สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS ชวนหาคำตอบกับนักวิชาการและนักต่อสู้ ผู้รู้ด้านการจัดการน้ำ ทางวงเสวนาสาธารณะออนไลน์ที่ว่าด้วย “เขื่อน – น้ำท่วม – โลกร้อน” เมื่อ 9 กันยายน 2567
ร่วมวงเสวนาออนไลน์กับ
ดร.กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for all
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
ดำเนินวงเสวนา โดย วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS
“น้ำ” เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทั้ง คนและสัตว์รวมถึงพืชพันธุ์ต่าง ๆ ด้วย หากมีน้ำน้อย การจัดการก็ต้องดำเนินการให้ตอบโจทย์ด้วยการใช้น้ำอย่างประหยัด แต่หากมีน้ำมากก็ต้องบริหารจัดการให้เร่งระบายป้องกันและบรรเทาให้ได้ทันท่วงทีให้เกิดความเสียหายให้น้อย
ทว่า สภาวการณ์โลกที่เปลี่ยนไป โลกร้อน และโลกรวน ปรากฎให้เห็นทั้งเอลนีโญที่เกิดขึ้นและลานีญาที่กำลังจะมาถึง ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งการจัดการน้ำที่เหมาะสมและตอบโจทย์สิ่งที่มี “น้ำ” เป็นตัวแปรนั้น “เขื่อน” จะเป็นคำตอบได้สักกี่มากน้อย
สถานการณ์น้ำก่อน “ยางิ” เข้า
ภาคกลางยังคงรับน้ำได้
น้ำในภาคกลางยังคงรับน้ำได้ เตรียมพร่องน้ำให้ได้ก่อน “ยางิ” จะมา มีการระบายน้ำในแนวดิ่ง ออกอ่าวไทยได้เลย น้ำในภาคเหนือ ต้องติดตามน้ำกันเป็นระยะ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังคงเก็บน้ำได้ ยังไม่น่าเป็นกังวล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้ำจะเต็มเร็วหากมีฝนมาเพิ่มส่งผลต่อชาวอยุธยาตอนท้าย
ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
น้ำหลาก รัฐต้องแจ้งประชาชนให้รู้เท่าทัน
ทางภาคใต้เป็นการเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ปกติฝนจะตกหนักที่ภาคเหนือแต่เป็นต้นฤดูฝนของทางภาคใต้ ช่วงนี้เป็นสถานการณ์น้ำหลากที่มาเร็วและไปเร็ว ไม่ได้มีการท่วมขังเป็นระยะเวลานานเช่นในอดีต ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องทำความเข้าใจและชี้แจงให้ประชาชนรู้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ
สถานการณ์อีสานยังไม่ถึงกับปักธงแดง
ช่วงนี้ในเขื่อนภาคอีสานท่วมเพราะน้ำขึ้นสูง มีการระบายน้ำช้า น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นแต่ยังไม่ได้มีการกระทบเศรษฐกิจมากนัก สถานการณ์ช่วงนี้ยังไม่ถึงกับปักธงแดง
สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
เขื่อน – โลกร้อน – โลกรวน กับการบริการจัดการน้ำ!
