“ข้าวแก่แดด  – ทุเรียนไม่กินน้ำ” ดัชนีโลกรวน 

ความเดือดดาลของแสงแดดที่แผดเผา เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่กระทบสุขภาพร่างกายของผู้คนบนผืนโลก แต่ยังส่งผลรวมต่อสรรพชีวิตทุกชนิดและสภาพแวดล้อมโดยรวม  ทั้ง คน พืช สัตว์ ดิน น้ำ และอากาศ

“สุกก่อนกำหนด ทำให้เมล็ดข้าวลีบ เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาที่ข้าวจะสุก แต่แสงแดดที่ร้อนจัดได้ส่งผลให้ข้าวแก่ พูดง่าย ๆ คือข้าวแก่แดด” เอกณรงค์ ชื่นมณี ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด แลกเปลี่ยนสถานการณ์ผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อน โลกเดือด และโลกรวนที่กำลังเกิดขึ้น 

ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น จึงชวนเครือข่ายเกษตรกร ล้อมวงโสเหล่เสวา เพื่อหาแนวทางรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรทั่วภาคอีสาน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตั้งต้นสนทนาหาความเป็นไปได้ใหม่ และมองภาพอนาคตเพื่อเตรียมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน

ในพื้นที่ภาคอีสานบ้านเฮา ซึ่งมีสัดส่วนกลุ่มเกษตรกรและพื้นที่การเพาะปลูกของภูมิภาคสูงที่สุดก็ได้รับผลกระทบต่อการเกษตรแบบที่มาเยือนถึงหน้าสวนและชายคาบ้าน ซึ่งนี่ไม่ใช่เพียงความรู้สึก แต่มีตัวเลขอ้างอิงได้จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ปีนี้ 2567 อุณหภูมิของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 44.5 องศา และยังระบุว่า ประเทศไทยจะเผชิญอากาศที่ร้อนจัดในรอบ 174 ปี และแล้งนาน ค่าดัชนีความร้อนหลายช่วงอยู่ในระดับอันตรายคือ 41-54 องศาเซลเซียส  ซึ่งอุณหภูมิที่ร้อนจัดไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อพืชผัก แมกไม้ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ และยังส่งผลต่อผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ผู้สูงอายุ อันตรายถึงชีวิต ได้
ภาวะโลกเดือดสัญญาณเตือนภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น นั่นอาจหมายถึงว่าฟ้าฝนที่กำลังจะมาถึงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ที่เป็นฤดูฝนของไทย มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ผลกระทบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปเมื่อปี 2562, 2565 น้ำท่วมอีสานหนักมาก ปีนี้ 2567 แล้ง ร้อน หนักมาก ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้ปริมาณฝนตกต่ำกว่าร้อยละ 20 พื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดความเสียหายมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรม ประมาณ 60 ล้านไร่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของสภาพอากาศที่แปรปรวน

ปรากฎการที่ชัดขึ้นสัมผัสได้แม้ไม่มีเครื่องมือใด ๆ มาตรวจวัด สร้างความกังวลใจให้กับเกษตรกรต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย เมื่อรังสีความร้อน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิตและสุขภาพ นั่นจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน เพราะโลกและเราต่างรอไม่ได้

เมื่อพูดถึง Climate change และการเกษตรคุณนึกถึงอะไร

“ปัญหาพายุที่รุนแรงที่ส่งผลให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย เป็นผลจากภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นจากการที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้ง ภัยแล้ง ฝน และพายุ” สยาม หยองเอ่น ศูนย์วิจัยนวัตกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมแลกเปลี่ยน 1 คำสำคัญ เมื่อพูดถึง Climate change และการเกษตร สอดคล้องกับเครือข่ายเกษตรกร 

