Thai PBS จับมือ 9 มหาวิทยาลัย สร้างศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะในภูมิภาค หนุนสื่อสาธารณะท้องถิ่น พร้อมเป็นสะพานเชื่อมองค์กรพันธมิตรส่งเสริมระบบนิเวศสื่อสาธารณะไทย

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น จัดงาน “แนะนำเครือข่ายศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะและเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น” (Thai PBS Locals Open House) เพื่อแนะนำลักษณะงานและบริการสาธารณะของ ศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะ (RegionalCreative Hub for Public) และสื่อสาธารณะท้องถิ่น (Local PBS Network) ต่อภาคีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขอความคิดเห็น คำแนะนำ และมองหาโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือในอนาคต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

9 มหาวิทยาลัย ร่วมสร้าง ศูนย์สร้างสรรค์สื่อสาธารณะภูมิภาค

ภายในงานได้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยน “บทบาทมหาวิทยาลัยกับสื่อภูมิภาคเพื่อสาธารณะ” ระหว่าง คณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการบริหาร ส.ส.ท. ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้ง 9 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

พร้อมทั้งได้มีการลงนามในบันทึกแสดงเจตนารมณ์ร่วม (Statement of Intent) โดย 9 มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะระดับภูมิภาค (Regional Creative Hub) และส่งเสริมการเกิดขึ้นของเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ซึ่งเข้าร่วมงาน รวม 15 เครือข่ายประกอบด้วย เลนส์ไทบ้าน, ซาวอีสาน, อุบลคอนเนก, The region, RO’ โร้วล์, Deep South Voices, สงขลาใกล้ใกล้ทะเล, ลำลอง, เชียงใหม่เหน็ด, เชียงรายสนทนา, The Local, RAT RI LAB – ราดรี แล็บ, Dot easterners, Epigram News และ Thai News pix เพื่อร่วมกันนำคุณค่าของท้องถิ่นสู่ระดับประเทศและสากล ผ่านการผลิตและจัดหาเนื้อหารายการตามแนวทางและมาตรฐานของสื่อสาธารณะ และส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสื่อสาธารณะของท้องถิ่นที่มีคุณภาพ สะท้อนอัตลักษณ์และยั่งยืน

โดย 9 มหาวิทยาลัย จะริเริ่มก่อตั้งศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ (Regional Creative Hub for Public) ทำหน้าที่ เป็นหน่วยบริการสาธารณะ  (Public Service Unit) ที่มีเป้าหมายสร้างผลกระทบทางสังคมในระดับภูมิภาค มีบทบาทเช่น เป็นศูนย์ภูมิภาคด้านการพัฒนาเนื้อหาและบรรณาธิการ    ศูนย์ภูมิภาคด้านการผลิต โดยมีสถานที่ เช่นสตูดิโอ เครื่องมือให้บริการ  และศูนย์เรียนรู้่สื่อสาธารณะ เช่นการฝึกอบรมทักษะการผลิตหรือบริหารสื่อในลักษณะต่างๆ

ขณะที่เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น (Local PBS) ทำหน้าที่สื่อสารข่าวสารจากส่วนกลางและประเทศสู่ท้องถิ่นในรูปแบบที่เหมาะสม ผลิตและพัฒนาชุดสื่อสารคุณภาพสูงของเนื้อหาท้องถิ่น สื่อสารข่าวสารและข้อมูลเฉพาะของท้องถิ่นสู่คนท้องถิ่น  ให้บริการสาธารณะเพื่อท้องถิ่น 

เครื่องมือใหม่จากไทยพีบีเอสเพื่อสื่อสารอย่างมีส่วนร่วม

ทั้งที่ ส.ส.ท. ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของการเป็นสื่อสาธารณะคือความริเริ่มให้เกิดระบบนิเวศที่ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น และเครือข่ายสื่อพลเมืองกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ  วางแผนที่จะให้เกิดการทำงานแบบเสริมประสานงานกัน  โดยใช้แนวทางหลักแบบเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  โดย ส.ส.ท. มีส่วนงาน สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ  ที่ได้เปิดตัว  4 ยูนิต ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อการสื่อสารที่จะเป็นเครื่องมือหนุนเสริมการเกิดระบบนิเวศสื่อสาธารณะและขยายการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมที่หลากหลายอีกด้วย 

