ชนบทไทยในสายตาเจิมศักดิ์

“มันเปลี่ยนไปแล้ว จากนี้ต้องดึงคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน กระจายอำนาจ กระจายเศรษฐกิจ กระจายการมีงานทำ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น จะช่วยให้ท้องถิ่นรอดในวันที่คนสูงวัยล้นเมือง”

สังคมไทย รู้จัก รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง  ในหลายสถานะ 

นักสื่อสารมวลชนคนดัง  ผู้ออกจากสตูดิโอไปเปิดเวทีให้ชาวบ้านกำหนดเนื้อหา   นักเศรษฐศาสตร์ผู้ผสมผสานลงทำงานในฐานะนักพัฒนาชนบท  และล่าสุด ประธานกรรมการนโยบายของสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส 

ทีม “Locals” อยากสนทนากับอาจารย์เจิมศักดิ์ ในฐานะคนต่างจังหวัด  คนท้องถิ่นคนหนึ่ง ที่ได้เดินทาง ฟังเรื่องราวร้อนหนาวในต่างจังหวัดหลายสิบปี    ย้อนกลับไปมองท้องถิ่นอีกครั้ง  ความเปลี่ยนแปลง การเติบโต และทิศทางไปของต่างจังหวัดในสายตา “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง”

อาจารย์เป็นคนอ่างทอง ?

ผมเป็นคนวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ผมเป็นคนต่างจังหวัดที่ในสมัยวัยเด็ก  เวลาจะเข้ากรุงเทพฯ ทีนึง  ผมต้องนั่งเรือ รอเรือผ่านที่ท่าเรือช่วงบ่ายสามโมง   กว่าจะถึงกรุงเทพฯ ก็ตีสี่ ตีห้า ง่ายๆ คือนอนรอในเรือจนสว่าง จึงขึ้นฝั่งที่ท่าเตียน 

ตอนผมเป็นเด็ก สมัยนั้นโทรศัพท์ไม่ ทีวีที่บ้านยังไม่มี   พอเริ่มโตขึ้นนิดนึง เริ่มมีทีวีขาวดำ ผมเป็นลูกแม่ค้าขายหนังสือเรียน พ่อเป็นครูประชาบาล  ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะเป็นครูสอนเด็กเล็กประถมต้น ๆ พ่อผมรักในการสอนหนังสือ  ต้องแจวเรือรับส่งเด็กเพื่อมาเรียน  แต่โชคร้าย ผมกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ 3 ขวบเศษ

ผมมีโอกาสมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ สอบเสร็จต้องรีบกลับบ้านไปช่วยแม่ขายหนังสือ   สมัยนั้นต้องเดินทางกลับทาง เรือ  พอตอนหลังก็เริ่มมีถนน แต่ถนนไปถึงแค่ตัวอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ยังต้องนั่งรถต่อไปยัง อำเภอวิเศษชัยชาญ  ถนนก็ไม่มี  วิ่งโยกตามทุ่งนา  โอ… รถกระโดด กระโดก กระเดก

 ผมเข้ามาเรียนที่ กรุงเทพฯ เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยนั้นไม่รู้หรอกว่าเศรษฐศาสตร์มันเรียนอะไร   เราก็ฟังฟังเขามา เห็นญาติเรียนน่าสนใจก็เรียนตาม    แล้วก็ความบังเอิญเพราะผมเรียนหนังสือไม่ดีเท่าไหร่หรอกตอนที่เรียนในระดับมัธยมปลาย แต่พอไปเรียนเศรษฐศาสตร์  ผมอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มแรกผมรู้สึกว่ามันสนุก  มันเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันสนุก มันใช่ มันคือสิ่งที่น่ารู้   มันพลิกชีวิตผมเลย มันทำให้ผมชอบในการเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมันเป็นวิชาที่ผมทำคะแนนได้ดี ระดับต้นของชั้นเรียน แล้วผมก็ทำได้ดีมาโดยตลอด จนผมเรียนจบได้ที่หนึ่งของเกียรตินิยมอันดับ 1

ต่อมาจึงถูกชวนให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอว่ามาเป็นอาจารย์โอกาสได้ทุนเรียนต่อสูงขึ้น ในที่สุด ก็เป็นอาจารย์ แล้วได้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ Stanford University  แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์

แล้วจากเป็นอาจารย์ก็เข้ามาทำรายการทีวีในยุคนั้นได้อย่างไรครับ ?

