ฟังเสียงประเทศไทย : แรงงานอีสาน กลางกระแส Soft Power

“ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน” Locals Voice รายการฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงท้องถิ่น ออกเดินทางอย่างต่อเนื่องในปี 2567 เพื่อเปิดพื้นที่ล้อมวงสนทนาในประเด็นสำคัญของชุมชนสังคม “แรงงานอีสาน กลางกระแส Soft Power” คือโจทย์ล้อมวงโสเหล่ ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา

มีคำไหนอีก เมื่อคุณนึกถึงแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือ โจทย์สร้างการมีส่วนร่วมขอเพียงคนละ 1 คำ รวมพลัง wordcloud เพื่อตั้งต้นบทสนทนาแบบปัญญารวมหมู่โดยผู้อ่านสามารถสแกน QR Code หรือ คลิกลิงก์ https://shorturl.at/ahlCY เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนการสนทนา

“เศรษฐกิจสร้างสรรค์” Creative Economy เป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่หลายหน่วยงาน นำมาใช้เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการนำสินทรัพย์ ของดี ของเด่น ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น มารวมกันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์

หัวใจสำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากผู้คน คนทำงาน หรือเรียกว่าเป็น แรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในการทำงานลักษณะอิสระยังไร้ความมั่นคงในชีวิต ไม่มีสวัสดิการ รวมถึงมีความต้องการในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ 

Soft power พลังละมุนที่ทรงอิทธิพลต่อผู้คนจนนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มและดึงดูดให้เกิดการสนับสนุนสินค้า บริการ รวมถึงสร้างการยอมรับ ในระดับชาติและสากล หลายประเทศจึงมีการใช้ Soft power เป็นอีกอาวุธสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งเชิงวัฒนธรรม จนนำไปสู่การสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ

ข้อมูลจาก “Global Soft Power Index 2024” ได้จัดอันดับ 10 อันดับประเทศที่มี Soft Power ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก 1. สหรัฐอเมริกา ครองอันดับ 1 Soft Power โลก มาตั้งแต่ปีที่แล้ว พ.ศ. 2566  เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ภาพยนตร์ และดนตรี สูง 2. เยอรมนี 3. จีน 4. สหราชอาณาจักร 5. แคนาดา 6. ฝรั่งเศส 7. ญี่ปุ่น 8. สวิตเซอร์แลนด์ 9. ออสเตรเลีย 10. เนเธอร์แลนด์และ Soft Power ไทยอยู่อันดับที่ 3 ในอาเซียน และอยู่อันดับที่ 40  ของซอฟต์พาวเวอร์โลก 

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3 กลุ่มที่โดดเด่นของภาคอีสาน จากการจัดอันดับของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่  1. อุตสาหกรรมบันเทิง 2. อุตสาหกรรมอาหาร 3. อุตสาหกรรมจักสานและงานฝีมือ โดยที่กำลังโดดเด่นเป็นกระแสในตอนนี้คือ อุตสาหกรรมบันเทิง อย่างหมอลำ และภาพยนตร์

เรือธงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Soft Power ของรัฐบาลไทย

เมื่อซอฟต์พาวเวอร์เป็นอีกแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายผลักดันส่งเสริมให้ซอฟพาวเวอร์ไทยเป็นเครื่องมือสร้างเศรษฐกิจบนโลกยุคใหม่ มีการแถลงนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” วันที่ 11 กันยายน 2566 พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ภายในประเทศ ทั้ง 11 ด้านคือ เทศกาล ท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ กีฬา ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ออกแบบและแฟชั่น ให้มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก  

อำนาจละมุนของชาวอีสาน

“ไผว่าอีสานเศร้า สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง เสียงแคนดังจ้นๆ เสียงพิณห่าวโดดโด่ง มันสิเศร้าบ่อนจั่งได๋”

นุ่งผ้าไหมไปเอาบุญ กินตำบักหุ่งแซ่บๆ นั่งฟังลำม่วนๆ วิถีของชาวอีสาน ไปอยู่ไหน จะใกล้หรือไกล ก็หอบอุ้มเอาวัฒนธรรมเหล่านี้ติดตัวไปด้วย เนื่องด้วยไทอีสานกระจายตัวไปทำงาน สร้างครอบครัวในหลายพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ร่วมถึงมีไปไกลถึงต่างประเทศ จึงไม่แปลกที่จะมีเมนูอาหารอีสาน เสียงลำ เสียงแคน อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล แม้ว่าเราจะเดินทางออกไปไกลจากแดนอีสานก็ตาม 