1.  C-site  ยูนิตที่สร้างการสื่อสารจากพลเมืองนักสื่อสาร  โดยมีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ หนุนเสริมการรายงานข่าวของนักข่าวพลเมือง ปักหมุดจุดประเด็นเห็นความเชื่อมโยงของข่าวสารท้องถิ่น ในรูปแบบของ Geolocation ที่เวอร์ชั่นใหม่พัฒนาสู่การทำงานเก็บข้อมูลเชิง DATA และ  Citizen Journalist Academy หลักสูตรสื่อภาคพลเมืองที่จะทำงานแนบแน่นกับสถาบันการศึกษา ทำหลักสูตรสำหรับคนอยากสื่อสารสาธารณะ

2.  Locals  ยูนิตสร้างสรรค์งานผลิตชุดการสื่อสาร รายการ และกิจกรรมส่งเสริมประเด็นสาธารณะของท้องถิ่น ผ่านการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น และเครือข่ายนักสื่อสารพลเมืองที่มีคุณภาพและยั่งยืน  และร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทยพีบีเอส  โดยแบ่งการทำงานเป็น 5 ภูมิภาค เพื่อหนุนเสริม เชื่อมประสานกับมหาวิทยาลัย สื่อสาธารณะท้องถิ่น ผู้ผลิตอิสระจากท้องถิ่น และนักสื่อสารพลเมืองอย่างใกล้ชิด

Locals ยังเป็น Portal Website และ วารสาร Public Journal พื้นที่สื่อเพื่อท้องถิ่นร่วมสมัยที่จะสร้างการรับรู้ เรียนรู้ เติมเต็ม และแลกเปลี่ยนเรื่องราวของท้องถิ่นไทย เพื่อให้คนท้องถิ่นและสังคมโลก เข้าใจคุณค่า เท่าทันความเปลี่ยนแปลง  และกำหนดอนาคตของท้องถิ่นตนเองได้  โดยมีการเชื่อมโยงยกระดับเนื้อหา ไปในพื้นที่สื่ออื่นๆ ของไทยพีบีเอส ทั้ง Website ข่าว รายการ รายการนักข่าวพลเมือง รายการคุณเล่าเราขยาย  รายการฟังเสียงประเทศไทย เป็นต้น

3. Public Intelligence โครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่  ที่จะมีทีมออกแบบระบบ-ส่งเสริมการมีส่วนร่วมสาธารณะ ผ่านเครื่องมือ การเปิดพื้นที่ สร้างสรรค์กิจกรรมภายใต้แนวคิดปัญญารวมหมู่ซึ่งดำเนินการโดยสื่อสาธารณะ

4. Decode.plus สื่อออนไลน์คุณภาพโดยคนรุ่นใหม่ Crack&Craft for Future Generation ที่ใช้ความสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องกับสกิล Journalist เพื่อตั้งคำถามใหม่ ๆ แบบไม่มีคำตอบสุดท้าย  ซึ่งกำลังเริ่มโปรเจ็กต์  CO-OP Writer ระบบนิเวศใหม่ของนักอ่าน-นักคิด-นักเขียน แพลตฟอร์มที่รอทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ คอมมูนิตี้ของคนอยากอ่านบทความ Non-fiction เรื่องสั้นและบทกวี

ภายในงานยังได้เชิญเครือข่ายองค์กรด้านนโยบายและส่วนกลางที่มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมการสื่อสารสาธารณะในหลากหลายลักษณะ  กว่า 30 เครือข่ายองค์กร เพื่อร่วมรับฟัง หารือ ให้คำแนะนำในการออกแบบการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Move  โดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า งานในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันความยั่งยืนของประเทศไทย ผ่าน localization  เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่ต่างกัน แล้วจะไม่มีใครรู้ดีไปมากกว่าคนในพื้นที่

“ดีใจที่ได้มาร่วมงานที่ไทยพีบีเอส ได้เห็นคนทำงานหลายมหาวิทยาลัย นักข่าว หลายองค์กรที่ทำงานในระดับพื้นที่ ดีใจและเห็นว่าทุกคนมีความเข้มแข็ง มีความสนใจในงาน Local มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการพัฒนา ส่วนตัวผมทำเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลักดันเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs หนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะผลักดัน SDGs ให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยคือ localization ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยแต่คือทั่วโลก กลุ่มคนทำงานเหล่านี้มีความสำคัญมาก ๆ ในการผลักดันความยั่งยืนของประเทศไทย”

