เปิดประตูสู่แก่งละว้า สบตาผืนน้ำและผู้คน

“ผมเกิดมาอายุได้ 50 กว่าปี ผมหาปลามาตั้งแต่อายุ 8 ปี ผมหาปลาเป็นอาชีพ เลี้ยงครอบครัว ตั้งหลัก ตั้งฐานได้ ก็เพราะแก่งละว้า”  สมบัติ พลดอน ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนแก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กำลังเล่าถึงวิถีชีวิตและความภาคภูมิใจของเขากับแก่งละว้า ได้อย่างไหลลื่นแทบไม่ต้องใช้เวลาหยุดคิดทุกเรื่องเล่าของพ่อสมบัติล้วนออกมาจากภาพจำที่อยู่ในใจ บ่งบอกถึงความผูกพันกับผืนน้ำที่ใช้ดำรงชีวิต เกื้อกูลไม่แยกขาดจากกัน “แก่งละว้าสำคัญมาก ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ ถ้าขาดแหล่งน้ำนี้พวกเราก็ไม่รู้จะทำมาหากินอย่างไร ” พ่อสมบัติย้ำสำทับถึงความสำคัญของแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 17,000 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งหาอยู่หากินสำคัญของชาวบ้านในเขตอำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด จนถึงอำเภอชนบท ของจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ใกล้เคียง รายล้อมไปด้วยชุมชนมากกว่า 40 หมู่บ้าน บริเวณโดยรอบคือพื้นที่การเกษตร แหล่งทำนาขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ สัตว์น้ำ สัตว์บก น้อย ใหญ่  ต่อผู้คนโดยรอบ

ชีวิตคนแก่งละว้าหาอยู่หากินกับแหล่งน้ำจืดนี้ตลอดเช้าจรดเย็น ในช่วงเช้าจะเห็นเรือเล็กใหญ่หลายลำล่องในแอ่งน้ำ บ้างวางตาข่ายดักปลา บ้างก็มาเก็บผลผลิตจากตาข่ายที่วางดักไว้ตั้งแต่เมื่อวาน เรืออีกหลายลำก็จดจ่อกับการดึงสายบัวจากใต้น้ำ หรือบนเนินรอบแก่งก็เต็มไปด้วยสัตว์ที่ชาวบ้านมาปล่อยเลี้ยง โดยเฉพาะ “ควายทาม” ที่เลี้ยงแบบปล่อยในบางฤดูกาลให้ได้หากินเองในพื้นที่แก่งละว้าของเหล่านายฮ้อย

บ่อึด บ่อยาก 

“หมานบ่” 

“พอได้อยู่”

คำทักทายด้วยความคุ้นเคย แค่เอ่ยปากถามกันสั้น ๆ ก็รู้กัน เป็นวิถีของผู้คนแก่งละว้าที่พูดคุยกันดั่งญาติพี่น้อง แม้มาต่างที่ ต่างชุมชน แต่หาอยู่หากินบนฐานทรัพยากรเดียวกัน 

แก่งละว้า แอ่งน้ำขนาดใหญ่ของอีสาน กว่า 17,000 ไร่ แหล่งหาอยู่หากินสำคัญของชาวบ้านในเขตอำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด จนถึงอำเภอชนบท ของจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ใกล้เคียง รายล้อมไปด้วยชุมชนมากกว่า 40 หมู่บ้าน บริเวณโดยรอบคือพื้นที่การเกษตร แหล่งทำนาขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ สัตว์น้ำ สัตว์บก น้อย ใหญ่  

“พันธุ์ปลาที่ทีมชาวบ้านได้ร่วมกันสำรวจ มีทั้งหมด  23 ชนิด อย่างปลาบึก ปลาค้าว หรือปลายี่สก ปลาขาว และปลาขาวสร้อย ก็มีทั้งหมด

