คนกับผึ้งที่ไพรพัฒนา ฟื้นผืนป่าพนมดงรัก

“ทองคำเหลวแห่งผืนป่า” หรือ “น้ำผึ้ง” เป็นทรัพยากรล้ำค่าของผืนป่าพนมดงรัก การเข้าป่าตีผึ้งหรือหาน้ำผึ้งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชนที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พรานผึ้งจะเข้าป่า หาน้ำผึ้งที่ทำรังตามต้นไม้ หน้าผา โพรงหิน โดยเฉพาะน้ำผึ้งที่ตีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ถือกันว่าเป็นสุดยอดน้ำผึ้ง ขายได้ราคาดี เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำผึ้งที่ดีที่สุดของปี

ประดิษฐ์  บุญอ่อน

ประดิษฐ์ บุญอ่อน หรือ ขุ่ย พรานผึ้งรุ่นใหม่ ที่ต่อยอดจากพรานผึ้งป่าสู่คนเลี้ยงผึ้ง การหาน้ำผึ้งป่าสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่มีข้อจำกัดว่าใน 1 ปี สามารถหาน้ำผึ้งได้ประมาณ 3 – 4 เดือน คือ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน และด้วยแนวคิดไม่อยากไปหางานทำไกลบ้าน อยากดูแลพ่อแม่ อยากมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ทำให้พรานขุ่ย เริ่มศึกษาวิถีชีวิตของผึ้งอย่างจริงจังโดยสังเกตผึ้งในป่าและวิธีการเลี้ยงผึ้งจากยูทูป และทดลองเลี้ยงผึ้งพร้อมกับหาน้ำผึ้งป่าไปด้วย โดยเป็นเจ้าของ “เพจทีมงานพรานผึ้งบ้านนอก” และเฟสบุ๊คชื่อ “ขุ่ยพรานผึ้งบ้านนอก” การขายน้ำผึ้งของพรานขุ่ย ขายผ่านเพจทำให้ได้ราคาดี ลูกค้ามีความเชื่อมั่นเพราะเป็นน้ำผึ้งแท้และเห็นถึงวิถีชีวิตของพรานผึ้งแห่งป่าพนมดงรักเป็นการสร้างเรื่องเล่าให้กับสินค้าควบคู่ไปด้วย วิธีการดังกล่าว สร้างรายได้หลักหลายแสนต่อปีให้กับทีมงานพรานผึ้งและกลุ่มคนเลี้ยงผึ้ง

บ้านวนาสวรรค์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ติดกับป่าพนมดงรัก หลังบ้านพรานขุ่ยเป็นป่าชุมชนและเชื่อมไปกับป่าพนมดงรัก ทำให้เหมาะอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงผึ้ง เพราะมีพันธุ์ไม้หลากหลาย มีดอกไม้ที่ให้น้ำหวานกับผึ้งอยู่เป็นจำนวนมาก ผึ้งที่พบโดยทั่วไปในป่า มี 3 ชนิด คือ ผึ้งหลวง ซึ่งไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้วผึ้งหลวงสามารถบินไปหาอาหารได้ไกล ชอบทำรังในที่โล่งแจ้งและอยู่ที่สูง ไม่ชอบให้ถูกรบกวน

ผึ้งมิ้มเป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด มีขนาดใกล้เคียงกับแมลงวัน รวงผึ้งมีขนาดเล็ก และผึ้งโพรง ซึ่งเป็นผึ้งที่เลี้ยงง่าย ด้วยสภาพของพื้นที่มีความเป็นธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ มีอาหารคือน้ำหวานจากต้นไม้ต่างๆ จำนวนมาก ทำให้พรานขุ่ยตัดสินใจลองเลี้ยงผึ้งโพรง การตัดสินใจในวันนั้นส่งผลต่อตำบลไพรพัฒนาอย่างที่พรานขุ่ยเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน

