HOW TO ผังเมือง กทม. กับ 6 มุมมองต่อเมืองที่ต้องเดินหน้า

สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS จัดเวทีเสวนา “ผังเมืองกทม. ไปต่อ…หรือพอแค่นี้” เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมเพื่อสะท้อนปัญหาการจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) พ.ศ.2566 

เชิญ 6 นักวิชาการ ร่วมนำเสนอข้อมูลถึง 6 ผังย่อย ในเมืองรวม กทม. ประกอบด้วย 1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท 2.แผนผังแสดงที่โล่ง 3.แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง 4.แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ 5.แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 6.แผนผังแสดงผังน้ำ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายถึง กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567

ครั้งนี้ เราได้ปักหมดข้อเสนอสำคัญ ๆ  มาให้ได้ลองอ่านทบทวนกัน ในระหว่างที่ กทม.ยังคงตระเวนรับฟังความเห็นใน 50 เขตไปถึง 30 ส.ค. นี้

ด้านผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

แคล้ว ทองสม ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สิ่งที่กรุงเทพมหานครต้องทำต่อจากร่างผังเมืองฉบับปัจจุบัน จากโครงการจัดทำถนนทั้งโครงการส่วนขยายและตัดใหม่ที่มีจำนวนมากนี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เพราะว่าเรื่องนี้ส่งผลโดยตรงกับการจัดการที่ดินอยู่อาศัย

หากจำเป็นต้องทำจะต้องเกิดการเวนคืนพื้นที่ ในเรื่องนี้หน่วยงานของรับต้องมีมาตรการสร้างความเป็นธรรมในการเวนคืนและชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ในอีกทางหนึ่งประชาชนเองอาจจำเป็นต้องเลือกว่าจะยอมย้ายไปอยู่ในพื้นที่ไกลขึ้นหรืออยู่ตรงจุดเดิมแต่เป็นตึกสูงแทน

ด้านการคมนาคมและการขนส่ง

รศ. ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าว่า สถิติการใช้ยานพาหนะของคนในเมืองกรุงเทพฯส่วนใหญ่คือรถยนต์ส่วนตัวและมีการใช้รถสาธารณะน้อย สิ่งที่ควรต้องทำให้เกิดขึ้นด้านของการคมนาคมและขนส่งสาธารณะ ประการแรกคือวางแผนการสำรวจพื้นที่ความหนาแน่นในการเดินทาง หากจุดไหนมีการเดินทางที่หนาแน่นควรเน้นให้เกิดการใช้รถโดยสารสาธารณะ บวกกับให้เชื่อมต่อกับจุดการเดินทางประเภทอื่น เช่น ทางเดินเท้า จักรยาน รถไฟฟ้า เป็นต้น 

กรุงเทพฯ ควรมีการใช้ทางจักรยานอย่างจริงจังและต้องควบคุมระดับผิวการจราจรด้วย

ด้านผังระบบจัดการน้ำ

รศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า ผังน้ำของกรุงเทพฯ สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไป จำเป็นต้องเดินทางตามหลักการความปลอดภัยและต้องมีที่ให้น้ำอยู่และมีที่ให้น้ำไป 

ภายในพื้นที่แต่ละเขตต้องมีการประเมินเรื่องความเปราะบางของการเกิดน้ำท่วม การจัดการขยะและคำนวณความหนาแน่นของประชากร ซึ่งความเปราะบางของการเกิดน้ำท่วมจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่หลากหลายประกอบกันเช่นการขึ้นลงของน้ำทะเล ค่าน้ำฝนเฉลี่ย สถานการณ์โลกร้อน เป็นต้น ต้องมีการอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอ 

รศ. ดร.สิตางศุ์ยังเสนอไว้อีกว่า เรื่องน้ำเสียและพื้นที่จัดเก็บน้ำฝนตามอาคารควรจะต้องมีแผนที่ชัดเจน

ด้านเมือง ภูมินิเวศและปัญหาโลกเดือด

วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม เสนอว่า ในมิติสถานการณ์โลกเดือดเกี่ยวข้องกับเรื่องผังเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าปัจจัยภายนอกจากสภาวะโลกร้อนส่งผลทำให้ผังเมืองเกิดการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาอีกทั้งอากาศที่ร้อนขึ้นเอื้อต่อการเกิดปัญหาน้ำและอากาศที่เป็นพิษได้ง่ายขึ้นด้วย

วีระพันธุ์เสนอว่าอันดับแรกกทม.จำเป็นต้องมีแผนรับมือสำหรับสภาวะโลกเดือดมาใช้ในผังเมืองครั้งนี้ อีกทั้งข้อมูลหลายส่วนจำเป็นต้องมีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมออาทิฐานข้อมูลเศรษฐกิจพื้นที่ เป็นต้น และอีกเรื่องสำคัญที่ควรผลักดันให้เกิดคือการเกิดพื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง การดำเนินงานจากผังเมือง กทม.นี้อาจเป็นต้นแบบสำหรับผังเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ด้านทางเลือกการเติบโตของเมือง

ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเสนอข้อแนะนำที่กทม.ต้องไปต่อว่า ระบบเมืองในต่างประเทศปัจจุบันเริ่มเกิดการให้มีสัดส่วนการใช้การเดินทางสาธารณะมากขึ้นทั้งในทวีปยุโรปหรือเอเชียอย่างญี่ปุ่น ฉะนั้นพื้นที่เมืองกรุงเทพในอนาคตควรมีการเพิ่มพื้นที่สำหรับการเดินให้มากขึ้นกว่าเดิมและสิ่งที่ต้องทำต่อคือการทำให้พื้นที่เดินทางและพื้นที่สีเขียวเกิดการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันให้ได้ 

คุณภาพของลำคลองต่าง ๆ ควรได้รับการดูแลเพิ่มพื้นที่ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ ส่วนของที่อยู่อาศัยควรจัดสรรให้มีที่อาศัยราคาไม่แพงแทรกอยู่ในพื้นที่มูลค่าสูงเอาไว้ด้วยเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วกัน

ด้านความหลากหลายของเมือง

รศ. ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ผังเมืองนี้คือธรรมนูญขนาดย่อมที่เราทุกคนต้องออกแบบร่วมกันว่าอยากให้เมืองมีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดการผูกขาดอยู่กับกลุ่มราชการและนักวิชาการมากจนเกินไปทำให้ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างชัดเจน 

กรุงเทพฯ ในแต่ละพื้นที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจึงจำเป็นต้องมีผังเมืองที่คอยโอบอุ้มความหลากหลายนี้เอาไว้ให้ได้ ต้องมีพื้นที่เอื้อให้เกิดชุมชนที่ยืนหยัดได้ด้วยวัฒนธรรมของตัวเอง สิ่งที่ได้พูดมาเสมอ ผังเมืองที่กำลังจะเกิดต้องทำให้เกิด “เมืองเป็นธรรม” ให้ได้เพราะว่าผังเมืองที่ดีจะต้องไม่ซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าเดิม

สามารถตามวงเสวนาเต็มได้ที่นี่

แชร์บทความนี้