โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย มีแผนมาตั้งแต่เมื่อไร ทั่วโลกใครใช้บ้าง

รวบรวมโดย JustPow

จากการที่วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงาน (PDP) ฉบับใหม่ที่จะออกมา โดยมีการกล่าวถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 70-350 เมกะวัตต์ในแผน และเตรียมเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในเร็ว ๆ นี้

หลายคนคงสงสัยว่า จะเป็นไปได้หรือ? ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี่นะ แล้วจะอันตรายไหม?

JustPow พาไปสำรวจทั่วโลกว่ามีประเทศไหนบ้างที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีเท่าไร เพราะอะไร หรือยุบทิ้งไปแล้วเพราะอะไร แล้วประเทศไทยล่ะ มีแนวความคิดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่เมื่อไรกัน เพราะที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ อยู่ในแผน PDP มาหลายฉบับแล้ว แต่ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงเสียที

ในปี 2023 ทั่วโลกมี 33 ประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยในจำนวนนี้มี 1 ประเทศ คือ เยอรมนี ที่ประกาศปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2023 นอกจากนี้ ยังมีอีก 7 ประเทศที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต

จากข้อมูลของสมาคมนิวเคลียร์สากล (World Nuclear Association) กำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปี 2022 ทั้งหมด 33 ประเทศ สหรัฐอเมริกามีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับที่ 1 อยู่ที่ 96,952 เมกะวัตต์ อันดับ 2 ฝรั่งเศส 61,370 เมกะวัตต์ อันดับ 3 จีน 53,307 เมกะวัตต์ อันดับ 4 ญี่ปุ่น 31,679 เมกะวัตต์ และอันดับ 5 รัสเซีย 26,802 เมกะวัตต์

เมื่อพิจารณาสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทียบกับปริมาณไฟฟ้าทั้งประเทศพบว่า ฝรั่งเศสใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุด คิดเป็น 62.5% รองลงมา คือ สโลวาเกีย 59.2% อันดับ 3 ฮังการี 47% อันดับ 4 เบลเยียม 46.4% และอันดับ 5 สโลวีเนีย 42.6% เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งหมดเป็นประเทศในทวีปยุโรป

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์พบว่า สหรัฐอเมริกา มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด 94 โรง อันดับ 2 ฝรั่งเศส 56 โรง อันดับ 3 จีน 55 โรง อันดับ 4 รัสเซีย 36 โรงและอันดับ 5 ญี่ปุ่น 33 โรง

เหตุผลที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เนื่องจากถูกมองว่าแร่ยูเรเนียมเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่มั่นคงและพึ่งพาได้กว่าพลังงานจากก๊าซฟอสซิลหรือน้ำมัน ซึ่งมีราคาและปริมาณไม่แน่นอน และเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่หมดไปในอนาคต นอกจากนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน

เมื่อย้อนกลับไปยังระยะแรกที่มีการใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล สหภาพโซเวียตระเบิดในปี 2529 จำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ยุโรปเริ่มกลับมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ไฟฟ้าเกือบ 10% ในสหภาพยุโรปมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยในระหว่างปี 2548 และ 2549 อาจจะนับได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เพิ่มจาก 6.7% ในปี 2548 เป็น 29.5% ในปี 2549 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่เลิกใช้ เช่น อิตาลี ปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2533 หลังมีการทำประชามติ

อย่างไรก็ตาม ในเยอรมนี หลังจากที่ใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มานานกว่า 60 ปี เยอรมนีปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทุกแห่งเมื่อวันที่ 15 เม.ย.2566 เยอรมนีเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ Kahl เพื่อผลิตไฟฟ้าในปี 2504 ต่อมาจากสถานการณ์วิกฤตน้ำมันในช่วงทศวรรษ 2510 ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขยายตัวและได้รับการยอมรับจากสาธารณชน จนทศวรรษ 2530 ไฟฟ้ามากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศมาจากเครื่องปฏิกรณ์ 17 เครื่อง

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการเติบโตของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มีการเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์มายาวนาน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษแรกที่มีการก่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และในช่วงโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล สหภาพโซเวียตระเบิดในปี 2529 ที่มีเมฆกากกัมมันตรังสีลอยมาถึงบางส่วนของเยอรมนี มีการประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเบอร์ลิน ในปี 2545 รัฐบาลผสมที่มีพรรคกรีนออกกฎหมายหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ และปิดโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ภายในปี 2564