ดร.ณัฐวิคม กล่าวด้วยว่า แต่ละพื้นที่มีความต้องการที่ต่างกัน และจะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนในพื้นที่ ฉะนั้นคนที่ทำงานในพื้นที่ หรือคนในพื้นที่เองได้ออกมาสื่อสาร เล่าเรื่องต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่รู้ดีที่สุด เราที่ทำงานด้านความยั่งยืนก็อยากจะฟังจากกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อรับรู้ว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร มีความก้าวหน้าอะไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลืออะไร หรือต้องการเชื่อมเครือข่าย ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านไหนที่จะสามารถเข้าไปช่วยในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ มองว่าเป็นจุดสำคัญมาก ๆ

ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เริ่มทำเรื่อง localization แต่ไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่จะสามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้น ดีใจที่มีแพลทฟอร์มแบบนี้เกิดขึ้น ท้ายที่สุดอยากจะฝากไทยพีบีเอสให้พยายามมีงานแบบนี้บ่อย ๆ แล้วก็ช่วยเรา(ประเทศไทย/โลก) ผลิตงานหรือความร่วมมือในระดับพื้นที่ (localization) ให้มากยิ่งขึ้นในระดับโลก”

กสทช.พร้อมหนุน ย้ำคุณค่าสื่อท้องถิ่นคือความหลากหลาย

กิจกรรมสำคัญภายในงานยังมีบรรยายพิเศษ “คุณค่าและบทบาทของเครือข่ายสื่อระดับท้องถิ่นในภูมิทัศน์สื่อดิจิตอลและทิศทางส่งเสริมในอนาคต” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเน้นย้ำถึงความหลากหลายซึ่งเป็นคุณค่าของสื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น และสื่อภูมิภาค

“คุณค่าหลักของสื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น สื่อภูมิภาค คือความหลากหลาย   โดยหากเราเทียบเคียงกับความหลากหลายทางชีวภาพ  Biodiversity  ที่ในนิเวศวิทยาหนึ่ง ๆ จะมีชนิดพันธ์ สายพันธ์ ที่หลากหลาย สะท้อนและสืบทอด ให้ความหมายกับสิ่งที่นำเสนอและแสดงออก และเป็นเรื่องของวิถีวัฒนธรรม”

ในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาก็สำรวจถึงความหลากหลายของข้อมูล โดยจากการสำรวจในพื้นที่ 50 กว่ารัฐ ประชากรมากกว่า 330 ล้านคน พบว่าในที่ที่มีสื่อที่หลากหลาย ก็จะมีความหลากหลายของข้อมูลมากเท่านั้น  และในอเมริกามีสถานการณ์ของสื่อท้องถิ่นที่น่าสนใจ คือ มีหลากหลายประเภท เช่นวิทยุท้องถิ่น สื่อชาติพันธุ์ แต่ก็ยังมองว่ามีสภาวะที่น่าเป็นห่วง 

ขณะที่การเปิดรับข้อมูลของคนกลับพบว่า มีการเปิดรับสื่อออนไลน์และสื่อท้องถิ่น ใกล้เคียงกับสื่อระดับชาติ และสื่อในท้องถิ่นได้รับความเชื่อถือมากกว่าสื่อระดับชาติ ขณะที่อังกฤษ อย่าง BBC ก็เป็นองค์กรที่สะท้อนความหลากหลาย ที่มี BBC ในภูมิภาค เช่น ไอร์แลน์เหนือ สก๊อตแลนด์ เวลล์   ใช้ มีเว็บไซด์จาก 4 ภูมิภาคและใช้ภาษาท้องถิ่น   

สำหรับประเทศไทย  เวลาพูดถึงสื่อท้องถิ่นตามแบบแผนของ กสทช.  จะนึกถึงเคเบิลท้องถิ่น ที่ได้ใบอนุญาต พบว่ามีจำนวนลดลงต่อเนื่อง   เพราะภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป และนโยบายเอาสายไฟฟ้าลงดินส่งผลให้การผลิตเคเบิลสูงขึ้น การปรับตัวของสื่อท้องถิ่นในบริบทดิจิทัลที่พบ คือ การเผยแพร่พร้อมกันในพื้นที่ออนไลน์บ้าง เว็บไซต์บ้าง  มีสถานีวิทยุชุมชนจำนวนหนึ่งออกอากาศออนไลน์  และเราก็พบว่าบนออนไลน์เป็นพื้นที่ปล่อยของคนรุ่นใหม่ด้วย และไม่ได้เป็นลักษณะเครือข่าย แต่เป็น UGC (User-generated Content) และมีเนื้อหาน่าสนใจ มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อาหาร ดนตรี เป็นพื้นที่ปล่อยของที่น่าสนใจศึกษาและจะเห็นความแตกต่างในหลายมิติ

