20 พ.ค. 2567 – จากกรณีไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีของบริษัทวินโพรเสส จำกัด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 ทำให้สารพิษเผาไหม้และรั่วไหลสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในชุมชนหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นำมาสู่การจัดเสวนา “ทางออกกรณีมลพิษหนองพะวา: ภาพสะท้อนของปัญหากากอุตสาหกรรมอันตรายของไทย” โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
วงเสวนาเปิดการแลกเปลี่ยนด้วยการนำเสนอ “เบื้องหลังและเบื้องหน้ากรณีการก่อมลพิษ โดยบริษัท วินโพรเสสฯ และบริษัท เอกอุทัยฯ และการดำเนินการที่ผ่านมา” โดย จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ รวมทั้งภาคประชาชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อหาทางออกกรณีมลพิษหนองพะวา
นอกจากนั้นยังมีเวที เสียงจากผู้เดือดร้อน 6 กรณี ประกอบด้วย บ้านหนองพะวา จ.ระยอง กรณีบริษัท วินโพรเสสฯ, บ้านม่วงชุม จ.เพชรบูรณ์ กรณีบริษัท เอกอุทัยฯ, เทศบาลตำบลสีมามงคล จ.นครราชสีมา กรณีบริษัท เอกอุทัยฯ, เทศบาลตำบลภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา กรณีบริษัท เอกอุทัยฯ, ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี กรณีบริษัท แวกซ์กาเบ็จฯ และ ต.กรอกสมบูรณ์ ปราจีนบุรี กรณีบริษัท เวสต์ 2 เอ็นเนอร์ยี่ฯ
อธิบดีกรมโรงงานฯ ชี้ปัญหาวินโพรเสสฯ สะสมยาวนาน
จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีบริษัทวินโพรเสสฯ มีเรื่องร้องเรียนมีมาตั้งแต่ปี 2554 ต่อมาปี 2556 กรมโรงงานได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ เมื่อลงพื้นที่จึงได้พบซากของสารเคมี โรงงานมีปัญหาเรื่อยมา จนเมื่อปี 2564 ศาลมีคำพิพากษาจำคุก บริษัทวินโพรเสส และกรรมการผู้จัดการ จากกรณีครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้คุมประพฤติไว้ 2 ปี มีเงินวางศาลประมาณ 10 ล้านบาท และให้จำเลยนำของเสียทั้งหมดไปกำจัด โดยให้กรมโรงงานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดคอยกำกับดูแล
แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี ไม่มีการกำจัด เพราะยังเลือกบริษัทผู้กำจัดไม่ได้ จึงมีการเชิญมาสอบถามความคืบหน้าที่กรมโรงงานฯ
จุลพงษ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ช่วงประกาศพื้นที่ฉุกเฉิน ได้มีการลงสำรวจพื้นที่กับผู้ว่าราชการจังหวัดระยองและโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมมืออาชีพ 4 โรงงาน พบว่าในพื้นที่โกดังเก็บสารเคมีที่หนองพะวามีการปนเปื้อนของสารเคมีจำนวนมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแหล่งน้ำเสียที่เป็นกรดจำนวน 20,000 คิว อยู่ภายในบริเวณโกดังเก็บสารเคมี ชาวบ้านแจ้งว่าหากมีฝนตกลงน้ำกรดนี้จะไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะแน่นอน
ทางกรมโรงงานฯ จึงสั่งให้มีการจัดการส่วนของสารเคมีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำก่อนเป็นอันดับแรก โดยการขุดแนวคูน้ำเอาไว้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนลงแหล่งน้ำสาธารณะ แต่กลับพบน้ำมันและกรดซึมออกจากดิน จึงได้ประสานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้ามาขุดเจาะบ่อ เพราะสันนิษฐานว่ามีการแอบฝังกลบสารเคมีเพิ่มเติม
อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวว่า ในช่วงของการดับเพลิงที่ไหม้ในโกดังเก็บสารเคมี พบสารเคมีอันตรายมากมายและยังมีสารเคมีบางชนิดที่เป็นสารระเหยส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างเช่น แอมโมเนียหรืออลูมิเนียมดรอสซึ่งเป็นสารเคมีที่โดนน้ำแล้วไฟไม่ดับยังทำให้เกิดสาระเหยออกมาเป็นจำนวนมากอีกด้วย