วัฒนธรรมที่เข้มแข็งได้ใช้เวลาแทรกซึมไปในหลายๆพื้นที่ สร้างสีสันความม่วนซื่นไม่เคยหยุดหย่อน กลายเป็นความสุข ความประทับใจของหลายคน เสียงดนตรีถือเป็นภาษาสากล ที่ไม่มีกำแพงกีดกั้น สื่อสารกันด้วยจังหวะและทำนอง ใครฟังก็ม่วนได้ ศิลปินนักสร้างสรรค์หลายคนได้พัฒนานำพาเสียงดนตรีบ้านเราไปเผยแพร่ถึงต่างถิ่นแดนไกลที่ต่างประเทศ เป็นพลังละมุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน กระจายรายได้ อุตสาหกรรมบันเทิงที่กระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจมากที่สุดก็คือหมอลำ 

ข้อมูลจากงานวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน ระบุว่าช่วงที่ไม่มีโควิด-19 หมอลำสร้างผลผลิตมวลรวมกว่า 6,600 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานเฉพาะในส่วนการแสดงหมอลำ 4,856 คน การจ้างงานรวมทั้งในระบบและนอกระบบกว่ากว่า 39,000 คน มีอาชีพที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 อาชีพ นอกจากศิลปิน นักแสดงด้านหน้าเวที แล้วยังมี ห้องสตูถ่ายทอดหมอลำออนไลน์, ทีมโปรดักชั่นเฮ้าส์, ช่างภาพ, ช่างเสียง, ช่างตัดชุดหมอลำ, ทีมแอดมินเพจ, แดนเซอร์หางเครื่อง, วงดนตรี, ทีมรับเหมาเวทีการแสดง และยังมีพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารเวลาศิลปินหมอลำไปทำการแสดงด้วย

ผ้าไหมไทย งานฝีมือจากถิ่นอีสานบ้านเฮา ที่มีการออกแบบพัฒนาให้มีความร่วมสมัย ถักทอโดยคนในชุมชนอีสาน แต่ฝีมือไม่แพ้ใครส่งออกทั่วไทยและสากล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ กลุ่มเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประกอบการแต่งกายมีโอกาสที่ดีในการยกระดับ Soft power อีสาน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยรายจังหวัด สูงถึง 218,546,558.73 บาท โดยสูงสุดคือผลิตภัณฑ์จากไม้ รองลงมาคือการพิมพ์ผ้า การผลิตพรม เฟอนิเจอร์ไม้ เซรามิก และสิ่งทออื่น ๆ ส่วนสินค้าส่งออกจากอีสานในกลุ่มนี้ คือ เครื่องแต่งกาย รูปแกะสลัก และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยมีตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ฮ่องกง และญี่ปุ่น

อาหารจารเด็ด ลาบ ก้อย ตำบักหุ่ง มีแต่เมนูเด็ดๆ ยกครัวโกอินเตอร์ไปไกลหลายประเทศ  ได้รับความนิยมทั้งไทยและต่างประเทศ ข้อมูลจากอีสานอินไซต์ Michelin Guide  จัดอันดับอาหารอีสาน  ติด 1 ใน 15 ของโลกร่วมกับเมนูอาหารนานาชาติที่ผู้คนให้ความสนใจ และยังมีข้อมูลสัดส่วนรายได้จากอุตสาหกรรมผลิตอาหารสร้างสรรค์ของอีสานที่พบว่ากระจุกตัวในกลุ่มของสุราพื้นบ้านและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นหลัก โดยในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ ขยายตัวถึงร้อยละ 377. 07 และยังมีการผลิตไวน์องุ่น การผลิตสุรากลั่นด้วย ส่วนปลาร้าที่เป็น Signature ของชาวอีสานก็ขยายตัวถึงร้อยละ 7.36 

วัฒนธรรม ความม่วน ความซื่น ความแซ่บ ของอีสานกลายเป็นจุดแข็งสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ขยายอาณาเขตแทรกซึมไปไกลและกว้างขวางขึ้นอย่างต่อเนื่อง อำนาจละมุนบอกเล่าความเป็นอีสานจนเกิดการยอมรับในระดับสากล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

