รายการอีสานขานข่าว เผยแพร่ทางเพจ “อยู่ดีมีแฮง” ในเครือไทยพีบีเอส ได้จัดเสวนา “บทบาทประชาชนหลังเลือกตั้งอบจ.” โดยเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและประชาชนร่วมพูดคุย เสนอให้มีการติดตามการทำงานของนายกฯอบจ.และส.อบจ.หลังเลือกตั้ง เพื่อให้ทำตามที่หาเสียงเอาไว้
เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 19.00 น. รายการอีสานขานข่าว เผยแพร่ทางเพจ “อยู่ดีมีแฮง” ในเครือไทยพีบีเอส ได้จัดเสวนา “บทบาทประชาชนหลังเลือกตั้งอบจ.” โดยเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและประชาชนร่วมพูดคุยผ่านออนไลน์ ประกอบด้วย รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นางวรรภา งอกสี ตัวแทนภาคประชาชนจากกลุ่มฮักทุ่งกุลา อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด และนายวิรัตน์ สุขกุล ตัวแทนภาคประชาสังคมจากเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองอำนาจเจริญ มาร่วมพูดคุยโดยมีนางสุมาลี สุวรรณกร และนายสันติ ศรีมันตะ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
โดยหัวข้อในการพูดคุยคือ “บทบาทภาคประชาชนหลังการเลือกตั้งอบจ.” ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาและมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผลการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 58 เปอร์เซ็นต์จากทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้งคาดหวังจะมีคนออกมาใช้สิทธิ์จำนวนประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ และพบว่ามีคนที่ไม่กาช่องไม่เลือกใครมากเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับมีประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ทำบัตรเสียมากด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สาเหตุที่คนออกมาใช้สิทธิ์น้อยมีหลายปัจจัยทั้งเรื่องของการที่ไม่ตรงกับวันหยุด และไม่มีการเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า รวมไปถึงการที่คนไปทำงานต่างถิ่นไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายในการกลับมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่บ้าน เพราะยังไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของอบจ.ว่าทำอะไรบ้าง
รวมถึงที่ผ่านมาบทบาทของอบจ.ในการทำงานใกล้ชิดกับประชาชนไม่ค่อยมองเห็นการทำงานมากนัก เพราะหากมองเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบต. เทศบาล มากกว่าเพราะอยู่ใกล้ชิด แต่กลับมองไม่เห็นการทำงานของอบจ.ทั้งที่อยู่ใกล้กับชีวิตของเรามาก
“อนาคตจะต้องให้ความรู้กับประชาชนถึงบทบาท หน้าที่ของอบจ.ว่าทำอะไรบ้าง เพราะจริง ๆ แล้ว อบจ.เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่และมีงบประมาณมหาศาลอยู่ในมือของอบจ.ด้วยแต่ประชาชนไม่เข้าใจบทบาทว่าทำหน้าที่อะไรบ้างทำให้ไม่ได้มาเลือกตั้ง ซึ่งการให้ความรู้ข้อมูลดังกล่าวเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องทำ เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงต่อไปนี้ส.อบจ.หรือแม่แต่นายกฯอบจ. เวลาออกไปลงพื้นที่ตามหมู่บ้านก็ต้องเล่าบทบาทของตัวเองให้ประชาชนฟังด้วยว่าสำคัญแค่ไหน และจะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นอย่างไรด้วยไม่ใช่ไปแค่เปิดงาน แจกของแล้วกลับบ้านไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะไม่ให้ความสำคัญ รวมไปถึงหลังเลือกตั้งประชาชนจะต้องติดตามการทำงานของอบข.ทั้งนายกฯและส.อบจ. ว่าได้ทำหน้าที่ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไหม รวมถึงโครงการใหญ่ ๆ ที่จะดำเนินการจะต้องติดตามว่าสร้างปัญหาหรือส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่หรือไม่หรือมีประโยชน์ในการดำเนินการแท้จริงหรือไม่เพื่อไม่ให้งบประมาณสูญเปล่า”รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าว
ด้านนางวรรภา งอกสี ตัวแทนภาคประชาชนจากกลุ่มฮักทุ่งกุลา อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า สาเหตุที่คนออกมาใช้สิทธิ์น้อยเพราะไม่รู้ว่าจะมาเลือกตั้งทำไม เนื่องจากไม่เข้าใจว่าอบจ.สำคัญอย่างไร เพราะที่ผ่านมาการทำงานของอบจ. โดยเฉพาะนายกฯก็จะออกมาร่วมงาน เปิดงาน และแจกน้ำ เวลาประชาชนเดือดร้อนไปหาก็คิดว่าไปขอน้ำดื่มก็ให้แต่น้ำมา ไม่ได้บอวกว่าตัวเองทำงานอะไร สำคัญอย่างไร ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายและไม่อยากออกมาใช้สิทธิ์ รวมไปถึงจากการเฝ้าสังเกตการเลือกตั้งพบว่าคนรุ่นใหม่ที่ไปทำงานต่างจังหวัดไม่ได้กลับมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเลยทำให้ตัวเลขคนมาใช้สิทธิ์น้อย และที่ไม่กลับมาอาจจะมองว่าเสียเวลาไม่อยากมาเลือกตั้งเพราะไม่เห็นรู้ว่าอบจ.สำคัญอย่างไร ในขณะที่นายวิรัตน์ สุขกุล ตัวแทนภาคประชาสังคมจากเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองอำนาจเจริญ กล่าวว่ากระแสการเลือกตั้งในสนามท้องถิ่นก็ยังไม่เปลี่ยนเปลงไม่แตกต่างจากสนามใหญ่ อำนาจเงินเข้ามามีบทบาทมากในการตัดสินใจเลือกตั้งและการเลือกใครเข้าไปนั่งเก้าอี้ ทั้งที่เราพยายามให้การศึกษาและให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้เลือกคนดีเข้าไปบริหาร แต่อาจจะเป็นเพราะกระบวนการให้การศึกษาของเราอาจจะไม่ถึงที่สุด เพราะขบวนการปลุกจิตสำนึกทางการเมืองของพี่น้องจะต้องทำให้มากกว่านี้ มติทางการเมืองที่เราจะต้องสร้างต่อคือ หลังเลือกตั้งแกนนำขบวนองค์กรชุมชน ภายใต้กลไกทำงานต่าง ๆ เรามีภารกิจหลักในการสร้างสำนึกพลเมืองให้ตื่นรู้ และหลังการเลือกตั้งจะต้องให้เข้าไปดูและสอดแนม ตรวจสอบนโยบายที่ผู้สมัครได้ประกาศหาเสียงไว้ว่าได้ทำงานตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ไหมจะไม่ปล่อยให้เขาทำอะไรโดยที่ไม่เข้าไปตรวจสอบ พวกเราจะชวนพี่น้องทุกเครือข่ายติตดามการทำงานในสิ่งที่เขาได้พูดไว้และสิ่งที่เขาทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากน้อยแค่ไหน มองเรื่องคุณภาพงานที่เขาได้ประกาศเอาไว้
คลิ๊กลิ้งก์เพื่อรับชมเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/share/v/18R2fyNc2n