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ เดิมตามคำสั่งของศาลจังหวัดระยองให้โกดังเก็บสารเคมีต้นทางเป็นคนกำหนดแผนและแนวทางในการกำจัดสารเคมีออกจากพื้นที่ แต่ว่าการกำจัดก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่เสนอไว้ ทำให้กรมโรงงานฯ ส่งรายงานการลงพื้นที่และยื่นเรื่องต่ออัยการเพื่อส่งถึงศาล ให้กรมโรงงานฯ เป็นหน่วยงานจัดการสารเคมี และท้ายที่สุดศาลก็อนุมัติให้กรมโรงงานฯ ตามคำขอ
ในขณะนี้กำลังรอการโอนงบประมาณเพื่อดำเนินการกำจัดกากอุตสาหกรรมประมาณ 4.9 ล้านบาท จากศาลจังหวัดระยอง อีกทั้งสั่งอายัดเอกสารเกี่ยวกับโรงงานมาทั้งหมด 9 ลัง ตอนนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบเส้นทางที่ไปที่มาของสารเคมีทั้งหมด เพราะพบว่ายังมีสารเคมีที่ไม่ได้มีการแจ้งต่อกรมโรงงานฯอย่างเช่นกรดกัดแก้ว
สำหรับการกำจัดสารเคมี ส่วนของกรดกัดแก้ว กากของตะกอนสามารถเปลี่ยนสารให้ใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์พบอยู่ในโกดังเก็บสารเคมีประมาณ 400 ตัน ขนออกไปแล้ว 30 ตัน และอลูมิเนียมดรอสมีประมาณ 7,000 ตัน ขนออกไปแล้ว 300 ตัน ตอนนี้ปลายทางส่งสารเคมีพบว่ามีข่าวลือถึงการผสมของกากแคดเมียมปนอยู่ด้วย ซึ่งในวันนี้จะมีการประชุมที่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ชี้แจงต่อสาธารณะว่าไม่มีกากแคดเมียมปนเปื้อนแต่อย่างใด
หวั่นงบประมาณไม่พอแก้ปัญหาในอนาคต
อธิบดีกรมโรงงานฯ เล่าต่อว่า การกำจัดกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ นอกเหนือจากการมีแผนงานที่ดีและบุคลากรลงพื้นที่แล้ว ยังต้องอาศัยงบประมาณเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย ทางกรมโรงงานฯ มีงบประมาณประจำปี 2568 สำหรับการกำจัดกากอุตสาหกรรมประมาณ 30-40 ล้านแต่ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการทั้งประเทศ จึงได้มีการของบประมาณกลางจากรัฐบาลเพิ่มเติมแล้ว
ในกรณีหนองพะวา ทางกรมโรงงานฯ มีงบประมาณในการดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรมอยู่ 10 ล้านบาทและรอโอนจากศาลระยองเพิ่มอีก 4.9 ล้านบาท สำหรับรายละเอียดของงบประมาณกลางสำหรับการกำจัดกากอุตสาหกรรม ได้ขอรัฐบาลไป 60 ล้านบาท และได้ได้รับมาจริงเพียง 6.9 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่ได้มาจากงบประมาณกลางถูกนำไปแก้ไขปัญหาที่ อภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
อธิบดีกรมโรงงานฯ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้างบประมาณยังมีอยู่เพียงเท่านี้จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ เพราะกรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดที่หนองพะวาเพียงอย่างเดียว อาจเกิดที่อื่นด้วยก็ได้ อย่างเช่นปราจีนบุรีหรือฉะเชิงเทรา เป็นต้น
เสนอแก้กฎหมาย เพิ่มโทษล้อมคอก ‘โรงงานขยะพิษ’
อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวด้วยว่า จากกรณีไฟไหม้ที่หนองพะวาครั้งนี้ทำให้พบเงื่อนไขที่สำคัญในการทำงานอีกอย่าง คือกฎหมายและระเบียบราชการที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีกในพื้นที่อื่นได้ กรณีหนองพะวาเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ชัดเจน
กรมโรงงานฯ จึงได้มีการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้มีการปรับในเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรงงาน โดยต้องเพิ่มโทษลักลอบทิ้งกากให้มีการจำคุกนานขึ้น เพิ่มค่าปรับ ทำให้อายุความคดีนานขึ้น และขอตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพิ่มการประกันความเสียหาย
จากประสบการณ์ พบว่าบางโรงงานมีทัศนคติต่อระบบกฎหมายที่หย่อนยาน ปรับได้ก็จ่ายได้ และทำผิดได้อีก ซึ่งทัศนคติเช่นนี้ส่งผลเสียอย่างมากต่อส่วนรวม อีกทั้งไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองด้วย
ติดตามการนำเสนอแบบเต็มๆ ได้จากวงเสวนาเสวนา “ทางออกกรณีมลพิษหนองพะวา:
ภาพสะท้อนปัญหากากอุตสาหกรรมอันตรายของไทย” ที่ด้านล่างนี้