ยกระดับแรงงานสร้างสรรค์ขับเคลื่อน Soft Power

Soft Power ภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หลายแขนงด้วยกัน ซึ่งหัวใจสำคัญที่ประกอบสร้างให้เกิดขึ้นได้นั่นคือแรงงานไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานสร้างสรรค์กว่า 931,000 คน ซึ่งแท้จริงแล้วยังไม่นับรวมแรงงานนอกระบบ นั่นหมายถึงว่าอาจจะมีมากกว่านี้  โดยที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้สูญเสียโอกาสไม่มีความมั่นคงในอาชีพ เมื่อกระแสและทิศทางการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ต้องโฟกัสต่อคือมิติแรงงานสร้างสรรค์ ภาคอีสานก็ยังมีโจทย์หลายข้อที่ต้องแก้กันต่อ โดยเฉพาะสภาพสวัสดิการสำหรับแรงงานสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมบันเทิง 

​​แล้วโจทย์สำคัญในการพัฒนา และยกระดับแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย คืออะไร ? เมื่อแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงของการทำงานตลอดจนคุณภาพชีวิต  ฟังเสียงประเทศไทยจึงชวนระดมความคิดเห็น  “อะไรคือโจทย์สำคัญในการยกระดับแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ https://shorturl.at/alqu6  

ข้อท้าทายอาชีพศิลปิน “เวลาเป็นเงิน เป็นทอง”

“ศิลปิน” อาจมีช่วงเวลาจำกัดของความนิยม เพราะปัจจุบันกระแสคลื่นลูกใหม่ก็ไปไวมาไว จึงส่งผลถึงแรงงานวัยใกล้เกษียณมีช่องว่างสำคัญในมิติต่างๆ เช่น สวัสดิการ สุขภาพ รายได้ และหนี้สิน ระบบสวัสดิการและประกันสังคมจากภาครัฐยังไม่เพียงพอ รายได้ไม่แน่นอน

“แรงงานสร้างสรรค์ถือเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาของรายได้และสวัสดิการ”

สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน ย้ำถึงโจทย์ร่วมเรื่องรายได้และสวสัดิการในวิชาชีพศิลปิน

“ ในวันที่ไม่สามารถแสดงได้แล้ว ไม่มีสวัสดิการรองรับเลย รายได้ที่ได้ควรจะมีการจัดเก็บเข้าระบบของรัฐ ตอนที่แก่ชราจะได้มีเงินสวัสดิการมาช่วยเหลือ ไม่ใช่มีเงินแค่ 600 800 1,000 บาท ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้”

เช่นเดียวกับ ดร.มนูศักดิ์ เรืองเดช อาจารย์สอนสาขาวิชาศิลปะอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่ย้ำถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตศิลปินหากไร้สวัสดิการและการวางแผนบั้นปลายชีวิต

“ดังก้องฟ้า ยามตายตายนำตูบเล้าบ่มีเงินเฮ็ดศพ เราจะส่งเสริมหาทุนอย่างไรมาสนับสนุนหมอลำ ทำอย่างไรจะช่วยส่งเสริมให้มีงานขึ้นมาได้ เรื่องของการประชาสัมพันธ์ เรื่องของกองทุน หน่วยงานกระทรวงวัฒนธรรมต่างๆ จะผลักดันอย่างไรหมอลำไม่ให้เขาเหลือแต่ไม้ไอติม ให้เขาได้กินเนื้อไอติมด้วย”

ด้าน ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม ทีมวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น แสดงความคิดเห็นชี้ถึงโอกาสของศิลปินที่ต้องคำนึงถึงการตลาด

“คนผลิตไม่มีทักษะความเป็นคนขาย ในขณะเดียวกันคนขายก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ฉะนั้นต้องเอาสองสิ่งนี้มาจูนกัน คนผลิตก็ต้องมีคนเอาไปขาย ขายก็ต้องขายให้ถูกด้วยไม่ใช่ขายแค่รายใหญ่ ปลาซิว ปลาส้อยก็ต้องได้ขายด้วย ขายแค่ปลาแซลม่อนมันไม่ใช่  ทำอย่างไรตัวเล็กตัวน้อยจะถูกเอาไปขายได้”

ขณะที่ ภัคพงศ์ แสนชาติ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ KKVOY  ตัวแทนคนรุ่นใหม่ซึ่งร่วมแลกเปลี่ยนในวงสนทนา แสดงความกังวลใจต่อการเติบโตในวิชาชีพด้านแรงงานสร้างสรรค์