แม้จะประเด็นนี้จะเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน แต่เหตุโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นระเบิดเมื่อปี 2554 ก็ทำให้อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเคยสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์มาตลอด เปลี่ยนท่าที และประกาศจะพาเยอรมนีถอนตัวจากพลังงานนิวเคลียร์เร็วขึ้น และปิดโรงไฟฟ้าที่เก่าแล้วทันทีซึ่งขณะนั้น เยอรมนีใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17%

ความปลอดภัยเป็นข้อกังวลที่สำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดมากเพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ทั้งการกำจัดกากกัมมันตรังสี ผลกระทบจากการแพร่กระจายกัมมันตภาพรังสี โดยแม้ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาโดยตลอด แต่ยังไม่มีหลักประกันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปลอดภัยอย่างเต็มที่

ที่ผ่านมา โลกมีบทเรียนจากอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งสำคัญอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งแรก อุบัติเหตุที่เกาะThree Mile รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ 28 มี.ค. 2522 ลิ้นปิดเปิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เตาหนึ่งในจำนวนสองเตาเกิดขัดข้องทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบลูกโซ่ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในโลก และจัดเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้ในทางพาณิชย์ของสหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไม่ว่าจะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนั้นหรือตามชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง แต่มีสารกัมมันตรังสีถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม มีการสรุปว่าต้นเหตุมาจากการทำงานผิดพลาดของคนและการออกแบบที่ไม่ดี

ครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล สหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2529 ซึ่งถูกจัดเป็นอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก โดยมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดทางเทคโนโลยี และความผิดพลาดของผู้ควบคุมการเดินเครื่อง ทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ไฟลุกไหม้อยู่เป็นเวลา 10 วัน สารกัมมันตภาพรังสีในเตาปฏิกรณ์ฟุ้งขึ้นไปในอากาศและถูกพัดพาไปหลายพันกิโลเมตร ประชากรอย่างน้อย 200,000-400,000 คนต้องอพยพ องค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลเมื่อปี 2549 ว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิลรวมประมาณ 9,000 คน แม้พื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจะยังคงเป็นเขตหวงห้าม แต่พื้นที่โดยรอบที่ปนเปื้อนด้วยรังสีอันตรายยังมีผู้อยู่อาศัยกว่า 7 ล้านคน และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้กำลังทนทุกข์ทรมานกับโรคต่างๆ

ส่วนหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2554 อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของญี่ปุ่น นำพาคลื่นยักษ์สึนามิสูง 14 เมตร ซัดเข้าชายฝั่ง ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เกิดขัดข้องที่ระบบหล่อเย็นฉุกเฉิน จนนำมาสู่การระเบิดของอาคารเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ปลดปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากสู่บรรยากาศ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสั่งอพยพประชาชนทั้งหมดในพื้นที่ 20 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้า มีประชาชนถึง 116,000 คนที่ถูกอพยพจากพื้นที่ดังกล่าว และอีกกว่า 80,000 คน ตัดสินใจอพยพตาม เนื่องจากพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีมากกว่าที่รัฐบาลประกาศ ชุมชนที่เคยพลุกพล่านกลายเป็นเมืองร้าง และหลายพื้นที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ต้องห้ามมานานกว่า 10 ปี ผลการสำรวจในปี 2020 โดยมหาวิทยาลัยคันเซย์กาคุอิน พบว่า 65% ของผู้อพยพไม่ต้องการกลับไปยังจังหวัดฟุกุชิมะอีกต่อไป โดย 46% ให้เหตุผลว่ากลัวกัมมันตรังสีปนเปื้อนตกค้าง และ 45% ระบุว่าตั้งรกรากที่อื่นแล้ว

สารกัมมันตภาพรังสีที่แพร่ออกมาทำให้ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมงเสียหายจำนวนมาก และมีการตรวจพบสารปนเปื้อนรังสีในผลผลิตทางเกษตรแพร่กระจายออกไปไกลถึง 400 กิโลเมตร รวมทั้งโคเนื้ออีกหลายแห่ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล หลายประเทศยุติการนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะ

10 ปีผ่านไป พื้นที่ร้อยละ 85 ของฟุกุชิมะ ไดอิจิ ยังคงปนเปื้อนรังสีนิวเคลียร์ นอกจากนี้น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจำนวนหลายล้านตันสะสมภายในถังน้ำขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ถัง ภายในเขตโรงไฟฟ้า ซึ่งเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกได้กว่า 500 สระ กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เมื่อญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 2566

แนวคิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทยอาจย้อนกลับไปได้ถึงปี 2504 ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อวิจัยค้นคว้าและนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งควบคุมความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานและประชาชนทั่วไป ซึ่งได้มีการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเป็นครั้งแรก ที่เขตบางเขน กรุงเทพฯ

ความพยายามก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ครั้งแรกมีขึ้นในปี 2509 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ณ อ่าวไผ่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จนในปี 2517 รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ออกคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 166 ประกาศให้บริเวณอ่าวไผ่เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และในปี 2520 กฟผ.เสนอโครงการกลับเข้ามาใหม่และได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลที่คาบเกี่ยวในยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร และรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปีถัดมา 2521 รัฐบาลอนุมัติให้เปิดประมูล แต่ก็เลื่อนโครงการไปไม่มีกำหนดเพราะประชาชนคัดค้าน และมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติหลุมแรกในอ่าวไทย

จนกระทั่งปี 2532 มติคณะรัฐมนตรี 27 ธ.ค. 2532 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ให้สำนักงานพลังปรมาณูเพื่อสันติ ย้ายเครื่องปฏิกรณ์ฯ จากบางเขนไปยังตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยเปลี่ยนเป็นโครงการก่อสร้าง “โครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์” แทน หลังจากร่วมประชุมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แล้วเห็นว่า เตาปฏิกรณ์ฯ ที่บางเขนอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง 8 กิโลเมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักความปลอดภัยสากลที่จะต้องอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติ 14 กิโลเมตร แต่ในทางเทคนิคไม่สามารถย้ายเตาปฏิกรณ์ฯ ได้ จึงนำไปสู่การเสนอซื้อเครื่องใหม่

เริ่มมีการบรรจุแนวคิดการวางแผนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครั้งแรก ในฉบับที่ 7 ซึ่งอนุมัติโดยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2534 ซึ่งเนื้อหาด้านการลงทุนและปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าระบุว่า “พิจารณาศึกษาความเหมาะสมในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า ทั้งทางเศรษฐศาสตร์เทคโนโลยีและความปลอดภัยและเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจอย่างต่อเนื่อง”

ปี 2540 มีกระบวนการสรรหาผู้รับจ้างดำเนินการออกแบบและก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฯ ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2532 บริษัท เจเนอรัล อะตอมิกส์ หรือจีเอ (General Atomics: GA) สหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทที่ได้รับคัดเลือกและลงนามเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2540 แต่ต้องหยุดหลายครั้งเนื่องจากปัญหาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ต่อมา วันที่ 31 มี.ค. 2549 สำนักงานพลังปรมาณูเพื่อสันติได้บอกเลิกสัญญา

แผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ชัดเจนขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2550 เมื่อปรากฏในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2550-2564 (PDP 2007) ซึ่งกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ 4 โรง ในปี 2563 และ 2564 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ แผน PDP ฉบับนี้ลงนามโดยรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดย พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เมื่อ 19 มิ.ย. 2550 จากนั้นก็มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2550 เห็นชอบในหลักการแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (NPIEP) เบื้องต้น โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสม โดยมีการเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 3 ปีแรก (พ.ศ. 2551 – 2553) จำนวน 1,800 ล้านบาท

ถัดมา 18 ธ.ค. 2550 ครม.อนุมัติแผน PDP 2007 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ยังคงแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จากพลังงานนิวเคลียร์ 4 โรง รวม 4,000 เมกะวัตต์ โดยในเดือนต่อมา วันที่ 31 ม.ค. 2551 ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน เปิดสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) อย่างเป็นทางการ

9 มี.ค. 2552 ครม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2550-2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (PDP 2007 Revision 2) ซึ่งกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ มีการจัดทำแผน PDP ใหม่อีกครั้ง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP2010) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2553 โดยกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์

เหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 มีอุบัติเหตุจนนำสู่การปรับปรุงแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยวันที่ 27 เม.ย. 2554 ครม.อนุมัติแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งปรับลดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลือ 4 โรง รวม 4,000 เมกะวัตต์ และต่อมามีมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554 ให้ลดสัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากเดิมในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ และเลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี จากปี 2566 เป็นปี 2569 เพื่อขยายเวลาเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์จากบทเรียนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น และสร้างการยอมรับจากประชาชน หลังจากนั้น วันที่ 8 มิ.ย. 2555 ครม.โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติ แผน PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 มีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 2,000 เมกะวัตต์

