เมืองที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่เป็นแบบไหน ? หลายคนคงตอบว่า อยากจะใช้ชีวิตอยู่เมืองที่สงบสุข มีสิ่งแวดล้อมดี อากาศดี เป็นเมืองที่เหมาะกับทุกคน เศรษฐกิจเติบโต มีแหล่งงานที่ให้คนได้เติบโต ใช้ชีวิตอยู่ได้
ฉะเชิงเทราคือตัวอย่างหนึ่งในหลายเมืองที่อยู่ระหว่างกึ่งกลางการพัฒนา ทั้งในฐานะ “เมืองเกษตรกรรม” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน “เมืองท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ที่เชื่อมโยงวิถีวัฒนธรรมกับฐานทรัพยากร และยังเป็น 1 ใน 3 จังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่มุ่งสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ” และเป็นความหวังของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ฟังเสียงประเทศไทยเราจึงเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และชวนคนในพื้นที่ทั้งภาคประชาชน ตัวแทนจากทางจังหวัด ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการมาล้อมวงคุยกัน มองภาพอนาคตของเมืองฉะเชิงเทราในแบบที่ทุกอยากอยู่
000
-ขอ 3 คำ ‘ฉะเชิงเทรา’ ที่เราอยากอยู่–
เข้าถึงทุกโอกาส ปราศจากมลพิษ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ในพื้นที่จะมีปัญหาอุปสรรค และก็มีโอกาสบางอย่างที่แตกต่างกัน ในการเข้าถึงทุกโอกาส หมายถึงประชาชนชาวฉะเชิงเทราเข้าถึงทุกโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดี โอกาสในการสูดอากาศที่บริสุทธิ์ Zero waste และ Zero waste carbon โอกาสที่เป็นโอกาสขั้นพื้นฐาน หรือ infrastructure ที่ประชาชนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
ปราศจากมลพิษเหมือนกัน เนื่องจากพอเราเข้าสู่เมือง EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อมีอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรม (Automotive) มันก็ย่อมจะปล่อยคาร์บอนออกมา แล้วเราจะสามารถทําอะไรให้ปราศจากมลพิษ หรือให้มี pm 2.5 ลดลงได้ ต่อมาพอเราได้ปัจจัยพื้นฐานของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแล้ว แน่นอนประชาชนชาวฉะเชิงเทรา ต้องมีความสุขไปด้วย อาหารดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี นั่นคือปัจจัยพื้นฐาน
อยากให้จังหวัดดีขึ้นกว่านี้ในการปลอดจากมลพิษจากโรงงานจากการลักลอบทิ้ง จะเป็นเมืองที่น่าอยู่อากาศดี มีนักท่องเที่ยวอยากมาดูจังหวัด ลด PM 2.5 ระหว่างทางเดินมาจากชลบุรีมาถึงฉะเชิงเทราเนี่ยค่ะจะมีฝุ่นเป็นระยะ และถ้าเป็นช่วงหน้าฝนก็จะมีน้ําท่วม เพราะที่แทบนี้ต่ำ
สิ่งแวดล้อมรอบข้างที่นี่ ถ้าใครไม่รู้ก็จะมองว่ามันบริสุทธิ์ แต่มีคนลักลอบแอบมาทิ้งขยะ สร้างมลพิษ เราเลยอยากให้มันน่าอยู่กว่านี้ เมื่อก่อนที่เราอายุน้อยกว่านี้แล้วหายใจได้สะดวก เป็นเมืองที่น่าอยู่
อยากเห็นฉะเชิงเทราเป็นเมืองน่ารัก คนเห็นแล้วก็อยากจะทะนุถนอม อีกส่วนนึงก็คือผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่น่ารัก มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาบ้านเมืองไปด้วยกัน เราก็ไม่ได้ให้ภาระของการดูแลจัดการบ้านเมืองไปอยู่แค่ฝ่ายใดใช่มั้ยครับ ไม่ใช่แค่ภาครัฐจะมาดูแลให้เราทั้งหมด แต่ว่าทุกคนมีส่วนร่วมได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะให้มันมีในฉะเชิงเทราบ้านเรา
อยากให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองที่ตระหนักถืงสิ่งแวดล้อม ประชาชนส่วนมากคํานึงถึงการใช้ทรัพยากรแบบคุ้มค่า การใช้อาหาร ใช้น้ํา แล้วก็ร่วมกันรณรงค์เรื่องฝุ่น PM 2.5