โลกร้อน คำตอบครอบจักรวาล
ดร.กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for all กล่าวว่า รัฐ มักมองว่าภาวะโลกร้อนทำให้ต้องสร้างเขื่อน ซึ่งนั่นจะเป็นคำตอบให้เราเข้าใจง่าย ๆ เช่นนั้นเลยหรือ เพราะความจริงภาวะโลกร้อนมันไม่ใช่ปัญหาเชิงเดี่ยว มันไม่ใช่การแยกส่วน มันมีความซับซ้อนมากมายเชื่อมโยงระดับโลก โลกร้อน เกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจแบบภาครัฐต่อปัญหาโลกร้อนแบบตรง ๆ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เชิงกายภาพ เทคนิค และเทคโนโลยี รวมไปถึงการเมืองที่ละเมิดและกระทบต่อสิทธิมนุษยชน กระทบต่อสิทธิธรรมชาติเอง เกิดความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ นำไปสู่การรวมศูนย์ควบคุมความรู้มีการอธิบายแบบรัฐ นำมาสู่การลดทอนและถูกเหมาเข่งทำให้เกิดความผิดพลาดต่าง ๆ
เขื่อน ถูกแนวคิดว่าเป็นพลังงานสะอาด คาร์บอนต่ำ แต่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยโต้แย้งว่าเขื่อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรุนแรงด้วยซ้ำ แล้วเขื่อนเป็นคำตอบของโลกร้อน หรือจะกลายเป็นปัญหาของโลกร้อนเสียเอง
มีที่ให้น้ำอยู่ ที่ทางให้น้ำไป
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า
ประเทศไทยเราในรอบปีที่ผ่านมาเจอปรากฎการณ์เอลนีโญแล้วต้องมาเจอกับลานีญา จากการมีน้ำน้อยสู่ภาวการณ์มีน้ำมากทันที โดยโจทย์ในปีน้ำน้อยคือต้องจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับทุกวัตถุประสงค์ เช่น น้ำรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อจารีตประเพณี น้ำเพื่อเกษตรและอุตสาหกรรม ส่วนในปีน้ำมาก คือต้องบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งน้ำท่วมเราต้องจัดการให้มีที่ให้น้ำอยู่และมีทางให้น้ำไป และเมื่อน้ำท่วม จะให้น้ำท่วมได้ขนาดไหน นานแค่ไหน และจะป้องกันพื้นที่ไหน เป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงจริง ร้อนก็หนักกว่าเดิม และฝนก็ตกหนักกว่าเดิม
การจัดการน้ำมีหลายมิติ และควรบริหารจัดการร่วมกันกับชุมชนด้วย
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ แลกเปลี่ยนในมุมมองการทำงานร่วมกับชุมชนว่า
เรามีแหล่งกักเก็บน้ำในขนาดต่างๆ รวมกันเป็นจำนวนมาก การจะสร้างเขื่อนหรือการบริหารจัดการน้ำต่าง ๆ ควรต้องบริหารจัดการโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทรัพยากรนั้น ๆ ด้วย ข้อมูลเดิมที่เคยศึกษาไว้ แผนการจัดการที่เคยมีในอดีต วันนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ ประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับรู้ข้อมูลที่มันเปลี่ยนแปลงไปด้วย การจัดการน้ำมีหลายมิติและควรบริหารจัดการร่วมกับชุมชนด้วย
เรามีข้อมูลด้านเดียว น้ำมากน้ำน้อยก็ต้องเขื่อน
สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรารับรู้ข้อมูลด้านเดียวจากภาครัฐ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เราไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนที่มีการก่อสร้างแล้วมีผลกระทบกับชุมชนและทรัพยากร รัฐมีจุดยืนเพื่อสร้างแบบรัฐเรามีจุดยืนเพื่อรักษาทรัพยากรแบบเรา ทั้งหมดนั้นก็ต้องเอาข้อมูลมารวมกันให้ได้ทุกมิติ นำข้อเท็จจริงว่ากันให้ชัด
วาทกรรมรัฐว่าอีสานแล้ง หรือเรื่องอื่น ๆ ว่าชุมชนจะได้ประโยชน์ต่าง ๆ จนปัจจุบันนี้ ยังให้คำตอบให้กับชาวบ้านไม่ได้เลยว่าจะได้ประโยชน์ตรงไหน
มิติในการพัฒนาระหว่างภาครัฐและประชาชนมันต่างกัน เราเองมองกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
เขื่อน กับ (การสร้างปัญหา) โลกร้อน
“เขื่อน” ถูกมองและให้ความสำคัญว่าเป็น “พลังงานสะอาด” ในขณะที่เขื่อนที่มีระบบการกับเก็บน้ำมหาศาลปลดปล่อยก๊าซมีเทน หรือก๊าซเรือนกระจก ดูดซับทำลายคาร์บอนของป่าจำนวนมหาศาลเช่นกัน ที่ทำหน้าที่สร้างปัญหาโลกร้อนเสียเอง