วิธีการเลี้ยงผึ้งโพรง สร้างระบบนิเวศน์อาหารและทรัพยากรป่า

ผึ้งโพรงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis cerana เป็นผึ้งพื้นเมืองที่มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย มีขนาดลำตัวยาว 12 มิลลิเมตร ส่วนอกกว้าง 3.3 มิลลิเมตร ตัวเล็กกว่าผึ้งหลวง แต่ใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม เป็นผึ้งที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งหลวงและผึ้งมิ้ม จะสร้างรังอยู่ในที่มืดและมีจำนวนรวงหลายรวง ตั้งแต่ 5-15 รวง ในแต่ละรังจะมีประชากรผึ้งประมาณ 5,000 -50,000 ตัว

ตามธรรมชาติผึ้งโพรงจะสร้างรวงซ้อนเรียงกันอยู่ในโพรงหินหรือโพรงไม้ต่างๆ โดยมีปากทางเข้าออกค่อนข้างเล็ก เพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก แต่ภายในรังจะมีพื้นที่กว้าง มีอัตราการแยกรังค่อนข้างสูง จะทิ้งรังเดิมเมื่อสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม จะให้น้ำผึ้ง 3 -15 กิโลกรัมต่อรัง ต่อปี

ลังเลี้ยงผึ้ง

ลังเลี้ยงผึ้งหรือกล่องผึ้งขนาดมาตรฐานจากกรมส่งเสริมการเกษตร ประกอบจากไม้ที่มีลักษณะเบา ไม่ยืด ไม่หด ไม่โค้งบิดงอ ความหนาของไม้ 1.40 เซนติเมตร ความสูง 25  เซนติเมตร ความยาวภายนอก 53.50 เซนติเมตร ความกว้างภายนอก 30.50 เซนติเมตร ฐานลังเป็นส่วนที่ใช้วางลังเลี้ยงผึ้ง มีขนาดกว้าง 30.50 เซนติเมตร  x ยาว 59.50 เซนติเมตร ฝาด้านบน เป็นฝาที่ป้องกันความร้อนจากแสงแดด ทำจากไม้หนา 1.40 เซนติเมตร และคนเลี้ยงมักนำสังกะสีมาคลุมอีกชั้นหนึ่งเพื่อห้องกันฝน เสาหลักวางลังผึ้ง ไขผึ้งโพรง ใช้สำหรับทาฝาลังผึ้งด้านในด้านบน เพื่อล่อให้ผึ้งเข้ามาในลัง

การล่อผึ้ง เป็นวิธีการนำกล่องผึ้งไปวางล่อผึ้งตามธรรมชาติในสถานที่ร่มรื่น มีแหล่งน้ำและอาหารที่สมบูรณ์ เพื่อล่อผึ้งที่หนีรัง แยกรัง หรือแสวงหาที่อยู่ใหม่ ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ที่ต้องการ

การขยายอาชีพและสร้างกลไกการดูแลป่าโดยชุมชน

สมาชิกช่วยกันพัฒนาอาชีพทำลังผึ้ง

 ตำบลไพรพัฒนามีพื้นที่ประมาณ 77,937 ไร่  ประมาณ 124.77 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นป่า เป็นที่ราบเชิงเขาพนมดงรัก สลับเนินเขา มีแม่น้ำลำคลองอยู่โดยทั่วไป   นอกจากพื้นที่ทำการเกษตร แล้วมีป่าชุมมชนที่เชื่อมต่อกับเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นป่าดิบแล้ง มี ไม้มะค่าโมง, ไม้มะค่าแต้, ไม้ประดู่, ตะเคียนหิน, ยางนา, ชิงชัน, ตะเคียนทอง, พยุง, เคี่ยมคะนอง ทิศใต้ของตำบลติดกับประเทศกัมพูชา ชุมชนโดยรอบมีอาชีพ ทำเกษตร ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ปอ ยางพารา สวนปาล์ม และหาของป่า

