จากทางผ่านเป็นที่พัก ยอดภูเขาสูงตระหง่านในภาคอีสาน บริเวณรอยต่อ 4 จังหวัด ขอนแก่น หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ ผ่านกาลเวลานับศตวรรษจัดเก็บอารยธรรม สั่งสมวัฒนธรรม พัฒนาด้วยนวัตกรรม ก่อกำเนิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน วิถีชีวิต “ไทภู”
“ถ้านึกถึงแหล่งท่องเที่ยว จะนึกถึงผู้คน มีสถานที่สวยงาม คนจึงอยากไปดู นึกถึงผู้คนที่อยู่รอบสถานที่นั้น ๆ คนที่อยากไปดู ก็อยากดูสิ่งสวยงาม คนที่อยู่รอบข้าง ก็อยากมีคุณภาพชีวิตของตนที่ดีขึ้น ประกอบรายได้ ประกอบอาชีพให้ตนเอง การที่คนสองกลุ่มมาเจอกัน ทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เราอยากให้ชม จะสร้างสรรค์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียกคนมาเยี่ยมชมได้เยอะ ๆ ได้อย่างไร” “ส้มต่อน” โอภาส สินธุโคตร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สํานักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ดูแลโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” คืนถิ่น 2 ให้ภาพความคาดหวังในการท่องเที่ยวชุมชนอีสาน
ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น ชวนเครือข่ายชุมชนในพื้นที่นิเวศท่องเที่ยวภูเขา หรือ “ไทภู” ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนในระดับท้องถิ่น นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวงโสเหล่เสวนาเพื่อมองภาพอนาคตของการท่องเที่ยวเชิงภูเขา หาหนทางสร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน มองหาความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกันทุกภาคส่วน
2566 สถิตินักท่องเที่ยวอีสาน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ isaninsight ที่มีการเก็บรวบรวมตัวเลขมูลค่าการท่องเที่ยวภาคอีสาน ในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งภูมิภาค ประมาณ 41,658,727 คน ทำรายได้กว่า 88,299 ล้านบาท ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้จะคิดเป็นเพียง 4% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ แต่ภาพรวมการท่องเที่ยวในภาคอีสานของปี 2566 เติบโตขึ้นถึง 59%
กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่และเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกัน ได้แก่ ขอนแก่น หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกันสูงถึง 19,232 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวรวมประมาณ 8,066,437 คน โดยจังหวัดขอนแก่นมีรายได้อยู่ที่ 11,301 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยว 3,923,536 คน จังหวัดเลยมีรายได้ 5,080 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยว 2,173,453 คน จังหวัดชัยภูมิมีรายได้ 2,485 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยว 1,653,013 คน และจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีและคณะได้สัญจรลงพื้นที่แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีรายได้ 366 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยว 316,435 คน
นอกจากจะมีต้นทุนทางทรัพยากร มีภูเขา มีแม่น้ำโขง เลย ขี มูล ที่เชื่อมต่อกัน ที่อีสานยังมีความม่วนซื่น มีความง่ายงามของวิถึชีวิตชาวอีสานให้ได้ไปสัมผัสกันด้วย แต่ว่าทั้งหมดนี้ยังมีโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ 4 กลุ่มท่องเที่ยวเมืองรอง ทั้งเรื่องในการฟังเสียงคนในพื้นที่ เพื่อออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางต่าง ๆ รวมถึงการตั้งรับ เตรียมความพร้อม รับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเมืองภูเขาในอีสานนึกถึงอะไร
