เผยเหตุผล ทำไมคนเหนือต้องได้ตรวจปอด

เผยเหตุผล ทำไมคนเหนือต้องได้ตรวจปอด   ระบุขาดการตรวจคัดกรองตั้งแต่เริ่ม ส่งผลเจอเมื่อสาย  เรียกร้องกำหนดเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงและจัดสรรงบตรวจโดยเร็ว  กรมการแพทย์ เผย ภาคเหนือมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2,487 คน

กรณี  สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, และวาระเชียงใหม่ ออกมาระดมรายชื่อเพื่อผลักดันให้คนเหนือในพื้นที่เสี่ยงสูงจากผลกระทบปัญหาฝุ่นควัน ได้รับ “การคัดกรองมะเร็งปอด” ในระบบหลักประกันสุขภาพ  ปรากฏว่าได้รับความสนใจร่วมสนับสนุนใกล้ถึง 5,000 รายชื่อแล้ว

ภาพ : ประชาไท

ผลักดันเกณฑ์การดูแล

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เครือข่ายสมัชชาสุขภาพเชียงใหม่ บอกว่า รายชื่อที่ได้จากการลงชื่อของประชาชนที่เห็นด้วยอย่างน้อย 5,000 รายชื่อ จะถูกส่งต่อและเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาเรื่องนี้ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยป่วยติดเตียง กลุ่มคนทำงานที่ต้องเผชิญกับไฟ ฝุ่นโดยตรง หรือกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางยีน เข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และผลักดันให้เกิดเกณฑ์การดูแลสุขภาพประชาชน โดยเป้าหมายเพื่อเฝ้าระวังทางสุขภาพ และสามารถให้กลุ่มเสี่ยงหากพบความผิดปกติ ก็สามารถเข้าถึงระบการรักษาได้ทันท่วงที

โดยจากสถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ

1.ประชากรกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น  เช่นผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับสารเคมีอันก่อให้เกิดโรคมะเร็งเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง

2. ขาดการคัดกรองในระยะเริ่มต้น แม้ว่าปัจจุบันประชาชนสามารถใช้สิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งปอดภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  หากพบว่ามีอาการไอเรื้อรังติดต่อกัน ไอมีเลือดหรือเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด หรือมีภาวะปอดติดเชื้อ สามารถเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิ รวมทั้งสถานพยาบาลเฉพาะด้านมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกแห่ง  แต่อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามักจะเข้าสู่ระยะแพร่กระจายแล้ว เนื่องจากขาดการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ข้อเรียกร้องของผู้รณรงค์ คือ  ให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจัดสรรงบกลางเพื่อใช้คัดกรองมะเร็งปอดโดยขอให้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงสูง กลุ่มเป้าหมายที่ควรเข้ารับการตรวจโดยเร่งด่วน

วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด

ทั้งนี้จากการสำรวจแพ็คเกจการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ของโรงพยาบาลต่างๆ พบว่า จะมีหลายวิธี และระบุเกณฑ์การเข้าตรวจที่แตกต่างกัน   เช่นบางโปรแกรมระบุ  เคสที่สูบบุหรี่จัด  ทำงานใกล้ชิดสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง สัมผัสฝุ่นควัน หรือมลพิษทางอากาศเป็นระยะเวลานาน มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งปอด  บางโปรแกรมระบุที่อาการ เช่น  ไอเรื้อรัง และไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก ปอดติดเชื้อบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น   ส่วนค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ  3,500 –  5,500 บาท

จากเอกสารการรณรงค์  ระบุถึงรายงานวิจัยการประเมินข้อบ่งชี้ทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า การตรวจด้วยเครื่องเพทซีทีสามารถตรวจวินิจฉัย ช่วยกำหนดและวางแผนการรักษาโรคมะเร็งปอดได้ รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแนวทางการรักษาผู้ป่วยหรือหลีกเลี่ยงการรักษาบางอย่างที่ไม่จำเป็นได้ นอกจากนี้รายงานวิจัยดังกล่าวยังเสนอให้ภาครัฐมีการเพิ่มข้อบ่งชี้ของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที ที่สามารถเบิกจ่ายได้ รวมทั้งหากมีการขยายสิทธิในการตรวจวินิจฉัยด้วยเพทซีทีจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุน จะช่วยทำให้ต้นทุนของการตรวจต่ำลง และสามารถปรับลดราคาค่าบริการได้ 