เช่นเดียวกับ คงศักดิ์ ปวงสุข  ประธานศูนย์ข้าวชุมชน จ.ยโสธร คือบอกว่า วาตภัย หรือ ภัยที่เกิดจากลมคืออีกสิ่งที่เขานึกถึง “ผลกระทบหลักคือพายุฤดูร้อน วาตภัยที่มาแรงส่งผลต่อแปลงนา คอกสัตว์ และที่อยู่อาศัย เรื่องของการปลูกพืชที่ไม่เจริญเติบโตเต็มที่ และเรื่องการประกอบการ การจ้างแรงงานที่ปกติจะแจ้งแรงงานเพื่อทำงานในช่วงกลางวัน แต่ปีนี้ไม่สามารถทำงานในช่วงเวลาเดิมได้ เนื่องจากอากาศที่ร้อน ทำให้ต้องลดเวลาในการทำงานลงเพื่อความปลอดภัยของแรงงาน”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อเครือข่ายเกษตรกร ไม่ว่าจะฝนตก แดดออก ล้วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อแดดที่ร้อนจัดอุณภูมิที่สูงเกินกว่าจะต้านทานได้ในฤดูร้อน หรือน้ำหลากในฤดูฝน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง มีผลต่อราคาสูงขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ ตอนนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างแรกคือผลกระทบด้านต้นทุน น้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากอุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ” เหมราช สุดาชาติ องค์กรผู้ใช้น้ำคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชน ต.บักดอง จ.ศรีสะเกษ เล่าถึงผลกระทบภายในสวนทุเรียน พืชเศรษฐกิจสำคัญของชาวศรีสะเกษ ที่ได้รับผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและราคา รวมถึงปัญหาโรคพืชที่มาพร้อมกับโลกร้อน และความเสียหายของพืชที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อย่าง “ทุเรียนไม่กินน้ำ”

“ทุเรียนไม่กินน้ำ แล้วลูกทุเรียนระยะประมาณใกล้จะได้เก็บผลผลิตก็จะแตก ทำให้ผลผลิตเสียหาย  และวิธีการที่จะเพิ่มความชื้นให้กับทุเรียน ปรากฏว่าน้ำไม่เพียงพอ อีกปัญหาที่ตามมาคือเรื่องศัตรูพืช เช่น เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไฟไรแดงจะมามากกว่าปกติในสภาพอากาศอย่างนี้ ทำให้ชาวสวนต้องมีต้นทุนสูงในการกำจัดศัตรูพืชเพิ่มเป็น 2 เท่า” 

“ถ้าพูดถึง Climate change นึกถึงเรื่องของโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคจากคน หรือว่าภาคการเกษตร เพราะว่าที่บ้านตอนนี้ ข้าวก็มีเพลี้ยลงเยอะมาก เพราะว่าอากาศร้อนรุนแรง ซึ่งมองว่าในอนาคต 5 ปี จะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน” ปาณิศา อุปฮาด เครือข่ายตลาดเขียว จ.ขอนแก่น

นอกจาผผลกระทบต่อมิติการผลิตสินค้าการเกษตร ภาวะโลกร้อน โลกเดือด โลกรวน ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เสี่ยงต่อการผลกระทบรุนแรงที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

“การสูญพันธุ์ของคน พืช สัตว์ จากปีนี้ทำให้เราเห็นแล้วว่ามีผลผลิตบางอย่างที่ลดลง พืชที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์บางชนิดก็ลีบไปเลย เนื่องจากพืชไม่โตเต็มวัย เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับปีต่อไปได้ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านก็ไม่สามารถเก็บได้ สัตว์ก็เช่นเดียวกัน สัตว์ในสระน้ำที่เลี้ยงไว้ตายมากขึ้น คนก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นข่าวอากาศร้อน ทำให้มีคนเสียชีวิตมากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งเราเห็นได้ แต่ว่าสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก่อนที่เราจะสูญพันธุ์ คือความมั่นคงทางอาหารของแต่ละครัวเรือน รู้ว่าลดลงแน่นอน อันดับที่ 2 ก็คือรายได้ ตลาดสีเขียวของอุบลราชธานี ปีนี้ผักขาดแคลน แม้กระทั่งผักพื้นบ้านบางชนิดยังไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เพื่อที่จะให้เกษตรกรเอาผลผลิตเข้าตลาดได้” คนึงนุช วงศ์เย็น โครงการกินสบายใจ จ.อุบลราชธานี ย้ำถึงรูปธรรมความเดือดร้อน