แฟนเพจอยู่ดีมีแฮง ระดมคำสำคัญจากออนไลน์ เพื่อชวนคุยถึงมุมมองต่อการท่องเที่ยวภูเขาอีสาน ซึ่งพบว่ามีหลายคำที่สมาชิกแฟนเพจนึกถึงและร่วมสื่อสาร ทั้ง สถานที่ท่องเที่ยว วิถีชีวิต วัฒนธรรม และ ผู้คน เช่นเดียวกับผู้ร่วมเสวนา ณ อาศรมมรรคง่าย ที่แลกเปลี่ยนมาหลากหลายคำ
“นึกถึงอารยธรรมพันปี ด้วยหน้าที่เป็นนักโบราณคดีก็คลุกคลีอยู่กับพื้นที่นี้ ขึ้นเขาบริเวณนี้น่าจะเป็น 200-300 ลูกแล้ว เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าทุก ๆ เขาที่เราได้ขึ้นไป ล้วนมีแหล่งอารยธรรมทั้งนั้น แต่ละที่มีอายุนับพันปี อย่างที่ อ.คอนสาร มีอารยธรรมอยายุหลัก 100,000 ปี สำรวจเจอฟอสซิลฟันมนุษย์ที่เก่าแก่ อย่างถ้ำลายแทงที่เพิ่งไปเดินมา ก็มีอายุประมาณ 2,500-3,000 ปี ปัจจุบันภูเขาในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ มีอายุเฉลี่ยประมาณ 1,500-4,000 ปีมาแล้ว เพราะฉะนั้น ภูเขาทุก ๆ ลูกในอีสานล้วนมีอารยธรรมพันปี” ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดี ร่วมแลกเปลี่ยนมโนทัศน์ที่นึกได้เมื่อกล่าวถึงภูเขาในภาคอีสาน
ในด้านของ ชนะชัย แก้วผาง เจ้าของเพจ อีเกิ้ง ได้กล่าวว่า “ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นภูเขาลูกไหน ภูเขาแต่ละลูกก็ล้วนแตกต่างกันไป แต่ว่าสิ่งที่คิดถึงถ้าเกิดกล่าวถึงภูเขาคือวิถีชีวิต เพราะว่าตนเกิดมากับภูเขามาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหน่อไม้ เก็บเห็ดหรือเก็บอะไร เราไม่ได้คิดว่าต้องเป็นภูเวียง ภูกระดึง ภูผาม่าน แต่ว่าสิ่งที่คิดคือความอยู่รอดของชุมชน ความอยู่รอดของไทบ้าน แต่ละบ้านก็ต้องพึ่งพาอาศัยผื่นป่า บางผืนป่ากลายเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ไทบ้านก็ต้องพึ่งพาเขาอยู่ดี จึงคิดถึงวิถีชีวิตไทบ้าน”
“สิ่งที่เห็นในด้านของการท่องเที่ยวเชิงภูเขาในพื้นที่ เห็นภาพของน้ำตก น้ำผุด น้ำซับ น้ำซึม ที่เป็นต้นทางของความสีเขียว ซึ่งหลายๆครั้งที่ไปเห็นคลองน้ำ อาจจะไม่เกิดคำถามว่า แล้วต้นน้ำมาจากไหน แล้วหลายๆครั้งก็ไม่มีคำถามที่ได้เห็นว่า จะรักษาต้นน้ำกันแบบไหน ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นภาพก็คือการไปเห็นน้ำ เห็นความสีเขียว ให้ย้อนกลับมาระลึกถึงต้นน้ำ ที่บ่งบอกวิถีชีวิตของคนชนบท ของความเป็นภูเขาสีเขียว ความเป็นต้นไม้” ชวลิต ต้นกันยา จากดงลาน
มองภาพอนาคต การท่องเที่ยวชุมชนเมืองภูเขาอีสาน ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ตลอดวงเสวนากว่า 1 ชั่วโมง ที่ผู้ร่วมเสวนาได้ค่อย ๆ ใคร่ครวญ และเขียนบอกเล่าออกมาผ่านคำสำคัญทั้งออนไลน์และล้อมวง ได้เห็นทั้งโอกาส ข้อจำกัด และผลกระทบที่หนักหน่วง โจทย์ที่ต้องร่วมรับฟังและหาทางออกเพื่อเตรียมรับมือด้วยกันจะเป็นอย่างไร
รายการฟังเสียงประเทศไทย จึงชวนทดลองสำรวจความคิดตนเองเบื้องต้น จากการฟังฉากทัศน์ “มองภาพอนาคตท่องเที่ยวชุมชนเมืองภูเขาอีสาน (เลย-ขอนแก่น-หนองบัวลำภู-ชัยภูมิ) ในอีก 5 ปี ข้างหน้า” ที่ประมวลข้อมูลทั่วไป ซึ่งแท้จริงแล้วอาจมีนับไม่ถ้วน (Infinity ) เพราะอาจจะมีเหตุปัจจัย ด้านเทคโนโลยี ความรู้ สังคม และพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะไม่มีผิดหรือถูก และชวนให้ทุกท่านได้ฟังและไตร่ตรอง พร้อมเลือกากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
“ในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าเรามองเรื่องการท่องเที่ยวในภูเขา ในฉากทัศน์ที่ 1 นี้ อาจไม่ได้มีลักษณะโดดเด่น ไม่ได้ขึ้นไปสูงมาก แต่เราจะมองในลักษณะว่า การท่องเที่ยวในภูเขาจะมีลักษณะเป็นวงกว้าง ที่ขยายในลักษณะเครือข่าย เกิดการท่องเที่ยวชุมชน กระจายอยู่ในตามแหล่งที่เป็นชุมชนภูเขา ซึ่งเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ไทภู” ซึ่งมีองค์ประกอบคือ ธรรมชาติ การฟื้นฟูและอณุรักษณ์ธรรมชาติ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งก็คือการท่องเที่ยวในลักษณะของวิถีชีวิตไทภู ซึ่งจะมีเรื่องของอาหาร วัตถุดิบ การท่องเที่ยวชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งจะขยายไปอีกจุดหนึ่งคือ ภูเขาในอีสานจะผูกโยงกับความเชื่อตั้งแต่บรรพกาล คติเรื่องภูเขาศักดิสิทธิ์
