แม้จะผ่านช่วงเวลาการเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายกันไปแล้วกับเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และปีนี้ยังมาพร้อมกับข่าวดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างการผ่าน ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 และคาดว่าจะมีการประกาศบังคับใช้ปลายปี 2567 นี้
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงความหลากหลาย กับ Pride Month คงปฏิเสธไม่ว่า เทศกาลไพรด์นั้น เกิดขึ้นโดยกลุ่ม LGBTQIA+ หรือ ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ร่วมกันเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจ และรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 55 ปีก่อน Pride Month จึงเป็นเหมือนการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเท่าเทียมและการยอมรับจากสังคมเท่าที่ควรจะเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
แท้จริงแล้ว Pride Month นั้นเพื่อใคร
ปัจจุบันเทศกาล Pride Month นั้น หากจะบอกว่าเป็นพื้นที่เฉพาะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นคงไม่ใช่ เพราะเทศกาลไพรด์ในตอนนี้เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เพศ ร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม รสนิยม และอาจพูดได้ว่า Pride Month เป็นพื้นที่ของทุกคน พฤทธิ์ ราชนาวี หรือ แตงโมแซบเวอร์ อินฟลูเอนเซอร์จากแดนอีสาน ที่สร้างชื่อเสียงในโลกออนไลน์ และใช้พื้นที่ออนไลน์ในการแสดงศักยภาพและแสดงตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งในอดีตเธอก็เป็นอีกคนที่ผ่านเรื่องราวของการไม่ถูกยอมรับและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมมาเช่นกัน
โดยเธอเล่าว่า เมื่อก่อนเธอก็เป็นอีกคนที่ถูกเลือกปฏิบัติ และรับรู้ได้ถึงความไม่เท่าเทียมในเพศสภาพของตัวเองที่เป็นอยู่ แม้จะมีผู้คนหลายกลุ่มที่ไม่ยอมรับและเลือกปฏิบัติกับเธอ เธอกลับเลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญกับคำพูดและการกระทำเหล่านั้น และกลับนำมาเป็นแรงกระตุ้นและผลักดันให้เธอพัฒนาตัวเอง จนกลายเป็น แตงโมแซบเวอร์ อย่างทุกวันนี้ และทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่อยู่เสมอ นอกจากนี้แตงโมยังเล่าถึงกิจกรรม Pride Month ที่เป็นเหมือนพื้นที่สะท้อนความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม และเป็นพื้นที่เพื่อให้ทุกคนได้แสดงออกถึงความเป็นตัวเองว่า
“การมีเทศกาลไพรด์ ทำให้โมเห็นว่าไม่ใช่คนที่มีความหลากหลายทุกคนจะมีพื้นที่ของตัวเอง โมมองว่าเทศกาลไพรด์มันคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออก และมันเป็นพื้นที่ของทุกคน ของทุกความหลากหลาย เวลาเราออกมาจัดกิจกรรมแบบนี้เราไม่ได้หวังให้ทุกคนยอมรับในเพศของเราเท่านั้น แต่เราอยากให้ทุกคนยอมรับความหลากหลายทุกรูปแบบของมนุษย์ และให้สิทธิ์และความเท่าเที่ยวกับทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้” แตงโมแซบเวอร์ พฤทธิ์ ราชนาวี
เช่นเดียว เต้ย ปณต ศรีนวล ผู้เขียนหนังสือ บันทึกกะเทยอีสาน การบันทึกเรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศกับชีวิตในชนบท ที่มีโจทย์ให้ต้องเผชิญอยู่ทุกก้าว โดยเต้ยกล่าวเสริมว่า Pride Month นั้น เป็นเรื่องที่หลากหลายมาก ๆ จนทำให้คนที่ได้รับผลประโยชน์จากกิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQIA+ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ความหลากหลายมีมากกว่าแค่เรื่องเพศ เพราะหากจะสาดสีสันเพื่อบอกถึงความหลากหลายในไทย คงมีมากหมายกว่าสีรุ่งอีกเป็นร้อยเฉดสี
“จริง ๆ แล้วไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายค่อนข้างสูง เราพูดถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ว่าเราจะอยู่ร่วมกันในความต่างนั้นได้ยังไง ให้มันมีความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มันสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าพลวัตของ Pride Month มันก้าวไปไกลมากถึงขนาดที่ว่ามันไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่ม gender diverse มันขยายไปถึงว่าเราไปดึงคนที่มีความพิการเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะเห็นว่ามันไม่จำเป็นว่าคุณจะนิยามตัวเองว่าเป็นใคร คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งใน Pride Month ได้” เต้ย ปณต ศรีนวล
Pride Month สะท้อนความหลากหลายของสังคมไทย?