“ในมุมมองของผมคือความมั่นคงทางด้านอาหาร วิกฤตธรรมชาติจะทำให้ได้ผลผลิตลดลง เช่น ข้าว จากที่ได้ผลผลิต 400 กิโลกรัมต่อไร่ ก็เหลืออยู่ประมาณ 300 กว่ากิโลกรัมต่อไร่ นี่คือวิกฤตที่พื้นที่นาเท่าเดิม มนุษย์เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตกลับลดลงสวนทาง ทำให้คิดว่าในอนาคตเราจะมีข้าวกินหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าในอนาคต 5 ปี 10 ปีนี้ จะมีข้าวเพียงพอหรือไม่” จตุรงค์ จันมา ประธานสภาเกษตรกรยโสธร

มองภาพอนาคต เศรษฐกิจ และการเกษตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีก 5 ปีข้างหน้า


เราเห็นว่าโลกที่มันเปลี่ยนแปลงมาทุกวันนี้มาจากอุณหภูมิที่สูง น้ำฝนก็มีความแปรปรวน อันนี้คือภาพที่เป็นจริง ถ้าเรามองในภาคของเศรษฐกิจทางด้านการเกษตร เราก็ต้องทำให้น้ำมีเสถียรภาพ ปริมาณน้ำฝนต้องไม่แปรปรวน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับภูมินิเวศของแต่ละพื้นที่ เช่น ในบางพื้นที่ที่แล้งบ่อย ๆ ก็ต้องทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้น บางพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อยๆ ก็ต้องทำให้น้ำไม่ท่วม ตามแต่บริบทของแต่ละพื้นที่ แล้วเรื่องของการทำการเกษตร เราอาจจะต้องโฟกัสหรือมุ่งเป้าไปที่การปลูกพืชในพื้นที่ขนาดเล็กที่หลากหลายกระจายชนิดให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

เราเอาพื้นที่ส่วนหนึ่งไปเป็นพื้นที่ที่เราจะไปควบคุมน้ำหรือไปจัดการน้ำให้มีแล้ว แล้วเราก็ไปปลูกพืชที่มันหลากหลาย แต่ละชนิดไม่ต้องเยอะมากนัก ปลูกพืชหลัก พืชรอง พืชร่วม พืชเสริม หรือบางทีเราอาจจะใช้คำว่า “ปลูกพืชใต้ดินไปจนถึงพืชบนฟ้า” ก็เป็นเรื่องของความหลากหลายทั้งชนิดพันธุ์ และการปลูกพืชที่หลากหลายในระดับพันธุกรรมด้วย

พอมีความหลากหลายเช่นนี้ เราจะสังเกตดูว่าอุณหภูมิภายในฟาร์มมันก็ไม่ร้อนแบบนี้แล้ว ก็เป็นอิทธิพลของพืชพันธุ์ที่หลากหลาย พอพืชพรรณหลากหลายก็จะไปช่วยลดอุณหภูมิ หากเรามีน้ำใช้ทั้งปี ผลผลิตเราก็จะตามมาโดยหลากหลายมากขึ้น เสถียรภาพเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เรื่องของการมีอยู่มีกิน มันก็ยังมีเหมือนเดิม แต่ว่ามันอาจจะเป็นแบบกระจายไป ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนการผลิตพืชชนิดเดียวในปริมาณมาก แต่ว่าถ้ารวมๆ แล้วทั้งปี ผมว่ามันไม่แตกต่างกันในแง่ของเศรษฐกิจครัวเรือน ทั้งที่เรากินเอง ทั้งที่ขายได้ แต่ว่าอาจจะต้องขยันหน่อย ภาพแบบนี้เป็นไปได้ 

และสิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นถึงข้อจำกัดของอนาคตในเรื่องของการลงทุน บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับพื้นที่บ้าง หรือเกษตรกรบางรายมีหนี้เยอะก็อาจจะลำบากนิดหนึ่งในการที่จะต้องไปปรับ เพื่อให้มีการเก็บน้ำ หรือว่าเป็นการป้องกันในกรณีที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก กรณีแบบนี้รัฐอาจจะต้องช่วยกัน หรืออาจจะมีการรวมกลุ่ม ระดมลงทุนกันที่ละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ ปรับกันไป ค่อยๆปลูก ค่อยๆ เติมเข้าไป นี่คือภาพที่จะทำให้อยู่รอดได้ในอนาคต – ดร.จตุพร เทียรมา สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม

ฉากทัศน์นี้จะเป็นความเป็นจริงของประเทศที่เป็นอยู่เวลานี้ ความจริงที่เจ็บปวดในเวลานี้ก็คือว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลประมาณการว่าฤดูนี้ พื้นที่ปลูกอ้อย 9.5 ล้านไร่ ผลผลิตอาจจะอยู่ประมาณ 90.9 แต่ว่าฤดูที่แล้วได้ผลผลิต 123 ล้านตัน ปีนี้ราคารับซื้ออ้อยตันละ 1,000 กว่าบาท อ้อยเป็นพืชที่เกษตรกรไม่เคยประท้วงเลย ระบบเกษตรที่ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศคือพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว นี่คือระบบเกษตรที่เอาความต้องการในตลาดโลกเป็นที่ตั้ง และนักธุรกิจ ผู้ลงทุนก็เห็นโอกาสมาตั้งโรงงาน 

ภาคอีสานจึงมี 25 – 26 โรงงานน้ำตาล และมีโรงงานมันเยอะ นั่นเมื่อมีการลงทุน มันก็เกิดความต้องการ พื้นที่นาก็ลดลง อันนี้คือความเป็นจริงที่เป็นอยู่ของประเทศนี้ ในเวลาที่อากาศร้อนมากขึ้นอ้อยก็เริ่มตาย ถ้าถามว่าเกษตรแบบนี้ปรับตัวยากหรือไม่ ผมก็คิดว่ามันปรับไม่ได้อย่างที่เขาบอก เรื่องของมันในภาคอีสาน มันสำปะหลังบนโคกที่มีความชุ่มชื่นสามารถปลูกทั้งปีได้ แต่ถ้าไม่มีฝนพื้นที่เป็นทรายเม็ดละเอียดทำให้มันสำปะหลังเน่าไว เพราะฉะนั้นมันสำปะหลังในพื้นที่ทรายละเอียดที่ต้องเก็บเกี่ยวก่อนเน่า วงจรการปลูกมันสำปะหลังก็เป็นไปตามระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่น เพราะฉะนั้นระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ที่บอกว่าใช้เครื่องมือน้อยจริง ๆ ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นเครื่องมือที่ควบคุมไม่ได้ เครื่องมือที่เป็นรถตัดอ้อยเริ่มต้นจากนำเข้าจากออสเตรียมาตัด ตอนนี้ในไทยก็เริ่มพัฒนารถตัดอ้อยที่เล็กลง แสวงหาความลงตัว ความเหมาะสมสำหรับชาวไร่ไทยที่ถือครองพื้นที่ขนาดเล็ก เพราะเครื่องมือที่ใช้ก็มีมาก แต่เป็นเครื่องมือที่ต้องพึ่งพาคนอื่น เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้  ผมว่าสุริยุปราคาเป็นฉากทัศน์ที่กำลังเป็นอยู่ของระบบเกษตรในประเทศเราเวลานี้ คือชาวนารายย่อยถูกดึงเข้าไปอยู่ใน Demand ของตลาดโลก ในพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว – อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

มันจะเชื่อมที่ว่าเราทำอะไรอยู่ ซึ่งหลาย ๆ คนที่อยู่ที่นี่ก็ทำอยู่แล้ว มันเกิดขึ้นหลายอย่างมันก็ดับไปตามเหตุการณ์ ถ้าดูสถานการณ์ตอนนี้ ทั้งอากาศร้อนเพราะโลกเดือด โลกรวน และโลกแปรปรวน ปีนี้ก็ประกาศว่าอุณหภูมิของไทยเฉลี่ย 44.5 องศา นอกจากนั้นปัญหาน้ำท่วมที่มีความถี่มากขึ้นในทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการเจ็บป่วยในมนุษย์และสัตว์  เรื่องของพืชที่ตาย โรคระบาด โรคแมลง สังเกตได้จากคนทำสวนผักอินทรีย์ ตอนนี้ส่งตลาดได้สัปดาห์ละ 800 กิโลกรัม สัปดาห์ต่อมาพืชตายหมด รายได้หายไป 80,000 บาทต่อสัปดาห์ จะฟื้นฟูใหม่ก็เป็นเรื่องยาก

