สว. 67 : เปิดระบบการคัดเลือกใหม่กับความพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน

เก้าอี้ว่างของสมาชิกวุฒิสภาในวันเลือกนายกครั้งแรกในวันที่ 13 ก.ค. 66

สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 60 จะมีอายุครบวาระ 5 ปี โดยหลังจากที่ครบกำหนดในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ต้องมีการสรรหา สว.ชุดใหม่ ซึ่งจะมีจำนวน 200 คนที่มาจากผู้สมัครตามกลุ่มอาชีพคัดเลือกกันเอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือนกว่าที่กระบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จ โดยระหว่างกระบวนการดังกล่าว สว. ชุดเดิมที่แต่งตั้งโดยคสช. จะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในอำนาจต่อไปจนกว่าการคัดเลือกจะเสร็จสิ้นและสามารถนำ สว.ชุดใหม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้

กระบวนการเลือก สว. เลือกในกลุ่ม – ไขว้ข้ามกลุ่ม

การเลือก สว. มี 3 ระดับ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับอำเภอ : 

  1. ผู้สมัครจะเข้า “กลุ่มอาชีพ” ตามที่สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียว 2 คะแนนไม่ได้ > เลือก 5 อันดับแรก จากแต่ละกลุ่มอาชีพ
  2. จับสลากแบ่งสายแต่ละกลุ่ม มี 3-5 กลุ่ม 
  3. ผู้ที่ได้ 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 โหวต
  4. ผู้ผ่านเข้าสู่สนามระดับจังหวัด คือ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม

ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับจังหวัด : 

  1. ผู้ชนะระดับอำเภอจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียว 2 คะแนนไม่ได้ > เลือก 5 อันดับแรก จากแต่ละกลุ่มอาชีพ
  2. จับสลากแบ่งสายแต่ละสาย มี 3-5 กลุ่ม
  3. ผู้ได้ที่ 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 โหวต 
  4. ผู้ผ่านเข้าสู่สนามระดับประเทศ คือ 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม

ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับประเทศ :

  1. ผู้ชนะระดับจังหวัดจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 10 โหวต โหวตตัวเองได้ โหวตได้แค่คนเดียว หลายคะแนนไม่ได้ > เลือก 40 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่ม
  2. จับสลากแบ่งสายแต่ละสาย มี 3-5 กลุ่ม
  3. ผู้ที่ได้ 40 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 5 โหวต
  4. ผู้ชนะคือ 10 อันดับแรก อันดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มเป็นรายชื่อสำรอง

การกระบวนการเลือก สว. รอบนี้เรียกว่าเป็นวิธีการ “คัดเลือกกันเอง” ถือเป็นแนวทางการเลือกแบบใหม่ที่แปลกที่สุดนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นมา กล่าวคือ สว.แบบใหม่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาของ สว.แบบใหม่ว่า “ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมืองเพราะไม่ต้องหาเสียง คุยกันเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้ สว. ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือประชาชน”

คุณสมบัติการสมัคร สว. ปี 2567 

  1. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี 
  3. ผู้สมัครต้องลงสมัครตามกลุ่มอาชีพที่ระเบียบกำหนด
  4. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี 
  5. ค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท

สมัคร สว. ≠ อยากเป็น สว. แต่เพื่อมีสิทธิมีเสียง

  • ผู้สมัครจะมีโอกาส ลงคะแนนโหวต ให้กับผู้สมัครคนอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มอาชีพของตัวเองและต่างกลุ่มอาชีพ เป็นช่องทางเดียวที่จะมีโอกาสได้เลือกคนที่มีแนวคิด อุดมการณ์ที่สอดคล้องกับตัวเอง
  • ผู้สมัครจะมีโอกาส ลุ้นเข้ารอบ เพื่อไปโหวตให้กับผู้สมัครอีกหลายคนอีกหลายครั้ง ถ้าเข้ารอบสุดท้ายก็มีโอกาสเป็นเสียงตัดสินคนที่จะได้เป็น สว. จริง ๆ หรือมีโอกาสได้เป็น สว. เพื่อทำความฝันของตัวเอง
  • ผู้สมัครที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ จะมีโอกาสช่วยกัน “จับตา” สังเกตสิ่งปกติหากมีการ “จัดตั้ง” หรือ “ล็อกผล” ในกลุ่มผู้สมัครคนอื่น

สว. ทำอะไรได้บ้าง

  1. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

: การเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ต้องอาศัยเสียงจาก สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จาก สว. ทั้งหมด 200 คน เท่ากับว่าต้องมีคนพร้อมโหวต “เห็นด้วย”อย่างน้อย 67 คน

2. พิจารณากฎหมาย

    : สว. มีอำนาจลงมติเพื่อออกกฎหมาย การพิจารณากฎหมายบางประเภท สว. มีอำนาจเท่า สส. แต่บางกรณีก็มีบทบาทน้อยกว่า สส.

    พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ : ทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส. นอกจากนี้ สว. สามารถลงชื่อร่วมกับ สส. เพื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้

    พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) : พ.ร.ป. เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจะทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่ากับ สส.

    พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) : สว. มีบทบาทน้อยกว่า สส. ดังนั้น สว. ไม่มีอำนาจในการปัดตกร่างกฎหมาย แต่ สว. สามารถเห็นชอบ หรือ แก้ไขร่างกฎหมายที่ผ่าน สส. มาได้

    3. เคาะเลือกคนมาตรวจสอบรัฐบาล

      : สว. เป็นด่านสำคัญที่จะลงมติรับรองผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ดังนี้

      • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
      • ผู้ตรวจการแผ่นดิน
      • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
      • คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
      • ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
      • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)

      สว. ยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น

      • อัยการสูงสุด
      • ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
      • เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา
      • เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.)

      4. ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

        : สว. สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ผ่านการอภิปรายและสะท้อนปัญหาของประชาชนไปยังรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้ถาม

        ดังที่กล่าวมาข้างต้น บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. มีความสำคัญต่อกลไกทางการเมืองไม่แพ้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในการเป็นสภาสูงเพื่อถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของกลไกแบบรัฐสภา ดังนั้นการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะ สว. ก็สำคัญไม่แพ้กัน จึงเกิดการรวมตัวกันลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่พูดคุยและจัดเวทีเกี่ยวกับการเลือก สว.แบบใหม่ของภาคประชาชน

        ภาคประชาชนร่วมเปิดตัวผู้สมัคร สว.สายศิลปิน – สื่อมวลชน -นักเขียน

        ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาคประชาชนรวมตัวร่วมจัดเวทีพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับการเลือก สว. 67 หลายเวที หนึ่งในนั้นคืองาน “Senate for change 67 เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศไทยเปลี่ยน” ซึ่งเป็นงานรวมตัวกลุ่มศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน จัดที่พิพิธภัณฑ์จิมทอมป์สัน ภายในงานมีประชาชนที่แสดงความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการเลือก สว. ชุดใหม่ 

        ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล ผู้เข้าร่วมงาน Senate for change 67 กล่าวถึงการเลือก สว.67 ว่า การเลือก สว. รอบนี้ถือเป็นระบบที่กีดกันให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ตั้งแต่ 2500 บาทที่ต้องเสียเพื่อจะเป็นค่าสมัคร เพื่อจะโหวตสว. ซึ่งจริง ๆ ควรจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ต้องเสียเงินเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ตัดโอกาสประชาชนไปเยอะพอสมควร

        นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจับกลุ่มที่แปลกประหลาด เช่น จัดกลุ่มอาชีพ 18 กลุ่ม กลุ่มอัตลักษณ์ 2 กลุ่ม แค่ในกลุ่มอาชีพเป็นกลุ่มที่เป็นข้าราชการเก่า และเป็นกลุ่มที่เป็นนายทุนไป 7 กลุ่ม แต่กลุ่มแรงงานมีจำนวนน้อยกว่า หรือกลุ่มอัตลักษณ์ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ถูกนำมาจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มประชากร ไม่ว่าเรื่องวิถีชีวิตหรือความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งมันไม่เป็นธรรม สิ่งที่คาดการณ์ไว้คือมันจะมีบัตรเสีย เพราะในการเข้าเลือกมันมีเวลาน้อยที่จะได้พิจารณาเลือกผู้สมัคร คนข้างนอกไม่สามารถเข้าไปจับตาการเลือกได้ 

        ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล พูดถึงความเคลื่อนไหวใหม่ของ สว. 67 ว่า หลายคนอาจจะรู้สึกว่ายังไม่ได้ข่าวสารเกี่ยวกับ สว. มากนัก เพราะอาจจะมีข่าวสารประเด็นอื่นในสังคมที่ใหญ่กว่าเรื่องนี้ ความสำคัญก็คือหลายคนคิดว่าการที่ สว. ชุดใหม่ จะไม่สามารถเลือกนายกได้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไรกังวลแล้ว แต่จริง ๆ สว.มีหน้าที่สำคัญอยู่อีก ไม่ว่าจะเรื่องพิจารณากฎหมาย ยกมือให้คนเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระหลาย ๆ หน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการทำงานขององค์กรอิสระที่เลือกโดย สว. ชุดก่อนมีการทำงานแบบไหน รวมไปถึงการมีอำนาจถ่วงดุลในสภาฯด้วย  ถึงแม้อำนาจในการเลือกนายกของ สว. จะหมดกับพร้อมกับบทเฉพาะกาล 