หากจะพูดถึงสถานการณ์ความเท่าเทียมและความหลากหลายในไทย ตอนนี้ไทยดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ อย่างการผ่าน ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการยอมรับความหลากหลายในประเทศนี้ แต่นั่นอาจเป็นเพียงสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและรับรู้ เพราะแท้จริงแล้วการยอมรับความหลากหลาย ยังมีอีกหลายมิติที่ยังไม่ถูกยอมรับ หรือยอมรับแบบมีเงื่อนไข ซึ่งการจัดกิจกรรม Pride Month นั้น บางครั้งอาจจะพูดได้ว่ามันเป็นประโยชน์ในระยะเวลาสั้น ๆ คือการสร้างความตระหนักรู้ในเชิงสาธารณะ ว่ามีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในสังคมเท่านั้น และยังมอง Pride Month เป็นเพียงพื้นที่เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนทำให้มีคำถามจากหลายคนว่า Pride Month ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เต้ย ปณต ศรีนวล จึงย้ำถึงเรื่องนี้ว่า การจัดกิจกรรม Public Awareness คือความพยายามเชื่อมโยงกับพลวัตในเชิงอำนาจ
“เวลาเราจัดกิจกกรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเชิงสาธารณะอย่าง Pride Month มันยังจำเป็นจะต้องมีอยู่ เพราะตราบเท่าที่ยังมีคนเชื่อว่าการตายของเขาจะสร้างความสงบสุขให้เขามากกว่าการที่เขาเป็นตัวของตัวเองในสังคม ฉะนั้นตราบเท่าที่มันยังมีคนมองไม่เห็นว่าผู้ที่มีความหลากหลายเป็นมนุษย์ที่ปกติอยู่ ยังเห็นว่านี่เป็นความแปลกใหม่อยู่ และยังคงมีความไม่ยุติธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นหรือว่าการไม่ยอมรับกันอย่างนี้เกิดขึ้น Pride มันก็คงยังมีต่อไปเรื่อย ๆ”
ขณะที่การเฉลิมฉลอง Pride Month ดำเนินไปปีแล้วปีเล่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบางส่วนกลับไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและตั้งคำถามกับการเฉลิมฉลองนี้ เช่นเดียวกับ บาส ธนาวุธ ศรีจักร์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ศึกษาและให้ความสนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และนิเวศสังคมของ LGBTQIA+ ในอีสาน ได้ย้ำถึงการจัดงาน Pride month และตั้งคำถามกับกิจกรรมนี้ว่าแท้จริงแล้วจุดประสงค์ Pride month ในยุคนี้คืออะไร
“พอพูดถึงความหลากหลายทางเพศในอีสาน ภาพที่มันผุดขึ้นมาต่อเนื่องก็คือกะเทย สำหรับเราแล้วมันมีอีกหลายเฉดเลยที่พวกเขายังไม่มีโอกาสได้เปล่งแสง เหตุผลข้อหนึ่งเพราะเขารู้สึกมันไม่จำเป็นที่เขาจะต้องแสดงตัวตนอะไรในเมื่อเขาก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง และอีกเหตุผลคือเขาโดนคนในคอมมูนิตี้เดียวกันแย่งพื้นที่ไปจนหมด ยกตัวอย่างงาน Isan Pride month เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ต่างอะไรกับงานทั่วไป ที่มีคนที่อยากแต่งตัวมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่มันขาดสัญญะบางอย่างที่กำลังจะบอกคนในพื้นที่อีสานให้รู้ว่า นอกจากวาทกรรม โง่ จน เจ็บ ที่คนอีสานยังถูกผลักให้อยู่ชายขอบนั้น การมีสถานะเป็นคนนอกเพศทวิลักษณ์แบบชายจริงหญิงแท้ มันก็ยังเป็นปัญหาทีมีอยู่ในอีสานเช่นกัน ดังนั้นเราจึงเกิดคำถามว่า หมุดหมายของงาน Pride month นี้ คืออยู่ตรงไหน พองานจบคนที่มารวมตัวกันจะผลักดันอะไรต่อ หรือแค่ม่วนจอยเท่านั้น ทัศนะที่อยากเห็นคือ เราจะทำอะไรกันต่อจากการรวมตัวชูป้าย แล้วป้ายพวกนั้นทำงานกันต่อยังไง ลงถังขยะ หรือกระเด็นกระดอนไปหนแห่งไหน ไปสู่ชุมชนได้ไหม ชนบทที่ห่างไกลความรู้เรื่องเพศ ชุมชมที่สังคมประณามการไม่รู้ของพวกเขาเพราะพวกเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงเรื่องพวกนี้ ข้อมูลจากงาน Pride month ไปถึงพวกเขาได้ไหม แล้วเราจะมีโอกาสทลายกำแพงตรงนั้นได้ไหม หรือมีทางไหนที่เราทำกันได้ต่อ มันถึงจะเรียกว่าความครอบคลุมและความหลากหลายที่แท้จริง” บาส ธนาวุธ ศรีจักร์
Pride Month ผ่านไป ความหลากหลายยังอยู่ ความเท่าเทียมอยู่ตรงไหน ?