นกก็ยังมีอยู่เยอะ นกเป็ด นกปากห่าง นกเหิบ นกไก่ดำ ก็มีเยอะเช่นกัน มีแม้กระทั่งนกกระซุมก็มาครับ นกต่างประเทศก็สัญจรมาอยู่แกงละว้าเยอะ เพราะมันอุดมสมบูรณ์ขึ้น” สมบัติ พลดอน ประมงพื้นบ้านแก่งละว้า

ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ คอยหล่อเลี้ยงเกื้อกูลกันอย่างสมดุล ให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ มายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น เป็นฐานเศรษฐกิจ สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ชุมชน 

“ข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าว” วิถีคนโบราณอีสานแต่เดิม แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนโดยใช้ของที่มีมาแลกเปลี่ยนกันแทนเงินตรา ซึ่งปลาก็ถือเป็นของมีค่าที่ใช้แลกเปลี่ยนเพื่อดำรงชีพของผู้คนเช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน

“ปลาที่หามาได้เราก็เอาไปขายบ้าง ได้เงินมาก็ใช้จ่ายในครอบครัว หรือบางคนไม่ขายก็นำไปแลกข้าว เพราะว่าไม่ได้ทำนาแบบนี้ก็สามารถอยู่ได้เลี้ยงชีพได้ เรียกได้ว่ามีทรัพย์ในดินสินในน้ำ หากินได้ตลอดปีใคร ๆ ก็หาได้”

พ่พ่อสมบัติบอกเล่าถึงวิถีคนหาปลาทั้งกิน ทั้งขาย และใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหาร ปลาที่หามาได้หลายครั้งก็เยอะจนใช้กิน ใช้ขาย จนแทบไม่หมด เพื่อเก็บรักษาอาหารไว้กินได้นานขึ้น “ปลาแดก” หรือ “ปลาร้า” จึงเป็นวิธีถนอมอาหารของคนอีสานที่แสนมีเสน่ห์ และแซ่บนัวตามรสมือแต่ละชุมชน รวมถึงที่นี่ 

ปลาแดกแก่งละว้า

ปัจจุบันปลาร้าได้รับการยอมรับและความนิยมอย่างแพร่หลาย กลายเป็นเครื่องปรุงรสในหลายเมนูอาหารทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งปลาร้ากลายเป็นฑูตเจนจรจาพาอาหารอีสานเข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวาง

“ปลาแดกแก่งละว้า” เมื่อหาปลามาได้มาก การแปรรูปเพื่อเก็บไว้กินได้นานขึ้นก็เป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชุมชนที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งพื้นที่แก่งละว้าถือเป็นแหล่งผลิตปลาร้า และยังมี “ปลาส้ม” ที่สำคัญของชาวขอนแก่น เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ อย่างแม่ละเอียด ชาวบ้านในชุมชนแก่งละว้า เธอหมักปลาร้าขายเป็นอาชีพ และมีชาวบ้านแวะเวียนนำปลาที่หาได้มาส่งขายกับแม่ละเอียดเป็นประจำ นั่นทำให้ปลาร้า และ ปลาส้มแม่ละเอียด กลายเป็นของฝาก “ของต้อน” แก่ผู้มาเยือนซึ่งเสมือนว่าเป็นตัวแทนส่งมอบอาหารท้องถิ่นไปสู่นักเดินทาง 

“ช่วยกันกระจายสินค้าในชุมชน จากเมื่อก่อนที่ต่างคนต่างขาย ตอนนี้เป็นเครือข่าย ชุมชนใกล้เคียงก็มีของมาฝากชุมชนแก่งละว้าขาย ชุมชนเติบโต เศรษฐกิจชุมชนแถวแก่งละว้าก็ดีขึ้น แม่เองก็ไม่ได้ไปหาซื้อปลาที่ไหนไกล แม่ก็มีปลาในชุมชนของเราเอง” ละเอียด มนต์ขลัง ผู้ประกอบการชุมชน