แล้วเรื่องข้าว จากที่ได้คุยกับเกษตรกรพื้นที่ อ.ตระการพืชผล พบว่าหายไป 71%  รวมถึงสวนมะม่วง มะละกอ มะพร้าว เงาะ และทุเรียนหายไป 90 เปอร์เซ็นต์ คือผลผลิตลดลงชัดเจน ก็หมายถึงว่าเงินในกระเป๋าก็ลดลงด้วย กระทบอาชีพ ผู้ผลิตก็กระทบ ผู้ขายก็กระทบเช่นกัน เมื่อไม่มีของมาขาย ผู้ประกอบการร้านค้าก็ไปต่อไม่ได้เช่นกัน สมาคมผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ในภาคอีสานล่าง 2 บอกว่าถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็ลำบากเช่นกัน 

สิ่งที่กระทบโดยตรงคือการขาดแหล่งอาหาร ถ้ายังเป็นแบบนี้ และไม่ช่วยกันทำให้ดีขึ้น ผลกระทบที่ตามมาจะส่งผลต่อทั้งรายได้ ความมั่นคงทางอาชีพที่หายไป ในบางพื้นที่ไม่มีแม้แต่เมล็ดพันธุ์ อย่างนี้จะไปต่อได้อย่างไร และภัยพิบัติก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง เพราะฉะนั้นถ้าเรายังเป็นแบบนี้ต่อไป เราจะอยู่อย่างไรต่อทั้งคน สัตว์ พืช  – พรรณี เสมอภาค  ที่ปรึกษาโครงการกินสบายใจ

นับใหม่อีกครั้ง ลงมือดูแลโลก ดูแลเรา (ทุกคน)

ความพยายามหาทางออก แม้อาจจะดูล่าช้า แต่การเริ่มต้นลงมือย่อมดีกว่าการดูดาย ความพยายามหาทางออกและลดผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศคือเป้าหมายร่วมของทุกคนที่จะร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างสมดุลให้กลับมาอีกครั้ง อาจจะเป็นหนทางในการบรรเทาความรุนแรงจากภาวะโลกรวนได้ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือและระยะเวลา ระหว่างนี้ต้องหาทางปรับตัวรับมือกับโลกที่เสียสมดุล

“บางอย่างมันต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเรื่องของระบบนิเวศที่ควรจะต้องมีในระบบพื้นที่เกษตร ในอดีตที่ผ่านมา สินค้าหรือผลผลิตทางการเกษตรที่เราได้รับอย่างอุดมสมบูรณ์ จนเราเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ มาจากระบบธรรมชาติที่เขาทำไว้ให้ก่อน ระบบธรรมชาติที่เราใช้ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ขาดการฟื้นฟูธรรมชาติ ระบบมันก็เลยเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็นำไปซึ่งความแปรปรวนของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป 

แต่ว่าเกษตรกรเราเผชิญกับลมฟ้าอากาศรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ซึ่งมันเป็นผลมาจากภาพรวมของเมื่อหลาย ๆ ปีก่อน ซึ่งหนีไม่พ้นการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ การฟื้นฟูระบบนิเวศ ผมมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบดิน ระบบน้ำ หรือระบบพืชพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุน แต่ว่ามีทุนธรรมชาติที่เราแค่พูดถึงมันเฉยๆ แต่เราไม่ได้ไปให้ความสำคัญกับมัน เราคุ้นเคยกับการผลิตต้นทุนต่ำ เพราะเราใช้ทุนธรรมชาติมา

วันหนึ่งเราก็เริ่มมาใช้ทุนที่เป็นตัวเงิน พอเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามา ใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์กลไก ใช้สารเคมี ใช้สารกำจัดศัตรูพืช เราก็ใช้เงินของเราไปเรื่อย ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันกลับไปเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายระบบนิเวศลง คือเป็นตัวเร่งทำให้ระบบนิเวศเสื่อม ผลผลิตเราก็เสื่อม 

