“เวลาฝนตกหนัก คนหาดใหญ่จะออกไปมุงดูปริมาณน้ำคลองอู่ตะเภา ที่สะพานหน้า(ที่ว่าการ)อำเภอหาดใหญ่”
ภูเบศวร์ แซ่ฉิน
*
“คนหาดใหญ่ยังอยู่กับความกลัว คือต่อให้รู้ว่า 10 ปีมานี้น้ำไม่ท่วมเลย แต่ว่าคนหาดใหญ่ยังฝังใจเพราะเวลาน้ำท่วม มันท่วมหนักมาก”
ภาณุมาศ นนทพันธ์
*
“hatyai city climate คือการสร้างให้ประชาชนรับรู้ แล้วรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของ”
สมพร สิริโปราณานนท์
บทเรียนน้ำท่วมใหญ่ สู่จุดเริ่มต้นระบบเตือนภัย
“เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังใหม่มากเรื่อง climate change แล้วก็ได้งบประมาณของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งหาดใหญ่เป็นหนึ่งใน 10 เมืองของเอเชีย ที่ได้รับการสนับสนุนให้ทำเรื่อง climate change เราได้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นพี่เลี้ยง ตอนนั้นปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ เราเริ่มปี 54 ซึ่งตอนปี 53 น้ำท่วมหนักมาก ฉะนั้นเราจะทำยังไงดีเกี่ยวกับน้ำท่วม”
สมพร สิริโปราณานนท์ อดีตประธานหอการค้า จ.สงขลา เล่าถึงที่มาของระบบเตือนภัยผ่านเว็บไซต์ www.hatyaicityclimate.org ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SCCCRN) ต่อเนื่องมาจากการทำงานโครงการเครือข่ายเมืองในเอเซียเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACCCRN) ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ทำให้นี่จึงเป็นวาระของคนหาดใหญ่ ที่เริ่มต้นโดยภาคประชาชนและหน่วยงานในระดับพื้นที่
“ตอนนั้นผมไปประชุมกับ อบจ.สงขลา ที่หน้าสวนสาธารณะ แล้วจุดนั้นมีกล้อง CCTV เพื่อจัดการรถวิ่งของงานจราจร บังเอิญวันนั้นฝนมันตก ผมก็เอ๊ะว่าถ้ากล้องสามารถจัดการเรื่องจราจรได้ ก็สามารถจัดน้ำฝนได้ นั่นคือจุดแรกที่กระตุ้นเราเราว่าน่าจะเอากล้อง CCTV ไปดูน้ำไหลของคลองอู่ตะเภาหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ที่คิดว่ามีผลกระทบต่อน้ำท่วม นั่นแหละคือจุดแรกที่เรามาเริ่มทําเฝ้าระวัง” สมพร สิริโปราณานนท์
![]()
สมพร สิริโปราณานนท์
“ประธานสมพร โทรเข้ามาบอกว่า อยากจะติดตั้งกล้องเฝ้าลำน้ำ ซึ่งตอนที่ได้รับโทรศัพท์ผมก็รู้สึกว่าจะไปเฝ้าทําไมลำน้ำ แต่ก็เข้าไปร่วมประชุมและได้การบ้านมาว่า ต้องการติดกล้องวงจรปิดเฝ้าตามริมคลองเตย คลองอู่ตะเภา ก็ไปหาเทคโนโลยีว่าจะใช้อะไรดี เพราะว่าในช่วงปีนั้น (2554) กล้องส่วนใหญ่มันจะเป็นกล้องอนาล็อก ซึ่งกระบวนการที่จะทําให้มันออนไลน์ มันจะต้องมีทั้งกล้อง มีทั้งเครื่องบันทึก แล้วก็ต้องมี router อินเตอร์เน็ต มันยุ่งยา แล้วมันเป็นเป็นอุปกรณ์หลายชิ้นที่จะติดตั้ง” ภูเบศวร์ แซ่ฉิน