ขุมทรัพย์ทางทรัพยากรของชุมชนนี้ ที่เป็นทั้งทรัพย์และสิน  แหล่งงาน แหล่งรายได้ ของผู้คนในชุมชน ให้สามารถเลี้ยงปากท้อง อยู่รอดได้ มาหลายรุ่น หลายคนใช้ผืนน้ำอันอุดมสมบูรณ์นี้เป็นแหล่งหารายได้หลัก ส่งลูกหลานให้ได้เล่าเรียน จนชาวบ้านบอกว่าทรัพย์ในดิน สินในน้ำ สร้างคนเป็นบัณฑิตได้หลายต่อหลายคน

“ผมไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอก หารับจ้างที่อื่น หาปลาเป็นหลัก อยู่ในแก่งนี้ขายได้ทุกอย่าง ดอกบัวแดง ดอกบัวหลวง เม็ดบัว ฝักบัว ไหลบัว ขายได้ เลี้ยงอาชีพได้ หอยโข่ง หอยเชอรี่ ส่งต่างประเทศก็มีครับ ผมเลี้ยงลูก 5 คนได้ ใครบอกว่าหาปลาเป็นอาชีพไม่ได้ ผมว่าไม่ใช่!! ปลาในแก่งละว้าสร้างอาชีพได้ เลี้ยงลูกหลานให้เป็นเจ้าคน นายคน มานักต่อนัก”สมบัติ พลดอน ประมงพื้นบ้านแก่งละว้า ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่คอยหล่อเลี้ยงชาวบ้าน แก่งละว้าถือเป็นแหล่งพักพิงของคนในชุมชนและลูกหลาน แม้ยามวิกฤตจำต้องกลับบ้าน แก่งละว้าก็ยังเป็นฐานให้ได้อาศัย มีช่องทางทำกิน อยู่รอดได้ในชุมชน

แก่งละว้า หลังพิงคนกลับบ้าน

“ย้อนกลับไปตอนไปทำงาน ก็อยากหาเงินกลับมาให้ครอบครัว แต่มันไม่เป็นตามหวัง ตอนนี้สิ่งที่ครอบครัวทำอยู่เป็นปลาร้า แล้วมันสามารถพลิกฟื้นครอบครัวได้ เราถือเป็นอีกคนที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของครอบครัวไปได้ ถือว่าเป็นที่ยึดหลักของชีวิตตอนนี้เลย คุณแจนลูกหลานแก่งละว้าที่หันหลังให้ชีวิตในเมืองใหญ่ กลับมาสานต่องานครอบครัว หาวิธีเพิ่มโอกาสและช่องทางให้สินค้าไปได้ไกลขึ้น คุณแจนเล่าต่อถึงช่วงแรกเริ่มของครอบครัวที่ทำปลาร้าขายในชุมชน ช่วงปีแรกที่แม่ทำเป็นการขายตามตลาดในชุมชน แต่ตอนนี้มาทำการตลาดออนไลน์ เราก็ทำเพจไปเรื่อย ๆ รับออเดอร์เท่าที่เราสามารถจัดการได้ หลังจากนั้นมีรายการโทรทัศน์เข้ามาสื่อสารเรื่องราว พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย มีคนรู้จักมากขึ้น ทั้งจากต่างจังหวัด และมีรับหิ้วต่างประเทศ เขาคิดถึงปลาร้าเรา ซึ่งเราก็ดีใจมาก ๆ ” ศิริลักษณ์ มนต์ขลัง ผู้ประกอบการชุมชน

ชุมชนมีความกระตือรือร้นขึ้น รักทรัพยากรของเรา เมื่อก่อนมีแต่อยากออกไปทำงานไกล ๆ ปัจจุบันถ้าเขามีทางเลือกไม่เยอะเขาก็จะย้อนกลับมาแหล่งชุมชนตนเอง” แม่ละเอียดย้ำถึงความสำคัญของแก่งละว้าที่เป็นแหล่งพักพิงให้ทุกคนเสมอมา

