โค้งสุดท้าย ร่วมจับตาและชี้ชะตาร่างกฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง

เขียน : เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN)

หากนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเสนอกฎหมายฉบับนี้แรก ๆ ก็เดินทางมาจวบจนครบ 10 ปีพอดี ซึ่งขณะนั้นมีการยกร่างในชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” โดยหวังให้เป็นกลไกการแก้ไขปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐ จากนั้นก็มีการปลุกปั้นกันมาเรื่อย ๆ เคยมีการเสนอเข้าสู่สภาแล้วครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2558 ผ่านทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใด  จนกระทั่งมีการตั้งต้นใหม่รวบรวมรายชื่อกว่าหมื่นสองพันราย ยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปอีกครั้ง ในสมัยรัฐบาลพล.เอก. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  แต่มาชะงักไปเพราะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่  โชคยังดีที่ในขณะนั้นถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุมแล้ว จึงเป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาต่อโดยที่ไม่ต้องรวบรวมรายชื่อเสนอกันใหม่

หลังจากล้มลุกคลานกันมาอย่างยาวนาน ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาก็ได้หยิบยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณา พร้อมด้วยร่าง อื่นๆ  อีก 4 ฉบับที่นำเสนอโดยภาคประชาชน (พีมูฟ)  พรรคการเมืองโดยพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) ร่างฯของพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยร่างฯ ที่นำเสนอโดยรัฐบาล ซึ่งครั้งนั้นสภาฯ มีมติรับในหลักการ นำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาตามกลไกการเสนอกฎหมาย โดยใช้ร่างที่นำเสนอโดยรัฐบาลเป็นฉบับหลัก ที่ใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….”

สำหรับวาระการประชุมสภาในวันนี้ (8 มกราคม 2568) หากเสียงส่วนใหญ่มีมติตีตก ก็ต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด หรือต่อให้มีมติรับรอง แต่ก็ต้องลุ้นกันต่อว่าจะยังคงมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์เดิมตอนริเริ่มเสนอกฎหมายครั้งแรกหรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. วาระ 2 โดยมีมติให้ถอนร่างกลับไปพิจารณาในข้อกังวลทั้ง 3 อันดับได้แก่ 1.เสนอให้ตัดคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองทิ้ง โดยให้เหตุผลว่าขัดกับบริบทของประเทศไทย และใช้คำว่ากลุ่มชาติพันธุ์เพียงคำเดียว เพราะคำที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและครอบคลุมแล้ว

ต่อมาในข้อที่ 2. คือเรื่องสถานะและกลไกของสภาชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีประเด็นข้อกังวลในเรื่องการทำงานของกลไกนี้ ทั้งเรื่องขนาด โครงสร้างและงบประมาณ สุดท้ายข้อที่ 3. เรื่องบทลงโทษต่อผู้ที่ทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่ทางสภาผู้แทนราษฎรมองว่า กฎหมายฉบับนี้ควรเป็นไปในลักษณะส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่าที่จะเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นไปที่การลงโทษ