การเลี้ยงผึ้งโดยกลุ่มผู้ริเริ่มคือ “พรานขุ่ย” เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการรายได้ที่เพียงพอสำหรับการอยู่บ้าน มากกว่าการเข้าไปเป็นแรงงานราคาถูกในเมืองใหญ่ จึงเริ่มชักชวนเพื่อนๆ รุ่นน้องรวมกลุ่มหาน้ำผึ้งป่า เมื่อหามาได้จะขายแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มราคาให้กับสินค้า เนื่องจากเป็นน้ำผึ้งแท้ ไม่มีการเจือปน ทำให้ได้รับความนิยม เชื่อถือมีคนสั้งซื้อเป็นจำนวนมาก และเมื่อการหาผึ้งป่ามีข้อจำกัดด้วยเรื่องของระยะเวลา ในรอบหนึ่งปีสามารถเข้าป่าหาน้ำผึ้งได้ประมาณ 3 – 4 เดือนเท่านั้น ทำให้น้ำผึ้งไม่เพียงพอต่อการขาย จึงได้เริ่มเลี้ยงผึ้ง โดยการศึกษาด้วยตนเอง ทำกล่องหรือลังเลี้ยงผึ้งเอง และหาวิธีล่อผึ้งให้เข้ามาทำรัง เริ่มจากมีสมาชิกเข้าร่วมเลี้ยงผึ้ง 4 คน ต่อมาเพิ่มเป็น 10 คน  เมื่อประสบความสำเร็จได้เริ่มชักชวนคนในชุมชนที่สนใจเข้าร่วมจนสามารถขยายไปหลายตำบล

ในปี 2566 โดยการขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชนตำบลไพรพัฒนา ได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับพัฒนาชุมชนอำเภอภูสิงห์ ทำให้เกิดการขยายผลการเลี้ยงผึ้งไปยังหมู่บ้านอื่นๆ เช่น หมู่บ้านโอปังโกว์ เดิมในหมู่บ้านมีพรานผึ้งอยู่แล้ว เข้าป่าหาน้ำผึ้งเหมือนหมู่บ้านวนาสวรรค์ ต่อมาวัยรุ่นในหมู่บ้านอายุประมาณ 17-20 ปี เข้าป่าไปหาน้ำผึ้ง มีปัญหาคือ ความเสี่ยงในการปีนต้นไม้ เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายเขตอุทยาน ทำให้มีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออก และได้เห็นตัวอย่างการเลี้ยงผึ้งจากบ้านวนาสวรรค์ของพรานขุ่ย ประกอบกับพรานขุ่ยยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงผึ้งให้กับผู้สนใจทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนในหมู่บ้านหรือตำบลใกล้เคียง ก่อนหน้านั้นพรานขุ่ยก็ได้ชักชวนคนอื่นๆ ที่สนใจมาร่วมเลี้ยงผึ้งอยู่แล้ว  ทำให้เกิดการพัฒนาเครือข่าย จนมีการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. ทำกล่องเลี้ยงผึ้งโพรง อบรมให้ความรู้และแจกกล่องให้เลี้ยงในสวน และขยายเป็น 50 ครัวเรือน

ผลิตภัณฑ์ผึ้งโพรง

เมื่อมีการขยายการเลี้ยงผึ้งประกอบกับมีหน่วยงานอื่นๆ มาให้การสนับสนุน เช่น ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดสุรินทร์มาติดต่อให้ไปเป็นวิทยากร มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ สนับสนุนด้วยโครงการ U2T บ้านโอปังโกว์ จึงได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเป็นกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงสมุนไพรตราผญากูปรี 100 เปอร์เซ็น มีสมาชิกจำนวน 30 คน ติดโลโก้พญากูปรีซึ่งเป็นโลโก้ที่ได้รับการออกแบบและอนุญาตให้ใช้กับกลุ่มวิสหากิจและกูปรีเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัด           ศรีสะเกษ

การเลี้ยงผึ้งโพรงที่บ้านโอปังโกว์นอกจากเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้วยังเป็นเครื่องมือในการดึงกลุ่มเด็กที่เคยหลงผิดไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มาเป็นคนเลี้ยงผึ้ง กลุ่มคนสูงอายุที่มีความสนใจและต้องการหารายได้เพิ่มเติม จำนวนของกล่องผึ้งในหมู่บ้านโอปังโกว์ทั้งหมดประมาณ 1000 กว่ากล่อง