ต่อยอด ออกแบบได้ จากฐานทรัพยากรที่มี เชื่อมความหวัง สานความฝัน ให้คนรุ่นใหม่ได้นำความรู้และประสบการณ์ กลับมาสร้างอาชีพความมั่นคงให้ตนเองและชุมชนบ้านเกิด ต่อยอดภูมิปัญญา เติมศักยภาพชุมชน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อีกด้วย

แก่งละว้า ขุมพลังความเชื่อมั่นของชุมชน

“เราก็เริ่มที่จะแตะงานกับเครือข่ายชาวบ้าน มากกว่าชาวบ้านก็คือภาคธุรกิจที่อยู่ในเมือง ซึ่งเดิมเรามองว่าเขาอยู่ในเมืองเขาอาจจะไม่สนใจ แต่พอได้แลกเปลี่ยน ได้ปฏิสัมพันธ์กัน เขาเห็นความสำคัญ เพราะเขาบอกว่าได้ยินเราพูดว่าบ้านไผ่ไม่มีแหล่งน้ำสำรอง ถ้าแหล่งน้ำแก่งละว้าไม่อยู่ก็คือคนบ้านไผ่ตายหมดอะไรแบบนี้ เขาก็กระตือรือร้น แล้วก็เริ่มเข้ามา 

มากมากกว่าเรื่องอนุรักษ์ คือเข้ามาปฏิสัมพันธ์ แล้วก็มาทำงานด้วยกัน แล้วก็เริ่มมาต่อกันโดยมองว่ากิจกรรมที่มันจะเดินไปด้วยกันได้ เราพูดถึงเรื่องท่องเที่ยว เพราะว่ามันเป็นเรื่องบวก แต่ภายใต้ท่องเที่ยวคือเพื่อเป็นการสื่อสาร แล้วเพื่อให้ชุมชนได้เห็นศักยภาพตัวเอง ได้เห็นความสำคัญ ก็เลยเริ่มที่จะจัดกิจกรรมร่วมกัน 

อย่างตกปลาปีก่อนก็จัดมหกรรมเปิดประตูสู่แกงละว้า เพื่อให้สังคมข้างนอกได้รับรู้ว่าแก่งละว้ามันดีอย่างไร แล้วก็ค่อย ๆ ทำงานกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าตัวเอง แล้วก็ยกระดับ อย่างปลาส้ม ปลาร้าแดดเดียว หรือว่าเริ่มทำตลาดอะไร แล้วก็เริ่มรับคนข้างนอกเข้ามาท่องเที่ยว

อย่างงานเปิดประตูสู่แก่งละว้า มีกระแสคนรับรู้เยอะ สื่อต่าง ๆ รายการทีวีก็เริ่มเห็น ก็เริ่มเข้ามา ซึ่งมันก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้าน เพราะว่าแรก ๆ ก็มีชาวบ้านหลายคนที่มีคำถามว่าจะทำได้เหรอ แต่พอเราค่อย ๆ ขยับไป เราคุยกับชาวบ้านว่าเริ่มเที่ยวจากวิถีที่เราเป็นอยู่ แล้วค่อย ๆ พัฒนา แล้วค่อย ๆ ไต่ขึ้นไป”จรูญพิศ มูลสาร นักพัฒนาในพื้นที่แก่งละว้า ผู้ปรับบทบามเป็นนักพัฒนาในพื้นที่เล่าด้วยความภาคภูมิใจที่เห็นความพยามของทุกคนเกิดดอกออกผลมีคนภายนอกเริ่มมองเห็นความงดงาม ผู้คนจากหลากหลายพื้นที่เดินทางมุ่งหน้าเข้ามาเยี่ยมยาม มาเที่ยวชมธรรมชาติของแก่งละว้า พร้อมกับสนับสนุนชุมชนด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยน กระจายรายได้ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มกำลังใจและกำลังทรัพย์ให้คนในชุมชนได้หมุนวนจับจ่าย

“ตอนนี้การท่องเที่ยวที่เราทำกับกลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้า ก็ยิ่งตอบโจทย์ไปเลย มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ต่างจังหวัด และแม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ก็เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต มาลองทำปลาร้ากับเรา ตอนนี้มันดีมาก ๆ” ศิริลักษณ์ มนต์ขลัง ผู้ประกอบการชุมชน

