การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะส่งไปอย่างไรในเมืองที่อยู่ในสงครามอย่างมัณฑะเลย์

ค่ำวานนี้นักศึกษาเมียนมา เจ้าหน้าที่และคณาจารย์ใน ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายร่วมกับจุดเทียนเพื่อส่งความหวัง กำลังใจและไว้อาลัยให้กับความสูญเสียจากแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น.ที่ผ่านมา

บรรยากาศการจุดเทียนไว้อาลัย และส่งกำลังใจถึงผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหว ขอบคุณภาพจาก MFU TODAY

ทาง Locals ได้ต่อสายคุยกับดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเชียงราย ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางภัยสงครามและการสู้รบที่ยังไม่สงบในประเทศเมียนมา

 ดร.สืบสกุล กิจนุกร กล่าวว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเมียนมา ตอนนี้จาการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีสิ่งเร่งด่วนที่ต้องจัดการหลายด้าน

ดร.สืบสกุล กิจนุกร พูดคุยในการจุดเทียนไว้อาลัย ขอบคุณภาพจาก MFU TODAY

1.การจัดการพิธีศพ ยังไม่สามารถพาร่างออกมาดำเนินการตามหลักศาสนาได้ ขาดแคลนผ้าห่อศพจำนวนมาก ในพื้นที่มีทั้งพุทธ และมุสลิมซึ่งต้องเร่งจัดการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใน 24 ชั่วโมง

2.ไฟฟ้าดับไม่สามารถใช้การได้ ขาดแคลนสาธารณูปโภค ติดต่อโลกภายนอกได้ยากลำบาก หลายพื้นที่สัญญาณการสื่อสารถูกตัดขาด

3.โครงสร้างถนน สะพานขาด ไม่มีภาพรวมในการประเมิน

4.ทีมกู้ภัยยังขาดแคลน เนื่องจากทีมกู้ภัยส่วนใหญ่ถูกส่งไปเมืองหลวงเนปิดอร์และย่างกุ้ง การเดินทางมามัณฑะเลย์ และสกายซึ่งปจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวทำได้ยาก เส้นทางถูกตัดขาด สนามบินใช้การไม่ได้ พังจากแผ่นดินไหว

5.ขาดแคลที่พักอาศัย จุดศูนย์กลางอย่างวัด โรงเรียน ที่เคยเป็นที่พึ่งของคน เสียหายพอๆกับบ้านเรือน ทำให้ต้องออกมานอนกลางแจ้ง ขาดแคลนผ้าห่ม มุ้ง หมอน

6.สิ่งของเครื่องใช้พื้นฐานขาดแคลน น้ำดื่ม อาหาร ขาดแคลนขอให้พ้นฐานในชีวิตประจำวัน การรักษาพยาบาล แพทย์ ยาเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอมาตั้งแต่ช่วงการสู้รบ เจอภัยซ้ำซ้อนจึงทำให้วิกฤตหนัก

ภาพความเสียหายในเมียนมา จาก AFP ThaiPBS News

ภายใต้สถานการณ์สู้รบในเมียนมา และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไทยสามารถทำได้

การคุยกับรัฐบาลเมียนมา และกองกำลังอื่นๆ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือ โดยใช้เส้นทางเชียงราย-ท่าขี้เหล็ก-ตองจี-มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นสุด โดนใช้ระบบการขนส่งสินค้าเพื่อเร่งส่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตไปก่อน โดยอาจจะมีหน่วยงานไทยหรือเมียนมาที่มีศักยภาพด้านดาวเทียมช่วยประเมินเส้นทางจากการดูภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อประเมินถนนและเส้นทาง เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนมัณฑะเลย์และสกาย

ดร.สืบสกุล กิจนุกร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการสำรวจจำนวนครอบครัวของนศ.เมียนมาที่ได้รับความร้อนจากเหตุแผ่นดินไหว โดยในเบื้องต้นเราพบว่า 70% ของนศ.ที่ตอบแบบสำรวจระบุว่าครอบครัวของพวกเขาในเมียนมาได้รับความเดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหว คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะได้ข้อมูลทั้งหมด รวมถึงได้ประสานกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายนักศึกษาเมียนมาทั่วประเทศและหวังว่าจะได้ข้อมูลมาภายในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินและหาทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป

แชร์บทความนี้