มรภ.สกลนคร ฟื้นคืนชีพงานวิจัย CBR คนแถวสอง

“CBR คนแถว 2”

คำนี้ รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ กล่าวในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลแบบมีส่วน (ครั้งที่2) อยู่ที่ ม.ราชภัฏสกลนคร วันที่ 2-3 ก.ย.2567 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 30 คน ประกอบด้วย ผู้ประสานงาน นักวิจัยรุ่นใหม่ Junior Staff Node (JSN) ภายใต้ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน และเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นในสถาบันอุดมศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร

อาจารย์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือเสาโท CBR (แตงโมขออนุญาตล่วงเกินมอบตำแหน่งให้) ใครอยากรู้จักอาจารย์มาขึ้นไปค้นหาตามแพลตฟอร์มออนไลน์ได้นะ หรือค้นหาใน Google

CBR คนแถว 2 คืออะไร

ตอนแรกแตงโมก็งงเหมือนกันคนแถว 2 คืออะไร ผมไม่มีโอกาสได้ถาม อาจารย์ ดร.กาญจนา โดยตรงแต่ถามพี่ๆ ในเครือข่ายได้คำตอบว่า

  • “คน” หมายถึง นักวิจัย
  • “แถว 1” หมายถึง นักวิจัยที่เป็นนักวิชาการ
  • “แถว 2” หมายถึง ชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านร่วมเป็นนักวิจัย

ทำไมต้อง CBR คนแถว 2

แตงโม ผ่านการอบรมการเป็นนักวิจัย CBR 2 ครั้งแล้ว งานครั้งแรกส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิด ความแตกต่างกับงานวิจัยทั่วไป และเครื่องมือ CBR 24 ชิ้น ส่วนงานครั้งที่สองนี้เน้นฝึกการใช้เครื่องมือและลงไปปฏิบัติการจริง

การอบรมครั้งที่ 2 ทำให้ผมเข้าใจว่าทำไมต้องมีนักวิจัยแถว 1 และนักวิจัยแถว 2 เมื่อนำเครื่องมือลงไปใช้ในพื้นที่บ้านกลาง ต.ด่านม่วงคำ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 พบว่า ถึงแม้นักวิจัยแถว 1 เก่งการใช้เครื่องมือสักแค่ไหน แต่เมื่อนำไปใช้กับพื้นที่มันไม่เหมือนกับที่คิดไว้เลย ซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้หลายอย่างเกิดขึ้น เช่น สถานที่ กลุ่มเป้าหมายผู้ให้ข้อมูล อากาศ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การเกิดขึ้นของคำว่า CBR คนแถว 2

คำว่า CBR คนแถว 2 หรือ นักวิจัยแถว 2 แตงโมคิดว่าเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขอุปสรรคหรือช่องว่างเหล่านี้แหละ ท่านผู้นำ CBR คงกลั่นกรองมาดีแล้วว่า กว่าที่นักวิจัยแถว 1 จะเข้าใจบริบทชุมชนทุกมิติคงใช้เวลาในการศึกษาและสร้างความสัมพันธ์กันนานหลายปี คงตั้งคำถามว่าทำไมไม่ฝึกให้ชาวบ้านใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลชุมชนด้วยตัวเองเลย โดยมีนักวิจัยแถว 1 เป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุน

นี่แหละคือเสน่ห์ของงานวิจัย CBR คือต้องการผลลัพธ์ทั้ง “คน” และ “ของ” ผมมองว่าถ้าขับเคลื่อนกลไกไปทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน ภายหลังแม้ไม่มีงบประมาณสนับสนุนชาวบ้าน ชาวบ้านก็จะเดินต่อเพราะมีทั้งเครื่องมือมีความรู้และมีภาคีเครือข่าย ตัวอย่างที่เกิดผลกระทบสร้างความยั่งยืนในชุมชนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ในปัจจุบันคือ บ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

อยากเห็นชุมชนเข้มแข็งเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ต้องช่วยดันกลไกงานวิจัย CBR ที่ก่อนนั้นอาจรู้จักในชื่องานวิจัยไทบ้าน ที่มีอายุจะถึง 3 ทศวรรษแล้ว กลับมาฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้งเพราะรู้สึกจะเงียบ ๆ ไปหลังจาก สกว. ถูกยุบไปเมื่อปี 2562

ข่าว : แตงโม สกลนคร

ภาพ : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

แชร์บทความนี้