บก.บอกกล่าว Vol 5 “ระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลระบบนิเวศ”

“จะนะ” อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดสงขลา  

ชื่อนี้คุ้นหูคนในสังคมไทยพอสมควร ในแง่ที่คนในชุมชนลุกขึ้นประท้วงการเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมจะนะอย่างยิบตาด้วยใจบริสุทธิ์ต่อทรัพยากรบ้านเกิด  กระบวนท่าที่น่าสนใจของชาวบ้านที่นี่คือพยายามสื่อสารรูปธรรมวิถีชีวิตและความสมบูรณ์ของท้องทะเลเพื่อให้สังคมภายนอกเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งทะเลหน้าบ้านของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ้ายังจำกันได้ ช่วงโควิด อาหารทะเลจากจะนะช่วยเหลือเยียวยาคนเมืองกรุงในหลายชุมชน  และอันที่จริง “ทะเลจะนะ” ก็สัมพันธุ์กับพวกเราและโลกอยู่ไม่น้อย เพราะอาหารทะเลจากที่นี่ กระจายไปยังตลาดทั้งในสงขลา  จังหวัดอื่นๆ ของไทย และไปไกลถึง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีนและ ไต้หวัน

ส่งออกไปไกลขนาดนี้ น่าจะพอยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะได้

แต่ถ้าถามว่าสมบูรณ์และมีคุณค่ามากแค่ไหน  อีกหนึ่ง “รูปธรรม” ที่ชาวจะนะลงมือทำเพื่อยืนยันครั้งล่าสุด  คือการทำวิจัยไทบ้าน เพื่ออธิบายระบบนิเวศและระบบเศรษฐกิจของที่นี่ ที่หลากหลายและเกื้อกูลสัมพันธ์กัน  นี่คือบทบาทล่าสุดของเหล่ามะ หญิงแกร่งแห่งจะนะ   “นักรบผ้าถุง” แปลงร่างเป็น นักวิจัย  เก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศน์ทะเลหน้าบ้าง  ใช้ประสบการณ์จัดระบบระเบียบ  และแยกแยะลักษณะอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง   ปรากฏเป็น ฐานข้อมูลชุมชน ที่ทำเอาเจ้าตัวตื่นเต้นกับข้อค้นพบดังกล่าวและอยากให้โลกรู้

อาหารทะเลที่ว่ามาก ไม่รู้ว่ามากแค่ไหน  แต่แจกแจงแล้ว พวกมะพบว่า ทะเลหน้าบ้านมี  กุ้ง 22 ชนิด หอย 65 ชนิด ปู 32 ชนิด ปลา 126 ชนิด และหมึก 5 ชนิด   นั่นคือดอกผลของการทำอาชีพประมงแบบยั่งยืน  ใช้อวนตาใหญ่ ทำธนาคารปู และดูแลรักษา ปกป้อง ท้องทะเลมาอย่างยาวนาน 

เหลียวมองดูระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล ข้อค้นพบคือทะเลสร้างอาชีพให้ทั้งคนในชุมชนและภายนอก ที่เป็นทั้งชาวประมงออกเรือจับปลาขาย  กลุ่มคนมารับซื้อปลา  กลุ่มแพปลา คนนอกพื้นที่ที่มารับปลาไปขายทั้งในและนอกประเทศ  ยังไม่นับอาชีพต่อเนื่อง เช่น ร้านอาหาร  แหล่งท่องเที่ยว หรือแม้แต่ ส็อกแส็ก อาชีพปลดสิ่งของที่ติดอวน  เป็นต้น     พวกเธอและสังคมได้มองเห็น  “ระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลระบบนิเวศ” ในจะนะเด่นชัดขึ้นจากงานวิจัยนี้ และบอกกล่าวถึงความต้องการการต่อยอด พัฒนาจากต้นทุนและศักยภาพที่มี
              

นี่คือเหตุผลที่เรานำเรื่อง “นักรบผ้าถุงแปลงร่าง”มาเป็นเรื่องจากปกในวารสาร Locals ของเราฉบับนี้ พร้อมกับการเข้าเมืองกรุงอีกครั้งของพวกเธอ   ซึ่งมิได้มาทวงสัญญาใดใด เพราะโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA)  แต่เพื่อนำผลงานวิจัยไทบ้านของพวกเธอที่เป็นเสมือนข้อมูลคู่ขนานไปกับการทำ SEA ให้เป็นที่รับรู้ ร่วมกับการฉายสารคดี “นักรบผ้าถึง  เริน เล และแสงตุวัน”   รายละเอียด  ชวนอ่านกันได้ในฉบับนี้ค่ะ

อีกเรื่องที่อยู่ในบรรยากาศของสังคมไทย  คือการสรรหา สมาชิกวุฒิสภา  ที่งวดเข้ามาทุกที   อาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.นี้ก็จะเป็นการเลือกในระดับอำเภอ   ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลไก กระบวนการ วิธีการสรรหา  นำไปสู่การมองไกลไปถึงการแก้ไขต้นทาง  และบทบาทหน้าที่ของ สว.ที่พึงประสงค์   ในเวทีฟังเสียงประเทศไทย  ที่ไทยพีบีเอสร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้น 2 เวที คือที่ ขอนแก่น และพัทลุง เราได้ยินเสียงความคาดหวังต่อบทบาทหน้าที่และคุณสมบัติของสว.ที่พึงประสงค์น่าสนใจหลายประเด็น   และอีก 2 เวทีที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ  4 มิ.ย. ที่จ.ลพบุรี  และ  7 มิ.ย. ที่ จ.เชียงราย เชื่อว่าจะเข้มข้นขึ้น  ก่อนที่เราจะได้รวบรวมข้อเสนอและมุมมองทุกเวทีไปร่วมกันสื่อสารที่เวทีกลางต่อไป  

แต่แม้ว่าคุณจะไม่ได้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย  ไม่ได้สมัครเข้าไปมีสิทธิ์เลือกสว.ตามกระบวนการที่ กกต.จัดอยู่ในขณะนี้  แต่คุณก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางของวุฒิสภาไทยร่วมกับเราได้ ผ่านการตอบแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อบทบาท  ที่มา ลักษณะ และความเป็นสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทยได้ ในฉบับนี้ได้เช่นกันค่ะ

ความคิดเห็นของคุณจะถูกนำไปวิเคราะห์รวบเสนอต่อสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร เขาควรเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงค่ะ

อัจฉราวดี บัวคลี่

แชร์บทความนี้