ก่อนหน้าทำรายการทีวี ผมได้มีโอกาสทำวิจัยและทำงานพัฒนาชนบทในอีสานเหนือ ผมเป็นคนชอบเป็นวิทยากรและดำเนินรายการสัมมนา และผมอาจจะมีวิธีเล่าเรื่อง วิธีอธิบายที่ทำให้คนเข้าใจง่าย เพราะฉะนั้นบทผมในขณะนั้น ก็เลยสนุกกับการที่เราจะสอนหนังสือในห้อง และก็สนุกที่จะใช้เวทีในการพูดในการสอนนอกห้องเรียนมาโดยตลอด

ผมถูกชวนไปทำรายการทีวี หลังจากที่ผมจัดเวทีดีเบท ที่หอประชุมธรรมศาสตร์  ระหว่างอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล และคุณเฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในขณะนั้น   ตอนนั้นตั้งกติกาการพูดคุยกำหนดเวลาให้คุยในเวลาเท่าๆกัน  ผมมีระฆังชกมวยไปห้อยไว้แล้วผมก็บอกว่าเมื่อเหลืออีก 1 นาทีเดี๋ยวผมจะเคาะ แต่ถ้าครบเวลาเมื่อไหร่แล้วผมจะเคาะแรงขึ้น  ปรากฏว่าเขารู้กติกาแล้ว ไม่มีใครเกินเวลาเลย พอจบการดีเบต ผมจึงถูกชวนให้ผมไปทำรายการ “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” แต่ผมปฏิเสธ  

จนสุดท้ายในยุครัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ยุคนั้นเป็นยุคที่เราเผชิญกับเรื่องวิกฤติพลังงาน มีมาตรการเพื่อประหยัดไฟ งดการออกอากาศของทีวีทุกช่อง ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงสองทุ่ม  พอปัญหาพลังงานหมดลงผมเลยเสนอต่อรัฐบาลชาติชายว่า  เราน่าจะอนุญาตให้ทีวีกลับมาออกอากาศได้แต่ต้องมีเงื่อนไข เฉพาะรายการที่เน้นเนื้อหาสาระที่เป็นข่าวสารส่งเสริม เด็กเยาวชน ครอบครัวและผู้ด้อยโอกาส รัฐบาลเห็นด้วยในช่วงนั้น

คนที่รับนโยบายนี้มา เขาก็บอกว่า เมื่ออาจารย์เป็นคนต้นคิด อาจารย์ต้องเป็นคนทำ ผมจึงรับทำรายการชื่อ “เวทีชาวบ้าน” “เกษตรสนทนา”  ทางช่อง 11 ผมทำงานพัฒนาชนบท ผมรู้ดีว่าชาวบ้านมีภูมิปัญญา ชาวบ้านมีองค์ความรู้ ที่แปลก แล้วก็สนุก ผมเองก็ได้เรียนรู้จากชาวบ้าน ทำให้ผมมีสต๊อกรายชื่อปราชญ์ชาวบ้าน

พอตกลงก็นัดวันอัดรายการ มีสตูดิโอที่สปอตไลท์ ไฟแรง แอร์เย็น ผมชวนชาวบ้านมาอัดเทป 2 เทป พบว่าผลไม่เป็นแบบที่เราอยากได้ ชาวบ้านนั่งเกร็ง ไม่เหมือนที่ผมเคยคุยด้วยในชุมชน ในไร่นา ใต้ต้นไม้  ในบ้านที่เขาอยู่ เลยปรึกษากันว่า เอายังไงดี ผมไม่ถ่ายทำในสตูดิโอแล้ว ไปข้างนอกอัดเทปที่ในหมู่บ้านได้หรือไม่ ผมยอมอัดมากกว่า 1 เทป จะวันละ 3 เทปก็ได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง    เพื่อให้เราลงไปคุยกับชาวบ้าน ตอนนั้นผมจึงสนุกมากและรายการที่ผมทำ ตอนนั้นคนจึงดูช่อง 11 มากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะเราลงไปทำรายการ ไปถ่ายชาวบ้าน ญาติเขาพี่น้องเขา คนในชุมชนเขารอดูตัวเองออกทีวี ดูหมู่บ้านเขาได้ออกทีวี เพราะสมัยนั้นทีวีมีไว้ให้ผู้มีอำนาจเท่านั้น 