กินอยู่ดี คือ อาหาร อย่าลืมนะครับ แม่น้ําบางปะกง คือ แม่น้ําสายหลักของภาคตะวันออก เพราะฉะนั้นต้องมีต้นน้ําที่ดี ดินก็ต้องดี การที่จะได้อาหารการกินที่ดี ดินก็ต้องดี ดินดีก็คือดินที่ไม่มีมลพิษ ดินที่อุดมสมบูรณ์ และที่สําคัญนอกจากดินและน้ำแล้ว อากาศก็ต้องดีเพื่อที่จะได้ของกินที่ดี ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของข้าวหอมมะลิ มะม่วงบางคล้าเป็นพืชเศรษฐกิจ
ต่อมาคืออยู่ เราจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข ต้องมีความสุขทั้งกายและใจ แปดริ้วมีสิ่งหนึ่งที่คู่บ้านคู่เมืองก็คือ หลวงพ่อโสธร คนจะมีความสุขทางใจ ต่อมาเมื่อพอเป็นเมือง EEC จากสังคมที่เป็นปฐมภูมิ พี่น้องรู้จักกัน ก็จะเป็นสังคมแบบทุติยภูมิมากขึ้น แต่ทําอย่างไรที่จะให้กินดีและก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขหรืออยู่ดี
ช่วยกันพัฒนา การที่เราจะมีชีวิตที่อยู่ดี กินดี มีความสุขได้ มันเริ่มต้นมาจากที่ทุกเมืองมันต้องมีการพัฒนาในหลายแง่มุม การพัฒนา หมายความว่า ต้องช่วยกันพัฒนา อยากให้ทุกภาคส่วนทุกหน่วยงาน หรือคนในทุกเจเนอเรชั่นเข้ามาร่วมมือกันพัฒนาเมืองของเราให้มันน่าอยู่ น่าเที่ยวน่าลงทุนมากขึ้นค ทั้งนี้เมื่อมันมีการขยายการพัฒนามากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ชีวิตคนในจังหวัดเราก็จะดีขึ้นไปด้วย
000
–6 มุมมอง พัฒนาเมือง เพื่อคนฉะเชิงเทรา –
- รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
- คุณครรชิต เข็มเฉลิม ผู้แทนสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน
- คุณยุทธนา ตันวงศ์วาล นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนตรวจและบังคับใช้กฎหมาย
- คุณสาครินทร์ จำปา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา
- คุณพรพนา ก๊วยเจริญ Land watch thai
- คุณฐิติมา พยัคฆ์จำเริญ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา
000
–โหวตภาพฉากทัศน์ –
หลังจากได้ฟังมุมมองจากวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว คุณ อยากเห็นฉะเชิงเทราเป็นเมืองแบบไหน ทางรายการเรามี 3 ฉากทัศน์ ที่เป็นสารตั้งต้นของการพูดคุย มาให้ได้ลองโหวตเลือกกัน
ฉากทัศน์ที่ 1 เมืองเศรษฐกิจรับการพัฒนา
ฉะเชิงเทรา เมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ รองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่เชื่อมต่อเมืองศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ กับภาคตะวันออก ด้วยโครงข่ายการคมนาคมขนส่งหลากหลายรูปแบบ อาทิ รถไฟความเร็วสูง ทางด่วนเพื่อเชื่อมต่อสนามบินหลักและเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยว และย่านอุตสาหกรรมหลักของ EEC
เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายเมืองเศรษฐกิจ รัฐวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการลงทุน มีการพัฒนาผังเมืองและสร้างงานเพื่อดึงดูดกลุ่มแรงงานในอนาคต ด้วยความมุ่งหวังให้มาพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
แต่อีกด้านอาจทำให้ที่ดินเปลี่ยนมือจากคนในพื้นที่สู่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลทำให้ที่ดินราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ กระตุ้นให้เกิดการย้ายถิ่นและสูญเสียพื้นที่เพาะปลูก