ภูเบศวร์ แซ่ฉิน นักธุรกิจด้านฮาร์ดแวร์ของเมืองหาดใหญ่ หนึ่งในทีม SCCCRN และเป็นทีมเทคนิคของเว็บไซต์ www.hatyaicityclimate.org เล่าย้อนกลับไปในช่วงตั้งต้นเว็บไซต์ โดยเขามีหน้าที่จัดหากล้อง และเซ็ตระบบกล้องให้สามารถเชื่อมต่อระบบออนไลน์เพื่อส่งภาพเข้ามายังเว็บไซต์ที่มีภาณุมาศ นนทพันธ์ เป็นโปรแกรมเมอร์คอยออกแบบระบบ
“ไอเดียเกิดขึ้นประมาณว่า เอากล้องไปจับตามจุดที่สําคัญของคลองที่ส่งผลเรื่องน้ำ อย่างเช่นที่หาดใหญ่ใน เวลาฝนตกหนัก คนก็จะไปดูน้ำที่หาดใหญ่ใน(สะพานหน้าที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่) ถ้าเราเอาภาพพวกนี้มาให้เขาดูได้ เขาสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นแล้วก็เตือนตัวเอง จัดการกับตัวเองได้” ภาณุมาศ นนทพันธ์
![]()
ขวา-ภูเบศวร์ แซ่ฉิน, ซ้าย ภาณุมาศ นนทพันธ์
“จะมีกล้องอยู่รุ่นหนึ่งที่สมัยนั้นสามารถเข้าไปดูภาพเหตุการณ์จริงในกล้องได้เลย แต่ปัญหาก็คือกล้องพวกนี้ รองรับคนได้ไม่มาก พอรองรับคนได้ไม่มาก ถ้าคนเข้าไปร้อยคนกล้องก็รับไม่ไหว เลยหาเทคนิคว่าทำอย่างไร ถึงจะรองรับคนปริมาณมหาศาลได้ โจทย์มันก็กลายเป็นว่าถ้าคนหลักแสน มาดูในเวลาสั้น ๆ พร้อมกัน กล้องต้องรับไหว เลยใช้เทคนิคในการเอาภาพมาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์แทน แล้วเราก็ปล่อยภาพจากเซิร์ฟเวอร์ไปยังหน้าเว็บไซต์ นี่เป็นวิธีที่เราใช้ในตอนนั้น” ภาณุมาศ นนทพันธ์
เทคนิคการแสดงภาพปัจจุบันและภาพย้อนหลังเมื่อ 30 นาที ที่ผ่านมา โดยสามารถย้อนหลังกลับไปดูภาพสถานการณ์น้ำภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาได้ ทำให้การรายการสถานการณ์ปัจจุบันด้วยภาพถ่ายกลายมาเป็นอีกจุดแข็งที่ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปเห็นความต่างของระดับน้ำได้ชัดเจน
“เมื่อเราเห็นความแตกต่าง เราก็จะเห็นอัตราการขึ้นของน้ำ ว่าขึ้นมาเท่าไหร่ในเวลา 24 ชั่วโมง ก็ช่วยให้การวิเคราะห์ได้ แต่ถ้าเราเห็นแค่ปัจจุบัน เราได้ข้อมูลนะ แต่ว่าข้อมูลมันได้แค่ ณ เวลาปัจจุบัน ไม่เห็นย้อนหลัง ซึ่งภาพสถานการณ์ย้อนหลังมีผล(ต่อการคำนวณและคาดคะเนสถานการณ์น้ำ)” ภาณุมาศ นนทพันธ์
ภาณุมาศ นนทพันธ์ อธิบายการใช้งานเว็บไซต์
เตือนภัยโดยไม่ต้องเตือนภัย
