ภาพจำดาวเทียมในอดีตของใครหลายๆ คนคือสิ่งที่โคจรอยู่นอกโลก ทำหน้าที่หลายแบบทั้งในการสื่อสารระยะไกล การสำรวจทรัพยากรพื้นดินและผิวน้ำ โดยการบันทึกและแปลงเป็นข้อมูลภาพถ่ายต่างๆ หรือดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาสำหรับพยากรณ์สภาพอากาศในแต่ละวัน เพื่อให้เราวางแผนการใช้ชีวิตได้
ในปัจจุบันข้อมูลจากดาวเทียมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการรับข้อมูลตามช่วงเวลาโคจรของดาวเทียม สามารถนำไปวิเคราะห์กับข้อมูลด้านอื่นๆ ควบคู่ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้านป่าไม้ ด้านเกษตร การใช้ที่ดิน ธรณีวิทยา อุทกวิทยาและการจัดการน้ำ ด้านสมุทรศาสตร์และชายฝั่ง การทำผังเมือง ด้านความมั่นคง รวมถึงการรับมือภัยธรรมชาติอีกด้วย
ข้อมูลจากดาวเทียมกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในด้านของข้อมูล การวางแผนต่างๆ ที่ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนเองสามารถเข้ามาใช้ได้ บทสัมภาษณ์นี้จะพาไปคุยกับ ดร.สุรัสวดี ภูมิพานิช นักภูมิสารสนเทศชำนาญการฝ่ายทรัพยากรธรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ GISTDA จะมาขยายต่อถึงหน้าที่ การใช้ประโยชน์ในแต่ละด้านของดาวเทียมที่ว่ามีอะไร และตอบคำถามสำคัญที่ว่าจากเทคโนโลยีดาวเทียมกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือภัยพิบัติอย่างไร

ดาวเทียมไทยทำได้ตั้งแต่อวกาศจนถึงภาคพื้นทะเล
ภารกิจของ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนการพัฒนาดาวเทียม ปัจจุบันในประเทศไทยมีดาวเทียมอยู่ 2 ดวงที่ GISTDA เป็นผู้ช่วยในส่วนของการบริหารจัดการได้แก่ ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ยิงขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2) ยิงขึ้นสู่โคจรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566
“เทคโนโลยีดาวเทียม 2 ดวงนี้มีการอัพเดทพัฒนาขึ้นมาก อย่างดาวเทียมธีออส-2 จะมีรายละเอียดอยู่ที่ 50 เซนติเมตร/พิกเซลล์ เทียบกับไทยโชตที่มีรายละเอียดอยู่ที่ 15 เซนติเมตร/พิกเซลล์”
อีกส่วนคือด้านอากาศ จะมีทีมสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับหรือเรียกสั้นๆ ว่า UAV : Unmanned Aerial Vehicle จะเข้ามาเสริมในภารกิจของภัยพิบัติ ในกรณีที่ดาวเทียมยังไม่มีวงโคจรผ่าน ตัวอย่างในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 มีการร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และ SCG ในการช่วยสนับสนุนดูจุดที่พนังกันน้ำแตกในจังหวัดสุโขทัย ถ้าน้ำทะลักจะแผ่กระจายไปในทิศทางไหน เป็นต้น
สุดท้ายคือส่วนสถานีภาคพื้นดิน ทั้งสถานีตรวจวัดระดับน้ำติดตั้งตามลุ่มแม่น้ำต่างๆ หรือสถานีเรดาห์ชายฝั่งทะเลตรงฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เพื่อติดตามคลื่นกระแสลมกระแสน้ำต่างๆ จะเห็นว่าภารกิจของ GISTDA ครอบคลุมตั้งแต่ภาคอวกาศจนถึงภาคพื้นทะเล
แอปแมลงปอ การใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อเกษตรกร
ในมุมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศ เป็นอีกเครื่องมือในการได้มาของข้อมูลเชิงพื้นที่ ข้อดีคือมีการบันทึกข้อมูลพื้นที่เดิมซ้ำ โดยจะมีรอบของการบันทึกอย่างดาวเทียม THEOS-2 จะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 รอบ แบ่งเป็นช่วงเวลากลางวัน 2 รอบ และช่วงเวลากลางคืนอีก 2 รอบ และมีความละเอียดของภาพที่สูง ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายและเปลี่ยนไปตามช่วงเลาหรือเรียกว่า อนุกรมเวลา (Time Series)
ประโยชน์อีกด้านเป็นเรื่องการติดตามส่วนของข้อมูลเชิงพื้นที่ว่าพื้นที่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา เช่นข้อมูลป่าไม้ในเดือนฤดูหนาวกับฤดูฝนก็มีความแตกต่างกัน หรือกรณีน้ำท่วมสามารถเทียบข้อมูลดูลักษณะของพื้นที่ช่วงก่อนเกิดเหตุกับหลังเกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้
“ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีการพัฒนาอยู่ตลอดและมีดาวเทียมหลากหลายรูปแบบที่โคจร ดาวเทียมในประเทศไทยที่ GISTDA เป็นผู้รับผิดชอบนั้นมีภารกิจสำคัญคือการนำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเลือกในส่วนที่สัมพันธ์กับบริบทของประเทศที่ไม่ใช่แค่เรื่องภัยพิบัติอย่างเดียวแต่มีในส่วนของการเกษตร ป่าไม้ หรือการประยุกต์ใช้ด้านอื่นๆ ด้วย”
ตัวอย่างแพลตฟอร์ม Dragonfly ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ทำลักษณะของข้อมูลเชิงพื้นที่ มีเอาข้อมูลสารสนเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสภาพภูมิอากาศมาวิเคราะห์เพิ่มเติม ยกตัวอย่างถ้าเกษตรกรจะปลูกข้าว สามารถเช็คสภาพพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ สิ่งนี้จะช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้ว่าควรจะปลูกอย่างไร มีความเสี่ยงเรื่องน้ำหรือไม่ ก็เป็นภาพตัวอย่างของการใช้ข้อมูลดาวเทียมจุดเล็กๆ ส่วนหนึ่งแล้วนำมาต่อยอดของนวัตกรรมต่างๆ
การผลักดันทำฐานข้อมูล สื่อสารที่รวดเร็วคือโจทย์สำคัญ
ในสถานการณ์โลกรวนในตอนนี้ การคาดการณ์และวางแผนเพื่อให้เกิดการจัดการรับมือได้อย่างท่วงทัน และเกิดผลกระทบน้อยที่สุดนั้น ตามภารกิจของ GISTDA คือการนำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ประโยชน์นั้น จึงมีการยกระดับข้อมูลของภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อนำไปบริหารการจัดการภัยพิบัติในประเทศโดยทีมภัยพิบัติของ GISTDA
“GISTDA เป็นหน่วยสนับสนุนในส่วนของข้อมูล เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence base) ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ข้อมูลในแต่ละช่วงเวลามีความหมายอย่างไร จึงเป็นลักษณะของข้อมูลสนับสนุนมากกว่า”
ตัวอย่างหน้าฝนจะเป็นเรื่องดินถล่มหรือ land subsidence คือพวกดินทรุดต่างๆ จะเกิดช่วงที่น้ำท่วมขังมากแล้วดินทรุดลงเรียกว่า ภัยสืบเนื่องจากภัยหลัก และด้วยพื้นที่ที่เกิดไม่ได้เป็นลักษณะของจังหวัดหรือภูมิภาค แต่อาจจะเป็นแค่เฉพาะกลุ่มหรืออย่าง eartquake ที่เกิดแค่ตรงเชียงราย อ.พาน ไม่ได้เป็นลักษณะมหาภาคก็จะมีภัยพิบัติลักษณะอื่นๆ แทรกอยู่
“ทีมภัยพิบัติจะดูว่ามีเทคโนโลยีไหนที่เข้าไปช่วยในเรื่องฐานข้อมูลก่อนเกิดเหตุได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันมีทำฐานข้อมูลแหล่งน้ำของประเทศไทยย้อนหลัง 30 ปี เพื่อดูในเชิงทรัพยากรน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติว่ามีการสูญเสียไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรามีข้อมูลไว้ก่อนจะดีกว่าเพราะพอถึงเวลาจำเป็นต้องใช้แล้วถ้าไม่มีมันยาก ไม่มีเวลาทำ เช่นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถ้ายังอยู่ในภาวะเอลนีโญเราก็เอาข้อมูลไปใช้ประเมินต่อได้”
ในกรณีภัยพิบัติข้ามแดน GISTDA ทำในส่วนของการสนับสนุนข้อมูล สื่อสารต่อตัวอย่างที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ข้อมูลบอกว่าต้นเหตุมาจากไหน หรือประเด็นฝุ่นควัน GISTDA มีข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ที่ 1 วันสามารถตามได้ถึง 10 ครั้ง/วัน สามารถดูสาเหตุที่มาได้ GISTDA ก็ผลักประเด็นนี้ไปกับทางคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการที่ GISTDA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น โดยเอาข้อมูลนี้ให้กับผู้มีอำนาจในส่วนของการตัดสินใจหรือสามารถที่จะไปเจรจาได้
สิ่งท้าทาย คู่แข่งสำคัญของ GISTDA คือความรวดเร็ว ในการแผยแพร่ข้อมูลยังเป็นโจทย์อยู่ ทำอย่างไรให้การสื่อสารในช่องทางต่างๆ มีความรวดเร็วและประสิทธิภาพหรือมีการเข้าถึงกับประชาชนที่ดีกว่านี้ อันนี้ยังเป็นโจทย์ที่ GISTDA ยังพัฒนาต่อไป