แก่งละว้า สนามจริงแห่งการลงมือทำ

เมื่อชาวบ้านในชุมชนเริ่มเขี่ยบอลด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ แม้จะไม่มีเวลาซ้อมก่อนลงเล่นจริงในสนาม แต่การทดลองทำไปเรียนรู้ไป โดยมีกำลังแรงใจแรงกายจากองค์กรภายนอกชุมชนเข้ามาผลักดัน ก็ช่วยให้ชาวบ้านยังมีแรงขับเคลื่อนกันไปต่อ

“เราจะไม่จัดบูมให้คนเข้ามาเหมือนไฟไหม้ฟางแล้วหายไป แต่เราจะค่อยไต่เป็นขั้นบันได เราจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการคิดเอง อย่างมาร่วมกิจกรรมไหว้ศาลปู่ตา อย่างที่เขามาวันนี้ก็ช่วยให้เขาจินตนาการออก อย่างกลุ่มประมงมาก็จินตนาการออกแล้วว่า เราทำท่องเที่ยวมีคนมาตกปลาสามารถสร้างรายได้ รายได้หนึ่งวัน 1,200 บาท แล้วเขาก็บอกว่ามาแวะที่เกาะโนนตาโก้งพาคนตกปลา มานอนเล่น มากินข้าวเที่ยง มาไหว้ปู่ตา แล้วเขาก็เสนอว่าเราร่วมกันทำห้องน้ำไหม อย่างน้อย ๆ มันก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเริ่มคิดแล้วว่าไม่ต้องไปรอรัฐ เราจะร่วมกันทำอะไรได้ ภาคธุรกิจก็บอกว่าเอาสิถ้าทำห้องน้ำเดี๋ยวภาคธุรกิจช่วยวัสดุอุปกรณ์ สุดท้ายมันก็จะไปด้วยกัน อย่างกลุ่มตกปลาหานักท่องเที่ยวมา ชาวประมงก็ได้ด้วย คิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่จะสร้างความร่วมมือภาครัฐ ชาวบ้าน และธุรกิจที่อยู่ในท้องที่” จรูญพิศ มูลสาร นักพัฒนาในพื้นที่แก่งละว้า

แก่งละว้าแหล่งน้ำใหญ่แห่งนี้ที่มากกว่าความชุ่มเย็น คือแหล่งอาหาร แหล่งหารายได้ จากรุ่นสู่รุ่น จากเด็กจนเติบใหญ่ พ่อแม่หลายคนใช้แหล่งน้ำแห่งนี้เลี้ยงลูกหลาน ส่งเรียนหนังสือให้มีความรู้ หลายคนกลับมาสู่ชุมชน  

เพราะเป็นดั่งชีวิต จึงต้องร่วมกันรักษา นอกจากกฎกติกาแล้ว ความเชื่อยังเป็นอีกวิธีการปกป้องดูแลแก่งละว้า จากภูมิปัญญาดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ

ศาลปู่ตา โนนตาโก้ง

“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมีคุณปู่ คุณย่า ตลอดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวดา พระพรหมเจ้าที่ วันนี้ลูกหลานได้แต่งเครื่องสักการะบูชามาถวาย”

“สาธุ สาธุ สาธุ” 

กลางเกาะโนนตาโก้งของแก่งละว้า วันนี้มีเสียงเจี้ยวจ้าว จากชุมชนชาวบ้านที่มารวมตัวกันทำพิธีไหว้ศาลปู่ตา ที่เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวแก่งละว้า