“เรามีคอนเซ็ปต์ว่า เตือนภัยโดยไม่ต้องเตือนภัย คือเมื่อทุกคนเห็นภาพเขาก็จะรู้สถานการณ์ของบ้านตัวเอง เพราะภาพและข้อมูลแจ้ง อย่างร่องน้ำจากสะเดามีความสูงต่ำ มีเขียนกราฟไว้ว่าถ้าสูงถึงระดับนี้น้ำจะท่วม ชาวบ้านทุกคนสามารถดูแล้วรู้เรื่อง และจะรู้ว่าถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เขาต้องเตรียมพร้อมยังไง ขณะเดียวกันภาครัฐแจ้งเตือนผ่านธงสี ปกติ-ธงเขียว เฝ้าระวัง-ธงเหลือง น้ำจะท่วมหรือท่วม-ธงส้มกับแดง ทำให้ชาวบ้านมีเวลาเตรียมตัว โดยคอนเซ็ปต์ของเราคือ ทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพ ประชาชนเป็นเจ้าของในเว็บไซต์” สมพร สิริโปราณานนท์
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย เพราะแค่เปิดเว็บไซต์ดูก็รู้ว่าบ้านเราต้องเตรียมหนีน้ำตอนไหน ก็น่าจะลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ แต่คุณสมพร บอกว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ทางทีมต้องสร้างกระบวนการรับรู้และถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนต่าง ๆ ทั่วหาดใหญ่ ซึ่งใช้เวลามากกว่า 10 ปี
“ยากมาก ยากจริง ๆ เพราะระบบการจัดการน้ำของหาดใหญ่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐหลายองค์กร อย่างเช่น ต้นน้ำคือของเทศบาลคือคอหงส์ กลางน้ำเทศบาลหาดใหญ่ ปลายน้ำเทศบาลคลองแห จะไหลมายังนี้ เทศบาลนั้นก็ว่าเทศบาลนี้ทิ้งน้ำ พอเราตั้งคณะทำงานขึ้นมาแรกๆ ครึ่งปีแรกผมมีหน้าที่คือฟัง ฟังคนนี้ฟังคนโน้น คนนี้เอาอย่างนี้ก็ว่าไป ฟังจนสุดท้ายรู้เลยว่าปัญหาของทุกอย่างที่พูดไม่สามารถแก้ไขได้โดยคนใดคนหนึ่ง ต้องแก้ไขเป็นทีมงาน ผมบอกอย่างนี้ทุกคนตัดเอาหมวกตัวเองกลับไปก่อน อย่าใส่หมวกเป็นตำแหน่งหน้าที่ ใส่ว่าคุณคือคนหาดใหญ่คุณจะแก้ไขปัญหาพวกนี้ได้ยังไง แล้วเราก็ทํากระบวนการกระบวนการ shared learning dialogue คือสุนทรียะคุยกันไปทีละขั้น ตั้งประเด็นแล้วคุย เรามีนักกระบวนการมาแนะนำการคุย วิธีการคุยเพื่อหาจุดร่วม” สมพร สิริโปราณานนท์
“เราเริ่มทำกระบวนการให้ได้ต้นแบบชุมชน ทดลองให้ชาวบ้านมาบอกว่าถ้าน้ำท่วมจะยกของยังไง ตรงไหนเป็นครัวกลาง จะย้ายคนสูงวัยไปตรงไหน ชุมชนไหนมีร้านขายของชำ พอขึ้นธงเหลืองยกข้าวสารเอามาตั้งที่ครัวกลาง จบภารกิจก็เบิกกับเทศบาล ซ้อมแผนด้วยการขึงเชือก สำรวจทำแผนที่ชุมชนบ้านไหนมีคนแก่ บ้านในที่มีคนติดเตียง บ้านไหนที่มีคนใกล้คลอด ทําออกมาจะได้ทราบ พอเจอเผชิญเหตุ ประธานชุมชนรู้แล้วว่าบ้านหลังนี้มีคนแก่รีบ เอาคนหนุ่มสาวตั้งคณะกรรมการซอยนี้ไปช่วยดูแล ทำเป็นคู่มือ” สมพร สิริโปราณานนท์
![]()
![]()
![]()
![]()
![]()
![]()
กล้องวงจรปิดที่คอยทำหน้าที่บันทึกภาพน้ำในคลองอู่ตะเภา ที่เป็นคลองหลักผ่านเมืองหาดใหญ่