ดังนั้น ภูเขาในอีสานจึงมีแหล่งโบราณคดีจำนวนมาก มีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ มีการแกะสลัก การสร้างโบราณสถานบนภูเขา มีถ้ำพระจำนวนมากในอีสาน ประเพณีสรงน้ำพระ ซึ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ กระจายและเชื่อมโยงไปหากัน เมื่อเกิดการสร้างเครือข่ายชุมชนเชิงท่องเที่ยว เกิดลักษณะกลุ่มท่องเที่ยวขนาดเล็ก เช่น ใน อ.ดงลาน อ. สีชมพู ที่เกิดเพจท่องเที่ยวขึ้น เกิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในชุมชน สิ่งที่จะตามมาในอนาคต คือ การพัฒนาในเรื่องของสาธารณูปโภค อาจมีถนน มีสัญญาณโทรศัพท์ที่ทั่วถึง มีการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงชุมชนมากขึ้น แต่จะเป็นลักษณะการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม มีกลุ่มที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชอบการผจญภัย จึงจะเข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูเขา จึงอาจไม่ได้มีกลุ่มที่ใหญ่มากแต่จะค่อย ๆ เติบโตและยั่งยืน” ผศ.ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีล้านช้าง
“หลังจากได้กลับมาอยู่บ้านเกิด 3 ปี มองว่า ในพื้นที่ของเรา สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ ภูกระดึงที่เปรียบเสมือนพี่ใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวจุดเล็ก ๆ รอบ ๆ นั่นคือน้องเล็ก ภูกระดึงเปรียบเสมือนยักษ์ที่หลับไหล นักท่องเที่ยวเลือกที่จะผ่านไปเที่ยวที่เชียงคาน ทั้งที่ภูกระดึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ในพื้นที่เองกลับไม่ได้เติบโตขึ้นมากเท่าที่ควร
ในมุมของคนในพื้นที่ คนภูกระดึงมีรายได้จากการท่องเที่ยวแค่ 7 เดือน แล้วอีก 5 เดือนที่เหลือ จะทำอะไร เพราะฉะนั้นจึงมองว่าต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ไว้รองรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ช่วยผลักดันให้ทั้งพื้นที่เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และมองว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าเป็นได้อย่างที่กล่าวไว้ จะำให้การท่องเที่ยวพัฒนาไปอย่างมาก แต่ถ้ายังไม่ได้รับการพัฒนา ก็อาจจะไม่ได้เติบโตไปมากกว่าที่เป็นอยู่” ราชวัตร โพธิ์เตมีย์ ผู้ประกอบการท้องถิ่น
“รายได้จากการท่องเที่ยวภาคอีสาน มาจากหลายมิติด้วยกัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะชุมชนภูเขาเท่านั้น ซึ่งการท่องเที่ยวภูเขาในชุมชนนั้นสามารถทำรายได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นคนที่ขึ้นไปบนภูเขา เพื่อการพักแรมกลางแจ้ง หรือแค้มปิ้ง ซึ่งนับเป็นรายได้ไม่มาก หากนับเป็นแบบรายคน แต่ถามว่าทำไมตัวเลขการท่องเที่ยวจังหวัดเลยสูงมากขึ้น เพราะว่ามี อ.เชียงคาน เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะเชียงคานมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วิถีชุมชน หรือกิจกรรมทางน้ำรอบแม่น้ำโขง
เมื่อนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น รายได้จึงสูงขึ้นตามไปด้วย หากเอ่ยถึงพื้นที่ภูเขา สุดหนาวในสยาม แน่นอนว่าคนจะนึกถึงจังหวัดเลยเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคอีสาน ด้วยศักยภาพของภูมิประเทศ ภูมิอากาศของจังหวัดเลย มีข้อได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะบริเวณอีสานตอนบนด้วยกัน ซื่งมีลักษณะคล้ายทางภาคเหนือ เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยว จนเป็นที่มาของ ททท. จังหวัดเลยที่เอาสิ่งนี้มาเป็นจุดแข็งและจุดขายในด้านการท่องเที่ยว คือโครงการ “20 ยอดภู ต้องมาดูที่จังหวัดเลย” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือภูกระดึง ภูสวนทราย ภูเรือ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติอย่างหลากหลาย มีวนอุทยานอีกบางแห่ง