ข้อมูลที่ชาวแก่งละว้าได้บันทึกไว้ เกาะโนนตาโก้ง เดิมเคยเป็นหมู่บ้านที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ (ปรากฎชื่อหมู่บ้านในแผนที่ทหาร) มีร่องรอยการทำเกษตรแปลงนา และเสาหลักบ้าน จากการสำรวจของชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้าปี 2551 พบว่าเกาะโนนตาโก้งมีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และมีความหลากหลายของระบบนิเวศ เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูฯ และมูลนิธิรักษ์อีสานจึงจัดตั้งศาลปู่ตาขึ้นในปี 2552 เพื่อการเรียนรู้ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนรอบแก่งตามความเชื่ออีสาน ซึ่งมีการกราบไหว้ สักการะร่วมกันในทุกปี

“โอ้เอ๋ย โอ้แก่งละว้า ๆ ๆ  พวกเราได้มาช่วยกันสร้างสรรค์ 

ทุกคนมีใจตรงกัน ๆ  มาร่วมสร้างสรรค์ให้มันก้าวหน้า แก่งละว้าที่อุดมสมบูรณ์

ชีวิตชุมชนชาวนา ๆ หาปู หาปลา เก็บผัก งมหอย 

เช้าเย็นภายเรือลำน้อย ๆ ค่อย ๆ พาย หวานแหลงน้ำ แล้วโดดตามเล่นน้ำลอยคลอ

โอ้ยนอ…อ้ายเอย

พองมแหขึ้นมาได้มันแสนดีใจ ได้ปลาข่อใหญ่ 

เก็บผักใน สายบัวหมู่นั้น  เอาต้มแม่น ใส่แลง

ผักกะแยง ผักอีฮินพร้อม ผักลืมผัวสั่นตั๊วพ่อใหญ่

ดอกผักตบ พังพวยกะได้ มันกินแซบแมนอิหลี

ตำแจ่ว ป่นปู ป่นปลา ๆ วิถีชาวนาแก่งละว้าบ้านเฮา

เช้าเย็นไม่เคบซบเซา ๆ พ่อหลวงทางเฮาเพิ่นนึกไว้ให้

จำไว้ใส่ใจไม่เคยลืมเลือน ๆ

โคกสำราญเฮานี้ มีของดีเชิญเด้อมาเบิ่ง 

สุขละเริงได้มาเห็นถื่อนี้ มันดีล้วนว่าสุแนว

แถวใกล้ ไกล เชิญเด้อมาเที่ยว ๆ มากินข้าวเหนียว จ้ำแจ่วปลาย่าง อยู่โคกสำราญของเฮานี้

อยู่ดอนตาโก้งของเฮานี้ เอย…….”

เสียงกลอนร้อง ร่ายรำ ดังกึกก้องทั่วเกาะ  เพื่อบูชาศาลปู่ตา เชื่อมโยงวิถีทางวัฒนธรรม เรื่องราวชาวแก่งละว้า ชวนรำลึกถึงความเป็นไปเป็นมาของแก่ง เพื่อให้ทุกคนระลึกถึงคุณค่าและความสำคัญ นำไปสู่การร่วมกันดูแลปกป้องทรัพยากร 

“เราก็ไหว้ปู่ตาทุกปี แต่ปีนี้มิติความร่วมมือเยอะขึ้น เดิมก็จะเป็นเครือข่ายชาวบ้านจัดแล้วก็ภาคีมาร่วม แต่อันนี้ก็คือภาคีมาร่วมตั้งแต่นายอำเภอ มาร่วมทำความสะอาดเอง มาร่วมเตรียมพื้นที่เอง แล้วก็ภาคธุรกิจก็มาช่วย คือไม่ได้เป็นงานของเครือข่ายชาวบ้าน แต่เป็นงานร่วมกันทั้งชาวบ้าน ทั้งภาคธุรกิจ ทั้งหน่วยงานราชการ ซึ่งเดิมมันก็จะเป็นกลุ่มอนุรักษ์จัดแล้วเราเชิญคนมาร่วม แต่อันนี้ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่เราจะก้าวไปด้วยกัน” จรูญพิศ มูลสาร นักพัฒนาในพื้นที่แก่งละว้า

ศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านแก่งละว้ามาแต่ดั้งแต่เดิม เป็นหลักยึดเหนี่ยว ให้ได้มาร่วมกันดูแลปกป้องแก่งละว้า รักษาทรัพยากรให้คงไว้คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