ตัวเลขที่นักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในกลุ่มตลาดแรงงานสร้างสรรค์ ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นคน แต่ในปัจจุบันเรากลับไม่เห็นว่ากลุ่มตลาดแรงงานสร้างสรรค์ 4-5 หมื่นคนจะไปอยู่ที่ตรงไหน มองกลับไปในกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาส กลุ่มที่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อยกลุ่มคนเหล่านี้ไม่กล้ามีความฝันที่จะเข้ามาเป็นกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ เหมือนกับกลุ่มคนที่มีต้นทุน เพราะมองว่าแรงงานสร้างสรรค์เราจะเอาอะไรกิน”

ระบบนิเวศแรงงานสร้างสรรค์ โอกาสและทางรอด

โจทย์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ก้าวไปต่อได้ สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือแรงงานในทุกระดับ ผู้ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น จะก้าวต่อไปให้ไกล จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน พัฒนาทักษะ  เสริมศักยภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแขงขันในระดับสากล ซึ่งการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอีกข้อเสนอจากวงสนทนา

“คนที่ทำงานสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่คนในวงการนี้ เรื่อง Soft Power สามารถพูดได้หลายมิติ มิติเรื่องของสุขภาวะก็ได้ เรื่องของการศึกษาก็ได้ เพราะการศึกษาที่มาไม่ค่อยให้คุณค่าเรื่องงานสร้างสรรค์ เป็นเรื่องของเด็กหลังห้อง เด็กไม่เก่งวิทยาศาสตร์  ไม่เก่งหมอ”

 สัญญา มัครินทร์ ผู้ก่อตั้ง มหา’ลัยไทบ้าน อดีตครูในระบบที่ปรับเปลี่ยนมาเป็น “ครูปล่อยแสง” ย้ำถึงความสำคัญของระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาศักยภาพบุคคลตั้งแต่ในระดับโรงเรียนซึ่งไม่อาจแยกขาดจากต้นทางของแรงงานในอุตสาหกรรมาสร้างสรรค์

“แต่พอมันกำลังเป็นเทรนแบบนี้ รัฐก็จะเองก็จะพยายามผลักดันในช่วงที่มันมาตามกระแส  เราจะสร้างนิเวศอย่างไรที่กระแสหมอลำ กระแสหนัง ไม่มาแล้วแต่เรื่องนี้มันจะต้องไปต่อ มันต้องมีตัวละครไม่ใช่แค่คนในวงการ คนทำสื่อ คนทำเรื่องสุขภาพ คนทำเรื่องกฎหมาย คนทำเรื่องนโยบาย เรื่องการศึกษา จะซัพพอร์ตกันอย่างไรให้มันยั่งยืน ให้มันเป็นเรื่องยาวๆ ให้คนที่ทำงานไม่ทำคนเดียว แต่จะไปด้วยกันอย่างไร”

สอดคล้องกับมุมมองของ  ภัคพงศ์ แสนชาติ  เครือข่ายคนรุ่นใหม่ KKVOY ที่ยืนยันว่าความรู้ทักษะด้านสร้างสรรค์คือสิ่งจรรโลงใจของผู้คนในสังคม “สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องผลักดันอย่างหนึ่งต้องมีระบบนิเวศที่เอื้อให้แรงงานสร้างสรรค์มีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวสวัสดิการ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พรบ.ต่างๆ  วิศวะกรทำให้มนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ นักกวีทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น เพราะฉะนั้นตัวงานสร้างสรรค์เรามองแค่มูลค่าไม่ได้อาจจะต้องมองถึงตัวคุณค่าของมันด้วย หน่วยงานต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้กระทั่งนโยบายหรือยุทธศาสตร์จะต้องมีการยืนในระยะยาว ไม่ใช่เปลี่ยนคนเปลี่ยนวาระแล้วตัวนโยบายก็หาย การทำงานขาดตอน”

เช่นเดียวกับ สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน ที่ย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินการโดยรัฐบาลอย่างเป็นระบบ “อยากให้มีระบบของรัฐที่จะเข้ามามีการจัดเก็บภาษี เจ็ดเก็บรายได้ ระบบประกันสังคมก็ได้ และพอเขาชรามาอย่างอายุ 55-60 ปี ให้มีเงินเดือนหรือเงินสวัสดิการ เขาจะได้อยู่ได้ แม้จะอยู่คนเดียวไม่มีลูกหลานก็ดูแลตัวเองได้ในอนาคต มองว่าระบบสวัสดิการสำคัญมากกับแรงงานสร้างสรรค์ ตอนนี้ภาระกิจสำคัญอันที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำคือส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม แต่เขากลับไปตีโจทย์เรื่องของการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องของการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมไม่ได้มองไปที่ตัวบุคคล ซึ่งจริงๆแล้วกฎหมายมันเอื้อที่จะให้เรานำไปสู่เรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่หมายถึงตัวบุคคลได้ด้วย ตรงนี้มองว่าน่าจะมีการปลดล็อคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะไปสนับสนุนในตัวบุคคล ที่เป็นนิติบุคคล ในนามสมาคมหมอลำก็ได้” 

