แห่ “ผีโขน” วันแปดเป็ง บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อน

ภาพ ขบวนผีโขนจากหมู่บ้านต่าง ๆ มายังวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน

แจ้ซ้อนสืบสานประเพณีแห่ผีโขน ที่สืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี เนื่องในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) ที่เรียกกันว่าประเพณีแปดเป็ง

ในช่วงงานบุญประเพณี 8 เป็ง (เดือนพฤษภาคม) หรือช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อนจะมีประเพณีสำคัญ คือ การสรงน้ำพระธาตุ ที่วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง โดยกิจกรรมในวันพระใหญ่ เช่นนี้ นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตรและมีการเวียนเทียนตามประเพณีในพุทธศาสนาแล้ว ชาวบ้านศรีหลวงแจ้ซ้อน ยังได้ร่วมกันจัดงานสรงน้ำพระธาตุขึ้นอีกด้วย และความพิเศษของการสรงน้ำพระธาตุของที่นี่ก็คือ การแห่ครัวตาน การแห่บั้งไฟ และการเล่นผีโขนซึ่งมีมานานไม่น้อยกว่า 70 ปี

กล่าวเฉพาะการเล่นผีโขนมีความน่าสนใจ เพราะโดยทั่วไปแล้ว “ผีโขน” หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ผีตาโขน” นั้นที่มีชื่อเสียงจะอยู่ในภาคอีสาน คือ อ.ด่านซ้าย จ.เลย และมักจะเล่นกันในช่วงที่มีการเทศน์มหาชาติ หรือที่ทางลำปางเรียกว่า “งานบุญประเพณีตั้งธรรมหลวง” โดยที่มาจากการเทศน์มหาชาติกัณฑ์สุดท้าย คือ นครกัณฑ์ ซึ่งกล่าวถึงพระเวสสันดรผู้บำเพ็ญตนด้วยทานบารมีและได้เข้าไปถือศีลอยู่ในป่า ในตอนที่พระองค์และพระนางมัทรีได้กลับคืนสู่พระนครนั้นปรากฏว่ามีผีป่าและสัตว์นานาชนิดเดินตามออกมาจากป่าเพื่อส่งทั้ง 2 พระองค์เข้าเมืองด้วย จึงมีการสันนิษฐานถึงที่มาของการเล่น “ผีตาโขน” ว่ามาจากอาการที่ “ผีเดินตามคน” ออกมาจากป่านั่นเอง

อย่างไรก็ดี การเล่นผีโขนของชาวบ้านศรีหลวงแจ้ซ้อน ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเล่นผีตาโขนในจังหวัดอื่น ๆ เพราะช่วงเวลาในการเล่นและการแต่งกายของผีโขนก็มีลักษณะแตกต่างกัน อีกทั้งการเล่นผีโขนที่บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อนก็มีมานานแล้วเช่นกัน

ประเพณี การละเล่นผีตาโขน หรือ “ผีขน” ของชาวบ้านหลวงแจ้ซ้อนเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านตั้งแต่บรรพบุรุษจนมาถึงลูกหลานยุคปัจจุบัน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวบ้านหลวงแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง การละเล่นพื้นบ้าน “ผีขน” มีการเล่นที่มีมานานกว่า 100 ปี

ข้อมูลทีมวิจัยอัตลักษณ์ลำปาง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ ได้เห็นผีโขนของบ้านศรีหลวงแจ้ซ้อนตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กเล็ก ๆ และพ่อแม่ของตนเล่าให้ฟังว่าได้เห็นผีโขนนี้มาตั้งแต่ยังเล็กแล้วเช่นกัน โดยที่นี่จะเรียกว่า “ผีโขน” (บางคนออกเสียงสั้นก็จะเรียกว่า ผีขน) สำหรับความพิเศษของการกลายเป็นผีโขนของชาวบ้านศรีหลวงแจ้ซ้อนจะผูกพันกับคติความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการทำบุญอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ

1. เชื่อว่าการกลายเป็นผีโขนช่วยเป็นสะพานบุญให้ผู้ล่วงลับได้มีโอกาสมาทำบุญผ่านการร่วมงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ความเชื่อนี้มาจากการอัญเชิญดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับให้เข้ามาอยู่ในร่างของผู้ที่จะแปลงกายเป็นผีโขน โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการเตรียมทำหัวผีโขนและชุดของผีโขน (ใช้เสื้อผ้าเก่าๆ หรือไปขอจีวรเก่าจากพระสงฆ์) ซึ่งจะต้องทำโดยไม่เปิดเผยให้ใครรู้ ผู้ที่ตกลงใจเป็นผีโขนในขบวนแห่จะเข้าไปเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในป่าช้าหรือในไร่/สวนที่เก็บกระดูกของบรรพบุรุษ (ทางเหนือเรียกว่า “กู่”) เมื่อถึงวันที่จัดงานบุญสรงน้ำพระธาตุ ผู้ที่จะเป็นผีโขนก็จะออกจากบ้านโดยนำกระทงใส่ดอกไม้ ธูปเป็นคู่ หมาก พลู กล้วย และข้าวปั้นไปด้วย (จำนวนอย่างละ 1) เมื่อถึงกู่หรือป่าช้าแล้วก็นำชุดผีโขนที่เตรียมไว้ออกมา แล้วนำเครื่องสังเวยที่เตรียมไว้มากล่าวต่อดวงวิญญาณนั้นๆ ให้เข้ามาสิงอยู่ในร่างของตน เมื่อได้ยินเสียงเคาะ “ผ่าง ๆๆๆ” จากคนในหมู่บ้าน เหล่าผีโขนก็จะเดินออกมาจากป่าตามที่ต่างๆ แล้วไปอยู่ที่หน้าขบวนแห่ครัวตานของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อแห่ครัวตานเสร็จผีโขนของแต่ละหมู่บ้านก็จะมาอยู่รวมกันที่หน้าวัด แล้วฟ้อนรำหรือเต้นถวายแด่องค์พระธาตุวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนร่วมกัน เมื่อเต้นเสร็จชาวบ้านก็จะช่วยกันตี “ผ่าง” ดังๆ และตีถี่ๆ เพื่อเป็นการไล่ผีโขนให้กลับเข้าไปในป่าเหมือนเดิม สำหรับผีโขนในสมัยก่อนนั้น พวกเด็กๆ และคนขวัญอ่อนที่กลัวผีจะพากันหลบอยู่แต่ในบ้าน เพราะเชื่อว่าผู้ที่อยู่ในชุดผีโขนนั้นเป็น “ผี” ที่เข้ามาสิงอยู่ในร่างของคนที่เดินนำหน้าขบวนแห่ครัวตานจริงๆ ไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป

2. เชื่อว่าการกลายเป็นผีโขนในงานบุญประเพณีสรงน้ำพระธาตุช่วยให้ตนเองมีรูปร่างหน้าตางดงามในชาติต่อไป สำหรับความเชื่อนี้มาจากอานิสงส์ของการทำบุญในศาสนา โดยชาวบ้านศรีหลวงแจ้ซ้อนมีความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการแต่งเป็นผีโขนในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุว่า ถ้าเกิดเป็นคนรูปไม่งามหรือยังไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง หากอยากมีรูปร่างหน้าตาที่ดีพร้อมก็ให้แปลงตัวเองเป็นผีโขนในงานสรงน้ำพระธาตุเสีย แล้วอานิสงส์นี้จะช่วยให้รูปร่างของตนเองในชาติต่อไปมีความสวยงามอย่างที่นึกหวัง โดยใครจะอธิษฐานให้ตนสวยงามอย่างไรก็ให้ไปขอก่อนที่จะอัญเชิญดวงวิญญาณเข้ามาสู่ร่างของตน