ในแง่ของเนื้อหา เราพบว่า มี Local content ในระดับ Glocal content  เช่น กรณี “ลำไย ไหทองคำ” ขึ้นเทรนด์ในบราซิล  มีเนื้อหาลักษณะ Local content  &  Local  product  มีการผลิตเนื้อหาขายเองเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

สำหรับ กสทช. ในระยะที่ผ่านมามีการเชื่อมโยงกับ เครือข่ายสื่อท้องถิ่น และเครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อ ผ่านโครงการ Think tank   เดินสายไปคุย  สร้างเวทีร่วมกับมหาวิทยาลัยในแต่ละภาค เชื่อมผู้ผลิตอิสระ สื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น นักวิชาการมาคุย มาสรุปประเด็นร่วมกัน เจอประเด็นน่าสนใจ เช่น พฤติกรรมการใช้สื่อแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  การใช้สื่อควบคู่กันเชื่อมโยงถึงกันของคนระหว่างรุ่น ความสำคัญสื่อท้องถิ่นไม่ใช่แค่ความหลากหลาย แต่ลงลึกลงมาเป็นสื่อกลางการช่วยเหลือชุมชน ให้ความรู้เฉพาะ เศรษฐกิจเฉพาะ ช่วยเยียวยาดูแลยามวิกฤตและคับขัน  เช่น ช่วงโควิด-19 สื่อท้องถิ่นมีบทบาทในการรองรับสิทธิการรักษา   มีความช่วยเหลือ สถานการณ์ภัยพิบัติ  ว่าใครต้องการความช่วยเหลือแบบไหนและนำพาความช่วยเหลือไป  มีการสร้างเครือข่าย มีการทำงานร่วมกัน  สถาบันวิชาการ คนในพื้นที่ 

โดยบทบาทของ กสทช.ก็เข้าไปสนับสนุนงานวิจัย โครงการพัฒนาร่วมกับ ITU เช่น ทดลองนำร่องทีวีชุมชนอันดามัน พะเยา อุบลราชธานี  และมีโครงการพัฒนาสถานีโทรทัศน์ต้นแบบ ทำสตูดิโอเคลื่อนที่ที่พะเยา

และขณะนี้ นโยบาย กสทช.  จากแผนแม่บทที่ปรับปรุงใหม่เกี่ยวกับสื่อชุมชน  คือ “ผลิตเนื้อหาคุณภาพ ความหลากหลาย สร้างบุคลากรมีคุณภาพทางเทคโนโลยีและจริยธรรม  และหลักสูตรดิจิตอลยั่งยืน”   และอยู่ระหว่างการออกประกาศส่งเสริมผู้ผลิตสื่อท้องถิ่น  โดยจัดทำร่างประกาศ 2 ฉบับ คือ

1.การให้ทุนผลิตรายการ  ที่จัดทำ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การสนับสนุนรายกายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม   โดยเน้นการสนับสนุนทุนสำหรับการผลิตรายการที่มีเนื้อหาสำหรับเด็กและเยาวชน  รายการที่มีเนื้อหาส่งเสริมเอกลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น  รายการที่มีเนื้อหาส่งเสริมความหลากหลายของสังคม และรายการที่มีศักยภาพในการร่วมผลิตกับต่างประเทศ  โดยร่างดังกล่าวผ่านการแสดงความเห็นแล้ว อยู่ระหว่างรอเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2.การสนับสนุนสื่อชุมชน (ร่างแก้ไข)  ประกาศหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบการกิจการบริหารชุมชนที่มีคุณภาพ เช่น ชุมชนที่ประสงค์จะมีสถานีวิทยุ /โทรทัศน์เป็นของตนเอง สามารถขอรับการสนับสนุนเงินสำหรับเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เช่น การขอรับใบอนุญาต การหารายได้ การใช้อุปกรณ์ ฯลฯ   สถานีบริการชุมชน ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว สามารถขอรับการสนับสนุนเงินสำหรับการบริการจัดการและการดำเนินการต่างๆ  ทั้งนี้ ร่างนี้ เป็นการขยายจากของเดิม อยู่ระหว่างรอเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน

ส่วนการสนับสนุนด้านอื่นๆ   ในอนาคต  กสทช. อยู่ระหว่างการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคและผู้ผลิตสื่อในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ   มีการสนับสนุนผ่านโครงการสื่อท้องถิ่น ภายใต้งบ USO ของฝ่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์  เพื่อผลักดันให้เกิดการอุดหนุนให้เกิดโทรทัศน์ชุนในแพลทฟอร์มต่างๆ ที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบัน

“สิ่งที่ดิฉันได้พยายามทำมาอย่างยาวนานคือการปฏิรูปสื่อ  ซึ่งพื้นฐานคือปฏิรูปการเข้าถึงและการใช้ประโยขน์ทรัพยากรการสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่มากขึ้น จากเดิมที่ภาครัฐเป็นเจ้าของในการใช้คลื่น มาจนถึงตอนนี้จะเป็นคลื่นหรือไม่เป็นคลื่นที่ถูกเทคโนโลยีดิจิตอลมาปลดปล่อย  ดิฉันคิดว่า การปฏิรูประลอกแรก คือความพยายามปลดปล่อยทรัพยากร แต่พอมาถึงเรื่องทักษะความรู้ ความเข้าใจการต่อยอดวงกว้างยังคงเป็นปัญหา  ซึ่งเป็นหน้าที่ของกสทช ที่จะนำพาไปสู่การปฏิรูปสื่อต้องทำงานให้ดีเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่หลากหลายชนิดพันธุ์ เพราะกรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย และความแตกต่างหลากหลายเป็นพื้นฐานของสังคม”

ส.ส.ท.พร้อมเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือ

รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้กล่าวถึง การปรับบทบาทหน้าที่ของไทยพีบีเอส “พัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาสื่อ”เพื่อเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของระบบนิเวศสื่อของประเทศไทย ที่จะมีส่วนสร้างคนคุณภาพในพื้นที่ให้เป็นพลเมืองของโลก

“ดิฉันคิดว่าพวกเราตรงนี้ ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาเยอะ ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อกันมาก็หลาย 10 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะไปต่อในรูปร่างที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมคือเราไม่ได้มาเป็นสื่อเป็นราย ๆ หรือนักวิชาการเป็นราย ๆ เหมือนเมื่อก่อน เพราะตอนนี้เราเกิดเป็นเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น เครือข่ายศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะเรียกว่าแข็งแรงกว่าเดิมเยอะนะคะก็หวังว่าพวกเราตรงนี้คงจะ สนับสนุนแรงผลักดันสิ่งที่อาจารย์พิรงรองแล้วก็ กสทช.กำลังขับเคลื่อนอยู่  น่าจะไปได้ดีขึ้น”

รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี  กล่าวว่า  ตอนเช้าที่มีวงไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัย 9 สถาบัน  ได้ฟังในเรื่องของหลักการรูปแบบความร่วมมือที่น่าสนใจมาก แล้วพอตอนบ่ายเราได้ฟังเรื่องที่เจาะลึกลงไปเป็นรูปธรรมว่าจะร่วมมือกันอย่างไร กับเครือข่ายสื่อ   โดยสิ่งที่ได้ฟังมาก เป็นเรื่องของประเด็นที่จะขับเคลื่อนร่วมกันให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเฉพาะจากพื้นที่ขึ้นมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งน่าสนใจมากว่า ถ้าความร่วมมือนี้มันจะร่วมมือกันผ่านการทำประเด็นขับเคลื่อนของพื้นที่ก่อน อันนี้คือรูปธรรมที่ทำได้จริง แล้วเห็นผล ผู้คนในพื้นที่เห็น แล้วแรงสนับสนุนจะตามมา

โดยเฉพาะสิ่งที่ไทยพีบีเอสก็เรียนรู้มา ก็คือ ตัวอย่างรายการฟังเสียงประเทศไทย ที่ออกไปรับฟังด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ  คิดว่าเป็นตัวอย่างว่า ทำได้เลย แล้วก็น่าจะทำให้การระดมการสนับสนุนเป็นไปได้มากขึ้น

