“รูเมาะห์กีตอ” มีศักยภาพที่รอให้ถูกใช้ รอให้ถูกพัฒนาอีกมาก แต่ถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรงที่อยู่ในพื้นที่ ทำให้คนรุ่นใหม่ หลายคนต้องออกจากพื้นที่ เข้ามาในกรุงเทพ เพื่อหาพื้นที่ที่สงบปลอดภัยสำหรับพวกเค้า ถ้าผมมีโอกาส ผมก็อยากกลับไปพัฒนาบ้านของเรา
“ยามารุดดิน ทรงศิริ” นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สิ่งเราใฝ่ฝัน สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปกติดังเหมืนพื้นที่อื่นๆ จังหวัดอื่นๆของประเทศนี้
“สูฮัยมี ลือแบซา” ตัวแทนเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อนาคตเราอยากจะสร้างโอกาสให้ยังไงกับคนในพื้นที่ สิ่งที่เราทำได้คือจะทำยังไงที่เราจะดึงต้นทุนที่มีอยู่สร้างรายได้ให้มากขึ้นและกลับคืนสู่ชุมชนได้มากกว่านี้ วันนี้พื้นที่ตรงนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะกลับบ้านค่ะ
“นรินทร์ ปากบารา” ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์
นี่เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ ที่ถึงโอกาส ความหวังและอนาคตของพวกเขาภายใต้สภาวะการเมือง สังคม เศรษฐกิจเช่นนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ แวรุง (วัยรุ่น) จำนวนไม่น้อยยังต้องเจอกับข้อท้าทายที่มากกว่าพื้นที่อื่น อยู่ในพื้นที่สีแดงที่เกิดความไม่สงบเรื้อรังยาวนานมากกว่า 19 ปี รวมถึงมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สุดในไทย
เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่โตน้อย สวนทางกับรายได้ในกระเป๋า แวรุงจากชายแดนใต้จำนวนไม่น้อยออกจากบ้านขึ้นมาทำงานเรียน ทำงานกระจายตัวในเมืองใหญ่ รวมถึงลงหลักปักฐานในพื้นที่อื่น ทำให้ส่วนใหญ่เลือกที่ไปทำงานในมาเลเซีย เพราะมีสังคมและวัฒนธรรมคล้ายกับชายแดนใต้ มีการสำรวจสถิติจำนวนแรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศมาเลเซียสัดส่วนสามในสี่อยู่ในแรงงานภาคเกษตร รับจ้างร้านอาหารต้มยำกุ้ง ภาคผลิต ก่อสร้าง การบริการสัดส่วนแรงงานผู้เชี่ยวชาญยังมีจำนวนน้อย
มีข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มเก็บข้อมูลและเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงฉบับล่าสุดของปี 2563 พบว่าติดอันดับเป็นหนึ่งในสิบจังหวัดที่รายได้น้อยต่อเนื่อง
เมื่อขาเศรษฐกิจยังคงพึ่งพิงกับภาคเกษตร ซึ่งยังคงมีการผลิตแบบเดิมและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยังมีน้อย แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาชีพทักษะต่ำ เนื่องจากชายแดนภาคใต้ มีประชากรวัยเด็กที่มีแนวโน้มเข้าสู่วัยแรงงานเพิ่มขึ้น
- ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2564 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch รายงานว่ามีความไม่สงบประมาณ 21,328 เหตุการณ์ และใช้งบประมาณของประเทศไปแล้วกว่า 500,000 ล้านบาทซึ่งจัดว่าเป็นเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับงบพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ
- แต่หากมองอีกด้านปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นพื้นที่ ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่เข้มแข็งและหลากหลาย สามารถเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy
บางช่วงบางตอนจาก เวทีฟังเสียงประเทศไทย ชวนล้อมวงคุยมองหา “โอกาสและต้นทุนในบ้านเกิดชายแดนใต้” อยู่ตรงไหน มาร่วมมอง ร่วมเสนอโอกาสและความไปได้ โดยมีผู้ร่วมพูดคุยอีก 40 ท่าน ณ ปัตตานี
- คุณนรินทร์ ปากบารา ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์
- ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์นักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)
- คุณราชิต ระเด่นอาหมัด กลุ่มมลายูลิฟวิ่ง
- คุณอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินชาวปัตตานีและอาจารย์สอนศิลปะ ม.อ.ปัตตานี
- ดำเนินรายการ ผศ.ดร.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี
นรินทร์ ปากบารา (น้องหรี) เล่าให้ฟังว่า วันนี้ต้นทุนทางสังคมในพื้นที่มีเยอะมากที่เราจะหยิบมาใช้ อยากจะบอกให้ทราบก่อนว่า ปีที่ผ่านมาสินค้าของหรีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าชุมชนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นสินค้าในพื้นที่มากกว่า 90% นอกจากนั้นเอามาจาก สตูลบ้าง สงขลาบ้างแต่ไม่ใช่เป็นสินค้าหลัก
สินค้าแรกเดียวของทุเรียนกวน หรีสามารถทํารายได้ของทุเรียนกวนปีที่แล้ว 32 ล้านบาท จากแพลตฟอร์มหน้าเพจของหรีแค่เพจเดียว แต่จริง ๆ การทําของแบบนี้ไม่ใช่แค่คนเดียวเรามีวัยรุ่นในพื้นที่อีกหลายเพจที่ขับเคลื่อนแบบนี้แล้วเขาก็อาจจะทําได้ดีกว่าดีด้วยซ้ำ
ซึ่งเราใช้เวลาประมาณ 3 ปี หลังจากโควิด ซึ่งอันเป็นช่วงที่เราฉวยโอกาสของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มันเปลี่ยนมาใช้ออนไลน์มากขึ้น วันนี้ที่หรีเติบโตมาได้ คิดว่าวันนี้ คือ ต้นทุนของพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลายปีที่แล้วมีนักธุรกิจที่เขายิงสินค้าจีนติดต่อมาว่าอยากจะทําสินค้าแบบเราเหมือนกัน เพราะว่าวันนี้ประสบปัญหา ก็คือ ทุนจีนมาเปิดโรงงานเอง แล้ววันนี้ประสบปัญหาหนักมากเพราะว่าขายไม่ได้ การแข่งขันสูงและแข่งขันกับเจ้าของทุนโดยเฉพาะ เขาเลยมองเห็นโอกาสว่า สินค้าที่จะทําได้โดยที่จีนลอกไม่ได้ ก็คือสินค้าในพื้นที่แล้วเขาก็เลือกที่จะมาทําในพื้นที่ เพราะเรื่องของภาษี นโยบายของภาครัฐที่ยังเอื้อต่อผู้ประกอบการในพื้นที่
วันนี้เราเติบโตได้ด้วยเราเอง เราไม่สามารถจะขยายได้มากกว่านี้แล้ว ถ้าขาดเครื่องมือของรัฐบางอย่าง หรือนโยบายบางอย่างที่สนับสนุนเรา หรือแม้แต่การขยับเป็นเรื่องของการสนับสนุนด้านความรู้ให้ชุมชน หรือแม้แต่การทําแบบจริงใจ และก็จริงจัง อันนี้ก็น้อยมาก แต่วันนี้ถ้าเราให้เลือกเราขอเดินไปกับรัฐแบบจริงใจก่อน เพราะว่ามันคือความมั่นคงมาก
วันนี้เรามีโรงงานเยอะมาก แต่โรงงานส่วนใหญ่ไป Modern Trade แล้วภาคแรงงานจะอยู่ตรงไหน อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัวมาก ๆ ดังนั้นออนไลน์จะเข้าไปขยับยังไงร่วมกัน
ราชิต ระเด่นอาหมัด กลุ่มมลายูลิฟวิง เล่าให้ฟังว่า เรากทํางานสถาปนิก แต่ผมว่าจริงแล้วงานสร้างสรรค์ มันเข้าไปจับกับทุกธุรกิจได้หมด มันคือความคิดในการทํางาน เราเปิดร้านอาหารเราหยิบงานสร้างสรรค์เข้าไปนํารังสรรค์ร้านอาหารให้มันมีคุณภาพ ให้มันดี สุดท้ายลูกค้าก็จะมา
