27 มกราคม 2568 รายการอีสานขานข่าว โดยเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นอีสาน ได้เชิญ ผศ.สอาดมุ่งสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ศัพท์อีสานการแพทย์” เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนไข้และแพทย์ที่ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร โดยรายการนี้ดำเนินรายการโดย สุชัยเจริญมุขยนันท
ผศ.สอาด เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาสนใจเก็บรวบรวมคำศัพท์ภาษาอีสานในแวดวงการแพทย์มาตลอดกว่า 30 ปี เขาเชื่อว่าภาษาอีสานเป็นรากเหง้าที่ผูกพันกับคนในภูมิภาค และการสื่อสารที่ไม่เข้าใจระหว่างคนไข้และแพทย์สามารถส่งผลต่อการรักษาได้โดยตรง การรวบรวมคำศัพท์เหล่านี้จึงมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมช่องว่างทางภาษาและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพ
ตัวอย่างคำศัพท์ที่ถูกยกมาพูดถึงในรายการ ได้แก่:
- กรดไหลย้อน = แสบบักโหก
คำนี้สะท้อนอาการแสบร้อนจากกรดในกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร การอธิบายด้วยภาษาอีสานช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจอาการของตนเองได้ง่ายขึ้น - ปวดสะบัก = เอ็นเข้าเกื้อง
ใช้เรียกอาการปวดบริเวณหลังช่วงสะบัก ซึ่งเป็นคำที่เข้าใจง่ายสำหรับชาวอีสาน - อาเจียน/อ้วก = ฮาก/ฮากไล/ฮากไลเพี้ยไลโผ่น
คำหลากหลายนี้ใช้อธิบายอาการอาเจียนในลักษณะต่าง ๆ ที่มักเกิดกับคนไข้ และสามารถช่วยให้แพทย์ประเมินอาการได้อย่างแม่นยำ แต่ละคำจะมีระดับของการอาเจียนที่ต่างกัน
“ฮาก” คือการอาเจียนธรรมดา , “ฮากไล” คือการอาเจียนที่ไหลออกมายาว , “ฮากไลเพี้ยไลโผ่น” คืออาเจียนหมดทั้งเนื้อทั้งตัวอาการหนัก
ผศ.สอาด ยังย้ำว่า การเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของคนไข้เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาที่ดี และการมีคำศัพท์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจะช่วยลดอุปสรรคในกระบวนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ภาษาอีสานไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสาร แต่เป็นตัวแทนของวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของคนในภูมิภาคนี้ การที่เราสามารถนำภาษาแม่ มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา นอกจากจะช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพและเข้าใจคนไข้ในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น งานชิ้นนี้จึงไม่ใช่แค่การรวบรวมคำศัพท์ แต่เป็นการยกระดับคุณค่าของภาษาอีสานให้เป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ยุคใหม่ ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้ทั้งคนไข้และแพทย์เข้าใจกันมากขึ้น และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต” อาจารย์สอาด กล่าวในที่สุด
คลิ๊กลิ้งก์เพื่อรับชุมเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/share/v/1GAUbbNDcP