สรุปนโยบายและแผนพลังงานของประเทศไทย ตอนที่ 1

ปัจจุบันพลังงานถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคงของชาติ สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก่อนที่จะมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เป็นแผนระดับที่ 1 โดยได้อาศัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแผนหลัก เพื่อเป็นกรอบในการวางแผนปฏิบัติราชการและแผนในระดับปฏิบัติต่าง ๆ

นอกจากนี้ แผนระดับที่ 1 จะทำหน้าที่เป็นกรอบสำหรับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในภาพรวมที่ครอบคลุมการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาประเทศด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน

แผนระดับที่ 1-3 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีการแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

สำหรับแผนระดับที่ 2 จะเป็นกลไกที่สำคัญในการถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่าง ๆของยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งประกอบไปด้วย แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) มีสถานะเป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานของภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติตามกรอบระยะเวลาที่คาดหวังไว้ได้ โดยการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และสามารถบอกทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนที่ประเทศควรมุ่งในระยะ 5 ปี ได้อย่างรอบด้าน

สำหรับการกำหนดทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศก้าวข้ามความท้าทายต่างๆเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยหลักการและแนวคิด 4 ประการ ประกอบด้วย 1.หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2.การสร้างความสามารถในการล้มแล้ว ลุกไว 3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้ยังได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาจำนวนทั้งหมด 13 หมุดหมาย ใน 4 มิติ ประกอบไปด้วย

มิติที่ 1 มิติภาคการผลิตและการบริการเป้าหมาย

  • หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
  • หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
  • หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
  • หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
  • หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
  • หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

มิติที่ 2 มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

  • หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้
  • หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน
  • หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม

มิติที่ 3 มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
  • หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มิติที่ 4 มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ

  • หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
  • หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชนสำหรับนโยบายด้านพลังงานและแผนพลังงานของประเทศไทยอยู่ในหมุดหมายที่ 3, 5, 10, และ 13

ในมุมของงานวิจัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั้นมีหลายงานวิจัยที่มุ่งเน้นไปด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่กระทบถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การศึกษาและงานวิจัยด้านพลังงานคาร์บอนต่ำนั้นยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งด้านทุนวิจัยตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นที่แพร่หลาย

ดังนั้น การมุ่งเน้นงานด้านวิจัยด้านพลังงานคาร์บอนต่ำนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการสนับสนุนงานด้านงานวิจัยและการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศได้ อีกทั้งยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ในเป้าหมายที่ 7 (สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน), 9 (สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม), 11 (ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน), และ 13 (ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น)

นอกจากนี้ ในด้านของธุรกิจ ประชาชน และชุมชน งานวิจัยด้านพลังงานคาร์บอนต่ำยังมีส่วนช่วยในลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกเดือดและปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มเปราะบางเชิงเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉะนั้น การมุ่งเน้นงานวิจัยในด้านพลังงานคาร์บอนต่ำนี้จึงสำคัญสำหรับการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน เมือง และประเทศ แล้วยังมีส่วนช่วยในมุมของธุรกิจและเศรษฐกิจอีกด้วย 

สำหรับมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนต่ำและถูกปรับใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานขั้นต่ำ การสนับสนุนการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในภาคพลังงานโดยการให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่รับซื้อพลังงานทดแทนในราคาที่สูงกว่าพลังงานฟอสซิล การสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้ และภาคพลังงาน การมีส่วนช่วยการสนับสนุนมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM)   ในภาคธุรกิจ รวมถึงไปการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคคมนาคมขนส่งอีกด้วย

ฉะนั้นแล้ว การบูรณาการร่วมกันในหลาย ๆ ภาคส่วนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเดียวกัน มาตรการด้านการบูรณาการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือนเพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากกริดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน การซื้อขายหรือชดเชยคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้มาชดเชยในภาคธุรกิจและพลังงาน การสนับสนุนมาตรการรีไซเคิลในภาคขยะเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประชาชนทั่วไป การบูรณการดังกล่าวเป็นบทบาทที่ กระทรวง อว. ได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนในภาคการศึกษาและวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์

เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย

ประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงและกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions, NZE) ได้ในปี พ.ศ. 2608 ในการประชุม Conference of Parties 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้หากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution Plan, NDC) เป็นร้อยละ 40 ได้และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ภายในปี พ.ศ. 2593

สำหรับนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย จะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแผนระดับที่ 1 ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และรับมือต่อโรคอุบัติใหม่/โรคอุบัติซ้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้แผนระดับที่ 2 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืนแผนย่อย 3 จะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกและขีดความสามารถในการรับตัวฯ กรอบแผนฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) หมุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำและหมุดหมายที่ 11การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนโยบายและแผนว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่ 11 รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Thailand’s Long-term GHG Emission Development Strategy

สำหรับแผนระดับที่ 3 จะเป็นในส่วนของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก 30-40% จากกรณีปกติ ณ ปี พ.ศ. 2573 แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 รายสาขาในสาขาพลังงาน สาขาการขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม/น้ำเสียอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ด้านการปรับตัวฯ การลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขีดความสามารถ และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan, NAP) ด้านการจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ รูปที่ 2 แสดงยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวของประเทศไทย (Thailand’s Long-term GHG Emission Development Strategy) สำหรับมาตรการที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในภาคพลังงานและขนส่งจะมีนโยบายหลักๆ ดังนี้ 

  • ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน / ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles, EV), การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage, CCS), การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน(Carbon Capture Utilization and Storage, CCUS), การผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bio-Energy with CCS, BECCS)
  • เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าและความร้อน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคไฟฟ้า
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีผ่านนโยบาย 4D1E
  • ใช้พลังงานทดแทนในยานยนต์ หรือการเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวมวล (เอทานอลและไบโอดีเซล)

จากที่กล่าวมาข้างต้น การศึกษาและการค้นคว้าด้านงานวิจัยจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการผลักดันและสนับสนุนให้ประเทศได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีส่วนช่วยในการสนับสนุนภาคส่วนอื่นๆให้เห็นถึงการบูรณาการร่วมกัน สำหรับยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวของประเทศไทยนี้จะเป็นตัวนำทางที่สำคัญในการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้

ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024)

สำหรับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 นั้นได้มีการพิจารณาปรับปรุงโดยมุ่งเน้นทางทิศทางพลังงานโลกที่มีจุดมุ่งหมายการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อแก้ไขปัญหาโลกเดือด และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality 2050) สำหรับ
หลักการสำคัญในการจัดทำแผน (Power Development Plan, PDP2024) นั้นจะยึดจาก 3 หลักการสำคัญประกอบด้วย ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) และการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) 

นอกจากนี้นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด/เทคโนโลยีทางเลือกเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจะเน้นไปที่การใช้ก๊าซไฮโดรเจนผสมก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม การใช้เทคโนโลยีทางเลือก เช่น แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Bioenergy with carbon capture and storage, BECCS) Demand Response (DR)/ Distributed Energy Resource (DER) และการสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน(Solar/Wind/Biomass/Waste) และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภท Small/Micro Modular Reactors (SMR/MMR) เป็นต้น

สำหรับการคาดการณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าไทยมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2565 ความต้องการไฟฟ้าอยู่ที่ 250,000 ล้านหน่วย หรือ 38,000 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มไปถึง 370,055 ล้านหน่วย หรือ 56,133 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580

ในปี พ.ศ. 2573 สัดส่วนแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจะคิดเป็นสัดส่วน 66.5% จากเชื้อเพลิงฟอสซิล 33.5% จากพลังงานทดแทน โดยจำแนกเป็น ถ่านหิน 13% ก๊าซธรรมชาติ 53% พลังงานน้ำ 2% พลังงานหมุนเวียน 11% พลังงานแสงอาทิตย์ 7% และพลังงานน้ำจากต่างประเทศประมาณ 14%

ในปี พ.ศ. 2580 สัดส่วนแผนการผลิตไฟฟ้าจะคิดเป็นสัดส่วน 47.6% จากเชื้อเพลิงฟอสซิล 51% จากพลังงานทดแทน 1% จากพลังงานนิวเคลียร์ และอื่นๆ 0.4% โดยจำแนกเป็นรายเชื้อเพลิงได้คือ ถ่านหิน 7% ก๊าซธรรมชาติ 41% พลังงานน้ำจากต่างประเทศ 15% พลังงานน้ำในประเทศ 2% พลังงานหมุนเวียน 16% พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ 1% พลังงานแสงอาทิตย์ 16% และพลังงานนิวเคลียร์ 1% ตารางที่ 1 แสดงกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่และระบบกักเก็บพลังงานในช่วงปี พ.ศ. 2567-2580

ตารางที่ 1 กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่และระบบกักเก็บพลังงานในช่วงปี พ.ศ. 2567-2580

ประเภทโรงไฟฟ้ากำลังผลิตใหม่ (เมกะวัตต์)
โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน38,851
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม6,300
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน600
รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ3,500
อื่นๆ (DR, V2G)2,000
พลังงานน้ำแบบสูบกลับ2,472
ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่10,485

สำหรับผลกระโยชน์จากแผน PDP2024 จะทำให้มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากยานยนต์ไฟฟ้า ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสมและมีเสถียรภาพ และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในด้านการผลิตพลังงานนั้นมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากพลังงานทดแทนยังข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เช่น งบประมาณด้านการลงทุน ความไม่แน่นอนของพลังงานไฟฟ้า การผันผวนของราคาและต้นทุนด้านการผลิตไฟฟ้า รวมถึงนโยบายและผลกระทบทางอ้อมอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเพิ่มหรือลดสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้า งานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ไม่สม่ำเสมอเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าที่คาดการณ์ได้เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่เพิ่มภาระมากเกินไป จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมเป้าหมายแผน PDP นี้

เขียนโดย

ดร.นุวงศ์ ชลคุป, ดร.กัมปนาท ซิลวา, ดร.ตะวัน จำปีเจริญสุข, ดร.อาทิตย์ จำปีเจริญสุข


อ้างอิง

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570

2. การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26

3. ยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวของประเทศไทย (Thailand’s Long-term GHG Emission Development Strategy)

4. ร่างแผนพัฒนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024)

5. ร่าง แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก, พ.ศ. 2567-2580 (AEDP 2024)

6. ร่าง แผนปฏิบัติการรายสาขา ด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567 – 2580 (EEP 2024)

7. ร่างแผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024)

8. ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024)

9. รายงานโครงการ “การบูรณาการความร่วมมือและการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านพลังงานคาร์บอนต่ำ ปี พ.ศ. 2566”

แชร์บทความนี้