ต่อมาได้ทำรายการมองต่างมุม ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มาแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของสังคม บ้านเมือง  ได้ไปถ่ายทำมาครบ 77 จังหวัด

ต่างจังหวัดเปลี่ยนไปมากไหมในสายตาอาจารย์เจิมศักดิ์

ถามคุณกลับว่า สมัยก่อนเราเห็นคนใส่เสื้อผ้าขาดๆ เดินริมทาง แต่ตอนนี้  ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป  คนจนติดดินจริง ๆ ตอนนี้น้อยลงมาก แต่ช่องว่าความเหลื่อมล้ำก็มากขึ้น ผมเคยทำวิจัยเรื่องความยากจน วิธีค้นหาคนยากจนก็คือคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน  แล้วต้องแอบอยู่หลังวัดหรือหลังยุ้งข้าว ปลูกกระต๊อบอยู่ ไม่มีไฟใช้ ต้องซื้อไฟ ต้องขอต่อไฟจากบ้านข้าง พวกนี้จะจน แต่ตอนนี้เนี่ยผมก็เชื่อว่าลดน้อยลงไปเยอะ อันนี้พูดในมุมเศรษฐกิจ  ผมคิดว่าความยากจนคือมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น   ทั้งอาชีพ เสื้อผ้า อาหารที่อยู่อาศัยดีขึ้น  ยารักษาโรคก็ดีขึ้น แต่ที่น่าเสียดายคือความแตกต่างมันยังคงอยู่   คือคนรวยกว่าเดิมก็เยอะ มันเลยมีความแตกต่างสูง แล้วที่น่าเสียใจอยู่อันนึ่งผมยังจำอยู่ตลอดก็คือเขาแย่งโรงงานอุตสาหกรรม เขาแย่งนักลงทุนกัน เหมือนประเทศไทยตอนนี้ที่พยามแย่งนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุน

ตอนนั้นผมไปทำรายการที่นครสวรรค์ อีกครั้งหนึ่งไปทำที่พิษณุโลก สองจังหวัดนี้เขาแย่งนักลงทุนมาเปิดนิคมอุตสาหกรรมกัน ผมถามเขาว่าทำไมอยากได้นิคมอุตสาหกรรม   นอกจากมาเพิ่มการจ้างงานนิดหน่อย พอผลิตผลอุตสาหกรรมที่เขาผลิตได้เขาก็ส่งไปขายนอกพื้นที่ บ้านคุณเองก็มีแต่ขยะแล้วก็มีมลพิษนะ ถ้าจังหวัดไหนอยากได้อุตสาหกรรมก็ให้เขาไป เราส่งคนบ้านเราไปทำงานไม่ดีกว่าหรือ ?

เขาบอกว่าไม่รู้ เขาจะเอาความเจริญจากอุตสาหกรรม  ยิ่งมีนิคมอุตสาหกรรมยิ่งเจริญ แต่ตอนนี้พวกอุตสาหกรรม โรงงานไปที่ไหน  ชาวบ้านก็บอกไม่เอา ทำให้เราคิดว่าตอนนี้รัฐบาลก็ไม่ต่างอะไรที่อยากจะไปชวนนักลงทุนมาลงทุนทำอุตสาหกรรม ถ้าคิดไม่รอบคอบ เราก็จะได้แต่ขยะ เราก็ได้จากการจ้างงานนิดหน่อย ภาษีที่จะได้ก็ไปยกเว้นให้เขา เรื่องเทคโนโลยีก็อาจจะไม่ได้ ถ้าไม่คิดให้ดี เหมือนกับอุตสาหกรรมที่เกิดในต่างจังหวัด นิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ที่พูดเรื่องนี้ เพราะจะชี้ให้เห็นว่าตอนนั้นต่างจังหวัดเขาแย่งอะไรกัน ตอนนี้คนรู้ตัวแล้วว่าการมีอุตสาหกรรม มันมีผลต่อมลภาวะ ตอนนี้ชาวบ้านเข็ดมาก