แต่ในปี 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP2015) โดยในแผนมีการกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง ในปี 2569 และ 2570 จำนวนโรงละ 1,000 เมกะวัตต์

ต่อมาในปี 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ในเดือนมีนาคม และประกาศใช้พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559

ในปี 2560 รัฐบาล คสช. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ออก “แผนปฏิบัติการของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560-2564” ตาม “กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ” โดยออกแบบสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่โครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์

ทั้งนี้ แม้แผน PDP 2018 ที่ ครม. มีมติเมื่อ 30 เม.ย. 2562 ไม่มีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปรากฏในแผนแล้ว แต่ “โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม” อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ที่อยู่ภายใต้ “แผนปฏิบัติการของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560-2564” ยังคงดำเนินการอยู่ โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2566

จะเห็นได้ว่าประเทศไทย แม้จะมีความพยายามก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาตั้งปี 2509 และปรากฏอยู่ในแผน PDP ครั้งแรกมาตั้งแต่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2550-2564 (PDP 2007) แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่รัฐและ กฟผ. วางแผนเอาไว้

และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยก็กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงาน (PDP) ฉบับใหม่ที่จะออกมา ว่ามีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 70-350 เมกะวัตต์ ไว้ในแผนฉบับนี้ และจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน

หากพิจารณาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่า ควรมีการสร้างโรงไฟฟ้าแบบใดขึ้นบ้าง เป็นจำนวนเท่าไร ที่ไหน โดยใคร และเมื่อไร จะพบว่า ประเทศไทยเริ่มบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2550-2564 (PDP 2007) ซึ่งลงนามโดยรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดย พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เมื่อ 19 มิ.ย. 2550 ภายใต้แผนนี้กำหนดให้มีสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในปี 2563 และ 2564 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ รวม 4,000 เมกะวัตต์ โดยให้เหตุผลว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่จะสนองตอบความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าและพลังงานของประเทศที่ไม่ควรขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง และลดความเสี่ยงในการขาดแคลนเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังจัดให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดและมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน

ในแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งอนุมัติเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2552 ตามมติ กพช. ปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในปี 2563 และปี 2564 เหลือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ ก่อนจะเพิ่มจำนวนในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP2010) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2553 จำนวน 5 โรง รวม 5,000 เมกะวัตต์ ในแผน PDP 2010 นี้กำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของกำลังผลิตทั้งหมดในระบบ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ และไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

มีการทบทวนการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้งหลังอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 แผน PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ปรับลดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลือ 4 โรง รวม 4,000 เมกะวัตต์ และ ครม. มีมติในวันที่ 3 พ.ค. 2554 ให้ลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลงจากเดิมที่กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 10 เป็นเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ของกำลังผลิตทั้งหมดในระบบ โดยเลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี จากปี 2566 เป็นปี 2569 โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อขยายเวลาเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์จากบทเรียนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น และสร้างการยอมรับจากประชาชน” จนทำให้ในแผน PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เหลือ 2 โรง รวม 2,000 เมกะวัตต์

ในแผน PDP2015 ยังคงนโยบายจัดสรรโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ปลายแผนตามเดิม กำหนดแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 โรง รวม 2,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในแผน PDP2018 ถอดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไป โดยหันมาเน้นเชื้อเพลิงก๊าซและพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก และในแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งนี้ 1 (แผนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) ก็ยังคงไม่ปรากฏโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในแผน

ในขณะที่แผน PDP2024 ที่จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเร็วๆ นี้ จากการให้สัมภาษณ์ของวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในแผน PDP ฉบับใหม่ที่จะออกมา มีการกล่าวถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 70-350 เมกะวัตต์ในแผน โดยยังไม่ระบุจำนวนโรงและกำลังการผลิต

เอกสารอ้างอิง

https://www.world-nuclear.org/information-library/facts-and-figures/world-nuclear-power-reactors-and-uranium-requireme.aspx

https://www.erc.or.th/web-upload/200xf869baf82be74c18cc110e974eea8d5c/tinymce/power-development/PDP2010-rev3.pdf

https://th.boell.org/en/2021/06/21/thai-nuclear-power#_ftn12

https://prachatai.com/journal/2008/02/15736

https://mgronline.com/science/detail/9490000022279

https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=45206

“Manpati, Tipakson, “”Knowledge Politics in National Nuclear Energy Planning in Thailand (2007-2017) with a Case Study of Ubon Ratchathani Province”” (2017). Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD).

แชร์บทความนี้