สำหรับฉากทัศน์นี้คนฉะเชิงเทราที่มีวิถีไม่สอดคล้องกับการพัฒนา อาจจะรักษาอัตลักษณ์การดำรงชีพของตนเองไว้ไม่ได้ ท้ายที่สุดคือถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงกระทั้งโยกย้ายตนเองออกจากพื้นที่ กระทั่งการเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในร่มเงาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองอัจฉริยะเพื่ออยู่อาศัยชั้นดี
ฉะเชิงเทรา เมืองอยู่อาศัยชั้นดี โดยหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนร่วมส่งเสริมการพัฒนาให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยที่ทันสมัย รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และ EEC
จากเดิมที่มีทุนทางวัฒนธรรม เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน และยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่หลากหลาย รัฐมุ่งผลักดันให้ฉะเชิงเทราเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะของประเทศ ที่ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงบริการภาครัฐ การเดินทาง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณที่สูงเพื่อลงทุนกับเทคโนโลยีคุณภาพ และฐานข้อมูลที่เป็นระบบ เพื่อเตรียมรับมือความหนาแน่นของประชากร และประเด็นปัญหาทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การควบคุมดูแลมลพิษจากอุตสาหกรรมยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ นอกจากนี้ยังต้องสร้างความสมดุล ให้ผู้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำรงรักษาวิถีชีวิตชุมชน เปิดโอกาศให้เกิดการขยายตัวตามศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนเองด้วย
ทั้งนี้คนฉะเชิงเทราโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องเป็นหัวหอกในการปรับตัวและยกระดับความรู้ ความสามารถของพื้นที่ให้เท่าทันเทคโนโลยีที่รุดหน้าไป โดยไม่ติดกับดักความเจริญ
ฉากทัศน์ที่ 3 เมืองเกษตรกรรมยั่งยืน
ฉะเชิงเทรา เมืองเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรที่มีความสําคัญ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร ป่าไม้ แหล่งน้ำ และพื้นที่ว่าง เพื่อการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของประชากรที่เหมาะสม ได้มาตรฐานภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ
รัฐมีการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ที่เพียงพอต่อความต้องการในการดำรงความเป็นพื้นที่แหล่งผลิตอาหาร เพื่อเลี้ยงประชากรในภูมิภาคและกรุงเทพฯ ทั้งยังส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเพาะปลูก การตลาด และการขนส่ง และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในภาคเกษตรซึ่งนับวันยิ่งลดจำนวน และเข้าสู่ภาวะสูงวัย
ขณะที่ปัญหาภัยแล้ง น้ำทะเลหนุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้น ตอกย้ำด้วยมลพิษอุตสาหกรรม โรคภัยยุคใหม่ และภาวะโลกรวนที่กระทบต่อการเติบโตของพืชและสัตว์ยิ่งทำให้การคงวิถีของเกษตรกรรายเล็กรายย่อยต้องถูกหนุนเสริมโดยรัฐ
ฉากทัศน์นี้คนรุ่นใหม่ของฉะเชิงเทราที่ต้องการสานวิถีชุมชนต่อคนรุ่นก่อน จะต้องร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองโดยดึงทิศทางของสังคมโลกที่เน้นการรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มาเป็นแนวร่วม สร้างองค์ความรู้และเศรษฐกิจในฉะเชิงเทราเป็นเมืองเกษตรกรรมยั่งยืนของสังคมไทยและโลก