ภาพของการที่เราต้องรอเรื่องรัฐมาสนับสนุน มันก็เป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกันคือเราก็ต้องกลับมามองตัวเองด้วยว่า เราสู้ได้เต็มที่แค่ไหน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาช่วย เรามองศักยภาพตัวเองว่าจริง ๆ เราไปสุดได้ เมื่อไหร่เราจะทะลุเพดานพวกนี้ได้กับการที่จะต้องแบนมือขออยู่เรื่อย ๆ มันก็จะเกิดวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทีนี้กลับมามองที่ตัวเองต่อว่า เราก็เป็นพวกชาวร็อค คือเราไม่สนใจระบบ เราจบมาเราไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องไปเป็นพนักงาน จะต้องไปเรียนกรุงเทพฯ จะต้องไปทํางานออฟฟิศที่กรุงเทพฯ เพราะงานสถาปนิกมันคือต้องขึ้นกรุงเทพฯ ถ้าเราอยู่พื้นที่ลูกค้ามันหายากมาก
แต่ความเป็นชาวร็อค คือ เราอยากเปิดออฟฟิศเอง เราอยากจะเรียนใกล้บ้าน เพราะเราคิดว่าสุดท้ายวันนึงเราต้องกลับมาอยู่บ้านต่อให้เราไปอยู่กรุงเทพ 10 ปีแล้วเรากลับมานับหนึ่งที่บ้าน เปิดสตูดิโอเอง เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์บาท เราเริ่มจากการที่ครอบครัวก็เป็นหนี้ คือ ที่ผมมองเรื่องภาพความยากจน เราเริ่มเปิดออฟฟิศมาประมาณจนถึงตอนนี้ประมาณ 15 ปี มันเริ่มจากไม่มีใครรู้จัก
ผมเลยมองว่าการที่เราจะพิสูจน์ตัวเองด้วยตัวเองมันสําคัญ แล้วคือการยืนระยะที่มันต้องใช้เวลา มันไม่มีอะไรที่มันแบบฟลุ๊ค อยู่ดีก็จะมีเงินกองเข้ามา หรือใครจะมาสนับสนุนเรา เราต้องพิสูจน์ด้วยงานของเราเอง งานสถาปนิก คืองานออกแบบที่ ถ้าเราทําบ้านหลังนึงแล้วเราบอกว่างานชิ้นแรกเราต้องทําให้มันดีเพราะว่านี่คือโชว์รูมของเรา
เราสร้างมาตรฐานของเราขึ้นมา ค่อยๆไต่เพดานขึ้นไปจนถึงจุดที่เรารู้สึกว่า ความมั่นคงของเรามันสามารถเลี้ยงดูเราเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ ทําให้มันมีคุณภาพวันนึงโอกาสมันจะเข้ามา
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในวงจรการแข่งขันสูงอยู่แล้ว มันไม่ได้การันตีว่า ถ้าเราอยากจะทํางานศิลปะในพื้นที่ เพราะว่าที่นี่มันมีทุนธรรมเยอะมาก ไม่ได้หมายความว่าจะมี แต่เราต้องมีอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของเราที่มันชัดเจน แล้วเราก็ต้องรอโอกาสที่วันนึงเราจะต้องพิสูจน์ เหมือนเราวิ่งมาราธอน มันไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นที่หนึ่ง แต่เราแค่ให้มันเข้าเส้นชัยให้ได้
การที่เราต้องวางเป้าหมายที่มันชัดแล้วที่บอกว่าความพอใจ เราได้ 100 บาทแล้วเราก็พอ และเราจะเจอปัญหาในพื้นที่เยอะมาก มันทะลุเพดานไปได้อีก มันคือการวางมาตรฐานตัวเองให้เหมือนความท้าทายที่เรารู้สึกว่า ถ้าเราไปต่อได้ สุดท้ายมันคือการแบ่งปัน มันคือฮีโร่คนนึงที่ต้องไปบอกต่อกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ในวงการสร้างสรรค์ ว่ามันไม่ได้ง่ายมันไม่ได้เป็นอะไรที่มันฉาบฉวย มันคือ การทํางานหนักเพื่อให้งานมันออกมาดี แล้วก็ยืนระยะให้ดี เราเริ่มเห็นศักยภาพของคนในพื้นที่ เราเห็นว่าที่นี่มีคนทํางานสร้างสรรค์เยอะมาก ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่มันคือ คนรุ่นใหญ่ด้วยที่ทํามาตลอด