จากที่ทุกท่านสะท้อนถึงความเดือดร้อนจากความแปรปรวน แสดงได้ว่าทุกท่านได้มองเห็นแล้วว่าสภาพที่มันเกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กันอย่างไรภายใต้ระบบนิเวศและภายใต้ระบบนิเวศในพื้นที่ของตนเอง  การที่มองเห็นแล้ว รู้แล้ว มันจะนำไปสู่การทำความเข้าใจและการปรับปรุงระบบ ทำให้ต้นทุนค่อยๆ ต่ำลง กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ใช้ระบบธรรมชาติเป็นตัวเอื้อ เราไม่อาจจะแก้ไขอุณหภูมิของโลกได้ แต่เราแก้ไขให้อุณหภูมิระดับฟาร์ม ระดับชุมชน หรือระดับท้องถิ่น ถ้าขยับมาเป็นระดับจังหวัดได้ เป็นระดับภาคได้ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขระดับประเทศได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เราต้องมีการไปมองที่ตัวระบบธรรมชาติ ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมของแต่ละพื้นที่ ที่จะต้องแก้ไขทีละจุด  ซึ่งจะต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน” ดร.จตุพร เทียรมา สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหาสารคาม 

“การปรับทั้ง 2 ส่วน คือเกษตรกรต้องปรับตัว ภาครัฐเองก็ต้องปรับนโยบาย คือมีบางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับภูมินิเวศกับพื้นที่ ยกตัวอย่าง ธนาคารน้ำใต้ดิน น้ำใต้ดินสามารถที่จะมาแก้ปัญหา เพราะในยโสธรมีปัญหาแล้งและน้ำท่วม เราจึงเอาธนาคารน้ำใต้ดินมาแก้ปัญหา เพราะปัญหาในช่วงกึ่งกลางระหว่างน้ำท่วมกับภัยแล้ง แต่ว่าปัญหาของสังคมประเทศไทยคือไม่มีการส่งเสริมเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินนัก และกฎหมายก็ไม่เอื้อในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพราะฉะนั้นต้องปรับนโยบายของรัฐในการที่จะสามารถเก็บน้ำได้ดีที่สุด ภาครัฐก็ต้องปรับแก้นโยบายในการที่มาสอดคล้องกับระบบนิเวศของพื้นที่ การมาศึกษาบริบทของชุมชน ชุมชนจะเข้าใจปัญหาทางน้ำดีที่สุด” บุญส่ง มาตขาว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร

“ผมมองว่าการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกเราก็ดำเนินการไปด้วยการปรับตัวไปเรื่อย ๆ ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง คนเมื่ออากาศร้อนขึ้นก็ต้องมีการปรับตัวให้อยู่ได้ รวมทั้งสัตว์เอง ทุกวันนี้ก็น่าจะต้องเริ่มปรับตัว หรือพืชเองในอนาคตถ้าไม่มีการปรับปรุง หรือว่าใช้พันธุ์ที่มันเหมาะสมกับสภาพอากาศน่าจะยากแล้ว เหมือนข้าวที่เรื่องช่วงแสงเป็นเรื่องสำคัญ 

ข้าวนาปรังถ้ารอจะให้ผลผลิตสูงเหมือนกัน บางท่านที่พูดมาคือต้องปรับลักษณะแบบนั้น ก็คือพัฒนาพันธุ์ให้เหมาะสมกับนิเวศของชุมชน เพราะว่าแต่ละชุมชนเองจะใช้พันธุ์พืชที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมว่าการพัฒนาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นการใช้เมล็ดพันธุ์ มีความจำเป็นที่ในอนาคตทั้งภาครัฐภาคเอกชน ชุมชนเองอาจจะต้องมองถึงตรงนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะว่าตอนนี้เราใช้เมล็ดพันธุ์จากการซื้อเป็นส่วนมาก การปรับปรุงในชุมชนเองก็น้อยลง คงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ” สิริศักดิ์ เอื้อสามาลย์ วิทยาลัยชุมชนยโสธร