ปัจจุบันเว็บไซต์ hwww.hatyaicityclimate.org มีการรายงานแผนที่อากาศ และภาพเรด้าตรวจอากาศแบบเรียลไทม์ และกล้องติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ ต.พะตง ต.ควนลัง และเทศบาลเมืองคอหงส์ รวมถึงพื้นที่คลอง ร.1 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการติดตั้งตามเส้นทางสายน้ำหลักที่จะไหลผ่านเมืองและชุมชนใกล้ทางน้ำ
“จริงพวกเราใน SCCCRN ทุกคนรู้ว่าหาดใหญ่น้ำยังต้องท่วมอีกไม่วันใดก็วันนึง เพราะว่าสภาพการใช้พื้นที่เปลี่ยนไป สภาพฝนก็เปลี่ยนไป ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าสภาพฝนจะเปลี่ยนไป จากการในอดีตเราบอกว่า ฝนตกทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น แล้วก็ต่อเนื่องกันหลาย ๆ วัน เปลี่ยนสภาพเป็นฝนตกแบบหนัก หนักสั้น ๆ ที่เรียกว่า Rain bomb ตรงนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมว่า พอฝนลงมาหนัก ๆ เทลงมาทีเดียว น้ำระบายไม่ทัน กว่าน้ำจะไหลไปจนถึงคลองนั่นก็คือน้ำท่วมแล้ว” ภูเบศวร์ แซ่ฉิน
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เคยอธิบายปรากฎการณ์ rain bomb ไว้ว่า “เนื่องจากเป็นศัพท์ใหม่ จึงไม่มีการฟันธงว่านี่คือปรากฏการณ์ “ระเบิดฝน” หรือไม่? แต่ว่าง่าย ๆ คือเหมือนฟ้ารั่ว เนื่องจากน้ำจากฟ้าถล่มลงมาอย่างรุนแรงในช่วงแสนสั้น การรับมือแบบดั้งเดิมจึงมีปัญหา ผลกระทบจึงมาสู่ชีวิต และทรัพย์สินตลอดจนการทำมาหากินของพวกเรา rain bomb อาจแฝงมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคโลกเดือด เพราะมหาสมุทรร้อน น้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เมฆมีน้ำอยู่มากมายพร้อมทะลักทลายจากบนฟ้าในช่วงสั้น ๆ”
“ระบบเตือนภัยไม่ได้สำคัญที่สุด แต่ทั้งการเตือนภัย จัดการ วางระบบ ช่วยเหลือ ระวังภัย ฟิ้นฟูหลังประสบภัย มันต้องเป็นระบบ แล้วต้องมีผู้มีอำนาจดูแลทั้งหมด ผมยกตัวอย่างเราช่วยเตือนภัยได้ พอประสบภัย จะเข้าไปช่วยต้องเข้าทางไหน ออกทางไหน เพราะถ้าไม่เคยซ้อมแผน ถ้าไม่เคยรู้เส้นทาง แล้วคุณจะไปช่วยเหลือกันอย่างไร แล้วหลังประสบเหตุจะทํายังไงจะเคลียร์ยังไง เพื่อไม่ให้ของเสียหาย เพราะฉะนั้นต้องมีแผนปฏิบัติการที่เคยซ้อมมาก่อน” สมพร สิริโปราณานนท์
“hatyai city climate คือการร่วมมือกัน แล้วสร้างให้ประชาชนรับรู้และรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของด้วยเหมือนกัน คือหัวใจของเรื่องนี้”
นอกจากเว็บไซต์เตือนภัย ปัจจุบันทางกลุ่ม SCCCRN ได้พัฒนาระบบบริหารความช่วยเหลือ Line OA หาดใหญ่สู้ภัยน้ำท่วมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นระบบเสริมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างช่องทางให้ประชาชนได้สามารถร้องขอความช่วยเหลือในขณะเกิดเหตุโดยมีการจัดระบบข้อมูลอย่างเป็นระบบ