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาถือว่ามีหลายสิ่งอย่างให้ได้ตาลุกวาวและชวนตื่นเต้นยินดี แน่นอนว่าทุกคนดีใจ ภูมิใจ ที่สมรสเท่าเทียมผ่านสักที ทั้งที่ประเทศเราได้ชื่อว่าสวรรค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาแสนนาน แต่คำถามถึงความเท่าเทียมยังคงกึกก้อง
“สำหรับ pride month ถ้ามองในมุมของคนทั่วไป ที่มีแรงใจเข้าร่วม อันนี้ไม่อาจไม่ด้อยค่าความตั้งใจของพวกเขาได้ ถือว่าเป็นเวลาของพวกเขาได้ส่องแสง ทำเต็มที่ แต่ถ้าเป็นพวกที่โดนบังคับมาทำตามกระแส คำถามคือ แล้วเราจะสานต่ออะไรจากการทำตามกัน เพราะการมารวมตัวกันมันคือการรวมพลัง ไม่ใช่การมาทำคอนเทนท์ อัตลักษณ์ชายขอบไม่ใช่สิ่งของ มันคือจิตวิญญาณ ความรัก การให้ความเคารพ และความเท่าเทียม
ซึ่งจริง ๆ พวกเราไม่ควรต้องมาทำแบบนี้ด้วยซ้ำ หากยังตระหนักได้ว่าทุกวันนี้ เราคือมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น แล้วยิ่งตัดมาที่ localized pride month เรายิ่งได้เห็นอะไรที่ไม่ควรได้เห็น เช่น การประกวดแบบนางงาม ที่สร้างคำตอบดุเดือดได้พอสมควร คือ หาคนชนะแล้วเอาไปทำไร จะขับเน้นความหลากหลายแต่ก็จะหาที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม สร้างความเท่าเทียมแบบใด
เรายึดหลักว่าเราไม่ควรมาแบ่งกันว่าสวย ฉลาด หรือวิเศษวิโสกว่าใครในคอมมู สิ่งที่เราต้องพูดบนเวทีที่จ่ายเงินไปตรงนั้นคือ ถกประเด็น สร้างความเข้าใจ องค์ความรู้อะไรที่มันขาดหายไป ทำปีนี้ไม่เสร็จ ปีหน้าว่ากันต่อ สานต่อ ทำต่อ มันมีอะไรอีกเยอะมากที่เรารู้สึกว่ามันยังไม่อิ่ม อย่าให้มันเป็นแค่เทศกาลประจำปีที่จัดแล้วก็แล้วไป
อย่างที่บอกสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องความเกลียดชังคนหลากหลายทางเพศก่อน หรือกิจกรรมส่งเสริมอะไรสักอย่างผ่านช่องทางการศึกษา การให้ความรู้ ไม่ใช่ให้คนฉลาดนะเราว่า แต่เพื่อให้คนเข้าใจหรือส่งต่อได้มากขึ้น เข้าใจมนุษย์ด้วยกัน เข้าใจได้มากขึ้นว่าส่งเสริมความหลากหลายแล้วก็อย่าลืมส่งเสริมความเท่าเทียมด้วย ไม่ใช่แค่กับคนในสังคม แต่กับคนในคอมมูเดียวกันด้วย” บาส ธนาวุธ ศรีจักร์
ในวันนี้ภาพความเท่าเทียมมันอาจจะเริ่มจากเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องอัตลักษณ์ ตัวตน แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการที่จะส่งเสริมความเท่าเทียม และสร้างความเข้าใจให้กับความหลากหลายด้านอื่น ๆ และยังมีเรื่องราวอีกมากมายในซอกหลืบของสังคมที่ไม่มีใครมองเห็น ความเท่าเทียมที่หลายคนใฝ่หานั้นอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่ร่วมถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์อีกมากมาย ที่ควรจะมีชีวิตอย่างภาคภูมิใจ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมและเคารพความหลากหลาย ซึ่งเสมือนความงามของกันและกัน