หลายหลายโอกาสที่มันหลุดลอยไปเยอะมาก ด้วยวิธีคิดที่ที่บอกว่าเรื่องของความพึงพอใจในความมั่นคงของเขา แต่ถ้าอยู่ดี ๆ เราไปบอกว่า คุณต้องโตอีกมันก็เหมือนกับเราเอาระบบทุนนิยมเข้าไปปลูกฝังเขา มันสองแง่มุมมาก ผมเลยมองว่า เรื่องความยากจนในพื้นที่มันน่าสนใจคือ มันยากจนด้วยความอดอยากหรือยากจนด้วยความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ หรือบางอย่างที่มันไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบ สิ่งที่เราเจออย่างเช่นพ่อค้าหรือวัยรุ่นที่หยิบเสื้อผ้ากระสอบเอามาขายออนไลน์ เดือนนึงเขาได้แบบ 3 – 4 หมื่นบาท
ผมเชื่อว่ามันไม่ได้ต่อสู้กันด้วยอาวุธอย่างเดียว และอาร์ตมันก็คืออาวุธอย่างนึงที่เราก็ช่วยกัน พอเราเริ่มปลุกระดมทุกคนแล้วว่าเรามาลุยกันเพื่อพัฒนาพื้นที่
คุณอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินชาวปัตตานีและอาจารย์สอนศิลปะ ม.อ.ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า ผมมองอย่างนี้สิ่งที่เราสามารถปรับได้เลย แล้วปรับได้ก่อนก็คือทัศนคติ ซึ่งไม่ต้องลงทุนใด ๆ เลย ผมแบ่งเป็นสามโครงสร้างใหญ่ ๆ ก็คือว่า ปรับทัศคติขององค์กร รัฐ ในมุมใหญ่ว่าต้องมองทุกอาชีพทุกคนเท่ากัน ทําไมชาวนาถึงยังทํานาอยู่ทั้งที่รู้ว่าทําไปก็จน ทําไมชาวประมงยังหาปลาอยู่ทั้งที่รู้ว่าทําไปก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เป็นเพราะว่าถ้าเรามองให้เห็นว่า โครงสร้างของรัฐ โครงสร้างทางสังคมไม่เอื้อต่ออาชีพอื่น ไม่เอื้อต่ออาชีพเล็ก ๆ เหล่านี้ รัฐให้ความสําคัญกับการให้ทุนแพทย์ ให้ความสําคัญกับการให้ทุนการศึกษาอะไรก็ตาม ที่รัฐรู้สึกว่าคุ้นเเละคุ้มค่า แต่ว่าถ้าวันหนึ่งไม่มีชาวประมง ใครจะเป็นคนจับปลาให้ ถ้าไม่มีคนปลูกข้าวจะเอาข้าวที่ไหนกิน
ในระบบเศรษฐกิจ เรามองว่า ทําไมชาวนาถึงอับจน ชาวประมงถึงไม่รวย เป็นเพราะว่าเขาไม่ได้เข้าถึงการศึกษาได้ ทําให้เขามีทักษะวิชาชีพที่ได้รับมาจากครอบครัว แล้วเป็นทักษะวิชาชีพเดียวที่เขามี เช่น หาปลา เขารู้จักปลา รู้จักเครื่องมือประมง รู้จักข้างขึ้นข้างแรม รู้จักการหา เขาอาจจะไม่มีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรืออื่น ๆ แต่ว่าการที่เขามีทักษะอันนี้อันเดียว มันทําให้เขาเก่งกว่าคนอื่น ซึ่งอันนี้คือรัฐต้องต้องพลิกวิธีคิดใหม่ว่าทุกอาชีพเท่ากัน
สถาบันการศึกษาก็ไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติ พยายามให้ทุกคนมาอัพสกิล มารีสกิล เป็นการศึกษาตลอดชีวิต แต่พอในความเป็นจริงไม่สามารถทําได้ ใครจะมาเรียนแค่หนึ่งวิชามหาลัยก็ไม่เปิด ใครจะมาเรียนแค่เฉพาะอัพสกิลวิชานี้ หรือสิ่งที่เขาอยากจะสนใจ แต่มหาลัยไม่เปิดช่อง ต้องมาเรียนวิทยาศาสตร์ ต้องมาเรียนคณิตศาสตร์ ต้องมาเรียนวิชาทักษะพื้นฐาน ต้องเก็บหน่วยกิตให้ได้เท่านี้ ถึงจะได้ประกาศสัญญาบัตร ถึงจะได้อันนี้ คือการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษา
เราบอกว่าเราพยายามจะช่วยเข้าถึงชุมชน ซึ่งมันไม่จริง เพราะว่าโครงสร้างมันไม่ได้เอื้อ