นอกจากนี้ จากการศึกษาการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีขนาดตํ่า (Low-Dose CT Scan) สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบว่าการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากบางครั้งจุดในปอดอาจเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยการเอกซเรย์ในรูปแบบปกติ และช่วยในการติดตามและการดำเนินไปของรอยโรค ทำให้ทราบชนิดของรอยโรคและวิธีการรักษา ซึ่งจะช่วยให้รักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะกระจายไปทั่วร่างกาย  ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดด้วยวิธีข้างต้นมีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้ผู้มีความเสี่ยงสูงและผู้ป่วยไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้และทำให้เข้าถึงการรักษาได้ยาก และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเข้ารับการรักษาเมื่ออาการของโรคเข้าสู่ระยะแพร่กระจาย

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญซึ่งช่วยให้ประชาชนกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงทั้งในกลุ่มผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับสารเคมีอันก่อให้เกิดโรคมะเร็งและกลุ่มผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในเข้ารับการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอด

นัดรวมตัว มิ.ย.อีกครั้ง

มีรายงานว่า ผู้รณรงค์จะยื่นรายชื่อไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อให้กำหนดเป็นนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งปอดให้ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยเร็ว  นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน 2567 จะมีการประชุมกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมีการรวมตัวกันทั้งจากเชียงใหม่ ภาคเหนือ และ กทม. ยื่นข้อเสนอแก่บอร์ดหลักประกันสุขภาพ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการต่อไป

สำหรับ  ปี 2567 ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งเเวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 พบว่า ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 25 เมษายน  คนลำพูนต้องเผชิญกับค่ามลพิษสูงเกินมาตรฐาน  87 วัน  คนเชียงราย 84 วัน  คนเชียงใหม่ 73 วัน และคนแม่ฮ่องสอน 68 วัน 

กรมการแพทย์ระบุภาคเหนือมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่สูง

ต้นเดือนเมษายน 2567  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  เผยข้อมูลสถานการณ์โรคมะเร็งปอด พบว่า ภาคเหนือมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น  โดยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดภาคเหนือรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2,487 คน หรือวันละ 7 คน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยปีละ 1,800 คน หรือวันละ 5 คน  พบเกิดจากหลายสาเหตุ และ PM2.5 เป็นปัจจัยหนึ่ง

Thaihealth Watch ร่วมกับสำนักงาน พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ซึ่งได้รวบรวมสถิติ สถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่างปี 2553-2562 พบว่า แนวโน้มของอัตราการตายจาก “โรคมะเร็งปอด” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกภาค ซึ่งภาคเหนือมีอัตราตายสูงกว่าภาคอื่น โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จาก 20.3 คนต่อแสนประชากร ในปี 2553 เป็น 30.7 คน ต่อแสนประชากรในปี 2562

รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร อัตราการเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า โดยมีอัตราการเสียชีวิต 14.9 คน ต่อแสนประชากรในปี 2553 เป็น 22.6 คน ต่อแสนประชากร  ในปี 2562

นอกจากนี้ยังแนวโน้มของอัตราตายจากโรค ปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบว่าทุกภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3-2 เท่าในรอบ 10 ปีโดยภาคเหนือมีอัตราตายสูงกว่า ภาคอื่นอย่างชัดเจน

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจมีผลมาจากการสูบบุหรี่และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม กลับพบว่า พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนในภาคเหนือ (อายุ เกิน 15 ปีขึ้นไป) ลดลง จาก22% ในปีพ.ศ.2550 เหลือเพียง 17% ในปีพ.ศ.2560 ดังนั้นที่มาของความเสี่ยงต่อ การป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจ มาจากปัญหาฝุ่นควัน

ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูล การตาย (มรณบัตร) และ จำนวนประชากร (ตัวหาร) จากกองยุทธศาสตร์และ แผนงาน กระทรวงสาธารณสุข (จำแนกพื้นที่ตามที่อยู่ผู้ตาย)

สำหรับแนวโน้มของอัตราตายจากโรคมะเร็งปอด รายภาค ปี พ.ศ. 2554-2563 พบว่าทุกภาค มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเหนือมีอัตราตายสูงกว่าภาคอื่น รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ระยะโรค ชนิดเซลล์มะเร็ง สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกายได้หรือไม่ อายุ และที่สำคัญคือ สุขภาพของผู้ป่วย

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง https://www.thaipbs.or.th/news/content/338847

แชร์บทความนี้