มีข้อสังเกตว่า การที่จะกลายเป็นผีโขนนั้น จะต้องกระทำการทุกอย่างด้วยความระมัดระวังเพราะจะต้องไม่แพร่งพรายให้ผู้ใดรู้ และหลังจากที่วิ่งกลับเข้าป่าแล้วก็จะต้องทำลายหัวผีโขนและชุดผีโขนนั้นเสีย โดยอาจจะเผาที่ป่าช้าหรือทิ้งไว้ที่กู่เก็บกระดูกนั้น ๆ ด้วยความมุ่งมั่นเช่นนี้เองจึงทำให้ผีโขนที่เดินนำขบวนแห่ครัวตานเป็นการกระทำที่ไม่ใช่การ “เล่น” หากแต่เป็นความตั้งใจจริงของผู้ที่หวังในอานิสงส์ในการแปลงกายเป็นผีในงานบุญประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน และการเปลี่ยนจากผีโขนให้กลับกลายมาเป็นคนดังเดิม ก็เปรียบเสมือนการได้กำเนิดใหม่อีกด้วย

ฉะนั้นการแต่งเป็นผีโขนในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน จึงเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ช่วยเยียวยาความทุกข์ระทมของการมีรูปไม่งามให้กลับมามีพลังใจอีกครั้ง ด้วยเพราะผ่าน “พิธีเปลี่ยนสภาวะ” จากด้านในจิตใจของตนเองมาแล้ว กล่าวคือ การยินยอมทำให้ตนเองดูน่าเกลียดน่ากลัวจนกลายเป็นผี เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็ได้กลับมาเป็นคนใหม่ที่ได้ฝังหรือเผาความน่าเกลียดน่ากลัวซึ่งเป็นปมหนึ่งในใจของตนให้หายไปพร้อมกับชุดผีโขนด้วย ยิ่งไปกว่านี้คือ ผู้ที่ผ่านการแปลงกายเป็นผีโขนในประเพณีสรงน้ำพระธาตุยังได้กลายเป็นคนใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบุญกุศลอันมีความงดงามเป็นเครื่องรับประกันในชาติต่อไปอีกด้วย อย่างไรก็ดีการแต่งกายเป็นผีโขนในปัจจุบัน มักจะเป็นเด็กวัยรุ่นหรือเด็กเล็ก ๆ ที่ออกมาสวมชุดผีโขนร่วมในขบวนแห่ครัวตานกันอย่างคึกคักด้วยเพราะมีการแจกเงินเป็นรางวัลให้กับผีโขนรุ่นใหม่นั่นเอง

การละเล่นพื้นบ้านผีขนเกิดจากความเชื่อที่ว่า ผู้ที่หน้าตาไม่ดีไม่หล่อ ไม่งาม ไม่มีคนรัก คนชอบ ถ้าได้ร่วมเล่นผีขนแล้ว เกิดชาติหน้าจะมีเป็นคนหน้าตาดี มีคนรักคนชอบ และเป็นสิริมงคลกับชีวิต วิธีการเล่นผีขนในยุคอดีต ผู้เล่นจะต้องนำชุดผีขนที่เตรียมไว้ไปทำพิธีในป่าช้า เพื่อเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายที่ผู้ตายต้องการเข้าทรงร่างผีขน โดยต้องมีหมาก 1 คำ พลู 1 ใบ กล้วย 1 ลูก ข้าว 1 ปั้น เป็นเครื่องอัญเชิญดวงวิญญาณ เมื่อดวงวิญญาณได้เข้าทรงหัวผีขนแล้ว หากได้ยินเสียงฆ้อง กลอง เพื่อร่ายรำ หลอกหล่อน และหยอกล้อ กับผู้คนที่ไปร่วมในขบวนแห่ครัวตานของ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุฯ

สำหรับชุดผีขนส่วนใหญ่จะใช้ผ้าจีวรของพระสงฆ์ใหญ่มีตัดแต่งให้คลุมได้ทั้งร่างโดยจะใช้น้ำมันเครื่องหรือถ่านมาชะโลมให้ดูเปรอะเปื้อนแล้วประดับด้วยดอกไม้และใบไม้ ส่วนท่อนหัวจะนำตะกร้าไม้ไผ่มาห่อหุ้มด้วยฝอยมะพร้าว ก่อนจะใช้ผ้าเหลืองเย็บทับแล้วแต่งใบหน้าให้เป็นตา จมูก ปาก และใบหู ก่อนจะนำสีมาวาดให้ชัดเจน สำหรับผีขนจะมีทั้งผีหน้าเดียว ผีสองหน้าและผีสามหน้า ซึ่งต้องใช้ตะกร้าตามจำนวนเพื่อทำหน้าผี ส่วนศีรษะของผีขนจะมีการนำเส้นผมของคนที่ตัดแล้ว มาทากาวแปะติดกับหัวผีขน ซึ่งในอดีตอาจใช้เส้นผมของคนที่ตายแล้วมาติดแทน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ผีขน” นั่นเอง หลังการเล่นผีขนเสร็จ ผู้เล่นจะต้องเอาชุดผีขนไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในป่าช้า แล้วผู้เล่นต้องไปอาบน้ำขมิ้น ส้มป่อยที่แช่ไว้เพื่อชำระร่างกายป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาครอบงำ

ในอดีต “ผีขน” จะไม่สามารถเข้าไปในวัดได้ เพราะเป็นวิญญาณของภูตผีคนตาย แต่ปัจจุบันเป็นการละเล่นเพื่อสืบทอดประเพณีวัฒนธรรม และเป็นการละเล่นเพื่อสร้างสีสันในขบวนแห่ครัวตานเท่านั้น ผีขนจึงสามารถเข้าไปในวัดได้ ซึ่งผู้เล่นจะเตรียมชุดไว้ และในอดีตจะต้องไปทำพิธีในป่าช้า เพื่อเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายที่ผู้เล่นต้องการเข้าทรงร่างหัวผีขน เมื่อดวงวิญญาณได้เข้าทรงหัวผีขนแล้ว ก็จะวิ่งออกมาร่ายรำ หลอกหลอน หยอกล้อ ผู้ที่มาร่วมงานในขบวนแห่ครัวตาน ซึ่งเป็นการแห่นำปัจจัย ขนมนมเนย และสิ่งของเครื่องใช้ เข้าร่วมทำบุญที่วัดและจะประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา ของทุกปีโดยมีประชาชนเยาวชนแต่งชุดฝีโขนเข้าร่วมกว่า 30 คน

ปัจจุบันการละเล่นผีขนได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยผู้เล่นอาจจะแต่งชุดผีขนออกจากบ้าน ซึ่งเป็นการเล่นเพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานเท่านั้น เมื่อเล่นเสร็จแล้วก็จะนำชุดกลับไปเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อไว้ใช้ใหม่ในปีต่อไป และไม่ต้องอาบน้ำขมิ้น ส้มป่อยชำระร่างกาย เพราะไม่ได้มีการอัญเชิญวิญญาณผีจากป่าช้ามาเข้าทรงร่างเหมือนเช่นอดีต พร้อมทั้งยังเป็นการละเล่นเพื่อสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามตลอดจนเพื่อสร้างสีสันในขบวนแห่ครัวตานเท่านั้น เพื่อนำปัจจัยเข้าสมทบสืบทอดพระพุทธศาสนาอีกด้วย

ภาพและเรื่องราว : อนุพงษ์ ตาจินะ นักสื่อสารพลเมือง จ.ลำปาง

ที่มา : https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000040865#news_slideshow

อ้างอิงข้อมูล

Panuwat Sakulsueb, ผีโขนบ้านศรีหลวงแจ้ซ้อนhttps://www.lampangculture.com. 2564.

แชร์บทความนี้