เช่นกรณีน้ำท่วมอ.แม่สาย จ.เชียงราย คนจะตั้งคำถามว่าดินโคลนตะกอนมากจากไหน เคยมีหน่วยงานมาขอดูภาพดาวเทียมย้อนหลังเพราะพื้นที่แม่สายเป็นพื้นที่ปลายน้ำ หมายถึงเป็นพื้นที่รับน้ำ พอย้อนขึ้นไปดูสภาพอากาศ ปริมาณฝนช่วงก่อนเกิดเหตุเพราะฝนก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่กายภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งก็ย้อนไปดูว่าพื้นที่บริเวณต้นน้ำมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จากเดิมเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกสร้าง เป็นเมืองก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นดินส่วนนี้รับน้ำไม่ได้
ฉะนั้นปัจจัยปริมาณของฝนหรือทางกายภาพก็อาจะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่เห็น ซึ่งในส่วนของการใช้งานภาพดาวเทียมหรือการเผยแพร่สื่อสารถ้าเกิดเหตุคนจะไม่ค่อยนึกถึง GISTDA แต่พอเกิดเหตุคำถามแรกเลยคือ มีชุมชนได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ตรงนั้นมีอะไรบ้าง การเข้าถึง สภาพพื้นที่เป็นอย่างไร
“ส่วนหนึ่งอาจจะต้องร่วมกันผลักดันทำฐานข้อมูลในแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละปีให้มีความทันสมัย เพราะบางพื้นที่อาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก ตรงนี้อาจต้องมานั่งพิจารณาทบทวนร่วมกัน ปัจุบันการให้ความช่วยเหลือ การจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ค่อนข้างจะจำเป็น เพราะในภาวะวิกฤติไม่สามารถจะจัดเจ้าหน้าที่ลงไปได้ 100%”
จากประชุมที่เข้าร่วมจะมีส่วนของการใช้เทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในส่วนของการปรับปรุงฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นแค่เชิงการกำหนดนโยบาย แต่การปฏิบัติจริงๆ ยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากนัก
ส่วนข้อมูล GIS ต้องมีข้อมูลหลายๆ ตัวประกอบขึ้นมา เช่น จุดนี้คือโรงเรียนแต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร หรือมีจำนวนนักเรียนกี่คน แบ่งเป็นชายหญิงเท่าไหร่ ซึ่งยังขาดข้อมูลที่สามารถมาประกอบกันได้ เพราะข้อมูลไม่ได้วางไว้เป็นศูนย์ข้อมูล ฉะนั้น GISTDA จึงทำได้ในส่วนของการเอาฐานข้อมูลที่เป็นลักษณะของการประมาณการประชาชนมาซ้อนทับแล้ววิเคราะห์ตามลักษณะของสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบมีเท่าไหร่ ตีความหมายเป็นลักษณะแบบนั้น
ขอบเขตพื้นที่ทำงานของ GISTDA เป็นระดับทั้งประเทศ ถึงแม้ดาวเทียมที่ใช้จะมีความละเอียดมากๆ แต่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด การจะเจาะลึกเข้าไปในแต่ละพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลาคงจะเป็นไปไม่ได้ GISTDA เลยมีความพยายามจะเข้าไปมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดอื่น เพราะตอนนี้GISTDA อยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก
“ส่วนนี้จึงต้องการหน่วยงานที่อยู่ในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงการต่อยอดหรือถ่ายทอดสื่อสารในพื้นที่ ตรงนี้เป็นเหมือนข้อจำกัดของ GISTDA ด้วยที่ไม่มีออฟฟิศในส่วนภูมิภาค ถึงจะมีฝั่งคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ยินดีอาสาแต่ก็มีภารกิจงานของเขาเช่นกัน”
ในส่วนภูมิภาคช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีทำ road show ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีดาวเทียมว่ามีอะไร ใช้งานแบบไหนให้กับเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ ความยากคือเจ้าหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และถ้าระดับหัวหน้าไม่ซื้อก็ไปต่อไม่ได้
“ถ้าหัวหน้าหน่วยไม่เข้าใจก็ทำให้การทำงานระดับเจ้าหน้าที่ด้วยกันยากขึ้นจึงเป็นโจทย์ที่ว่า ถ้าอยู่แต่กรุงเทพฯ มันไม่พอแล้ว GISTDA ต้องมีออกไปพื้นที่อื่นบ้าง แต่ก็ไปให้ครบทุก 76 จังหวัดไม่ได้”
