. รอบนี้เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน จริง ๆ แล้วในเรื่องของการเมืองมันคือเรื่องของการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ไปสู่ส่วนต่าง ๆ ประชาชนก็เป็นหนึ่งใน stakeholder ที่มีส่วนในเรื่องของทรัพยากรเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งถ้าไม่เข้ามามีส่วนร่วม หรือ ปล่อยปะละเลย ทุกคนก็จะได้สว. หน้าตาแบบเดิมที่ตัดสินแบบเดิม ประเทศก็จะไม่ไปไหนสักที”
ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล
“เราเห็นการตัดสินใจที่ผ่านมาของสว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคสช.แล้ว 250 คนแต่งตั้งมาทำงานรับใช้เผด็จการ การตัดสินใจแต่ละอย่างเขาก็ไม่เห็นหัวประชาชน ถ้าเราอยากจะมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตัวเอง การเลือก สว. ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งช่องทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าไปได้”
ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล
ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ผู้เข้าร่วมงาน Senate for change 67 ย้ำว่า สว. เป็นประตูบานแรกในการที่จะทำให้ปัญหาทุกอย่างในประเทศได้รับการแก้ไขได้อย่างง่ายขึ้น
“ถ้าเราเป็นประชาชนไทยคนหนึ่งที่รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นมา ถ้าเราเป็นประชาชนคนนหนึ่งที่รู้สึกสงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าวันนี้มันประตูเล็ก ๆ แสงเล็ก ๆ อยู่ประตูนึงที่ประชาชนทุกคนจะเข้าไปอยู่และพิสูจน์มันได้ ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นทุกคนตัดสินใจกันเอาเองว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป อยากเห็นอะไร แล้วถ้าอยากเห็น เราต้องทำอะไร ถ้านี่คือประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมันควรจะฟังเสียงของประชาชนอย่างมีหลักการ การที่เสียงหรือความเห็นต่าง ๆ ไม่ได้มาจากประชาชนโดยแท้จริง เท่ากับว่าประเทศนี้ก็ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ”
ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์
ถึงแม้ว่า สว. ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่อำนาจหน้าที่ สว. ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา มีอำนาจในการถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไปจนถึงการพิจารณากฎหมายซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากแต่ไม่ว่าจะกติกาที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างหลากหลาย ไปจนถึงการคัดเลือกที่ดูยากที่จะเข้าใจ แล้วทั้งข้อบังคับของกกต.ที่ไม่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวหากแต่สามารถแสดงจุดยืนได้
การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนที่ให้ความสนใจในการลงสมัคร สว. ยอดผู้แสดงตัวเป็นผู้สมัคร 1,518 คน (อัปเดตข้อมูล 17 พ.ค. 2567) ข้อมูลจาก senate67.com ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของ สว.ชุดใหม่ ที่อาจจะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในเวทีการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสมการในสภาฯ และได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างในสังคมการเมือง ร่วมไปถึงสิ่งสำคัญคือการแก้รัฐธรรมนูญที่จะสามารถทำให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทได้มากที่สุด
ภาพจาก ilaw
นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีชวนผู้มีใจรักประชาธิปไตยทั่วประเทศออกมาส่งพลังฝากความหวังให้ผู้กล้าไปสมัคร สว. ที่สัญจรไปทั่วประเทศ ตั้งแต่กรุงเทพฯ ขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่
ทั้งนี้ทีมงานสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส จะมีการจัดเวทีพูดคุยเรื่อง สว. ในพื้นที่
ภาคอีสาน วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น
ภาคใต้ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ม.ทักษิณ อ.เมือง จ.พัทลุง
ภาคกลาง วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ม.ราชภัฏเทพสตรี อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
ภาคเหนือ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ศาลาเก่า อบจ.เชียงราย จ.เชียงราย
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเวทีได้ที่ Facebook เพจ นักข่าวพลเมือง Thai PBS
Author : Kanyapat Limprasert
Graphic Designer : Abdulhakam Rahmanie