ลำดับเหตุการณ์

  • 6 เม.ย. 2561 แผนปฏิรูปประเทศ ด้านสังคม กำหนดให้มีการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์
  • 25 ก.ค. 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงนโยบายต่อสภาฯ ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมาย “การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์“ ตามแผนปฏิรูปประเทศ
  • 29 พ.ย. 2563 คณะทำงานร่างกฎหมายฯ กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เปิดร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งแรก
  • 15 ก.พ. 2564 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุน เสนอร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
  • 9 มิ.ย. 2564 ส.ส.พรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • 16 มิ.ย. 2564 มุกดา พงษ์สมบัติ ประธาน กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคณะ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
  • 23 พ.ค. 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ครั้งแรก
  • 22 พ.ค. 2566 การลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล 7 พรรคการเมืองนำโดยพรรคก้าวไกล มีเรื่องการแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินรัฐทับซ้อนที่ดินประชาชน ซึ่งรวมถึงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ เป็นหนึ่งในวาระร่วม
  • 9 ส.ค. 2566 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประกาศเจตจำนงเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ทุกฉบับให้ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา
  • 22 ส.ค. 2566 กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ร่วมกับภาคีเซฟบางกลอย จัดเวที 3 ปีบางกลอยคืนถิ่น ยืนยันกลับสู่ที่ดินบรรพบุรุษ พร้อมเรียกร้องผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์
  • 2 ต.ค. 2566 พีมูฟ ชุมนุมปักหลักประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องนโยบาย 10 ด้าน หนึ่งในนั้นคือนโยบายและการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ฯ
  • 24 พ.ย. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ในการกำหนดนโยบายส่งเสริมฟื้นฟูวิถีชีวิตทุกมิติ
  • 14 ธ.ค. 2566 สภาผู้แทนราษฎร ให้ตัวแทนภาคประชาชนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ชี้แจงหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมาย โดยมีการอภิปรายสนับสนุนกฎหมายจากตัวแทนสส. อย่างกว้างขวาง 
  • 19 ธ.ค. 2566 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย แถลงขอบคุณสภาฯ อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เรียกร้องเร่งรับหลักการ ตั้งกมธ. พิจารณากฎหมาย
  • 20 ธ.ค. 2566 สภาผู้แทนราษฏร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ แต่ครม. ขอนำกลับไปศึกษาภายใน 60 วัน โดยมีเงื่อนไขให้นำกลับมาพิจารณาในสภาฯ พร้อมกับกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันรวม 4 ฉบับ 
  • 9 ม.ค. 2567 เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม คาดดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ (ฉบับรัฐบาล) เข้าครม. ภายใน 2 สัปดาห์ ยืนยันดันทุกร่างฯ เข้าสภาฯ พร้อมกัน
  • 6 ก.พ. 2567 ครม. อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ เสนอ   ดูเพิ่มเติม ›
  • 19 ก.พ. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงนามรับรอง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่เสนอโดย ขปส. และเครือข่ายชาติพันธุ์ เข้าชื่อกว่า 15,000 รายชื่อ ซึ่งถูกตีเป็นกม.ทางการเงิน
  • 28 ก.พ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบรับหลักการ “ร่างกฎหมายชาติพันธุ์” ทั้ง 5 ฉบับ เดินหน้าตั้งกรรมาธิการพิจารณา

กฎหมายออกกี่โมง ? รับหลักการแล้วไปไหนต่อ

โดยก่อนการมาถึงของการพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์ในวันที่ 8 ม.ค. 2568 นี้นั้น ทาง IMN ได้พูดคุยกับศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงความพร้อมและความสำคัญของการพิจารณาในครั้งนี้

3 ข้อกังวลของสภาผู้แทนราษฎร

“ตอนนี้มีการปรับปรุงเนื้อหาเรียบร้อยและส่งเรื่องให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว”

ศักดิ์ดากล่าวว่า เมื่อมองกระบวนการพิจารณาที่กำลังเกิดขึ้น ทุกฝ่ายมีความพยายามที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับรองและถูกนำมาใช้ได้โดยเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องแลกกับการสูญเสีย 3 ประเด็นสำคัญที่ถูกตัดทอนไป เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถผ่านไปได้

“การตัดคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองออกไป ทำให้อัตลักษณ์และวิถีชีวิตเฉพาะของชนเผ่าพื้นเมืองที่เรานิยามไว้ จะไม่ถูกทำให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้โดยตรง”

ศักดิ์ดามองว่าคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นคำที่มีความหมายกว้าง เพราะคนทุกคนมีความเป็นชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งอยู่แล้ว แต่นิยามสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองนั้น คือลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่พวกเขาอยู่ในสังคมใหญ่ในลักษณะที่มีอำนาจต่อรองไม่เทียมเท่ากับกลุ่มใหญ่ๆ ในสังคม