เรามีข้อได้เปรียบหลาย ๆ จังหวัด ตรงที่มีทะเลภูเขาอยู่ ในด้านการจัดการ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งได้ดำเนินการเรียนรู้และพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง” จริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย
ร่วมพัฒนา รักษาวัฒนธรรม นำรายได้การท่องเที่ยวสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงภูเขาในภาคอีสานถือว่าเติบโตขึ้นมากกว่าในอดีต และยังมีช่องทางให้พัฒนาอีกมาก มีสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรองที่พร้อมจะยกระดับการท่องเที่ยวให้มั่นคงและทัดเทียมกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ แม้แต่ละสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง จะมีปัจจัยในการพัฒนาที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างก็ต้องการร่วมกันคือระบบสาธารณูปโภคและนโยบายการพัฒนาจากทางภาครัฐที่ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
“ในแต่ละพื้นที่ก็มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ในเชิงสินค้าที่จะขาย ทั้งในด้านตัวภูเขา หนองน้ำ หรือกิจกรรมต่าง ๆ การที่จะทำให้ที่ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรที่ค่อนข้างเยอะ ก่อนที่การท่องเที่ยวจะขยายมาถึงอีสานได้ ก็ขยายมาจากทางภาคเหนือมาก่อน ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่เราจะเห็นตัวเลขที่เติบโตขึ้น จึงคิดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีด้วยซ้ำ กว่าจะทำให้การท่องเที่ยวขึ้นมาเด่นเป็นวงกว้าง” กฤษฎิ์ บุญสาร ผูู้ก่อตั้งเพจ ลาวเด้อ
“ยกตัวอย่างจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น จางเจี๋ยเจี้ย หรือหุบเขาอวตาร ที่จะมีสะพานตามแนวหน้าผา ซึ่งเมื่อเห็นฉากทัศน์ตรงนี้ จึงมองเห็น “ผานกเค้า” ที่มีศักยภาพไม่แตกต่างกันมาก อีกจุดเด่นคือเป็นประตูสู่เมืองเลย ผู้คนที่สัญจรไปมาจำนวนไม่น้อยที่จอดรถถ่ายรูปกับผานกเค้า จึงอยากเห็นว่าสักวันหนึ่ง จะดีแค่ไหนที่มีผู้คนได้เดินชมตามหน้าผาเหมือนในประเทศจีนที่ทำการท่องเที่ยวแบบนี้ ซึ่งในประเทศไทยนั้นยังไม่มี แต่การอนุรักษ์ทรัพยากรก็สำคัญ จึงมองว่าเราควรสร้างมูลค่าให้กับชุมชนนั้น ๆ
ถ้าหากเป็นนายทุนเข้ามาสร้างก็อาจไม่มีผลกำไรมาสู่ชุมชนมากนัก แต่ถ้าภาครัฐเป็นคนสนับสนุน ก็พอจะเห็นเป้าหมายในการประกอบอาชีพ สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ที่พัก หรืออื่น ๆ ถือเป็นผลพลอยได้ ต้องพัฒนานโยบายเชิงโครงสร้าง จึงสามารถกระจายรายได้ให้ชาวบ้าน” กิตติ โพธิ์เตมีย์ ผู้ประกอบการท้องถิ่น
“จุดที่มองเห็นคือ การท่องเที่ยวเชิงเด่นระดับนำ คือการเริ่มต้นมาจากระดับล่าง ยกตัวอย่างเช่น อ.สีชมพู ที่เริ่มต้นมาจากระดับล่าง เป็นเมืองผ่าน คล้ายกับผานกเค้า การเดินทางคมนาคมไม่สอดคล้องกับการท่องเที่ยว มีจำนวนรถโดยสารสาธารณะที่น้อย แต่ด้วยการเป็นทางผ่าน ถ้าสามารถดึงจุดเด่นขึ้นมา แต่อาจจะไม่พอจึงต้องใส่ความหลากหลายลงไป เช่น ในเรื่องของศิลปะมาเชื่อมกันกับภูเขา เป็น ศิลปะถ้ำ จึงทำให้นักท่องเที่ยวเข้าหา ถ้าพูดถึงเขาหินปูน การท่องเที่ยว จุดหนึ่งคือการปีนผา ซึ่งพื้นที่ผานกเค้า มีศักยภาพสูงเป็นระดับนานาชาติ จากที่ ดงลาน หรือ สีชมพู มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้ง เยอรมนี แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ มาปีนเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแค่การปีนเขาจุดเดียว สามารถดึงนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นระดับสากลเข้ามาได้