มีระบบการดูแลสมาชิกและการจำหน่ายน้ำผึ้ง ก่อนเก็บน้ำผึ้งต้องแจ้งให้ทางกลุ่มวิสาหกิจทราบก่อนเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ ไม่มีน้ำผึ้งจากที่อื่นเข้ามาปน เพราะน้ำผึ้งของที่นี้รับประกันความแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางกลุ่มมีเครื่องสลัดน้ำผึ้งซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสนับสนุนให้กับกลุ่ม

บ้านทางสายลวด เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับวิชาเลี้ยงผึ้งจากพรานขุ่ย  โดยปิยะพงษ์ จันทรา กลุ่มวิสาหกกิจชุมชนน้ำผึ้งป่าทางสายลวด เล่าว่า เมื่อก่อนหาผึ้งป่ารายได้ไม่เพียงพอ จึงมาเข้ากลุ่มเลี้ยงผึ้งปี 2566 จากการเชิญชวนของบ้านโอปังโกว์ และได้รับการสนับสนุนจาก  กสศ.หรือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฝึกทำกล่องเลี้ยงผึ้ง เริ่มจาก 5 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 15 คน

วงประชุมสมาชิก

ขยายเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้ง เชื่อมร้อยภาคีสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่

จุดเริ่มต้นของการทำงานพัฒนาในพื้นที่ เริ่มจากพัฒนาชุมชนอำเภอภูสิงห์ มองเห็นศักยภาพของการเลี้ยงผึ้งของพรานขุ่ยและคณะจากบ้านวนาสวรรค์ เมื่อได้ทำงานร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจึงขยายการเลี้ยงผึ้งจากบ้านวนาสวรรค์สู่บ้านโอปังโกว์ และยังเชื่อมต่อกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขยายการเลี้ยงผึ้งสู่บ้านทางสายลวด และนำหลักสูตรการเลี้ยงผึ้งเข้าสู่โรงเรียน อีกทั้งยังหาแนวทางสำหรับการเรียนรู้นอกระบบให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยมีหลักสูตรการเลี้ยงผึ้ง 5 หลักสูตร เริ่มจาก หลักสูตรที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับผึ้ง หลักสูตรที่ 2 การผลิตกล่องผึ้ง หลักสูตรที่ 3 การแปรรูปน้ำผึ้ง เป็นสบู่ ไวท์น้ำผึ้ง หลักสูตรที่ 4 การทำการตลาดออนไลน์ หลักสูตรที่ 5 พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อผึ้ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนการสอนให้กับเด็กนอกระบบโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