แล้วยุคนี้ล่ะครับ ตอนนี้คนกลับไปท้องถิ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และพยายามสร้างสรรค์งาน

 ผมเองเป็นคนบ้านนอก แต่ในที่สุดก็มาทำงานในกรุงเทพฯ ผมอยากจะบอกคุณว่าโครงสร้างสังคมไทยมันไม่เอื้ออำนวยให้คนทำงานต่างจังหวัด ยิ่งคุณเรียนสูงมากคุณหางานทำไม่ได้ ที่ตรงตามที่ที่คุณมีความรู้  ต้องมาทำงานกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพและปริมณฑล เพราะการศึกษาของเราก็เป็นการศึกษาที่รวมศูนย์  คุณอยู่จังหวัดไหนก็ตาม อยู่ในอีสาน  อยู่ภาคใต้ ภาคเหนือ คุณเรียนแล้วรู้เรื่องเดียวกันหมด ถูกกำหนดเนื้อหาจากส่วนกลาง แล้วคุณเรียนแล้วคุณไม่รู้จักบ้านตัวเอง คุณอยู่จะสบายไหม คุณจะทำอะไรที่บ้านตัวเองไหม เฉพาะฉะนั้น คนก็ต้องไปทำงานที่ตัวเองทำงานได้ มีความรู้ดี ก็ถูกดูดสมอง ดูดปัญญาออกจากชนบทเข้ามาในเมืองและคนในเมืองก็ถูกดูดไปอยู่ต่างประเทศ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะฉะนั้นสมองจึงไหลจากชนบท   

ทางแก้มันมี แต่เราไม่เคยทำ คือ การกระจายอำนาจ ปัจจุบันกระจุกอำนาจ ทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง กระทรวงศึกษาก็ส่งคนไปประจำอยู่ที่จังหวัด ศึกษาจังหวัด ศึกษาอำเภอ มหาดไทยก็ส่งผู้ว่าฯลงไป ทุกอย่างส่วนกลางเป็นเจ้าของเรื่อง ที่ผ่านมาไม่เคยให้ต่างจังหวัดคิดทำอะไรได้เอง   เราพยายามผลักให้เกิดการกระจายอำนาจ เขาก็เพียงแบ่งอำนาจให้ ทำได้ทีละเรื่อง เรื่องนี้ทำได้ เรื่องนี้ทำไม่ได้แค่นั้นเอง แล้วแต่ส่วนกลางจะมอบอำนาจ และแบ่งอำนาจเป็นเรื่องๆ ไม่ได้เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง ซึ่งก็คือการกระจายการตัดสินใจ

 คีย์สำคัญคือ ปัจจุบันเขาไปมอบให้ทำอะไรได้บ้าง แต่ที่จริงแล้วต้องมอบว่าทำได้ทุกเรื่อง เว้นแต่อะไรทำไม่ได้ เช่นการ ออกธนบัตรของตัวเอง มีศาลยุติธรรมของตัวเอง มีทหารของตนเองไม่ได้ แนวคิดน่าจะเป็นแบบนี้ ประกอบกันเศรษฐกิจก็กระจุกตัว การลงทุนก็กระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง คนก็หลั่งไหลเข้ามาเรียน มาทำงานที่ส่วนกลาง  

ที่บอกว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่กลับบ้านมากขึ้น ผมต้องยกให้โควิด -19 ที่ช่วยเป็นตัวเร่งรัดให้คนกลับบ้านเยอะ คนเราเวลาไปที่อื่นแล้วถ้าไม่ประสบความสำเร็จหรือมีปัญหามักจะกลับบ้าน  ผมคิดว่าคนที่เดินทางมาทำงานต่างแดน  เป็นคนไม่ธรรมดา ไม่ใช่คนในท้องถิ่นทั่วไป เขาเป็นผู้กล้า กล้าเสี่ยง กล้าเผชิญ  กล้ากับสังคมที่ตัวเองไม่คุ้น เพราะฉะนั้นคนที่ไปทำงานเวลาเขากลับบ้าน ผมคิดว่าคนพวกนี้ไปซึมซับไปเรียนรู้ ในต่างแดน แล้วก็เป็นนักสู้ พอเขากลับบ้าน ทำให้เขากลับไปพลิกฟื้นสร้างตัวเองในบ้านของเขาได้เพิ่มมากขึ้น   ถ้าให้ดีต้องให้เขาถ้ากลับบ้านเกิดไปแล้วไม่ดูถูกภูมิปัญญาของท้องถิ่นแล้วใช้ความรู้ที่เขามี ผสมกับความรู้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย คนในท้องถิ่น ผมว่าจะเกิดประโยชน์