ทัศนคติของตัวคนในชุมชนเอง ตัวเราเองก็เหมือนที่คุยไว้แล้วก็คือว่า ในแบบรูปแบบของชาวร็อค หรือในรูปแบบของอะไรก็ตามการเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งสําคัญ โครงการของรัฐที่เข้ามาโดยส่วนใหญ่ จะเข้ามาในลักษณะของการเอายื่นอะไรมาให้ แต่มันไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าทําให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง เมื่อไหร่ที่เขาไม่เห็นคุณค่าของตัวเองเขารู้สึกว่าการที่เป็นชาวประมงต่ําต้อย กว่าการเป็นอาจารย์ทําให้เขาไม่กล้าที่จะแสดงออกถึงความสามารถ หรือทักษะที่เขามี ซึ่งมันเป็นทักษะที่หลากหลาย และเป็นทักษะส่วนตัว ถ้าเราปรับสามารถปรับความคิด ตั้งแต่โครงสร้างของรัฐ สถาบันการศึกษา และความคิดคนในชุมชน จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครไม่อยากอยู่บ้าน เพราะว่าอยู่บ้าน หนึ่งมีข้าวกิน มีครอบครัว มีอะไรต่าง ๆ
แต่ว่าพออยู่บ้านแล้วมันไม่มีรายได้ ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ก็ต้องออกไปไปทํางานข้างนอก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราปรับความคิดแล้ว ให้รู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า หรือรัฐไปมีการสนับสนุนคุณค่า ก็จะทําให้เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง
อย่างที่ผมพยายามสอนอยู่ที่ปัตตานี ก่อนช่วงโควิด เป็นปีที่ทุกคนก็ต้องเรียนที่บ้าน มหาลัยทั่วโลกในทางศิลปะ มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะว่าทุกคนก็บอกว่า ที่บ้านไม่ใช่สตูดีโอ เพราะการทําศิลปะที่บ้านไม่ได้เพราะว่าเดี๋ยวแม่เรียกให้ไปล้างจาน เดี๋ยวพ่อเรียกให้ไปช่วยตัดต้นไม้ แต่ทีนี้ผมคิดว่ามันไม่ใช่ จริง ๆ แล้ว คือถูกต้อง การกลับไปอยู่บ้าน คือ การจำลองใช้วิชาชีพที่เรามีอยู่กับบ้าน เราจะเป็นศิลปินยังไงโดยที่เราสามารถอยู่กับแม่ได้ด้วย อันนี้คือ สิ่งสําคัญที่เราจะไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนแปลกแยก
ในปีนั้นนักศึกษาก็กลับบ้าน แล้วก็ทํางานที่บ้าน และเป็นปีแรกที่คิดว่าเท่าที่รีเสิร์ชมายังไม่มีก็คือการแสดงงานทีสิท งานศิลปะที่บ้าน แล้วทุกคนก็ไปตามบ้านของแต่ละนักศึกษาแต่ละคน ไปดูนิทรรศการที่บ้าน การสร้างอันนี้คือการเอาดึงเอาศักยภาพของคน พอเขาทําออกมาไม่ใช่แค่คนในครอบครัวเข้าใจ แต่ว่าคนในชุมชนเริ่มเห็น ว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร เขารู้สึกอะไร เห็นอะไร คือ สิ่งที่จะทําให้เขารู้สึกว่าอยากอยู่บ้าน ซึ่งตอนนี้รุ่นที่จบที่เป็นรุ่นนั้น ทุกคนอยู่บ้านแล้วทํางานศิลปะได้ อันนี้คือผมคิดว่าเป็นการสร้างmindsetว่า ต้องทํายังไงให้ทุกคนกลับบ้าน เลยฝึกการอยู่ที่บ้านด้วยกันทํามัน แล้วก็เห็นคุณค่าของตัวเอง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์นักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) วิเคราะห์ให้ฟังว่า จากที่คุยกันข้างต้น มีสองแนว แนวแบบรัฐให้การสนับสนุน ซึ่งได้เปรียบบางอย่าง เป็นจุดที่มาเติมศักยภาพของบทบาทของการค้าการทําธุรกิจ ของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ก็ต้องการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะตอนที่รัฐ ให้การการลงทุนด้านงบประมาณ หรือว่ารายจ่ายเรื่องของการแก้ปัญหาจังหวัดชายภาคใต้
แต่ความจริงแล้ว 20 ปีประมาณ 500,000 ล้าน รัฐลงไปแล้ว 20 ปี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน งบลงไปแล้วประมาณ 500,000 กว่าล้าน ซึ่งถือว่าเยอะ แล้วก็มีผลจากการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างเหมือนกัน ที่เราเรียกว่าแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแผนงานอะไรเต็มไปหมดเลย