“ตอนนี้มันเหมือนกฎหมายที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ”

ศักดิ์ดาอธิบายต่อถึงประเด็นการตัดบทลงโทษออก โดยได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านห้วยหินลาดในในปีที่ผ่านมา ที่มีคนบุกรุกเข้าไปทำลายพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน โดยที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับบทลงโทษแต่อย่างใด ทำให้การกระทำเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในอนาคต โดยที่คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ลงความคิดเห็นว่า มีกฎหมายเฉพาะที่จะลงโทษสำหรับผู้ละเมิดสิทธิอยู่แล้ว แต่ศักดิ์ดามองว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ตรงกับการละเมิดสิทธิภายใต้ร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่เสนอไป ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติ การตีตราเหมารวม อคติทางชาติพันธุ์ เป็นต้น

และสุดท้ายคือข้อกังวลเรื่องกลไกของสภาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทางสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องการให้คงไว้ซึ่งสถานะนิติบุคคล แต่ศักดิ์ดามองว่าการมีสถานะนิติบุคคล จะทำให้สภามีความอิสระในการดำเนินงาน การบริหารจัดการงบประมาณ หรือโครงการต่างๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้โดยตรงผ่านกลไกของสภาฯ

“เจตนารมณ์ของสภาฯ มาจากการเสนอเข้าไปของกฎหมายร่างของประชาชน ที่จะทำให้สภามีความเป็นอิสระ และมีกลไกที่จะได้รับการหนุนเสริมสนับสนุนจากตัวกฎหมายนี้”

โดยศักดิ์ดาเชื่อมั่นว่าในวันที่ 8 ม.ค. นี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีความเข้าใจตัวกฎหมายนี้มากขึ้น แม้กฎหมายนี้จะไม่สามารถผ่านการพิจารณาแบบที่ภาคประชาชนพึงพอใจเต็มร้อยก็ตามที

ร่วมจับตาและชี้ชะตาร่างกฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง

“วันที่ 8 จะเป็นความท้าทายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการเข้าไปพิจารณากฎหมายฉบับนี้”

ศักดิ์ดามองว่าทิศทางที่แย่ที่สุดที่เป็นไปได้คือ กฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งก็จะทำให้เห็นว่าร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ รวมกับร่างของรัฐบาลและพรรคการเมืองนั้นไม่ผ่านด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญให้ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2555 ต้องถอดบทเรียนและทำงานกับสังคมให้มากกว่าเดิม

“พรบ.นี้ต้องการที่จะส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่มีลักษณะเฉพาะตามวิถีชีวิตของพวกเขา”

ศักดิ์ดาย้ำถึงหัวใจสำคัญของร่างกฎหมายนี้ โดยคาดหวังว่ากฎหมายนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือให้กับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ ในการได้รับการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างยั่งยืน

“ครั้งนี้คือรอบสุดท้าย ถ้าไม่ผ่านเราต้องมาเริ่มกันใหม่ในการหาหนทางปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”

โดยศักดิ์ดาได้เชิญชวนให้ประชาชนได้ร่วมกันจับตาการพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ในวันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่จะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รวมทั้งช่วยกันส่งเสียงถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เห็นความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ดีศักดิ์ดาให้ความมั่นใจว่า การพิจารณาร่างกฎหมายครั้งนี้คณะกรรมาธิการมีการเตรียมตัวและปรับเนื้อหามาอย่างดี รวมทั้งถ้าหากการพิจารณาครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นของสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่มีความเห็นร่วมต่อประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น โดยที่ไม่ได้แบ่งแยกว่ากฎหมายฉบับนี้มาจากฝั่งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะมันคือกฎหมายที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชน

ย้อนอ่านข้อมูลเพิ่มเติม

รายการอนาคตประเทศไทย : มองไกลกว่า พรบ.ชาติพันธุ์ https://fb.watch/qvKOP2pJ8V/

แชร์บทความนี้