ดังนั้น ปัญหาเรื่องเขื่อน ไม่สามารถตอบโจทย์การคิดเชิงเดี่ยวเหล่านี้ได้ ความพร้อมในการรับมือสภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยใช้เขื่อนเป็นตัวนำ ทำให้เราพร้อมขึ้นหรือ สังคมควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ว่าเรามีทางเลือกในการจัดการปัญหากี่แบบ อย่างไร แล้วเรายอมรับมูลค่าที่ต้องจ่ายมากน้อยแค่ไหน หมายถึงมูลค่าที่เสียหายต่อนิเวศ ต่อการเปลี่ยนแปลงต่อภูมิอากาศด้วย
เขื่อน น้ำท่วม โลกร้อน โลกรวน จึงไม่ใช่สมการที่โยงกันเป็นเส้นตรงและเป็นคำตอบเป็นเหตุเป็นผล
ดร.กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for all
เขื่อน ไม่ได้แก้ไปปัญหาน้ำท่วมได้ทั้งหมด
การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์และมีผลกระทบต่อทรัพยากรต่าง ๆ เขื่อนไม่ใช่คำตอบ เขื่อนไม่ใช่ทางแก้ทั้งโลกร้อนและป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งหมด ทางแก้ในการบริหารจัดการน้ำไม่ได้แก้ด้วย “เขื่อน” อย่างเดียว
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ
น้ำคือวิถีชีวิต สัตว์,ป่าและนิเวศ แต่รัฐมอง(เพียง)เศรษฐกิจ
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอ SITANG MODEL (S – Stop Pushing Old Projects & Review, I – Investigate Ourselves, T – Think New, A – Apply Technology & AI, N – Nature-based Solutions, G – Gather Public-Private Participations) ในการบริหารจัดการน้ำ
โลกเปลี่ยน ภูมิอากาศเปลี่ยน การจัดการน้ำก็ต้องเปลี่ยนด้วย เราควรมองน้ำให้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต สัตว์ ป่าและนิเวศน์ต่าง ๆ ที่มี แต่รัฐมองตรงกันข้ามโดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ เราควรมองน้ำให้เป็นมิตรไม่ใช่ศัตรู เรามีความรู้มากมายในอดีต แต่ไม่ได้สอดคล้องกับปัจจุบัน เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รัฐกับประชาชนมองการจัดการน้ำคนละแบบ
แล้งก็เขื่อน ท่วมก็เขื่อน แต่เราไม่เคยตั้งโจทย์เลยว่าถ้าไม่มีเงื่อนแล้วจะยังไง ซึ่งเราควรมีการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มาเสนอแนะถกเถียงกันจะได้ข้อเท็จจริงและข้อมูลรอบด้าน การจัดการน้ำควรต้องสอดคล้องกับพื้นที่ด้วย เพราะแต่ละพื้นที่ อย่าง เชิงเขา โคก ทาม มีการจัดการน้ำคนละรูปแบบกัน รัฐเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องภาครัฐเองมองไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่มองหลังและทบทวนว่ามีประสิทธิภาพจริงไหม ชาวบ้านเข้ามีมาส่วนร่วมจริงไหม รัฐจ้องแต่จะ “ปลุกผีแก่งเสือเต้น”
รัฐต้องคำนึงถึงระบบนิเวศและรับฟังความเห็นต่างและข้อมูลอย่างรอบด้านอย่างมีส่วนร่วมอย่างจริงจังด้วย
สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
บทสรุปเสวนาสาธารณะออนไลน์ที่ว่าด้วย “เขื่อน – น้ำท่วม – โลกร้อน”
เรื่องราวจากนักวิชาการและนักต่อสู้ ผู้รู้ด้านการจัดการน้ำ ดำเนินวงเสวนาโดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS ได้ฝากแง่มุมปิดท้ายไว้ว่า
จำเป็นอย่างมากที่ต้องรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง และจำเป็นต้องเป็นไปด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงความหลากหลายด้านภูมินิเวศ เพราะหากจะต้องมี “เขื่อน” นั่นคือโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องถูกตั้งคำถามว่าคุ้มไหมที่ต้องจ่าย จำเป็นหรือเปล่า ในสภาวะการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนไป ข้อมูลที่มีในอดีตอาจจะต้องปรับแก้ใหม่ให้ทันสมัยกับยุค เพราะสิ่งที่เรากำลังถกเสวนากันคือเรื่อง “น้ำ” นั่นคือธรรมชาติ แต่ผู้คนกำลังจะเข้าไปจัดการมัน มองมันให้เป็นเพียงเศรษฐกิจ ไม่นาน “น้ำ” จะสู้กลับกับผู้คนเหล่านั้น สมกับที่ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า
“…เราไม่มีทางสู้กับธรรมชาติสำเร็จ ต้องเรียนรู้และปรับตัวที่จะอยู่รอด สิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จักเรียนรู้และปรับตัวก็เหมือนกับไดโนเสาร์ สักวันจะต้องสูญพันธ์ไป และอย่ารอให้ธรรมชาติมันบังคับ ให้เราไม่มีทางเลือกและเราต้องปรับตัว วันนั้นเราทำอะไรไม่ได้แล้ว…”
เรื่อง : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์