แต่อีกด้านหนึ่งซึ่งอันนี้ก็น่าสนใจ คือ แนวแบบชาวร็อค ซึ่งอันนี้ถือว่าไม่ต้องพึ่งพารัฐ หรือว่ามีอิสระมีความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพารัฐ แต่ว่าต่อรองกับรัฐได้ มันสะท้อนให้เห็นในพื้นที่ของในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปัตตานีคนทํางานสร้างสรรค์เกิดขึ้นเยอะในตอนหลัง เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า แนวแบบรัฐหรือแบบชาวร็อค แบบไหนจะดีกว่ากัน ผมคิดว่าอีกแนวที่เหลือทัศนคติ ว่าทํายังไงเราจะเปลี่ยนทัศนคติของตัวเราเอง ของ นักกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ งานศิลปะ เพื่อจะให้เกิดการพัฒนาการของตัวเองได้ มันก็เป็นงานอิสระแบบชาวร็อค แล้วก็อาศัยแนวสร้างสรรค์ของตัวเอง เปลี่ยนทัศนติของตัวเองให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ผมคิดว่า ถ้าหากว่าแนวแบบคนรุ่นใหม่แวรุง มาทางแนวแบบชาวร็อค น่าจะมีมากกว่า มีความเข้มแข็งได้มากกว่า แต่ก็ไม่ทิ้งแนวทาง ว่า รัฐสนับสนุนได้ก็เอา ก็รับได้ มาเติมได้ เพราะเคยคุยกับคณะกรรมาธิการเกี่ยวกันแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภาที่ผมเป็นกรรมาธิการอยู่ แล้วก็ลงมาในพื้นที่ก็รู้สึกว่า นักธุรกิจมาสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาที่สําคัญตอนนี้คือ เรื่องของภาครัฐกับธุรกิจในพื้นที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง soft loan ถูกตัดไปแล้ว การสนับสนุนแง่ของการสนันสนุนเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ เมื่อก่อนนักธุรกิจในพื้นที่เราได้เยอะ แต่ตอนหลังรัฐก็บอกว่าอุตสาหกรรมมันดีขึ้นแล้ว เหตุการณ์มันลดลงแล้ว เพราะฉะนั้นคือว่า soft loan นี่คือให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับภาษี หรือว่าเรื่องของดอกเบี้ยจะลดเปลี่ยนไป
ผมคิดว่าตรงนี้ นักธุรกิจในพื้นที่ยังต้องการอยู่ เพราะนักธุรกิจในพื้นที่ก็บอกว่า รัฐคิดในแง่ที่ว่านักธุรกิจหรือการลงทุนการค้าทางธุรกิจ มันจะเกิดขึ้นเองโดยมีแหล่งทุนจากภายนอก หรือนักลงทุนจากภายนอกมาลงทุนในพื้นที่ เพราะบรรยากาศดี มีความได้เปรียบหลายอย่าง ความได้เปรียบเรื่องทรัพยากร เรื่องวัฒนธรรมต่าง ๆ แล้วเงินทุนจะไหลหลากมาเอง แต่มันไม่ไหลมา เพราะฉะนั้นทุกวันนี้คือทุนจากข้างนอกไม่เข้ามา นักลงทุนในพื้นที่ที่สร้างสรรค์กันเองได้ เพราะฉะนั้นต้องเปิดโอกาสหรือเปิดพื้นที่ให้กับคนท้องถิ่นได้เติบโต หรือได้รับการสนับสนุน หรือส่งเสริม ทั้งทางตรง และทางอ้อมเกี่ยวกับภาครัฐ
ผมคิดว่า ด้านนึงเราต้องมีความจิตวิญญาณของความเป็นอิสระแบบชาวร็อค เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกัน ถ้ามีโอกาสต่อรองกับรัฐแล้วให้รัฐ เอื้ออํานวยและส่งเสริมสนับสนุนให้มีมากขึ้น มันจะทําให้ผสมกัน ก็จะให้การพัฒนาการต่าง ๆ มันดีขึ้น
อ่านข้อมูลเเล้วสามารถโหวตเลือกฉากทัศน์
ฉาก 1 เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมอนาล็อค
