10 คมคนเหนือ “รู้รักษ์ รักษา ต่อยอด ร่วมสมัย”

พบกับ 10 ศิลปิน และบุคคลสำคัญภาคเหนือสล่าล้านนา พ่อครู แม่ครู นักสร้างสรรค์ชุมชนXคนรุ่นใหม่ เก็บบันทึกเรื่องราวบุคคลสำคัญของคนเหนือ ทั้งในด้านวัฒนธรรม อาหาร ดนตรี ศิลปะ สมุนไพร มรดกที่บรรพบุรุษร่วมสืบทอด ที่ถูกถ่ายทอดส่งต่อรุ่นสู่รุ่น 

ภาคเหนือตอนบน ชุดสารคดี : ลมหายใจแห่งล้านนา ลมหายใจแห่งภูมิปัญญา สารคดีที่ถ่ายทอดชีวิตและแนวคิดของปราชญ์ผู้เป็นลมหายใจแห่งภูมิปัญญาของล้านนาทั้ง 5 ท่าน

ตอนที่ 1 : ครูแอ๊ด ภาณุทัต อภิชนาธง  คีตะแห่งล้านนา

ท่วงทำนองแห่งล้านนาและการเดินทางของดนตรีข้ามกาลเวลา “ดนตรีบ้านเฮามันเกิดจากธรรมชาติ การเป่า การดีด การสี ล้วนเป็นการเล่าเรื่องชีวิต ความเชื่อ และศรัทธา” คำพูดเรียบง่ายแต่ทรงพลังจาก ‘ครูแอ๊ด-ภาณุทัต อภิชนาธง’ สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของดนตรีล้านนา เสียงสะล้อ ซอ ซึง ไม่เพียงแค่กังวานในอากาศ แต่ยังแทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของวิถีชีวิตชาวเหนือ เป็นทั้งจิตวิญญาณและสายใยที่เชื่อมโยงคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้าด้วยกัน

ตอนที่ 2 อาจารย์สนั่น ธรรมธิ – เรื่องเล่าแห่งกาลเวลา ล้านนาล้านเรื่องราว

“ถ้าบ่มีอดีต ก็บ่มีปัจจุบัน” เสียงของ อาจารย์สนั่น ธรรมธิ เปล่งออกมาอย่างหนักแน่น แฝงด้วยความหมายลึกซึ้ง เสียงนั้นไม่ใช่เพียงคำพูดธรรมดา แต่เป็นเครื่องเตือนใจถึงคุณค่าของรากเหง้าที่เราทุกคนถือกำเนิดมา หากไร้ซึ่งการจดจำ ไร้ซึ่งเรื่องเล่า เราจะหลงลืมตัวตนของเราหรือไม่? นี่คือสิ่งที่อาจารย์สนั่นอุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อให้เรื่องเล่าแห่งล้านนาไม่สูญหายไปกับกาลเวลา 

ตอนที่ 3 พ่อครูอานนท์ ไชย์รัตน์ – กลองสะบัดชัย สะบัดสำเนียง สุรเสียงก้องชัย

“กลองล้านนา ทุกใบมีความศรัทธาอยู่ในตัว” พ่อครูอานนท์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น เสียงกลองดังก้องกังวาน รัวแรงเป็นจังหวะสะบัดเร็ว แผ่พลังศรัทธาไปทั่วลานกว้าง ในวันที่เสียงกลองสะบัดชัยกระหึ่มก้อง ‘พ่อครูอานนท์ ไชยรัตน์’ไม่ได้เป็นเพียงผู้ตีกลอง แต่เป็นผู้ที่สืบทอดจิตวิญญาณของล้านนา ผ่านทุกจังหวะที่สะบัดออกไป นี่ไม่ใช่เพียงเสียงกลอง แต่คือเสียงของแผ่นดิน เสียงของบรรพชนที่ยังคงก้องสะท้อนอยู่ในปัจจุบัน

ตอนที่ 4 พ่อครูอรรณพ จันทรบุตร – สัมผัสแห่งการเยียวยา ภูมิรักษาแห่งสมุนไพร 

“อโรคยาปรมะลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่เมื่อโรคเกิดขึ้นแล้ว เราต้องรู้วิธีเยียวยาให้ถูกต้อง” คำพูดของ’พ่อครูอรรณพ จันทรบุตร’ สะท้อนถึงแก่นแท้ของศาสตร์การแพทย์แผนโบราณที่เขาอุทิศตนให้มาตลอดชีวิต ในหมู่บ้านอันเงียบสงบแห่งหนึ่งในภาคเหนือของไทย กลิ่นสมุนไพรหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ โรงเรียนการนวดไทยหาดงแห่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่สอนวิชานวดบำบัด แต่เป็นที่ที่สืบทอดภูมิปัญญาหมอเมืองจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีพ่อครูอรรณพ จันทรบุตร เป็นศูนย์กลางของสายน้ำแห่งภูมิความรู้ที่ไม่ขาดสาย