หรือว่าเราควรจะชูเรื่องนี้ให้โด่งดัง แล้วเอาความหลากหลายอื่น ๆ มาประกอบเสริมสร้างให้สมบูรณ์หลากหลายขึ้นไป จึงคิดว่าต้องใช้หลายองค์ประกอบเข้าด้วยกัน จึงอาจไม่ต้องแยกว่าต้องใช้ในรูปแบบไหน สถานที่ไหนเหมาะกับฉากทัศน์ใดก็ควรผลักดันส่งเสริมให้เต็มที่ จึงไม่สามารถเลือกได้เพียงฉากทัศน์เดียว” สัญญา มัครินทร์ อาศรมมรรคง่าย และผู้ร่วมก่อตั้งมหาลัย’ไทบ้าน
“พี่น้องมีความหลากหลาย เพราะมีลักษณะเฉพาะในแต่ละท้องที่ แม้กระทั่งภาษาท้องถิ่น และเมื่อมีความหลากหลายจึงต้องพัฒนาจุดเด่นในหลาย ๆ ด้าน แต่ที่อยากเสนอเพิ่มคือศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่เป็นพลังของอนาคต มีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูล รู้จักถิ่นกำเนิดตัวเอง รู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับตัวตามความนิยมในระดับโลก
ในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงภูเขา ทำอย่างไรจึงจะยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้มาเรียนรู้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น หมอลำในอดีตก็มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะจังหวัดในภาคอีสานนี้ ซึ่งวัฒนธรรมเช่นนี้ต่างกระจุกอยู่ในท้องถิ่นและในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่จะทำอย่างไรให้ฟื้นฟูและผลักดันศักยภาพนี้ขึ้นมา คนรุ่นใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาฟื้นฟูและพัฒนาในด้านต่าง ๆ นี้” “ส้มต่อน” โอภาส สินธุโคตร
“ถ้ามองถึงการท่องเที่ยวที่กำลังเกิดขึ้นและเติบโตไปข้างหน้า จริง ๆ แล้วการท่องเที่ยวเชิงภูเขาในรอยต่อ 4 จังหวัดนี้ แรกเริ่มไม่ได้เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐโดยตรง หากแต่เป็นการแสดงพลัง ศักยภาพภายในชุมชน เช่นเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ภูผาม่านยังไม่ได้มีการท่องเที่ยวที่โดดเด่น
แต่ ณ ขณะนี้กลับเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หรือที่สีชมพูเองก็เช่นกัน ทั้งหมดนี้เกิดจากพลังชุมชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต่างติดตามผ่านวิถีชีวิต ความเป็นคนไทภู สิ่งที่นักท่องเที่ยวสนใจหาใช่ความสะดวกสบาย หากแต่เป็นการอยากรู้ถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องพัฒนาไปด้วย
บางท่านอาจมองว่าการลำบากคือการท้าท้ายในการท่องเที่ยว แต่หากมองอีกด้าน แม้แต่ชาวบ้านเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะอยู่ภายใต้ความลำบาก ทุกคนล้วนอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในรอบด้าน และมองเห็นศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีของชุมชน ลำดับต่อไปจึงเป็นการขยายเครือข่ายไทภู ไปสู่บริเวณรอบ ๆ เป็นวงกว้าง ทั้งในด้านพื้นที่และประชากร ในด้านของการรักษาพื้นที่ ในแต่ละสถานที่ล้วนมีกฏที่นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตาม มี เปิงบ้าน ที่นักท่องเที่ยวสนใจอยากเข้ามาสัมผัส” ผศ.ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
“เราทำแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกัน ในฉากทัศน์ที่มีทั้งหมดคือปลายทาง แต่ที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้คือต้นทาง ปัญหาหลักในพื้นที่เขตภูเขารอยต่อ 4 จังหวัดภาคอีสาน นี่คือข้อจำกัดในด้านกฎหมาย เนื่องจากการเป็นรอยต่อจังหวัด ทำให้การขออนุมัติด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคนั้นเป็นไปได้ยาก บ้านเรายังไม่มีไฟฟ้า ประปา ซึ่งเป็นปัญหาในข้อกฏหมายทั้งหมด การจะกระทำการทุกอย่างบนพื้นที่เขตอุทยานภูเขา ต้องมีเจ้าหน้าที่มาควบคุม และพอเปลี่ยนผู้อำนวยการอุทยาน ก็ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกันใหม่