        “การเลือก สว. รอบนี้เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน จริง ๆ แล้วในเรื่องของการเมืองมันคือเรื่องของการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ไปสู่ส่วนต่าง ๆ ประชาชนก็เป็นหนึ่งใน  stakeholder ที่มีส่วนในเรื่องของทรัพยากรเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งถ้าไม่เข้ามามีส่วนร่วม หรือ ปล่อยปะละเลย ทุกคนก็จะได้สว. หน้าตาแบบเดิมที่ตัดสินแบบเดิม ประเทศก็จะไม่ไปไหนสักที”

        ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล

        “เราเห็นการตัดสินใจที่ผ่านมาของสว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคสช.แล้ว 250 คนแต่งตั้งมาทำงานรับใช้เผด็จการ การตัดสินใจแต่ละอย่างเขาก็ไม่เห็นหัวประชาชน ถ้าเราอยากจะมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตัวเอง การเลือก สว. ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งช่องทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าไปได้”

        ปาล์ม ชลณัฏฐ์ โกยกุล

        ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ผู้เข้าร่วมงาน Senate for change 67 ย้ำว่า สว. เป็นประตูบานแรกในการที่จะทำให้ปัญหาทุกอย่างในประเทศได้รับการแก้ไขได้อย่างง่ายขึ้น

        “ถ้าเราเป็นประชาชนไทยคนหนึ่งที่รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นมา ถ้าเราเป็นประชาชนคนนหนึ่งที่รู้สึกสงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าวันนี้มันประตูเล็ก ๆ แสงเล็ก ๆ อยู่ประตูนึงที่ประชาชนทุกคนจะเข้าไปอยู่และพิสูจน์มันได้ ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นทุกคนตัดสินใจกันเอาเองว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป อยากเห็นอะไร แล้วถ้าอยากเห็น เราต้องทำอะไร ถ้านี่คือประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมันควรจะฟังเสียงของประชาชนอย่างมีหลักการ การที่เสียงหรือความเห็นต่าง ๆ ไม่ได้มาจากประชาชนโดยแท้จริง เท่ากับว่าประเทศนี้ก็ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ”

        ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์
        เก้าอี้ว่างในสภาที่รอ สว. ชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง

        ถึงแม้ว่า สว. ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่อำนาจหน้าที่ สว. ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา มีอำนาจในการถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไปจนถึงการพิจารณากฎหมายซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากแต่ไม่ว่าจะกติกาที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างหลากหลาย ไปจนถึงการคัดเลือกที่ดูยากที่จะเข้าใจ แล้วทั้งข้อบังคับของกกต.ที่ไม่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวหากแต่สามารถแสดงจุดยืนได้

        การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนที่ให้ความสนใจในการลงสมัคร สว. ยอดผู้แสดงตัวเป็นผู้สมัคร 1,518 คน (อัปเดตข้อมูล 17 พ.ค. 2567) ข้อมูลจาก senate67.com ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของ สว.ชุดใหม่ ที่อาจจะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในเวทีการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสมการในสภาฯ และได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างในสังคมการเมือง ร่วมไปถึงสิ่งสำคัญคือการแก้รัฐธรรมนูญที่จะสามารถทำให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทได้มากที่สุด

        ภาพจาก ilaw

        นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีชวนผู้มีใจรักประชาธิปไตยทั่วประเทศออกมาส่งพลังฝากความหวังให้ผู้กล้าไปสมัคร สว. ที่สัญจรไปทั่วประเทศ ตั้งแต่กรุงเทพฯ ขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่ 

        ทั้งนี้ทีมงานสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส จะมีการจัดเวทีพูดคุยเรื่อง สว. ในพื้นที่

        ภาคอีสาน วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น

        ภาคใต้ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ม.ทักษิณ อ.เมือง จ.พัทลุง

        ภาคกลาง วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ม.ราชภัฏเทพสตรี อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี

        ภาคเหนือ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ศาลาเก่า อบจ.เชียงราย จ.เชียงราย

        สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเวทีได้ที่ Facebook เพจ นักข่าวพลเมือง Thai PBS 

        Author : Kanyapat Limprasert

        Graphic Designer : Abdulhakam Rahmanie

        แชร์บทความนี้