อีสานขานข่าว EP 05 : เสนอเพิ่มนักจิตวิทยาในสถานศึกษาป้องกันความรุนแรงในเด็กและเยาวชน

นายกสโมสรนักศึกษา วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. เสนอเพิ่มนักจิตวิทยาในสถาบันการศึกษา เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน หลังพบเด็กเยาวชนฆ่าตัวตายและใช้ความรุนแรง ด้านผอ.รพ.จิตเวชแนะใช้ 3 ส.ป้องกันได้

รายการอีสานขานข่าว ที่เผยแพร่ทางเพจ “อยู่ดีมีแฮง” พร้อมเพจเครือข่าย ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องร่วมแก้” โดยมี นพ.อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และ กัมพล สวัสดี นายกสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมพูดคุย โดยมีสุมาลี สุวรรณกร เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายกัมพล สวัสดี นายกสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ความรุนแรงในเด็กเยาวชนมีอยู่ต่อเนื่องแต่โชคดีที่ตนไม่เคยพบเจอกับตัวเอง แต่พบเจอในละแวกที่อยู่นอกเขตมหาวิทยาลัย ในเรื่องการตบตี ทะเลาะวิวาทซึ่งพบได้ในสังคม ซึ่งมีมาตั้งแต่ระดับประถมแล้ว ทั้งความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และคนแวดล้อม ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะสังคมในชนบทที่พบเจอเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ และสังคมชนบทกับสังคมเมืองมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลกับตัวเด็กที่เติบโตและมาใช้ชีวิตในอีกพื้นที่หนึ่ง เพราะเด็กถูกสั่งสมพฤติกรรมรุนแรงมาตั้งแต่ในบ้านและชุมชนที่เติบโตมา
“เมื่อเด็กเยาวชนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรงเป็นปกติ พอมาเข้าสู่สถาบันการศึกษาก็เอาวิธีการแบบนั้นมาใช้กับเพื่อนกับคนอื่นซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา รวมไปถึงความรุนแรงทางกาย วาจา และใจที่เด็กเยาวชนได้รับ นอกจากไปแสดงออกกับคนอื่นเพื่อการปลดปล่อยแล้ว บางครั้งก็ไปแสดงออกกับตัวเองด้วยการคิดสั้น ฆ่าตัวตายเพราะไม่มีทางออกก็มี จึงอยากให้สถานศึกษาหรือหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีนักจิตวิทยาอยู่ประจำและมีให้กระจายเพื่อให้คำปรึกษาได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสมเพราะขณะนี้นักจิตวิทยามีน้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการ”นายกัมพล กล่าว

ด้านนพ.อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนที่มีการมาเข้าพบแพทย์และนักจิตวิทยาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มมากขึ้น โดยพบว่าความรุนแรงของเด็กเยาวชนเพิ่มขึ้น เพราะมีข่าวเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดียข่าวความรุนแรงก็มีเผยแพร่อย่างต่อเนื่องอาจจะเป็นเพราะสังคมทุกวันนี้มีความกดดันมากขึ้น อะไรไม่ได้อย่างใจก็แสดงออกด้วยความก้าวร้าว นอกจากนั้นการเข้าถึงบริการมากขึ้นเลยทำให้พบว่ามีคนมาปรึกษามากขึ้น แต่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่กล้ามาปรึกษา แต่ขณะนี้สุขภาพจิต จิตเวชเป็นที่ยอมรับมากขึ้นทำให้คนกล้ามาปรึกษามากกว่าเดิม
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงนั้น นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า เกิดจากการเลี้ยงดูจากครอบครัว สังคมสภาพแวดล้อมชุมชนที่อาศัยอยู่ และโรงเรียนมีส่วนในการทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับความรุนแรงที่พบเห็นแล้วเอามาใช้ ซึ่งบางคนอาจจะใช้ความรุนแรงเพื่อลบปมด้อยของตัวเอง ทำเพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งวิธีการแก้คือทุกคนจะต้องช่วยกันเริ่มจากครอบครัว การเลี้ยงดู ดูแลต้องใกล้ชิด ให้คำปรึกษา ครู เพื่อน ก็จะต้องดูแลกัน
ส่วนเรื่องการตัดสินใจฆ่าตัวตายหรือจบปัญหาด้วยการไม่ได้คิดใตร่ตรองหรือทำร้ายตัวเอง คนรอบข้างจะต้องช่วยดูแลด้วย โดยมีหลัก 3 ส.คือ สอดส่อง ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยงด้วยการส่งต่อมาให้แพทย์พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเป็นคนรับช่วงต่อหากไม่สามารถช่วยเหลือได้ นอกจากนั้นยังมีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พร้อมรับสายและให้คำปรึกษา และขอนแก่นนอกจากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์แล้ว ยังมีศูนย์สุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่พร้อมให้คำปรึกษาด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถไปพบและปรึกษาได้

“ปัญหาทุกปัญหาแก้ได้ถ้าช่วยกัน ความรุนแรงในเด็กเยาวชนจะไม่เกิดขึ้นถ้าครอบครัวอบอุ่น ให้ความใส่ใจ สื่อก็มีส่วนสื่อที่ดีทำให้เด็กเยาวชนได้ซึมซับเรื่องราวดี ๆ การดูสื่อที่ไม่ดีทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ ทำอย่างไรเมื่อโลกทุกวันนี้เป็นโลกอินเตอร์เน็ต การที่พ่อแม่ดูแลหรือครูดูแลเด็กให้รับรู้สื่อที่มีประโยชน์ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะยุติเรื่องความรุนแรงที่เกิดจากการเสพสื่อได้ด้วย สื่อจะต้องเป็นที่พึ่งได้ด้วยเช่นกัน”นพ.อาทิตย์ กล่าว

รับชมเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/share/v/19xAK2JA2k/

แชร์บทความนี้