รัฐบาลต้องกลับไปมองว่าทำอย่างไรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะมีพื้นที่ในการเล่น แม้กระทั่งเรื่องต่อไปนี้อาจจะมีเรื่องของแผนท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือแผนท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องของการเอาทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่ขึ้นมา และสามารถที่จะจัดสรรงบประมาณขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ มันถึงจะสามารถขับเคลื่อนได้ ถ้าจะรอแค่นโยบายของภาครัฐอย่างเดียวมันไม่ได้ เพราะท้องถิ่นแต่ละที่สามารถตัดสินใจเองได้ มีงานมีรายได้เองได้ ทำอย่างไรให้เขาสามารถใช้เงินรายได้ของตัวเองกระตุ้นเอาทุนขึ้นมา แล้วทุนนั้นกลายเป็นเศรษฐกิจ ทุกคนมีรายได้ คนมีรายได้ก็เสียภาษี ภาษีก็เขาไปทำน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนดี สร้างระบบนิเวศเกิดขึ้นได้”  ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม ทีมวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

มองภาพอนาคตคุณภาพชีวิตแรงงานอีสานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อีก 5 ปี

“ทำอย่างไรให้งานที่เราทำเกิดมูลค่ามาหล่อเลี้ยงชีวิตเราได้ รูปแบบที่หนึ่งคือการบันทึกเพื่ออัพโหลดลงออนไลน์ ให้เกิมูลค่า เพราะปัจจุบันโลกออนไลน์มันสามารถสร้างรายได้จากตรงนั้น การบันทึกคือทรัพสินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่เป็นเหมือนการซื้อที่นาไว้ วันหนึ่งที่เราไม่มีเรี่ยวแรงทำแล้วก็สามารถให้ลูกหลานทำต่อได้ ถ้าเราไม่มีการบันทึกวันมันก็จะจางหายไปตามกาลเวลา และมีการบูรณาการ ดูว่าโลกยุคปัจจุบันเขาพูดถึงเรื่องอะไรในตอนนี้ เราสามารถนำสิ่งที่เรามี ความสามารถของเราเราสามารถมาบูรณาการสองสิ่งนี้ให้มันสอดคล้องกันอย่างน่าสนใจแล้วบันทึกไว้และนำเสนอในโลกออนไลน์ด้วย เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ให้มันเกิดมูลค่าในอนาคต มันคือมูลค่าที่เรามีอยู่ในตัวของเราอยู่แล้ว อย่างศิลปินกว่าเราจะไปฝึกฝนวิชาความรู้ การร้อง การลำ มาได้ นี่คือการลงทุนของเราแล้ว เราเป็นคนร้องหมอลำแต่เราจะไม่แค่ร้องหมอลำแล้วก็จากไป บันทึกไว้เพื่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต” จีรศักดิ์ เชียงรัมย์  ศิลปิน นักร้อง

“การพัฒนาอุตสาหกรรมแรงงานสร้างสรรค์หรือว่าแรงงานสร้างสรรค์ต้องทำงานเป็นทีม ต้องมีการรวมกลุ่มกัน ไม่ใช่เฉพาะการรวมกลุ่มของแรงงาน แม้แต่ว่าภาคราชการเองที่มีภารกิจคล้าย ๆ กันที่จะสนับสนุนหรือว่าส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ก็ต้องร่วมมือร่วมใจกัน 