ตอนที่ 5 อาจารย์วิถี พานิชพันธ์  วาดเส้นเห็นเรื่อง ปราชญ์เปรื่องเรื่องล้านนา

“ศิลปะล้านนาไม่ใช่ของเก่าที่ต้องตั้งโชว์เฉย ๆ แต่เป็นสิ่งที่มีชีวิต เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เสมอ” นี่คือคำกล่าวของ อ.วิถี พานิชพันธ์ ศิลปิน นักวิชาการ และปราชญ์ผู้เป็นศูนย์กลางของศิลปะล้านนา ท่านไม่เพียงแต่ทำงานศิลปะ แต่ยังมุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศิลปะล้านนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย ศิลปะของท่านจึงไม่ได้เป็นเพียงภาพที่ถูกวาดลงบนผืนผ้าใบ หากแต่เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงผู้คน วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของล้านนาเข้าด้วยกัน 

ภาคเหนือตอนล่าง สารคดีชุด : ลมหายใจหัวเมืองเหนือ ลมหายใจแห่งภูมิปัญญา

ตอน 1 พ่อครูหัสดินทร์ เชาวนปรีชา ทายาทคนสุดท้ายของมวยพระยาพิชัย

ผู้ช่วยศาสตร์จารย์หัสดินทร์ เชาวนปรีชา หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า พ่อครูหัสดินทร์ ทายาทและสายเลือดสายตรงของพระยาพิชัยดาบหัก คนสุดท้ายที่ยังคงสืบทอดมวยพระยาพิชัย ซึ่งเป็นวิชามวย วิชาดาบที่ผสมทักษะของตำราพิชัยสงคราม จากการมีข้อห้ามในการไม่บังคับเรียน ไม่ถ่ายทอดให้คนนอกตระกูล และไม่ถ่ายทอดให้คนที่มีนิสัยเกเร จึงทำให้ท่านตัดสินใจที่จะเปิดรับผู้มีความตั้งใจจริงนอกสายเลือด เพื่อมาเรียนรู้มรดกอันทรงคุณค่าไม่ให้สูญหายไป

ตอน 2 ครูโจ จงจรูญ มะโนคำ ผู้ชายทอผ้าแห่งเมืองลับแล

ในอดีตการทอผ้าของผู้ชายไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ครูโจ จงจรูญ มะโนคำ ก็ได้อาศัยการช่วยแม่ ช่วยยายเรียนรู้การทอผ้าตีนจกลับแล ที่มีเส้นสายลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของไทยยวน พร้อมทั้งก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล ที่บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของผู้คนผ่านเส้นด้วย สีสันในการย้อมผ้า เทคนิคการทอ การจกที่เป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่ยอมรับของคนในระดับสากล

ตอน 3 ครูทุเรียน พรมมิ ผู้ปลุกชีวิตลายสือไทยจากหลักจารึก

พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มเติมให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้แทบทุกตัว ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เรามีภาษาเขียน และตัวอักษรพัฒนาใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการตระหนักถึงคุณค่าของลายสือไทย ครูทุเรียน พรมมิลาย ครูในจังหวัดสุโขทัย จึงได้ปลุกชีวิตลายสือไทยขึ้นมาอีกครั้ง พัฒนาให้เด็กได้เรียน เขียนอ่านลายสือไทย และต่อยอดให้ลูกหลาน เพื่อให้เป็นมากกว่ามรดกแห่งความทรงจำโลก แต่เป็นภาษาที่ถูกใช้โดยคนในพื้นที่

ตอน 4 เล่าเรื่อง บรมครูแห่งวงการช่างศิลป์ ผ่านทายาทรุ่นที่สอง

หากพูดถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งแรกของไทย หลายคนคงนึกถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ที่ก่อตั้งโดย จ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ ครูช่างรางวัลศิลปาจารย์ และรางวัลอีกมากมาย ผู้สร้างสรรค์พระพุทธชินราชจำลอง และรวมรวมข้าวของพื้นบ้านมากมายไว้เป็นมรดกให้ลูกหลายได้ชม แต่ด้วยอายุที่เริ่มเป็นอุปสรรคต่อการบอกเล่าเรื่องราว เราจึงชวนธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ลูกชายและผู้จัดการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ช่วยมาบอกเล่าเรื่องราวการสืบทอดของงานศิลป์จากรุ่นสู่รุ่น

ตอน 5 สีไพร ไทยแท้ แม่เพลงแหล่และทำขวัญนาค

หากจะนึกถึงแม่เพลงแหล่ในเมืองไทยสักคน ชื่อต้นๆ ที่คุ้นคุยกันเป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้น สีไพร ไทยแท้ หรือที่มีชื่อจริงว่าปัญฑารีย์ บัวด้วง ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำขวัญนาคคนสำคัญในเมืองไทย จากจังหวัดพิษณุโลก ใช้ศิลปะการแหล่การร้อง เล่าเรื่องราวตัวแทนของแม่ที่มีต่อลูกชายที่จะบวชเป็นพระ เพื่อให้เห็นบุญคุณของพ่อแม่ และเตรียมตัวเข้าสู่เพศบรรพชิต ให้ปฏิบัติตนให้เป็นคนดี และอยู่ในพระวินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด

ร่วมสัมผัสเรื่องราวทั้ง 10 ตอน 10 คมคนเหนือ “รู้รักษ์ รักษา ต่อยอด ร่วมสมัย” ได้ทาง https://localsthaipbs.net/ เร็วๆ นี้! 

แชร์บทความนี้