ซึ่งบางครั้งเป็นอุปสรรคในการจัดการการท่องเที่ยว จึงอยากได้ความชัดเจนของภาครัฐที่จะสามารถทำให้การท่องเที่ยวในเขตรอยต่อจังหวัดนี้ สามารถทำได้โดยสะดวกต่อ ทั้ง นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในชุมชน ให้สามารถพัฒนาทั้งด้านการท่องเที่ยวและด้านกฏหมายไปพร้อมกัน” ราชวัตร โพธิ์เตมีย์ ผู้ประกอบการท้องถิ่น
“นักท่องเที่ยวเป็นคนเลือกแหล่งท่องเที่ยว เราหนีไม่พ้นในเรื่องของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ซึ่งตอนนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยน วิถีการท่องเที่ยวเปลี่ยน เช่น การแค้มปิ้ง เมื่อก่อนอาจเป็นการกางเต้นท์ แต่ตอนนี้เริ่มมีรูปแบบแค้มปิ้งคาร์เข้ามา ในหลาย ๆ พื้นที่เริ่มปรับสถานที่เพื่อรองรับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป บางที่การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงภูเขานั้นถือเป็นดาบสองคม เช่นบางพื้นที่ที่เน้นการทำเกษตรเป็นหลัก เมื่อเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว ก็จะเปลี่ยนพื้นที่การเกษตร เป็นลานกางเต๊นท์ เมื่อการท่องเที่ยวเป็นที่นิยมในวงกว้าง ก็จะเกิดการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการถางป่าขึ้นในบางพื้นที่
จริง ๆ แล้วในหลายพื้นที่มีวิสาหกิจชุมชนที่แข็งแรง เป็นการได้มาที่ไม่ใช่โชคช่วย แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งโดยชุมชนเอง บางที่เป็นแหล่งศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย เป็นเพียงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเล็ก ๆ ที่เข้าไปต่อยอด สนับสนุนเพื่อให้ชุมชนได้ไปถึงเป้าหมาย เมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว จะเป็นการคัดเลือกนักท่องเที่ยวไปในตัว เพื่อที่จะรักษาพื้นที่ของตน อย่างที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
จากการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้รอง ต่อไปในอนาคตอาจกลายเป็นรายได้หลัก แต่อาจจะไม่ได้สร้างรายได้อย่างมหาศาลเลยเสียทีเดียว” จริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย
“ปัจจัยหนึ่งคือศักยภาพของธรรมชาติเป็นสิ่งดึงดูดในตัวเองอยู่แล้ว อีกประเด็นที่นักท่องเที่ยวสนใจคือ มาเพราะคน คนในชุมชนน่ารัก เป็นมิตร จุดเด่นและทางรอดของการท่องเที่ยวอีสาน คือการ อยู่ดี เที่ยวดี ได้พรรคพวกที่ดี ส่วนของอาศรมมรรคง่ายนั้น ไม่ได้อยากทำให้เป็นการท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ เพราะการต้อนรับ การร่วมวงสนทนา การอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด คือจุดเด่นของพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเราอยากรักษาอัตลักษณ์แบบเรียบง่ายนี้ไว้ มาแล้วรู้สึกสงบปลอดภัย” สัญญา มัครินทร์ อาศรมมรรคง่าย และผู้ร่วมก่อตั้งมหาลัย’ไทบ้าน
นี่คือความคิดเห็นของคนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงภูเขาในภาคอีสาน ท่ามกลางความนิยมของโลกที่เปลี่ยนไป ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงต้องก้าวนำความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยไที่ยังรักษาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนให้คงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ ความเชื่อ สังคม วัฒนธรรมและอารยธรรม ล้วนแล้วแต่ก่อกำเนิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้ การลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกัน จะยังเป็นส่วนสำคัญให้เราฟังเสียงกันและกันให้มากยิ่งขึ้นในทุกภาคส่วน