- ฉากทัศน์นี้ รัฐเร่งค้นหาแรงจูงใจและยกระดับทุนทางทรัพยากรและวัฒนธรรมชายแดนใต้ที่มีความโดดเด่น เพื่อสร้างสรรค์เป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่า เพิ่มโอกาสใหม่สามารถต่อยอดสายอาชีพทั้งการท่องเที่ยวในชุมชนและงานหัตถกรรมให้สอดคคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มพื้นที่ ค่าตอบแทน เพื่อสร้างแรงจูงใจแรงงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ในการกลับมาเข้าบ้านเกิด หลังก่อนหน้านี้มีจำนวนมากไหลออกไปทำงานในเมืองใหญ่และประเทศมาเลเซีย แต่เนื่องจากผลพวงของเหตุความไม่สงบในพื้นที่ที่มีมานานกว่า 20 ปี ทำให้ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในพื้นที่อ่อนแอ ไม่สามารถสร้างงานและเศรษฐกิจให้เติบโตและจูงใจแรงงานกลับถิ่นเกิดได้ในทันที
- ด้านการศึกษามีความพยายามยกเครื่องและปรับปรุงระบบการศึกษาในพื้นถิ่น ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง แม้ที่ผ่านมารัฐพยายามปรับหลักสูตร “ทวิภาษา” เพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงเนื้อหาที่เรียน สร้างจินตนาการ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีทักษะชีวิตที่นำมาปฏิบัติได้จริง แทนการเรียนที่เน้นท่องจำ โดยเพิ่มการสอนทักษะเฉพาะวิชาชีพที่จำเป็น รวมทั้งทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและภาษา แต่ด้วยความที่ท้องถิ่นยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นในวงแคบและกระจุกตัวในบางพื้นที่
- ขณะที่ภาคธุรกิจ ภาคท้องถิ่น และภาควิชาการ มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม(ตามเงื่อนไขของรัฐ) ด้วยเป้าประสงค์ให้เกิดความเป็นธรรมและสมดุลในทุกพื้นที่และทุกภาคส่วน แต่ด้วยจุดยืนของรัฐที่ยังเน้นความความมั่นคงของรัฐ มากกว่าการพัฒนาความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ฉากทัศน์นี้ต้องจำเป็นต้องใช้ความรู้จากทางวิชาการมาเข้ามาช่วยในการพัฒนา รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมเข้าใจและเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างแท้จริง
ฉากที่ 2 เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
- ฉากทัศน์นี้ รัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคท้องถิ่น เห็นร่วมกันว่า แรงงานสร้าง สรรค์เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่า สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจ สังคมและสันติภาพของชายแดนใต้ โดยร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะตัวเองได้ (สังคม เศรษฐกิจ การศึกษาเข้าใจพหุวัฒนธรรม) ส่งออกทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชายแดนใต้ มาคิดอย่างสร้างสรรค์ ใช้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่
- หน่วยงานภาครัฐ มีจุดยืนและให้ความสำคัญในความมั่นคงของชีวิตคนในพื้นถิ่น โดยมุ่งแก้ปัญหา ทำความเข้าใจความหลากหลาย และความเข้มข้นของต้นทุนทางวัฒนธรรม ไม่กดทับอัตลักษณ์ และการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการสร้างเรื่องราว (Story telling) ให้กับสินค้าให้กลาย เป็นเรื่องราวที่จับต้องได้ง่ายขึ้น โดยใช้ภาษาหลากหลายขึ้น มีการสนับสนุนทุน สนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ในทุกช่วงวัย และเพื่อฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ขณะที่เดียวกันสถาบันการศึกษาในทุกระดับ ในฐานะอคาเดมีท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มุ่งเน้นพัฒนาการเรียนการผลิตคน ให้ตรงกับความต้องการของตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เปลี่ยนการเรียนการสอนจากที่เน้นท่องจำทำให้เด็กมีจินตนาการให้มีทักษะวิเคราะห์ จากการคิดแบบ project based ให้ฝึกปฏิบัติจริง