ระทรวงแรงงานเองได้จัดทํา พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ครม. และให้สภาเห็นชอบ พรบ.นี้ก็มีตั้งแต่เรื่องการลงทะเบียน แล้วก็การรวมตัวกันเป็นองค์กร  รวมตัวกันแล้วเราก็มีกองทุนหมุนเวียน รัฐก็จะสมทบทุนมาให้เรา ในเรื่องค่าตอบแทนแรงงานอิสระหรือว่าแรงงานสร้างสรรค์ ทางสํานักงานแรงงานเองในอนาคตต้องไปพูดลงไปตรวจสอบเพื่อให้การคุ้มครอง ส่วนในเรื่องหลักประกันทางสังคมจะมีใน พ.ร.บ. นี้ ซึ่งก็อาจจะต้องมีกฎกระทรวงรองรับว่าจะเป็นประเภทใด อย่างไร แรงงานนอกระบบของอีสานเรามีเยอะนะคะ แรงงานเหล่านี้ 900,000 กว่าเป็นแรงงานนอกระบบ 700,000 แต่เมื่อดูช่วงอายุแล้วส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ พอเป็นผู้สูงอายุแล้ว เราจะทำยังไงให้ผู้สูงอายุได้ทำงานต่อไปด้วยแบบมีความสุขเเล้วก็ยั่งยืน ของกระทรวงแรงงานเองก็จะมีโครงการหลาย ๆ โครงการที่ให้ความสําคัญกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นต่อยอดพัฒนาด้านอาชีพ หรือแม้แต่โครงการถ่ายทอดประสบการณ์ เช่น เราอาจจะมีภูมิปัญญาก็จะให้กลุ่มนี้มาถ่ายถอด มาฝึกเป็นวิทยากรเพื่อถ่ายถอดให้คนรุ่นหลัง” จารี คุ้มบุ่งคล้า นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น 

“มันอาจจะได้ไปไกล สําคัญที่สุดก็คือว่าจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฉะนั้นสำคัญที่สุดมันจะเกี่ยวข้องกับเรื่องระดับนโยบาย และกฎหมายที่จะมาสนับสนุนต้องมีความยั่งยืน ในเชิงนโยบายจะต้องมีการถ่ายโอนลงมา หรือมอบให้ท้องถิ่นได้มีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะว่ารัฐบาลมีอายุสั้น 4 ปี หรืออาจจะไม่ถึง 4 ปี เปลี่ยนนโยบาย รัฐบาลก็เปลี่ยนไป แต่เมื่อลงมาอยู่ในระดับท้องถิ่นมันค่อนข้างจะมีความยั่งยืนเพราะถึงแม้จะเปลี่ยนนายก แต่ว่าอย่างน้อยงบประมาณท้องถิ่นทุกปีให้มีการจัดสรรเรื่องนี้ ในการขับเคลื่อนเรื่องของการสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีการจัดสรรลงมา หรือให้ท้องถิ่นสามารถที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้ได้  ในการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์มันไม่ใช่เรื่องเดียว มันมีหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นเสียงเมื่อมาร่วมตัวกันมันจะเป็นเสียงที่ดังและขับเคลื่อนได้  ผมว่าเป็นเรื่องดีที่มีความสําคัญ ซึ่งสุดท้ายมันจะโยงไปถึงว่า เกษตรกร ยังมี ธกส. ยังมีธนาคารเพื่อมาสนับสนุนเกษตรกร เป็นไปได้ไหมต่อไปนี้ภาครัฐเมื่อชัดเจนเรื่อง Soft power แล้ว เรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาจจะมีสถาบันการเงินหรือใด ๆ ในการที่มาสนับสนุนให้ศิลปินหรือคนที่ผลิตงานสร้างสรรค์สามารถเข้าถึงแหล่งทุน แหล่งทุนสําคัญที่สุด ไอเดียดีแค่ไหนถ้าไม่มีทุนก็ไปต่อไม่ได้ เมื่อเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว ศิลปินจะสามารถเข้าไปสู่กลไกของสวัสดิการนั้นได้อย่างไร เกิดกระบวนการออมอย่างเป็นระบบได้อย่างไร สุดท้ายมีระบบประกันสังคมที่ดูแลศิลปินหรือดูแลคนอยู่ในวงการนี้ได้อย่างไร  ทำยังไงถึงจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ สุดท้าย ณ ปัจจุบันเห็นหมอลําหลายวงเริ่มตั้งบริษัท แล้วก็เริ่มมีบุคลากร เริ่มมีสวัสดิการ ต่าง ๆ เข้ามา เริ่มมีระบบเงินออมอย่างไม่เป็นทางการ ลงจากเวทีไปลาออก สามารถมีเงินค่ารถค่าบ้านได้” ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม ทีมวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ท่ามกลางกระแส Soft Power ที่ทุกคนต่างพูดถึงโอกาสสร้างเงิน สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ แต่ก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน หากมีการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานสร้างสรรค์ผู้อยู่เบื้องหลังซอฟต์พาวเวอร์  ให้ก้าวไปพร้อมกับการส่งเสริมด้านอื่น ๆ อาจจะเป็นกลไกที่สำคัญ ในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีการต่อยอดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แชร์บทความนี้