นอกจากภาคประชาชนที่ต้องปรับตัวหาทางรับมืออีกส่วนสำคัญคือผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการพัฒนา ให้จริงจังกับการแก้ปัญหาและสอดคล้องกับการฟื้นฟูโลก รวมถึงภาควิชาการที่ต้องบริการองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับประกอบการเกษตรในทุกลักษณะ   คิดค้นนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยี ที่ประชาชนหยิบไปใช้ได้จริง 

“ถ้า Climate Change เข้ามา มันเป็นปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรเจอแน่ ๆ ภาวะภัยแล้ง ภาวะในเรื่องน้ำไม่เพียงพอในการเพาะปลูก ภาคชุมชนจะต้องปรับตัว จะต้องนำหลักวิชาการเข้ามาใช้ มีการวางแผนการเพาะปลูก อะไรที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศ ณ ปัจจุบัน ตัวที่ 2 คือ ในส่วนของภาคเอกชน ถ้าเกษตรกรไม่สามารถผลิตได้ เอกชนก็ไปต่อไม่ได้

ดังนั้นต้องนำทรัพยากรบางอย่างลงมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่มาช่วยให้ผู้ผลิตสามารถผลิตได้ ต่อมาในส่วนของมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งความรู้ที่เยอะที่สุดในประเทศ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องทำหน้าที่ในการเสริมวิจัย นวัตกรรม การแก้ปัญหาระบบน้ำเข้าไปช่วยพื้นที่ให้สามารถเพาะปลูกได้ และสุดท้ายในส่วนของภาครัฐที่เป็นกลุ่มที่เข้ามาช่วยในการทำภารกิจให้สามารถบรรลุผล สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำ แก้ปัญหาเรื่องการเกษตร ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน เราจึงสามารถที่จะก้าวผ่านไปได้ จะไม่บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วไม่ได้บอกว่ามันจะเป็นไปได้เลย ดังนั้นการพัฒนาคือเป็นไปอย่างเรื่อยๆ” ศักดินันท์ เหล่าเงินทอง บพท. จ.ร้อยเอ็ด

“ทุกคนจะต้องมีการปรับตัว และนำไปสู่การปรับตัวให้ได้ สถานการณ์โลกร้อน หรือ Climate change ก็เกิดจากมนุษย์ทุกคน ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาก็ต้องเริ่มจากตัวของเราเองที่ต้องเป็นผู้แก้จึงจะสามารถทำได้ เพราะเราจะไปหวังพึ่งรัฐบาล หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งก็เป็นไปไม่ได้ถ้าหากทุกคนในโลกไม่ร่วมมือกัน การร่วมมือกันก็ต้องเริ่มจากตัวเราเอง พื้นที่นาของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการนา หรือว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการน้ำในประเทศไหม เนื่องจากว่าน้ำมีอยู่หลายแหล่ง หลายระดับ ต้องนำข้อมูลมารวมกันและคิดไปด้วยกัน อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการเผาเศษวัสดุ เป็นสิ่งที่เราทำได้ เราต้องร่วมกันพลิกฟื้น ให้ทุกคนร่วมมือกัน ผมก็ว่ามันน่าจะแก้ปัญหา และเดินทางไปได้” ชวณัฎฐ์ ถวิลการ สภาเกษตรกรจังหวัดยโสธร  

“ในระดับแปลงเกษตรกรก็ต้องทำ และขยับไปทำงานกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ และในระดับจังหวัดก็ต้องทำด้วยเช่นกัน เช่นเรื่องปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นปัญหาใหญ่ระดับจังหวัด และอีกส่วนหนึ่งที่มองว่าเราจะปรับตัวได้ เมื่อก่อนเราพูดถึงปัญหาโลกร้อนมาหลายปีแล้ว คนจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นและปรับตัวที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือเรื่องอาหารการกิน เรื่องอากาศร้อน เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ เรื่องรายได้ และผลกระทบต่ออาชีพ สิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดเป็นวาระของทุกคนไม่ว่าในระดับหน่วยงาน หรือในระดับของประชาชนทุกคนแล้ว ก็เลยมีความหวังว่าสถานการณ์ปัญหาที่รุนแรงนี้จะทำให้ทุกคนได้ฉุกคิดขึ้นมา แล้วก็เริ่มลงมือทำในบทบาทของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ท้องถิ่น ภาครัฐ ภาควิชาการ หรือภาคเอกชน ทุกคนต้องค่อยๆ เปลี่ยนแล้วปรับไปด้วยกัน” คนึงนุช วงศ์เย็น โครงการกินสบายใจ