การพัฒนาระบบนิเวศให้ลองมองไปยังเทือกเขาพนมดงรัก ที่มีฝูงผึ้งออกไปหาอาหารในตอนเช้าและกลับมายังกล่องผึ้งตอนสายๆ ผึ้งนับล้านๆ ตัวจากกล่องเล็กๆ ทุกกล่องในตำบลไพรพัฒนาออกตระเวนหาน้ำหวานจากดอกไม้นานาพันธุ์จากป่าชุมชนและป่าพนมดงรัก หรือผึ้งขี้เกียจก็อาจจะหาน้ำหวานอยู่บริเวณโดยรอบกล่องเลี้ยงผึ้งไม่ว่าจะเป็นวัชพืชดอกเล็กดอกน้อย ดอกยางพารา ดอกปาล์มน้ำมัน จะทำให้เรามองเห็นว่าระบบนิเวศที่เหมาะต่อการเลี้ยงผึ้งล้วนเกี่ยวร้อยสัมพันธ์กันทุกส่วน  ผึ้งมีรัศมีการหากินค่อนข้างไกล สำหรับผึ้งหลวงนั้นหากินในระยะรัศมี 15 กิโลเมตร ผึ้งโพรงหากินประมาณ 5 กิโลเมตร ต้องมีแหล่งน้ำสะอาดที่เพียงพอ การปลูกพืชอื่นๆ ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ซึ่งมีผลต่อการหาน้ำหวานของผึ้ง ระบบนิเวศโดยรอบต้องเอื้อจึงจะทำให้มีผึ้งมาอาศัยอยู่ การล่อผึ้งให้มาเข้ากล่องเลี้ยงผึ้ง เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ต้องรู้จักวิถีการหาอาหารของผึ้งต้องสังเกตว่าผึ้งมักจะมาทางไหน ไปไหน ในระยะแรก ผู้เลี้ยงผึ้งหลายรายได้นำกล่องผึ้งไปติดตั้งในป่าชุมชน เมื่อผึ้งเข้ากล่องแล้วจะทำการย้ายมาในสวนของตน มีการแบ่งเวรยามกันดูแลกล่องผึ้งเพื่อป้องกันการขโมย ผลพลอยได้ทำให้เกิดการดูแลป่า การเฝ้าระวังไฟป่า และคนที่ลักลอบตัดต้นไม้ เพราะหากเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นย่อมส่งผลต่อการเลี้ยงผึ้ง เมื่อมีไฟป่าเกิดขึ้นทำให้มีการดับไฟอย่างรวดเร็วเพราะผู้เลี้ยงผึ้งช่วยกันระมัดระวังอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดแนวคิด “ผึ้งกันไฟ” ขึ้น มีหน่วยพิทักษ์ป่าต้นน้ำ องค์การบริหารส่วนตำบลไพรพัฒนา สภาเกษตรกรจังหวัดศรีษะเกษ รพสต. และ สสส. ทำแผนร่วมกันพัฒนาเรื่องผึ้งกันไฟให้เป็นโมเดลหนึ่งในการแก้ปัญหาไฟฟ้า และชุมชนยังเสนอให้มีการร่วมกันปลูกต้นไม้ที่ผึ้งชอบกินน้ำหวานอีกทั้งยังทำให้ภูมิทัศน์ของตำบลมีความสวยงาม เช่น ดอกจาน ทองอุไร ดอกรวงผึ้ง

ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากการเลี้ยงผึ้งคือการปลดหนี้ของกลุ่มลูกค้าธนาคาร ธกส.  โดยทางธนาคาร ธกส. เห็นว่าการเลี้ยงผึ้งสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้จริง จึงนำการเลี้ยงผึ้งไปเสนอให้ลูกค้าที่ไม่ค่อยจะชำระหนี้โดยแจกกล่องผึ้งให้กับลูกหนี้ จำนวน 3 กล่อง อีก 2 กล่องให้ลูกหนี้ลงทุนเอง ตอนนี้มีคนเข้าร่วมโครงการนี้จำนวน 15 คน

 ผึ้งกับความเข้มแข็งของชุมชน

ความท้าทายของเกษตรกรไทยในปัจจุบันคือปัญหาหนี้สิน การละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และการทำลายระบบนิเวศจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวรวมถึงการใช้สารเคมี ปุ๋ย ยาจำนวนมากเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับพืชผัก เป็นการเพิ่มต้นทุนที่ส่งผลให้ได้กำไรจากการขายสินค้าเกษตรน้อยลงหรือขาดทุน จนต้องกู้เงินมาเพื่อทำเกษตรรอบใหม่และขาดทุนต่อไปเป็นวัฎจักรที่ยากจะหลุดพ้น

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถมองเห็นปัญหาของตนเองและลุกขึ้นมาจัดการปัญหาเหล่าได้ บทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนคือการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ทั่วประเทศไทย

สภาองค์กรชุมชนตำบลไพรพัฒนาเป็นกลไกสำคัญที่ทำงานขับเคลื่อนและเชื่อมประสานระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนกับพื้นที่ โดยได้มองเห็นปัญหาในพื้นที่คือความยากจนและหนี้สิ้น และมองเห็นถึงปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา อุดช่องว่างระหว่างการพัฒนาโดยหน่วยงานต่างๆ ให้การพัฒนาชุมชนมีความต่อเนื่อง คือ การหนุนเสริมจากหน่วยงานภายนอกอย่างสม่ำเสมอและเป็นเนื้อเดียวกัน

