สรุปนโยบายและแผนพลังงานของประเทศไทย ตอนที่ 2

ร่าง แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก, AEDP 2024 (พ.ศ. 2567 – 2580)

ทิศทางของนโยบายพลังงานของประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องในด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว การปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกันกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวและยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า การเปิดเสรีภาคพลังงาน การใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว การลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้มีการกำหนดเป้าหมายพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกโดยยกระดับสัดส่วนพลังงานการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย 36 % ณ ปี พ.ศ. 2580 โดยค่าเป้าหมายในภาคไฟฟ้า ภาคความร้อนและภาคเชื้อเพลิงชีวภาพตามร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 – 2580 ดังรูป

ค่าเป้าหมายร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 – 2580

การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกในภาคไฟฟ้า ความร้อนและขนส่งนี้มีความสำคัญต่อการนำพาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ แต่ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการผันผวนหรือความไม่แน่นอนรวมทั้งความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของพลังงานทดแทน เช่น การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของยานยนต์ไฟฟ้า ราคาต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิง การลงทุนที่สูงมากในหลายๆเทคโนโลยีในกลุ่มพลังงานทดแทน และความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอน

งานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่เหมาะสมต่อบริบทประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม แรงงาน และสังคม จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน ที่ลดผลกระทบต่อการปรับตัวในภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน ซึ่งประเด็นการยกระดับความสามารถ (upskilling) ในแรงงานฝีมือเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต เป็นนโยบายของกระทรวง อว ที่สามารถช่วยสนับสนุนแผน AEDP นี้ เช่น อว For EV, อว for AI ตลอดจน หลักสูตร non-degree ต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยในอนาคต

ร่าง แผนปฏิบัติการรายสาขาด้านการอนุรักษ์พลังงาน, EEP 2024 (พ.ศ. 2567 – 2580)

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันในหลายประเทศของโลกได้มีนโยบายหรือมาตรการในอนุรักษ์พลังงานในด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดหาพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีค่าความเข้มด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการจัดหาพลังงานอยู่ที่ 1.4 % ในช่วง พ.ศ. 2555-2564

ดัชนีการอนุรักษ์พลังงานด้านการจัดหาพลังงาน (พ.ศ. 2555 – 2564)

นอกจากนี้ปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 และ 2566อยู่ที่ 81,984 –  83,068 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ตามลำดับ และมีอัตราการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 13.6 (ปี 2565 เทียบกับ 2564) และร้อยละ 1.4 (ปี 2566 เทียบกับปี 2564) ซึ่งภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่สูงกว่าสาขาอื่นๆตามการจำแนกการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายจำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ

การใช้พลังงานขั้นสุดท้าย จำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2566)

ประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามาตรการภาคบังคับ ได้แก่ การบังคับใช้มาตรฐานการจัดการพลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม, การบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน, การส่งเสริมเกณฑ์มาตรฐานอุปกรณ์และฉลากของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.), การส่งเสริมเกณฑ์มาตรฐานอุปกรณ์และฉลากของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยน ปรับปรุง เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน, โครงการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อการประหยัดพลังงานในธุรกิจการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (EI) ในปี 2566 อยู่ที่ 7.64 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/พันล้านบาท ซึ่งลดลงประมาณ 0.04 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/พันล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2565

ผลการดำเนินงานแผนอนุรักษ์พลังงาน (พ.ศ. 2553-2566)

นอกจากนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นในการปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน: Carbon Neutrality (2050) การปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมาตรการเฉพาะในแต่ละสาขาเศรษฐกิจและเพิ่มมาตรการใหม่ในการกำกับดูแล มาตรการประสิทธิภาพด้านพลังงานด้าน Supply Side และคำนึงถึงพลังงานทดแทนที่เข้ามาในระบบมากขึ้น 

จากมาตรการภาคบังคับข้างต้นต้องมีการปรับปรุงในส่วนของการบังคับใช้มาตรการจัดการพลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม บังคับเกณฑ์มาตรฐานด้านพลังงานและมาตรการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางถนน อีกทั้งมีการระบุถึงมาตรการภาคส่งเสริมและภาคสนับสนุน ได้แก่ เกณฑ์มาตรฐานและการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์ การสนับสนุนทางด้านการเงิน ส่งเสริมนวัตกรรม อนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

โดยงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ กระทรวง อว. นั้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้เกิดการแข่งขันในในตลาดโลก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดรายได้จากการส่งออกแล้ว ตลอดช่วยให้คนไทยมีสินค้าที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อการใช้งานในประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

ร่างแผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 – 2580 (Oil Plan 2024)

สำหรับร่างแผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนพลังงานชาติและแผนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนำมันเชื้อเพลิงในช่วง พ.ศ. 2567-2580 จากการคาดการณ์ความต้องการการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแยกสาขาของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ลดลงจากปี พ.ศ. 2567 ภาคการขนส่งลดลงจากร้อยละ 75 เหลือประมาณร้อยละ 62 ในปี พ.ศ. 2580

ประมาณการความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยแยกรายสาขา พ.ศ. 2567 – 2580

ทั้งนี้มีปัจจัยหลักมาจากนโยบายการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 การสับเปลี่ยนโหมดการเดินทางและขนส่ง และการปรับปรุงประสิทธิภาพเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ ในขณะที่การขนส่งทางน้ำและอากาศซึ่งได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานและน้ำมันเตา มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีด้านพลังงานของการขนส่งทางอากาศและการขนส่งทางน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนโดยอาจมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้นแต่จะยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย

สำหรับปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือนและพาณิชยกรรม มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 3 ต่อปีในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ภาคครัวเรือนและพาณิชยกรรมจะมีอัตราการเติบโตทีชะลอตัวอันเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่ลดลง ประกอบการเปลี่ยนผ่านชนิดพลังงานจาก LPG เป็นไฟฟ้า

นโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) นโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวด้านพลังงาน (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เป็นต้น7นั้นมีความเชื่อมโยงต่อการใช้พลังงานหลักของประเทศที่ยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ งานวิจัยเพื่อส่งเสริมการลดความเข้มข้นด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (decarbonization) ในระบบการผลิตและใช้พลังงานฟอสซิล จึงเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยุติธรรม (Just Energy Transition)

ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024)

จุดประสงค์ของการจัดทำร่างแผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ และการทำให้โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติปี พ.ศ. 2567-2580 มีแนวโน้มที่ลดลงจาก 4,859 MMSCFD ในปี พ.ศ. 2567 ลดไปที่ 4,747 ในปี พ.ศ. 2580 ในปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติที่ลดลงนี้จะมีการแบ่งสัดส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติใหม่โดยเพิ่มสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติ/ (Liquid Natural Gas, LNG) ที่ต้องจัดหาเพิ่ม เพิ่มสัดส่วน Potential Gas และ H2 เพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ลด LNG สัญญาปัจจุบันลงและลดสัดส่วนก๊าซธรรมชาติในประเทศ (อ่าวไทย+บนบก)

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมการจัดหารองรับความต้องการใช้ของประเทศสำหรับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ มีความชัดเจนมากขึ้นในการจัดหาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ Potential ในอ่าวไทยและเมียนมาเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการนำเข้า LNG ลดลง ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตลอดจนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันยังมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า และสารเคมีของประเทศอยู่ งานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้แหล่งวัตถุดิบทางเลือกที่มี Carbon Footprint ต่ำกว่าก็จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยุติธรรม (Just Energy Transition)

ข้อเสนอด้านพลังงานคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจหมุนเวียน 

จากงานวิจัยด้านพลังงานคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจหมุนเวียน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) ภายใต้กระทรวง อว นั้น คณะทำงานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมด้านพลังงานคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Strategic Agenda Team on Low Carbon Energy and Circular Economy) ได้มีการรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญโดยใช้วิธีห่วงโซ่อุทานของ The International Energy Agency (IEA) โดยการวิเคราะห์และประเมินความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำของโลกและประเทศไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณภาพ ดังที่แสดงไว้ในรูป

แนวทางการจัดลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำ

จากการศึกษาพบว่าศักยภาพของเทคโนโลยีด้านพลังงานจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย 

  1. สีเขียว หรือ on track คือ มีแนวโน้มที่ดีและสามารถบรรลุเป้าหมาย NZE ในปี ค.ศ. 2050 ได้ และมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายของปี ค.ศ. 2030 
  2. สีเหลือง หรือ more efforts needed คือ มีแนวโน้มที่ดีแต่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย NZE ในปี 2050 ได้ ทั้งนี้ ต้องมีผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของปี ค.ศ. 2030
  3. สีแดง หรือ not on track คือ มีแนวโน้มที่จะไม่เป็นไปตามการคาดการณ์และไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย NZE ในปี ค.ศ. 2050 ได้

โดยการประเมินจะมีการใช้ดัชนีหลายรูปแบบ เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงาน กิจกรรมทางพลังงาน เป็นต้น ตารางที่ 2 แสดงความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำในโลกและประเทศไทย9 โดยเทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำเหล่านี้ การศึกษานี้ได้ทำการวิเคราะห์เทคโนโลยีในห่วงโซ่คุณค่าที่เทคโนโลยีนั้นๆมีศักยภาพและความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย

การศึกษาพบว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีภายใต้กลุ่มเทคโนโลยีด้านพลังงานและปราศจากคาร์บอน (Energy & Zero Carbon) จะมีแนวโน้มและทิศทางในอนาคต 5เทคโนโลยี ดังนี้