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้างบน หรือนโยบายรัฐ มันจะไม่สามารถทำได้เลย เพราะว่ามันมีเกษตรกรที่ทำแบบเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรผสมผสาน คิดเป็น1-2% เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ไม่ถึง 10% แต่ส่วนใหญ่มุ่งไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองการส่งออก ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง แล้วคิดว่าจะเป็นปัญหาหนักขึ้นเรื่อย ๆ  เรายังต้องขับเคลื่อนภายใต้รัฐบาลนี้อยู่  และคิดว่าจะเป็นปัญหาที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ หากรัฐบาลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง” จงกล พารา เครือข่ายตลาดเขียว จ.ขอนแก่น

“การปรับตัวของเกษตรกรเพื่อความอยู่รอดไม่มีสูตรสำเร็จ แม้ว่าคุณจะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน การปรับตัวก็ไม่สามารถทำเหมือนกันได้ แต่ว่าจะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ามันเกิดอะไรขึ้น ข้าวที่ออกรวงตอนอุณหภูมิสูง มันก็สร้างแป้งไม่ได้เต็มที่ มันเลยแก่แดด คุณก็ต้องหาพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกษตรกรจะต้องทดลอง เรียนรู้ เพื่อปรับตัวในการทำมาหากิน เกษตรกรรมคือจุดเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศกับระบบสังคม แต่ประเทศไทยยังออกนโยบายเกษตรแบบเดียวกัน อันนี้คือความไม่รู้จักปรับตัวในทางนโยบาย ตอนนี้ประเทศไทยกำลังออก พ.ร.บ.โลกร้อน อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น แล้วกฎหมายฉบับนี้พวกเราก็เลยยื่นข้อโต้แย้ง ข้อทักทวงไปให้รัฐบาลแล้วว่า มันเน้นแต่ Carbon credit แต่ว่าการที่จะไปส่งเสริมให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการปรับตัว หาทางออกในการทำมาหากินท่ามกลาง Climate change ไม่มีอยู่ในกฎหมาย” อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

“จากสถานการณ์ที่เห็นในปัจจุบันถือว่าเป็นโอกาสให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา และนำไปสู่การหาทางแก้ไข แต่คนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้วนำไปสู่การคิดหาทางแก้ไขเป็นคนส่วนน้อยในสังคม ส่วนใหญ่ยังคงอิงตามสถานการณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องหาวิธีการที่ทำให้คนส่วนใหญ่นี้ได้ตระหนัก และออกมามีส่วนสำคัญในการแก้ไข ในขณะที่นโยบายที่ออกมาเน้นให้ความสำคัญกับเกษตรมูลค่าสูง เน้นให้เทคโนโลยี นวัตกรรมในการทำเป็นหลัก เราจึงต้องใช้ข้อมูลที่มี แล้วสร้างต้นแบบให้คนส่วนใหญ่เห็น โดยการสร้างความร่วมมือกับส่วนงานอื่น ๆ เช่นพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นตัวกลางการซื้อ – ขาย ผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง สื่อมวลชนเองก็มีส่วนสำคัญในการสื่อสารในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” พรรณี เสมอภาค  ที่ปรึกษาโครงการกินสบายใจ

ทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรในภาคอีสาน ที่พื้นที่การเกษตรสูงสุด และมีพี่น้องเกษตรกรมากที่สุด เป็นฐานผลิตอาหารสำคัญของประเทศและหลายส่วนทั่วโลก จนถูกขนานนามว่าเป็นครัวโลก ต้องปรับตัวให้ทัน อยู่ให้รอด ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน แม้ความหวังจะลดอุณหภูมิลงมา 1.5 องศาเซลเซียสจะเป็นไปได้ยากมาก แต่การลงมือทำเพื่อให้ได้รู้ ได้เข้าใจ และค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกัน จะยังเป็นส่วนสำคัญให้เราได้ฟังและได้ยินเสียงกันและกันมากยิ่งขึ้น 

แชร์บทความนี้