คธอ.และเครือข่ายอีก 17 องค์กรแถลงเสนอร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับประชาชน

เขียนโดย ตาล วรรณกูล

13 มิถุนายน เวลา 12.30 นาที เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ คธอ. แถลงข่าวเปิดตัว ร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ณ ห้องประชุม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ประเทศไทยมีร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ที่ช่วยปกป้องโลก ปกป้องชุมชน สร้างความเป็นธรรมต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างแท้จริง คธอ.จึงได้ร่วมกันยกร่าง “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน” ฉบับประชาชนขึ้นเพื่อเปลี่ยนทิศทางของกฎหมายของประเทศใหม่ และจะมีการระดมรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ และเตรียมยื่นเสนอต่อรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ นอกจากนั้นยังเชิญชวนสาธารณชนที่เห็นด้วยในหลักคิด แนวทางของร่างกฎหมายฯ ภาคประชาชน ร่วมลงชื่อและผลักดันสู่รัฐสภาต่อไป
.
โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า พวกเรา “เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ” เป็นการรวมตัวของกลุ่มชุมชน ขบวนการประชาชน กลุ่มประชาสังคม นักวิชาการอิสระ คนรุ่นใหม่ที่ห่วงใยปัญหาความเป็นธรรมสภาพภูมิอากาศ เนื่องด้วยปัญหาโลกเดือดคุกคามความอยู่รอดของโลก มนุษยชาติ และสรรพชีวิตอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ประมงพื้นบ้าน ผู้หญิง เด็ก เยาวชน และคนจนในเมือง ซึ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบทุนนิยมโลกที่ไม่ยอมยุติใช้พลังงานฟอสซิลที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน


แม้คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งได้เตือนแล้วว่า หากโลกจะรอดพ้นจากวิกฤติ ต้องรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาฯ ต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 43 ภายในปี 2030 จะเป็นไปได้ต้องยกเลิกพลังงานฟอสซิลทั้งหมด และเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนจัดการ และต้องฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับสู่สมดุล
.
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เรายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 20 ของโลก มีที่มาจากอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกือบร้อยละ 70 ของประเทศ โดยไม่เคยถูกควบคุมกำกับให้รับผิดชอบลดเลิกปล่อยคาร์บอนฯ อย่างจริงจัง แต่กำลังถูกบิดเบือนด้วยกลไกตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิตมาชดเชยเพื่อค้ำจุนอุตสาหกรรมฟอสซิลให้ชะลอการเปลี่ยนผ่านออกไป โครงการคาร์บอนเครดิตจำนวนมากกระทบต่อระบบนิเวศ และเมิดสิทธิชุมชนต่อทรัพยากร และแบ่งผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม


ในด้านการปรับตัวของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ควรเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในทางนโยบาย เนื่องจากประเทศไทยเสี่ยงจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งคนจนทั้งในเมืองและชนบทคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด แต่รัฐยังไม่มีกฎหมายช่วยเหลือ สร้างภูมิคุ้มกันประชาชนให้ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ
.
เครือข่ายประชาชนฯ ได้ติดตามการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาล รวมทั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ พบจุดอ่อนที่สำคัญดังนี
1. ร่าง พรบ.ของรัฐบาลไม่ได้มีเจตจำนงค์ห่วงใยปกป้องโลกจากวิกฤติครั้งใหญ่ แต่มุ่งเพียงส่งเสริมธุรกิจรายใหญ่สู่เศรษฐกิจการค้าคาร์บอนต่ำระหว่างประเทศ แต่ร่างฯ ของประชาชน กำหนดเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยต้องปกป้องวิกฤติโลกร้อนและรักษาธรรมชาตติ คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ในฐานะผู้มีบทบาทรักษาระบบนิเวศเพื่อสร้างสมดุลทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ
2. ทุกร่างนิยาม “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไว้อย่างคลุมเครือ แต่ร่างของประชาชนนิยามให้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุจากพลังงานฟอสซิลเป็นสาเหตุหลัก เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดการให้ชัดเจน (มาตรา 4)
3. ร่าง พรบ.ส่วนใหญ่ ยกเว้นร่างฯ พรรคก้าวไกล ไม่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน และสอดคล้องกับข้อเสนอของ IPCC แต่ร่างของประชาชนกำหนดเป้าหมายชัดเจน คาร์บอนเป็นกลางในปี 2035 (มาตรา 16 (10)) และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ ในปี 2050 (มาตรา 16 (11)) และสามารถทบทวนให้เร็วขึ้นได้กว่าแผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่รัฐเสนอต่อสหประชาชาติ
4. ร่าง พรบ.เกือบทั้งหมด ยกเว้นพรรคก้าวไกล ไม่มีหลักคุ้มครองสิทธิประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศที่ดี แต่ร่างของประชาชน กำหนดหลักสิทธิไว้ถึง 13 ประเภท ครอบคลุมสิทธิทุกกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง และสิทธิในเนื้อหาและกระบวนการ และกำหนดหน้าที่รัฐให้คุ้มครองสิทธิทั้งหมด
5. ทุกร่างฯ ยังใช้ระบบโครงสร้างรวมศูนย์ที่กลไกราชการ แต่ร่างของประชาชนกระจายอำนาจ มีกลไกตรวจสอบ โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม (มาตรา 12) มีคณะกรรมการกำกับกึ่งอิสระ (มาตรา 43) เพื่อตรวจสอบให้รัฐดำเนินตามเป้าหมาย และมีสมัชชาประชาสังคม (มาตรา 21) เพื่อสร้างความเข้มแข็งประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมนโยบายทุกระดับ อันทำให้เกิดธรรมาภิบาล
6. ทุกร่างฯ ใช้คาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจกลุ่มทุนในการปรับตัว โดยเอาแรงจูงใจมาลดทอนความรับผิดชอบในการลดคาร์บอน แต่ร่างของประชาชนแยกแรงจูงใจกับความรับผิดชอบออกจากกัน สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชน ธุรกิจรายย่อยที่ช่วยลดโลกร้อน ช่วยสังคมปรับตัวไม่ต้องเสียภาษีคาร์บอน
7. ทุกร่างฯ ยังใช้หลักกลไกตลาดคาร์บอนที่จัดการสิทธิในคาร์บอน ทั้งที่เสี่ยงต่อการฟอกเขียว และผลักภาระสู่ประชาชนและธรรมชาติ แต่ร่างของประชาชนใช้ระบบภาษีคาร์บอนจัดการเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลเป็นหลัก (มาตรา 80-82) เพื่อไม่ให้เกิดการฟอกเขียว ไม่ให้เกิดการเอาธรรมชาติและประชาชนมาสร้างคาร์บอนเครดิตให้กลุ่มทุนไปชดเชยโดยไม่ปรับตัว
8. ทุกร่างฯ มุ่งแต่จัดการคาร์บอนฯ แต่ละเลยการจัดการก๊าซมีเทนที่มีผลกระทบร้ายแรงกว่า ที่มักจะเข้าใจว่าปลดปล่อยจากภาคเกษตรเป็นหลัก แต่ละเลยการปลดปล่อยมีเทนจากภาคอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ก๊าซฟอสซิล แต่สำหรับร่างของประชาชน จะกำหนดภาษีที่จะใช้ควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคอุตสาหกรรมไว้ด้วย
9. ทุกร่างฯ มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ทางการค้าของผู้ปล่อยคาร์บอน แต่ร่างของประชาชนมุ่งเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซของภาคส่วนต่าง ๆ ยึดหลักระวังไว้ก่อน (มาตรา 58) และหลักสิทธิประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศ
10. ทุกร่างฯ แม้มีกองทุน แต่ไม่จัดลำดับความสำคัญ แต่ร่างของประชาชนจะกองทุนเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ได้จากภาษีคาร์บอน มาจัดสรรเพื่อแก้ไข เยียวยา ผลกระทบ ส่งเสริมการปรับตัวของประชาชน กลุ่มเปราะเบางไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกองทุน (มาตรา 85)


ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยมีร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ที่ช่วยปกป้องโลก ปกป้องชุมชน สร้างความเป็นธรรมต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างแท้จริง เครือข่ายฯ จึงได้ร่วมกันยกร่าง “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน” ฉบับประชาชนขึ้นเพื่อเปลี่ยนทิศทางของกฎหมายของประเทศใหม่
.
เครือข่ายฯ จะระดมรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ และเตรียมยื่นเสนอต่อรัฐสภาฯ ในเร็ววันนี้ จึงขอเชิญสาธารณชนที่เห็นด้วยในหลักคิด แนวทางของร่างกฎหมายฯ ภาคประชาชน ร่วมลงชื่อและผลักดันสู่รัฐสภาให้ได้ในที่สุด
.
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ทราบว่ากระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนกำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) 2024 อย่างไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีแนวโน้มไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แม้รัฐกำลังจะจัดรับฟังความคิดเห็นก็เป็นไปอย่างรีบด่วน ขาดการให้ข้อมูลล่วงหน้ารอบด้าน
.
เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนแผนดังกล่าวฯ ทั้งในเชิงเนื้อหาให้มุ่งยกเลิกพลังงานฟอสซิลทั้งหมด เพิ่มระบบการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนโดยกระจายอำนาจให้ประชาชนร่วมจัดการ มีระบบสายส่งรองรับ และจัดรับฟังความคิดเห็นใหม่ โดยเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าทั้งหมด และมีกระบวนการรับฟังอย่างกว้างขวาง หลากหลาย
.
เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ
รายชื่อภาคีร่วมลงนาม
1. Thai Climate Justice for All
2. Thai Climate Change Action Network (Thai C-CAN)
3. สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
4. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
5. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)
6. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
7. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
8. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW)
9. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)
10. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.)
11. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
12. สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.)
13. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (ม.ก.ศ.)
14. สมาคมนิเวศยั่งยืน (Ecoexist Society: ECS)
15. มูลนิธิคนเพียงไพรภาคเหนือ
16. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน
17. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา

แชร์บทความนี้