“ดิฉันคงมาเป็นตัวแทนของไทยพีบีเอสในการบอกว่า สิ่งที่เราลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ร่วมกันไป  ดิฉันเชื่อว่าสิ่งแรกที่ไทยพีเอสทำได้เลยก็คือ พื้นที่ที่เรามีอยู่แล้ว  ทั้งพื้นที่เดิมที่มีและพื้นที่เปิดใหม่ อย่าง Public intelligence  COOP  พื้นที่เหล่านี้ คงจะเปิดเต็มที่ แต่สำคัญกว่านั้นก็คือเราอยากมีส่วนร่วมผลักดันความร่วมมือเหล่านี้ไปสู่การเจรจา จะเรียกว่าเจรจาต่อรองสนับสนุนหรือเชื่อมต่อเป็นสะพานกับเครือข่ายองค์กรสนับสนุนอื่น ๆ”

“ กสทช. อาจารย์พิรงรองก็มาบอกแล้ว ว่ามีโอกาส มีช่องทาง ที่จะสนับสนุนในรูปแบบไหนได้บ้าง เอาจริง ๆ ยังคงมีองค์กรอีกเยอะเลยค่ะ สถาบันพระปกเกล้า ก็แสดงความสนใจมาตลอด  วันนี้ UNDP ก็ออกมา และคิดว่ายังมีอีกเยอะ เช่น กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือ แม้แต่ สสส. และอื่น ๆ ยังเชื่อว่าถ้าจับมือกันมีโปรเจกต์ ที่เป็นประเด็นในพื้นที่ที่จะผลักดัน มีเป้าหมายชัดเจน โอกาสที่จะขยับต่อน่าจะมีได้สูงกว่าที่จะต่างคนต่างทำ แล้วไทยพีบีเอสก็จะเป็นพื้นที่และเป็นสะพานเชื่อมต่อ อาจจะเรียกว่าเราขอเป็นหุ้นส่วนสำคัญในเรื่องนี้นะคะ”  

นอกจากนั้น การได้ร่วมพูดคุยกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั้ง 9 แห่ง น่าสนใจมาก ท่านพูดถึงเรื่องการพัฒนาคน   คือความร่วมมือของ 3 ประสาน   องค์กรสื่อท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในพื้นที่และไทยพีบีเอส ต้องนำไปสู่การพัฒนาคน ที่ไม่ใช่แค่การผลิตนักศึกษาเท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างคนคุณภาพในพื้นที่ ที่จะให้เป็นพลเมืองของโลกด้วย ดิฉันชอบประเด็นนี้มากว่า มันไปต่อได้ไกลมาก “พัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาสื่อ” จึงมองว่าทั้ง 3 – 4 เรื่องที่พูดกัน น่าจะเป็นสิ่งที่ไทยพีบีเอสจะดำเนินการต่อ

สุดท้าย  ในส่วนของไทยพีบีเอส  เราก็กำเนิดขึ้นมาด้วยพันธกิจที่เป็นคำใหญ่มาก ๆ สิ่งที่พวกเราตระหนักอยู่ตลอดคือเราเป็นสื่อที่ทำงานอยู่บนการสร้างการมีส่วนร่วมจากสังคม ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดมันพิสูจน์ตรงนั้น แต่ตอนนี้เราอยู่แบบเดิมไม่พอ เมื่อเช้าดิฉันก็พูดในที่ประชุมว่าที่เราปรับตัวทำรูปแบบกันมากมายเพราะเราทำงานแบบเดิมไม่พออีกแล้ว เพราะว่าบริบทสังคมมันเปลี่ยนไปเยอะ เราไม่สามารถมองตัวเองเป็นองค์กรผลิตสื่อ เราบอกว่าเราเปิดพื้นที่ให้คนให้ท้องถิ่นมันไม่ได้อีกแล้ว

เพราะฉะนั้น ประมาณ 1-2 ปี มานี้ ไทยพีบีเอสปรับตัวเยอะ เราเรียกตัวเองว่า เราเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของระบบนิเวศสื่อของประเทศไทย และรับปากว่าดิฉันก็ต้องทำหน่วยงานข้างในให้พร้อมรองรับความเป็นระบบนิเวศสื่อด้วย ก็ขออนุญาตรับปากว่าจะพยายามทำให้องค์กรนี้ทั้งองค์กร ปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองไปเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการต่อเติมระบบนิเวศสื่อ”

แชร์บทความนี้