สภาองค์กรชุมชนตำบลไพรพัฒนาจึงเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ประกอบกับกลุ่มเลี้ยงผึ้งในชุมชนมีความเข้มแข็งและมองเห็นเป้าหมายเดียวกันคือเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจน แม้ตอนเริ่มต้นจะเป็นการชักชวนกันเป็นกลุ่มเล็กๆ จาก 4 คน เป็น 10 คน เป็น 15 คน แต่เมื่อได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานภายนอกทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาทำให้กลุ่มเลี้ยงผึ้งไพรพัฒนาขยายความรู้ให้กับคนที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว และเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในการถอดบทเรียนการทำเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติและรักษาธรรมชาติไปพร้อมกัน

ผึ้งเป็นสัตว์ที่ให้ผลผลิตเร็ว ลงทุนต่ำ หากเปรียบปุ๋ยที่ใส่บำรุงต้นไม้ ปุ๋ยของผึ้งก็คือน้ำหวานจากป่าใหญ่ จากทุกองคาพยพของป่า ดอกไม้ต้นไม้เล็กๆ ที่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชที่คนอาจจะมองข้ามด้วยซ้ำไป แต่สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน การเริ่มเลี้ยงผึ้งตัวเล็กๆ ราคากล่องผึ้งไม่ถึงสองร้อยบาท อาศัยดินฟ้าอากาศ พืชพันธุ์ เป็นตัวหล่อเลี้ยงก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงแต่ละรายจำนวนหลายแสนบาทต่อปี ส่งผลให้คนเลี้ยงผึ้งกลุ่มหนึ่งไม่ต้องละถิ่นฐานเพื่อไปทำงานเป็นแรงงานราคาถูกในเมืองใหญ่ อีกทั้งยังดึงเยาวชนที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามกลับเข้ามาฝึกอาชีพเป็นคนเลี้ยงผึ้ง มีรายได้สำหรับหล่อเลี้ยงครอบครัวและตนเอง เพิ่มความรู้สึกการเห็นคุณค่าในตัวเองเพราะหลักสูตรที่กลุ่มเลี้ยงผึ้งออกแบบนั้นมีการปรับวิถีคิด เสริมเข้าไปด้วย

นอกจากนั้นยังเป็นโมเดลให้กับงานพัฒนาชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม การทำงานพัฒนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ โดยไม่ละทิ้ง การสาน เสริม ต่อ งบประมาณกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อย่างไร้รอยต่อ เป็นสิ่งที่ทุกโครงการพัฒนาพึงมี เพราะเป็นการขยายผลและส่งเสริมเติมต่อส่วนที่ขาดหายไประหว่างหน่วยงาน จากงบประมาณที่จำกัดของแต่ละหน่วยงานเมื่อเกิดการบูรณาการและประสานเสริมกันทำให้การทำงานพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ เพิ่มนักพัฒนาหน้าใหม่ๆ เข้าสู่วงการ เกิดการเชื่อมต่อและฝึกฝนนักพัฒนาในพื้นที่ เช่น การเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา การดึงนักวิชาการภายนอกเข้าหมาหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ อย่างหลากหลาย

การเลี้ยงผึ้งยังเพิ่มจำนวนผึ้งให้กับผืนป่า และเพิ่มผืนป่าจากการช่วยผสมเกษรของผึ้ง เหมือนที่พรานขุ่ยบอกว่า น้ำผึ้งคือทองคำเหลวแห่งผืนป่า นอกจากหล่อเลี้ยงชีวิตคนแล้วยังหล่เลี้ยงผืนป่าให้ป่าแห่งนี้ได้รับการดูแลรักษาไปพร้อมๆ กับการขยายการเลี้ยงผึ้งให้กับตำบลไพรพัฒนาอย่างยั่งยืน

เรียบเรียง : พอช สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) องค์การมหาชนของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

แชร์บทความนี้