  1. ระบบเก็บเกี่ยวพลังงานกลระดับไมโครและนาโน (Micro-Scale to Nano-Scale Energy Harvesting System)
  2. ระบบสำรองไฟฟ้าแบบโครงข่ายพลังงาน (Electric Grid-Scale Storage)
  3. เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor-SMR)
  4. การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ (Carbon Capture Utilization and Storage)
  5. ระบบพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen Energy System)

สำหรับ 3 กลุ่มพลังงานที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในภาคพลังงาน เพื่อไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน ได้แก่ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศอีกด้วยแสดงดังรูป

ยุทศาสตร์ของแผนด้านการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

สำหรับการวิเคราะห์ 3 กลุ่มพลังงานข้างต้น ในมุมของงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานยั่งยืนนั้น หลายๆประเทศได้มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการการใช้ในภาคการขนส่งทางอากาศสำหรับเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ และเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้นในมุมของประเทศไทยนั้นได้มีการศึกษาและงานวิจัยอย่างแพร่หลาย

ประเด็นที่ได้รับการตอบรับอย่างมากในปัจจุบัน คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor) จะเป็นเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียรที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกกะวัตต์ อีกทั้งยังมีศักยภาพและความมั่นคงทางด้านพลังงานสูง ในบริบทของประเทศไทยนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมทางด้านเทคนิค ความปลอดภัย การขออนุญาต รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพด้านกำลังคน จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคต

สำหรับพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนนั้นเป็นกลุ่มพลังงานที่จะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นพลังงานสะอาดและมีความยั่งยืน โดยพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวจะเป็นระบบพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและถูกผลิตขึ้นจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีการทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนนี้ก็ได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มสัดส่วนปริมาณน้ำมันจากพลังงานชีวภาพในภาคการบินให้มีความยั่งยืนมากขึ้นรวมถึงการกำหนดเป้าหมายการใช้ในภาคการบินในอนาคตของไทยอีกด้วย

ข้อเสนอแนะ

สำหรับร่างแผนนโยบายด้านพลังงานทั้งหมดนี้จะมุ่งเน้นไปที่การลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก จากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานที่มีความเข้มข้นทางคาร์บอน (Carbon Intensity) ที่ต่ำลงเพื่อส่งเสริมเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 อีกทั้งยังสนับสนุนการบูราณาการร่วมกันในหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการ รวมถึงกลไกต่างเพื่อความยั่งยืนในภาคพลังงานของประเทศ

นอกจากนี้การกำหนดทิศทางและการสนับสนุนด้านพลังงานยังตอบโจทย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในอนาคตอีกด้วย อีกทั้ง ยังทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม การคงไว้ซึ่งการจ้างงานในตลาดพลังงานของประเทศผ่านการยกระดับความสามารถ และการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและสังคม ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนอีกด้วย

ในบทบาทของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว ที่ดูแลกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ภายใต้กระทรวง อว นี้ สามารถช่วยส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงานของประเทศ อาทิ

  • งานวิจัยที่ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ไม่สม่ำเสมอเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าที่คาดการณ์ได้เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่เพิ่มภาระมากเกินไป 
  • งานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่เหมาะสมต่อบริบทประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม แรงงาน และสังคม ที่จะช่วยให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน ที่ลดผลกระทบต่อการปรับตัวในภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน โดยการยกระดับความสามารถ (upskilling) ในแรงงานฝีมือเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น อว For EV, อว for AI ตลอดจน หลักสูตร non-degree ต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยในอนาคต
  • งานวิจัยในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้เกิดการแข่งขันในในตลาดโลก และทำให้มีตัวเลือกที่เป็นสินค้าคุณภาพ ประสิทธิภาพสูง สำหรับการใช้งานในประเทศ 
  • งานวิจัยเพื่อลดความเข้มข้นด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (decarbonization) ในระบบการผลิตและใช้พลังงานฟอสซิล จึงเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยุติธรรม (Just Energy Transition)
  • งานวิจัยเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันยังมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า และสารเคมีของประเทศอยู่ งานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้แหล่งวัตถุดิบทางเลือกที่มี Carbon Footprint ต่ำกว่าก็จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยุติธรรม (Just Energy Transition)

เขียนโดย

ดร.นุวงศ์ ชลคุป, ดร.กัมปนาท ซิลวา, ดร.ตะวัน จำปีเจริญสุข, ดร.อาทิตย์ จำปีเจริญสุข


อ้างอิง

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570

2. การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26

3. ยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวของประเทศไทย (Thailand’s Long-term GHG Emission Development Strategy)

4. ร่างแผนพัฒนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024)

5. ร่าง แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก, พ.ศ. 2567-2580 (AEDP 2024)

6. ร่าง แผนปฏิบัติการรายสาขา ด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567 – 2580 (EEP 2024)

7. ร่างแผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024)

8. ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024)

9. รายงานโครงการ “การบูรณาการความร่วมมือและการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านพลังงานคาร์บอนต่ำ ปี พ.ศ. 2566”

แชร์บทความนี้