หนุนไทยร่วมร่าง “สนธิสัญญาพลาสติก” ยุติปัญหามลพิษ  กำหนดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

หนุนไทยร่วมร่าง “สนธิสัญญาพลาสติก” ยุติปัญหามลพิษ  กำหนดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

25 มีนาคม 2566 มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กรีนพีชประเทศไทยและมูลนิธิบูรณะนิเวศจัดเสวนา “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย ณ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เพื่อส่งสัญญาณต่อรัฐบาลไทยให้มีส่วนร่วมในร่างสนธิสัญญาพลาสติก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักคือการยุติปัญหามลพิษพลาสติกที่ไร้พรมแดน

https://web.facebook.com/100081516573872/videos/751344123771085

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า  ในประเทศไทยสถานการณ์พลาสติกมีแนวโน้มว่าจะแย่งลงไปเรื่อยๆ เพราะเรามีปัญหาในเรื่องพลาสติกทุกรูปแบบตั้งแต่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีไปจนถึงการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ

ปัจจุบันมีโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐานจากจีนย้ายเข้ามาจำนวนมาก การรีไซเคิลที่ไม่ถูกวิธีส่งผลความเสียหายอย่างมหาศาล เพราะมีการปล่อยสารปนเปื้อนลงในแหล่งดิน น้ำและอากาศจำนวนมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ฝุ่น PM 2.5 ที่นอกเหนือจากการเผาภาคเกษตรแล้วก็มาจากการเผาขยะพลาสติกด้วยเช่นกัน นอกจากนี้สารเคมีอีกหลายชนิดยังนำไปสู่การก่อมะเร็งด้วย

ด้านพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีช ประเทศไทย กล่าวในวงเสวนาว่า สำหรับประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อกรกับปัญหามลพิษพลาสติกในเวทีเจรจาที่กำลังจะมีขึ้น โดยการให้คำมั่นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเปราะบางโดยยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ยังสามารถเริ่มกำหนดนโยบายที่จะช่วยลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในประเทศได้ โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตพลาสติกตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้า การรับคืน การสร้างระบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับสนธิสัญญาพลาสติก ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยนโยบายพลาสติก Environmental Justice Foundation กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีการดำเนินไปแล้ว 3 ครั้ง แต่เนื่องจากหลายประเทศยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียดทำให้สัญญายังคงเป็นกรอบที่กว้างเอาไว้เท่านั้นฉบับนี้เรียกว่า “ร่างเอกสารฉบับแรกฉบับปรับปรุง”

ฉะนั้นจะเหลืออีก 2 ครั้งสุดท้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นคือครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นที่เมืองออตวา ประเทศแคนาดา และครั้งที่ 5 ที่ประเทศเกาหลีใต้ 

การประชุมครั้งที่ 4 จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญเพราะรายละเอียดของข้อตกลงจะเป็นอย่างไรบ้างจะอยู่ในรอบนี้ เพื่อนำไปสู่การปรับแต่งอีกครั้งก่อนมีการประกาศร่างฉบับเป็นทางการ

ในระยะเวลากว่าครึ่งปีก่อนที่จะมีการประกาศใช้สนธิสัญญาพลาสติก บางองค์การหรือบางประเทศได้เริ่มมีแนวทางจัดการกับพลาสติกเอาไว้แล้วอย่างเช่นสหภาพยุโรป ภายในเว็บไซต์ของสหภาพยุโรปได้ให้ข้อมูลว่า ทางสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการกับพลาสติกในระดับสากล ทางสหภาพได้มีการจัดตั้งกลุ่ม High Ambition Coalition เพื่อยุติการใช้พลาสติก อีกทั้งกรรมาธิการสหภาพยุโรปเองได้มีการเสนอกฎระเบียบใหม่เพื่อจัดการกับพลาสติกขนาดใหญ่ไปจนถึงระดับไมโครพลาสติก ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมแล้ว

หลังการเสวนา องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กรได้อ่านแถลงการณ์ ระบุสารสำคัญ ในการเสนอให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมในการร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลก  และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย 10 ข้อ คือ

1. ลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้


2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน

4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extended producer responsibility หรือ EPR) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกและค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม

5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ

6. กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

7. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น

8. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา

9. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก

10. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ภาพจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ

แชร์บทความนี้