ส่อง 6 เครื่องมือจากงาน Data Connect 2024 ที่ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภาพบรรยากาศในงาน Data Connect 2024

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน ‘Data Connect 2024’ ซึ่งเป็นงานอีเวนต์ครั้งแรกในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากการเข้าร่วมงานดังกล่าว ทีม PI (Public Intelligence) ภายใต้โครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้พบเครื่องมือที่สำคัญ 6 รายการ ซึ่งมีศักยภาพในการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy)


งาน Data Connect 2024 เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในด้านต่างๆ ประกอบด้วย Rocket Media Lab, Skooldio, WeVis, Punch Up, Boonmee Lab, HAND, 101 และ 101PUB โดยมีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่สำหรับผู้ที่ทำงานหรือสนใจเกี่ยวกับข้อมูล และต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้ได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่าย “ชุมชนคนดาต้า” ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสในการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมในอนาคต

6 เครื่องมือที่น่าสนใจจากงาน Data Connect 2024


1. Public Procurement System: ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

ตัวอย่างจาก KONEPS ของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการจัดซื้อสินค้าของภาครัฐ โดยใช้ระบบแบบการซื้อสินค้าออนไลน์ของบริษัทเอกชน และใช้ระบบ PPS เป็นตัวกลางแทนรัฐในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า หาสินค้า ให้ภาครัฐได้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดทำ TOR 

2. Participatory Budgeting: งบประมาณแบบมีส่วนร่วม

ระบบการมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของภาครัฐ ตัวอย่าง Bangkok Budgeting โดยทีม Punch Up & WeVis ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาแพลตฟอร์มนี้ในรูปแบบเทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Tech) เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนในฐานะผู้เสียภาษี ได้เข้าถึง เข้าใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบงบประมาณของกรุงเทพฯ แล้วพัฒนาไปสู่เมืองอื่นๆ ต่อไป

3. Parliament Watch: เครื่องมือติดตามการทำงานของรัฐสภา

พัฒนาโดยทีม Wevis โดยโปรเจคต์นี้มีที่มาจากข้อจำกัดในการตรวจสอบหรือติดตาม “ผู้แทน” ของประชาชนว่าทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลประวัตินักการเมือง ผลการเลือกตั้ง การติดตามร่างกฎหมาย และการติดตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านกระบวนการออกกฎหมาย การทำงานของสมาชิกรัฐสภารายบุคคล และการติดตามความสำเร็จของนโยบายของพรรคการเมือง 

4. Hack รัฐธรรมนูญ 2560: โครงการอาสาสมัครหอสมุดรัฐสภา

กิจกรรม Hack เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 พูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยนำแนวคิด Hackathon มาปรับใช้ เพื่อ digitize บันทึกการประชุมสู่รูปแบบเว็บไซต์ 

https://cons60-library.parliament.go.th

5. T-Law GPT: แนวคิดในการพัฒนาระบบ AI

ช่วยในการตีความและทำความเข้าใจกฎหมายไทย จากการใช้ภาษาหรือคำศัพท์ตัวประมวลกฎหมายหรือเนื้อหาที่ยากเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ ช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจได้อย่างง่ายได้มากขึ้น


6. CityMETER Project: โครงการที่ใช้ข้อมูลเปิดของภาครัฐมาจัดทำและนำเสนอในรูปแบบแผนที่

เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลเชิงพื้นที่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงให้นักพัฒนาเมืองมีเครื่องมือในการประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย ทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น โดยมีข้อมูลตั้งแต่ข้อมูลประชากร ข้อมูลสิ่งปลูกสร้าง ข้อมูลการบริโภค บัญชีธนาคาร ข้อมูลโรงพยาบาล 

https://www.landometer.com/?fbclid=IwY2xjawFwvnBleHRuA2FlbQIxMAABHRaOJG7-QsKU9IlWK8TA1FwqFc_MQAVkGv3VLzNlLT6OIDwmUlj77Ej34Q_aem_2atFYimuAroa0uH6uN_fZQ

เครื่องมือเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองผ่านการอภิปรายและการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ


Author : Visarut Sankham, Kanyapat Limprasert, Orakod Suksawat

Photographer : Nichakan Boonchai 

แชร์บทความนี้