“ชาวบ้านหลายหมู่บ้านจะเคารพนับถือศาลปู่ตาตรงนี้ เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของแก่งละว้า มีตำนานประวัติศาสตร์เก่าแก่ในแก่งละว้าชาวบ้านจะมาไหว้ มาเลี้ยงศาลในเดือนหกของทุกปี” สมบัติ พลดอน ประมงพื้นบ้านแก่งละว้า

“เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีเราก็จะมาจัดพิธีแบบนี้ อย่างวันนี้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกเราก็มาจัดพิธีไหว้ศาลปู่ตาซึ่งมีชาวบ้านจากทั้ง 14 หมู่บ้านมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้” คงเดช เข็มนาค รองประธานเครือข่ายแก่งละว้า

แก่งละว้ากับลมหายใจชุมชน

พิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ชุมน้ำแก่งละว้านี้หล่อเลี้ยงคนในชุมชน ผูกพันกันมายาวนาน แต่น่าใจหายหากวันใดวันหนึ่งผืนน้ำแห่งนี้ที่คนในชุมชนเคยได้ปกป้องดูแล พึ่งพาอาศัย ไม่อาจทำได้เหมือนเคย คนตัวเล็กตัวน้อยยากจะเข้าถึง และนี่คือความกังวลของผู้คนแถบนี้มาตลอดหลายปี หลังจากมีข่าวว่าจะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับ ในพื้นที่ 4,000 ไร่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

“ถ้ามีโรงงาน ผมเองก็กังวล ผมกลัวน้ำเสีย ปู ปลา นา น้ำ ก็จะตาย คนก็จะกินปลาไม่ได้ หรือไม่ค่อยกินปลา พวกเราก็จะไม่มีอาชีพ ถ้าน้ำมันเสียแล้วคนก็จะทำมาหากินไม่ได้

ผมอยากให้อนุรักษ์ไว้ อย่างโนนตาโก้ง และโนนอื่น ๆ ให้ปล่อยตามธรรมชาติ คนก็จะได้ทำมาหากิน หาปู หาปลา ตามธรรมชาติ หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตได้สบาย ๆ อย่างทุกวันนี้” สมบัติ พลดอน ประมงพื้นบ้านแก่งละว้า

“เราทำกิน คนเข้ามาหากิน หาปู่ หาปลา ตามปกติ ถ้าอุตสาหกรรมยังอยู่พวกเราวิตกว่าลูกหลานข้างหน้าจะกินอะไร อย่างพื้นที่อุตสาหกรรมตอนนี้ปลากินไม่ได้เลย เนื้อมันแข็ง เนื้อมันหยาบ เพราะมีแต่สารเคมีลงไป ต่อไปชีกกค้อคงจะเป็นเช่นนั้นถ้ามีอุตสาหกรรมอยู่” คงเดช เข็มนาค รองประธานเครือข่ายแก่งละว้า

“แม่ไม่อยากให้มีอะไรมารบกวนเขามากมาย อย่างนก ปลา หรือแหล่งธรรมชาติของเรา  ไม่อยากให้มีโรงหงอกโรงงานเข้ามาใกล้เรา เพราะปัจจุบันแล่งน้ำของเรามันอุดมสมบูรณ์ แม่ก็อยากอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานเหมือนแต่ก่อน แม่ก็เติบโตมาจากตรงนี้เหมือนกัน” ละเอียด มนต์ขลัง ผู้ประกอบการชุมชน

แม้มีหลายอย่างน่ากังวลใจ แต่ยังมีหวังของคนในชุมชน ที่ร่วมกันมองภาพอนาคตแก่งละว้าที่อยากเห็น