- ส่วนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หนุนเสริมให้เกิดโอกาส เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิด ส่งเสริมหนุนคนรุ่นใหม่มีโอกาส และเปิดกว้างเป้าหมายร่วมและออกแบบ
- ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการร่วมสร้างระบบนิเวศดังกล่าว จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณในทุกระดับโดยเฉพาะในภาคท้องถิ่น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 5 – 10 ปี (หรือมากกว่านั้น)เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง
ฉาก3
ฉากทัศน์นี้ รัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคท้องถิ่น เห็นร่วมกันว่า แรงงานสร้าง สรรค์เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่า สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจ สังคมและสันติภาพของชายแดนใต้ โดยร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะตัวเองได้ (สังคม เศรษฐกิจ การศึกษาเข้าใจพหุวัฒนธรรม) ส่งออกทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชายแดนใต้ มาคิดอย่างสร้างสรรค์ ใช้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่
หน่วยงานภาครัฐ มีจุดยืนและให้ความสำคัญในความมั่นคงของชีวิตคนในพื้นถิ่น โดยมุ่งแก้ปัญหา ทำความเข้าใจความหลากหลาย และความเข้มข้นของต้นทุนทางวัฒนธรรม ไม่กดทับอัตลักษณ์ และการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการสร้างเรื่องราว (Story telling) ให้กับสินค้าให้กลาย เป็นเรื่องราวที่จับต้องได้ง่ายขึ้น โดยใช้ภาษาหลากหลายขึ้น มีการสนับสนุนทุน สนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ในทุกช่วงวัย และเพื่อฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ขณะที่เดียวกันสถาบันการศึกษาในทุกระดับ ในฐานะอคาเดมีท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มุ่งเน้นพัฒนาการเรียนการผลิตคน ให้ตรงกับความต้องการของตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เปลี่ยนการเรียนการสอนจากที่เน้นท่องจำทำให้เด็กมีจินตนาการให้มีทักษะวิเคราะห์ จากการคิดแบบ project based ให้ฝึกปฏิบัติจริง
ส่วนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หนุนเสริมให้เกิดโอกาส เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิด ส่งเสริมหนุนคนรุ่นใหม่มีโอกาส และเปิดกว้างเป้าหมายร่วมและออกแบบ
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการร่วมสร้างระบบนิเวศดังกล่าว จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณในทุกระดับโดยเฉพาะในภาคท้องถิ่น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 5 – 10 ปี (หรือมากกว่านั้น)เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง
สามารถโหวตได้ที่นี่