ในแง่การทำงานเชิงภัยพิบัติ ส่วนมากหน่วยงานภาครัฐจะมาเจอกันแค่ระหว่างเกิดเหตุกับหลังเกิดเหตุ ในช่วงก่อนเกิดเหตุน้อยมาก ไม่มีการพูดถึงในระหว่างที่ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติว่าจะมาทำอะไรร่วมกัน ดู pain point การถอดบทเรียนในช่วงที่ผ่านมามีการเอามาใช้มากน้อยแค่ไหนซึ่งยังไม่มีการนั่งคุยแบบจริงจังเรื่องนี้ แม้แต่ AAR ไฟป่า โอเคเรามีบทสรุปต้องทำอะไรบ้างแล้วก็เก็บเป็นไฟล์ผ่านไป แต่ถามว่า action ต่อจากนั้นหน่วยงานไหนมาทำอะไรร่วมกันไหมก็ไม่ค่อยเห็นการปฏิบัติจริงๆ
“แม่แจ่มโมเดลพลัส” การใช้ภูมิสารสนเทศร่วมกับชุมชน
ปัจจุบันจะเริ่มเห็นว่า GIS หรือข้อมูลภูมิสารสนเทศได้เข้าไปแทรกซึมแทบจะทุกสาขาอาชีพแล้ว เพราะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยอธิบายความหมายในเชิงพื้นที่ได้ เช่น อยู่ตำบล อำเภอไหนของประเทศไทย หรือมีความหนาแน่นของชุมชนในแต่ละจุดมากน้อยแค่ไหน GIS ก็ถูกเอาไปเป็นภาพอธิบายของพื้นที่ออกมา
ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับทางอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โครงการ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ โดยพื้นที่นี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม ชาวบ้านทำการเกษตร มีการเผาเศษวัสดุต่างๆ ทำให้เกิดฝุ่นควัน GISDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงไปทำแผนที่ GIS หมู่บ้านชุมชน ให้ชุมชนลองหัดทำว่าชุมชนนั้นมีมีทรัพยากรอะไรอยู่ตรงไหน วาดลงในกระดาษแล้วแปลงข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ ลักษณะคล้ายๆ สอนการใช้งานเชิงภูมิสารสนเทศ
อีกตัวอย่างเป็นเรื่องช้างป่า ทีม GISTDA เข้าไปร่วมหารือกับทางคณะศึกษาช้างป่า ในด้านจิสด้าเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยดูเชิงพื้นที่ว่าตรงไหนมีความอุดมสมบูรณ์ ตรงจุดไหนเป็นจุดที่ช้างเคยมา ทำร่วมกับกรมอุทยานฯที่เคยมีจีพีเอสมาร์คไว้ เป็นการใช้งานเบสิคเบื้องต้น ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นการใช้ประโยชน์ การทำงานร่วมกับพื้นที่
ในแง่ด้านวิชาการงานวิจัย มีคณาจารย์ที่อยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เอาส่วนของ GIS เข้าไปมีส่วนร่วมในส่วนของการศึกษาวิจัยด้านต่างๆ มากขึ้นมีอาจารย์หมออยู่ที่รามาธิบดีทำเรื่องเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ก็เอามาจับเชื่อมกับเชิงพื้นที่ว่า คนไข้ที่อยู่ตามพื้นต่างๆ ได้รับผลกระทบจากฝุ่นมากน้อยแค่ไหน
อีกตัวอย่างเป็นเรื่องช้างป่า ทีม GISTDA เข้าไปร่วมหารือกับทางคณะศึกษาช้างป่า ในด้านจิสด้าเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยดูเชิงพื้นที่ว่าตรงไหนมีความอุดมสมบูรณ์ ตรงจุดไหนเป็นจุดที่ช้างเคยมา ทำร่วมกับกรมอุทยานฯที่เคยมีจีพีเอสมาร์คไว้ เป็นการใช้งานเบสิคเบื้องต้น ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นการใช้ประโยชน์ การทำงานร่วมกับพื้นที่ เป็นต้น
นอกเหนือจากทีมภัยพิบัติ จะมีทีมสื่อสาร การต่อยอดในเชิงสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ว่ามีข้อมูลแบบนี้สามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง แต่เดิมทีมโฟกัสแค่กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐต่อมามีขยายลงไปในระดับนิสิตนักศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา อย่างน้อยให้รู้ว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวสามารถที่จะแปลงข้อมูลมาเป็น GIS ต่อยอด เอาไปวิเคราะห์อย่างอื่นได้ ทีมการตลาดเองมีการเดินสาย road show ตามแต่ละจังหวัดต่างๆ ไปแนะนำการใช้ประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ด้วย
เรียบเรียง : อรกช สุขสวัสดิ์
สัมภาษณ์ : ธีรมล บัวงาม, แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ
ภาพถ่าย : ธีรมล บัวงาม