
เปิดตัวกิจกรรมโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” โดย สสส. จัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เน้นเติมเต็มวันว่างเด็กช่วงปิดเทอมด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยขอนแก่นเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ ปีนี้จัด 120 กิจกรรม 91 พื้นที่ ครอบคลุมหลากหลายอำเภอเปิดโอกาสให้เด็กและผู้ใหญ่ร่วมเรียนรู้ เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยกิจกรรมฟรี แถมยังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 รายการ “อีสานขานข่าว” ออกอากาศสดผ่านเพจ “อยู่ดีมีแฮง” ในเครือไทยพีบีเอส และเพจเครือข่ายประกอบด้วยเพจ อุบลคอนเน็ก ไทอีสานพีบีเอส และซาวอีสาน ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” โดยโครงการนี้ได้ริเริ่มโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อเติมเต็มช่วงปิดเทอมของเด็กเยาวชนด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ หลีกเลี่ยงความเหงาและการสูญเสียโอกาสเรียนรู้ (Learning Loss) โดยมีแขกรับเชิญ 3 ท่าน ได้แก่ นายพิชิต ชัย สิทธิ์ หรือ ไนท์ ผู้ประสานงานโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์จังหวัดขอนแก่น, นายฉัตรบดินทร์ อาจหาญ (ครูมะพร้าว) และนางนงนุช ศิริพงษ์ (ครูนงนุช) จากชุมชนสาวะถี และมีนางสุมาลี สุวรรณกร เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมถ่ายทอดความสำเร็จและเป้าหมายของโครงการ

โดยนายพิชิต ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ของโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ของภาคอีสานในปีนี้ ด้วยความหลากหลายของเครือข่ายนักสร้างสรรค์และพื้นที่เรียนรู้ที่ซ่อนอยู่ในทุกมุมเมือง ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ของการเป็นผู้ประสานงานหลัก โดยจะมีการจัด 120 กิจกรรมใน 91 พื้นที่ ครอบคลุมทั้งอำเภอเมืองและอำเภอรอบนอก เช่น ภูผาม่าน บ้านไผ่ พล สีชมพู และอื่น ๆ อีกหลายอำเภอ โครงการเริ่มจากเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายสู่ 33 จังหวัดทั่วประเทศ เน้นสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้” (Learning Ecosystem) ให้เด็กเข้าถึงกิจกรรมใกล้บ้านภายใน 15 นาที โดยโครงการไม่เพียงเติมเต็มวันว่าง แต่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น อุดรธานี และมหาสารคาม มาเที่ยวเมืองขอนแก่น ซึ่งผลพลอยได้จากการใช้จ่ายในท้องถิ่นและเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นอีกด้วย

ด้านนายฉัตรบดินทร์ อาจหาญ หรือครูมะพร้าว ในนามทีม “อีสานจะเลิร์น” เล่าถึงความแข็งแกร่งของขอนแก่นที่มีนักจัดการเรียนรู้ (Learning Creators) กระจายตัวทั่วจังหวัด กิจกรรมหลากหลายตั้งแต่ศิลปะ วัฒนธรรม ไปจนถึงสุขภาพจิต เขาเน้นว่าโครงการนี้ไม่บังคับเด็ก แต่เป็น “ทางเลือก” ให้เด็กและครอบครัวตัดสินใจร่วมสนุก ผลลัพธ์ที่เห็นคือ เด็กใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น และผู้ใหญ่ในชุมชนภาคภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดความรู้ ตัวอย่างเช่น การจับมือกันระหว่างนักจัดกิจกรรม เช่น บอร์ดเกมผสานการศึกษา หรือศิลปะผสมการท่องเที่ยว สร้างมิติใหม่ให้การเรียนรู้ ครูมะพร้าวยังเชิญชวนทุกคนลุกขึ้นเป็นนักจัดการเรียนรู้ผ่านเพจ “อีสานจะเลิร์น” เพื่อขยายระบบนิเวศนี้ต่อไป

ในขณะที่นางนงนุช ศิริภูมิ หรือ ครูนงนุช จากชุมชนบ้านสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น เล่าถึงการใช้ “หมอลำ” เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ช่วงปิดเทอม โดยชุมชนที่มีทุนวัฒนธรรมเข้มแข็งอย่างหมอลำพื้น หมอลำหมู่ และหมอลำหุ่นสินไซ จัดกิจกรรมให้เด็กเรียนร้องหมอลำ ฟ้อนรำ และซึมซับคติธรรมคำสอนจากวรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เช่น ความกตัญญูและความกล้าหาญ กิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับดี เด็ก ๆเป็นอย่างดีว่า สนุกและอยากให้ยืดเวลานานกว่านี้ ผู้ปกครองและคนในชุมชนก็ปลื้มใจที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ในชุมชน โดยการเรียนรู้ไม่จำกัดในห้องเรียน แต่ชุมชนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงพลัง โดยเฉพาะวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ จะมีการลอกลายฮูปแต้มสินไซ เปิดโอกาสให้คนนอกพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถีด้วย

โดยโครงการ”ปิดเทอมสร้างสรรค์ 2025″ ไม่เพียงเติมเต็มวันว่างของเด็ก แต่ยังจุดประกายการเรียนรู้ผ่านชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคอีสานที่ขอนแก่นเป็นหัวหอกสำคัญ โครงการนี้สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย ลดความเหลื่อมล้ำ และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนไปพร้อมกัน ผู้สนใจสามารถติดตามผ่านเพจ “อีสานจะเลิร์น” และ “อยู่ดีมีแฮง” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งตลอดปิดเทอมนี้.