“อย่างฝรั่ง ญี่ปุ่น เขาจะมาชมดอกบัว ชมนก ชมธรรมชาติ เราจะรักษาธรรมชาติแบบนี้ไว้ อีกสัก 9 ปี 10 ปี รุ่นลูกรุ่นหลานยิ่งจะสวยงามสมบูรณ์กว่านี้ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพราะเศรษฐกิจก็จะดี คนก็จะค้าขายได้  ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามา เราหาผัก หาปลามาได้ คนก็จะเข้ามาซื้อ”

ภาพฝันที่ไม่ซับซ้อนของพ่อสมบัติจะสมบูรณ์ขึ้นถ้าทุกคนช่วยกัน และมีการสนับสนุนซัพพอร์ต จากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย 

และไม่ใช่แค่พ่อสมบัติหลายคนในชุมชนต่างมีภาพฝันต่อแก่งละว้า อย่างคุณโอ๋ลูกหลานในชุมชนแก่งละว้า ที่ทั้งพยายามผลักดันและดูแลผืนน้ำและทรัพยากรมาโดยตลอด ก็มีจุดหมายที่อยากไปให้ถึงเช่นกัน

“เราคุยกันว่าเราจะทำบ้านไผ่ บ้านแฮด ชนบท ให้เติบโตโดยไม่ได้ไปสนใจปัจจัยภายนอก เรามองว่าปัจจัยภายนอกที่คุกคามถ้าข้างในเข้มแข็ง อันนั้นก็เป็นเรื่องเล็กแล้ว แล้วเราก็เชื่อมั่นว่าเราสัทธาในพวกเรา ก็ไม่ง่ายถ้าไบโอฮับจะเข้ามา เราก็จะพยายามจะแสดงจุดยืนของเราจนถึงที่สุด

เราจะร่วมกันสร้างบ้านแปลงเมืองของเรา ไม่ใช่แค่แก่งละว้า เราจะกำหนดบ้านเราเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านแฮด บ้านไผ่ ชนบท เราจะร่วมมือกันในการกำหนดบ้านของเรา ในแบบที่เราอยากให้เป็น 

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เรามองว่าเป็นปัจจัยคุกคาม อันนั้นเราก็จะดูหรือว่าจะแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น แต่อย่างน้อย ๆ ให้ประชาชนแข็ง แล้วก็พูดเรื่องเดียวกัน ร้องเพลงเดียว กันคีย์เดียวกัน ทำนองเดียวกัน ให้เห็นเห็นภาพเดียว อาจจะมีหลายแขน หลายขา มีองค์ประกอบแต่ว่าขอให้มันเป็นภาพเดียว” จรูญพิศ มูลสาร นักพัฒนาในพื้นที่แก่งละว้า

จะดีไม่น้อยถ้าแก่งละว้าเติบโตด้วยมือของคนในชุมชนที่เข้มแข็ง ตอบโจทย์ได้ทุกอาชีพ ทุกความฝัน 

“แก่งละว้าค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ เมื่อย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว ตอนที่แก่งละว้าเรามีปลาชะโดใหม่ ๆ เชื่อไหมว่ามีคนบินมาจากประเทศเยอรมันมาตกปลาที่นี่ และมีญี่ปุ่นมา ค่อนข้างจะเป็นแหล่งตกปลาที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ถือว่าสมบูรณ์แบบ เราอยากให้มีแหล่งอนุรักษ์สักแหล่งหนึ่ง แล้วก็เปิดให้ตกปลาเฉพาะในการแข่งขันแต่ละครั้ง คนมาเขาก็มาพัก มากิน ที่นี่ อุปกรณ์ตกปลาก็ได้ขาย อาหารการกินของคนที่นี่ก็ได้ขาย ผมเลยอยากให้พัฒนาตรงนี้ขึ้นมา” กลุ่มตกปลาบ้านไผ่

การใช้ประโยชน์ไปพร้อมกับการดูแลรักษา เป็นหนทางสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ให้หล่อเลี้ยงผู้คนได้อย่างยั่งยืน อยู่รอดได้อย่างมั่นคง ส่งต่อขุมทรัพย์มรดกทางธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างสมบูรณ์

แชร์บทความนี้