วันนี้ (8 ส.ค. 67) เวลา 9.00 น. นักข่าวพลเมืองจังหวะดกาฬสินธุ์ รายงานว่า ชาวบ้านเครือข่ายประชาชนคนกมลาไสย รวมตัวกันให้กำลังใจนายชัน หัตถนิรันดร์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลหลักเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และ นางจีรภา พิมล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 13 ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูกบริษัทเอกชนร้องนายอำเภอกมลาไสยให้ตรวจสอบ กรณีแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนา ” โรงไฟฟ้าขยะ ทางออกในการจัดการขยะ หรือเพิ่มมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมี ส.ส.พูนศักดิ์ จันทร์จำปา ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนากับประชาชนชาวกมลาไสย
โดยตัวแทนชาวบ้านทั้ง 2 คน ได้แสดงข้อห่วงกังวล กรณี บริษัทเอกชนมีโครงการการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ (RDF) ใกล้กับชุมชน โดยนายอำเภอกมลาไสยได้มีหนังสือเรื่องขอตรวจสอบข้อเท็จจริงมาถึงตัวแทนชาวบ้านทั้ง 2 คน ในวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้เข้าพบเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอกมลาไสย
ตัวเเทนเครือข่ายประชาชนคนกมลาไสย มองว่า การกระทำดังกล่าว ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกปิดปากไม่ให้แสดงความคิดเห็น เป็นการใช้อำนาจความเป็นเจ้านายหรือหัวหน้างานมากดดันไม่ให้พูด การเรียกสอบมันทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของชาวบ้านเป็นเรื่องของชุมชนซึ่งทุกคนต้องมาร่วมให้กำลังใจกัน ส่วนชาวบ้านก็มีความกังวลว่าหากผู้ใหญ่บ้านถูกเรียกสอบแล้วจะยังร่วมสนับสนุนชาวบ้านหรือไม่ เพราะปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าขยะชาวบ้านยังคงต้องเดินหน้าสู้ต่อไป
ด้านนายสมเจตน์ ไชยลาภ จากศูนย์วิจัยพลังงานยั่งยืนจังหวัดกาฬสินธุ์ เห็นว่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 เป็นตัวแทนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่อยู่ติดกับโครงการโรงคัดแยกขยะและโรงไฟฟ้าขยะ RDF ทั้ง 2 หมู่บ้านได้มีเวทีประชาคมของชุมชน ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นด้วยกับทั้งสองโครงการนี้ และไม่เห็นด้วยที่จะมาสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่เทศบาลตำบลกมลาไสย ซึ่งการเข้าร่วมเวทีวิชาการในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นของทั้งกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้านโครงการ และทั้ง 2 ท่านได้เข้าร่วมในฐานะประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยนำเสนอมติประชาคมของชาวบ้านทั้งสองชุมชน เเละเป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ทำให้เกิดความไม่สบายใจกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน วันนี้ชาวบ้านจึงมาร่วมให้กำลังใจกัน และการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชาวบ้านที่แสดงความคิดเห็นก็ทำให้ชาวบ้านและผู้นำชุมชน เกิดข้อกังวลว่า หากต่อไปมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องโรงคัดแยกขยะและโรงไฟฟ้าขยะจะมีการเรียกมาสอบข้อเท็จจริงอีกหรือไม่ เป็นการร้องเรียนเพื่อปิดปากหรือไม่
หลังจากตัวแทนชาวบ้านทั้ง 2 ท่านได้ชี้แจงกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอกมลาไสย ว่ามีความประสงค์จะให้ข้อมูลเป็นเอกสาร จากนั้นเครือข่ายประชาชนคนกมลาไสยได้ยื่นหนังสือถึง นายอำเภอกมลาไสย เพื่อขอให้ปฏิบัติตามมติการประชุมคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 117 วันพุธที่ 25 มกราคม 2566 ของโครงการก่อสร้างระบบจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย เทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ดังนี้
1. ทบทวนโครงการก่อสร้างระบบจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยเทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ และมีข้อร้องเรียนที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า อาจมีการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วน ในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และเร่งรัดให้มีการตรวจสอบการขออนุญาตที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แล้วดำเนินการขออนุญาตจากทางราชการ
2. ยกเลิกความเห็นชอบโครงการ และให้เทศบาลตำบลกมลาไสยเจ้าของโครงการ เพื่อดำเนินการขออนุญาตใหม่ โดยให้ศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างมีคุณภาพ และจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ให้ข้อมูลที่เป็นจริง มีการกำหนดตำแหน่งทำเลที่ตั้งของโครงการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตำแหน่งทำเลที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าขยะ เละให้มีผลการศึกษาที่แสดงต่อสาธารณะ ทั้งผลกระทบเชิงบวกและผลกระทบเชิงลบ เพื่อความครบถ้วนถูกต้อง ก่อนการตัดสินใจของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
โดยรายงานการศึกษาใหม่นี้ จะต้องแล้วเสร็จก่อนจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นและการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพราะรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการฉบับสมบูรณ์เท่านั้น ที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลนำเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็น และใช้เป็นข้อมูลที่นำเสนอต่อสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้าร่วมโครงการ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อผู้มีส่วนได้ในอนาคต ซึ่งประธานกรรมาธิการฯ ได้ส่งหนังสือข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2566