ถ้ารัฐรู้จักการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีงานของตัวเองเพิ่มมากขึ้น จะช่วยรองรับสังคมสูงวัย เพราะคุณลองคิดดู ต่อไปผู้สูงอายุจะมีจำนวนมาก ควรจะต้องกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่น ถ้าลูกไม่ต้องไปทำงานไกล จะสามารถช่วยดูแลพ่อแม่ได้ดี รัฐก็จะเบาแรง สังคมก็จะดีขึ้น จึงจำเป็นต้องกระจายอำนาจ กระจายเศรษฐกิจ กระจายการมีงานทำ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น

ซึ่งอาจารย์และกรรมการนโยบายก็มีนโยบายให้ไทยพีบีเอสกระจายอำนาจ

 อะไรคือเบื้องหลัง ความคิดการกระจายอำนาจของผม…

1. ผมความคิดว่า ชนบทในแต่ละภูมิภาคมีของดี ผมทำงานพัฒนาชนบท ผมพบว่า ชาวบ้านมีวัฒนธรรมของภูมิภาคที่ดี มีภาษาที่ดี   มีศิลปะที่ดี มีภาษาของตัวเอง มีเรื่องราว มีความเชื่อพื้นฐานที่แตกต่างหลากหลาย

2.ผมเชื่อว่าสื่อสาธารณะเป็นของดี ที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร ให้เติบโตทางความคิด

3. ผมคิดว่าไทยพีบีเอสมีศูนย์ อยู่ 3 ศูนย์ ซึ่งเหมาะเจาะเลย   และผมพบว่า ศูนย์ของเราทำงานเหมือนโครงสร้างราชการ มีศูนย์ 3 ศูนย์ มีคนทำงานอยู่ 3 สำนักฯ หรือ 3 ส่วนงาน แต่ละส่วนงานขึ้นอยู่กันส่วนกลาง ไม่ต่างจากราชการที่ทุกคนก็ฟังคำสั่งจากส่วนกลาง ไม่มีอำนาจการตัดสินใจเท่าที่ควร

4.เรามีเครือข่ายในภูมิภาค ทั้งมหาวิทยาลัย สื่อท้องถิ่น สื่อพลเมือง สภาผู้ชมฯอยู่ทุกภูมิภาค

เมื่อเชื่อใน 4 อย่าง ทำไมถึงไม่สร้างสื่อสาธารณะให้เติบโตเป็นของภูมิภาค และในแต่ละแห่งเมื่อเรามีศูนย์อยู่ทุกภูมิภาค มีเครือข่าย  เนื้อหามันมีแน่ ๆ รูปแบบ PBS   จับกับเนื้อหาที่ดี ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์นี้ทางออนไลน์  ไม่ต้องพึ่งทีวีซึ่งต้องมีใบอนุญาต   ปัจจุบันชาวบ้านยังทำสื่อผ่านออนไลน์และสื่อโซเชียล ถ้าเรายังผูกอยู่กับส่วนกลาง เนื้อหาที่เราทำ ก็ไม่โดดเด่นแตกต่าง

จากคอนเซ็ปต์ สู่การทดลองจริง พบว่าเครือข่ายที่ร่วมทำงานด้วย ตื่นตัวมากเป็นพิเศษ การทำงานจริงเราไม่ได้มีโมเดลที่สำเร็จรูป แต่เรายอมรับได้ถึงความต่างของแต่ละภูมิภาค อะไรที่ดี ก็ทำต่อ อะไรที่ไม่ดี ก็ปรับ แต่ละศูนย์แต่ละที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่การสื่อสาธารณะภูมิภาค จะช่วยงานท้องถิ่นได้เยอะขึ้นมาก.


สัมภาษณ์โดย : สุรพงษ์ พรรณ์วงษ์

แชร์บทความนี้