เสวนาฟังเสียงประเทศไทย: จับตาแผน PDP ใหม่ ราคาอะไรที่ประชาชนต้องจ่าย ? 

พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตของเราในทุกวันนี้ หากโลกนี้ไม่มีพลังงานดังกล่าวก็อาจจะทำให้เราต้องอยู่กับความมืดในเวลาการคืน หรือต้องเหงื่อออกตลอดเวลาในยามที่มีสภาพอากาศร้อน ยิ่งไปกว่านั้น เมืองทั้งเมือง การพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ 

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศเราต้องมีการวางแผนในเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนที่พยากรณ์ความมั่นคงและความเพียงพอเรื่องของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ 

ซึ่งแผน PDP จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยจะเป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวประมาณ 20 ปี โดยนำองค์ประกอบหลายอย่างมาคำนวณ ทั้งแผนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อัตราการใช้ไฟที่ผ่านมา เพื่อนำมาคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าว่าจะมีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้จัดหาแหล่งการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันแผนที่ใช้อยู่คือ แผน PDP 2018 ฉบับปรังปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ปี 2563 แม้จะเป็นการวางแผนเรื่องการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว แต่จริง ๆ แล้ว บริบท สภาพแวดล้อมเรา การพัฒนาต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้แผน PDP จะต้องมีการทบทวน และปรับปรุงใหม่ ทุก ๆ 2 ปี ซึ่งขณะนี้เองทาง สนพ. ก็ได้มีการจัดทำร่างแผน PDP ขึ้นมาใหม่ แต่ยังปรับปรุงไม่เสร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง สนพ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะนำร่างแผน PDP มาทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในช่วงเดิน เมษายน ปีนี้ แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีเปิดเผยออก

ถามว่า แผน PDP สำคัญอย่างไร และเกี่ยวอะไรกับประชาชนอย่างเรา หากการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า หรือแผนที่วางไว้มีความถูกต้องแม่นยำ จะทำให้การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้านั้นเหมาะสม เพียงพอต่อการรองรับความต้องการไฟฟ้า แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยเราในแต่ละปี มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือที่เขาเรียกว่าการมีไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ค่า Ft ไฟที่แพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงประชาชนที่อาจจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เชื่อว่าพอฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะมีคำถามอยู่ในใจว่า ที่ค่าไฟบ้านเราแพงอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะเรามีไฟฟ้าสำรองเกินเยอะเกินไปหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นจะมีทางไหนที่จะทำให้เราไม่ต้องแบกรับต่อไปไหม แล้วถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่วันนี้ สิ่งที่ประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มมากกว่านี้คืออะไร นี่คือโจทย์ของวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทยของเราในวันนี้

ขอ  3 คำ ประชาชนอยู่ตรงไหนในแผน PDP

ภายในวงเสวนาเราเชิญตัวแทนประชาชนที่มีความสนใจในเรื่องของพลังงานไฟฟ้า ตัวแทนภาคเอกชน ที่ทำธุรกิจโซล่าร์ฟาร์ม นักวิชาการ และประชาชนผู้ใช้ไฟทั่วไปมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน โดยเริ่มต้นจากการชวนทุกคนมองถึงความสำคัญของแผน PDP และการมีส่วนรวมของประชาชนทุกคน  

อรชา จันทร์เดช ฉะเชิงเทรารีพาวเวอร์ แสดงความเห็นว่า ประชาชนเป็นผู้รับกรรม เพราะประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพง มาจากค่า FT ที่ต้องจ่ายให้ผู้สร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่ค่าที่ประชาชนต้องจ่าย เพราะเขาได้กำไร เขาต้องเป็นคนที่ลดส่วนนั้นให้เรา เพราะเขาได้กำไรจากการขายไฟ แล้วทำไมเราต้องมารับกรรมจากการที่เขาได้กำไร 

เราควรจะได้ใช้ไฟถูก รัฐควรจะสนับสนุนให้เราได้ใช้ไฟถูก แต่ตอนนี้เรากลับเป็นผู้ที่ต้องรับกรรมจ่ายค่า FT ค่าภาษี เรารับกรรมหลายอย่างมาก ทั้งอากาศร้อนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เยอะมาก สร้างเขื่อน ทำลายป่าไม้ เกิดมลพิษ ทำให้โลกร้อน  ทั้งที่เราควรจะรักษามันไว้ แต่มันกลับถูกทำลาย เราไม่ควรจะเป็นคนที่ควรรับกรรมอีกต่อไป 

โอ๊ต นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ประชาชนเป็นผู้รับกรรม เช่นเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยได้มีส่วนร่วมกับค่าไฟ ค่า FT ซึ่งมันเป็นไปได้ยังไงที่เราต้องจ่ายค่า FT ให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าด้วยซ้ำ รัฐควรจะเข้ามาช่วยเหลือเราในส่วนนี้ ทำไมรัฐถึงมองว่าแผน PDP คือแผนความมั่นคงทางพลังงาน ทั้ง ๆ ที่สติถิ 20 ปีที่ผ่านมา เรามีกำลังไฟฟ้าสำรองเยอะมาก ประชาชนอย่างเราใช้ไฟต่ำกว่านั้นเยอะมาก ส่วนต่างที่เหลือใครเป็นคนจ่าย รัฐบาลไม่ได้เป็นคนจ่าย ถึงแม้รัฐจะบอกว่าเอาเงินเขาจ่าย แต่เงินนั้นก็มาจากภาษีประชาชน 

เราอยู่ในประเทศไทย มีความพร้อมหลายอย่าง แต่เราต้องมารับกรรม เคยได้ยินคนตายเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟไหม ที่ต่างจังหวัดหลายบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะไม่มีเงินจ่าย หลายบ้านยังใช้เทียนจุดอยู่เลย เพราะรัฐเก็บค่าไฟแพง ไม่เห็นใจประชาชน สุดท้ายประชาชนเป็นแค่ผู้รับกรรมจากที่เขาก่อ และไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลย 

มุมิน เจ๊ะแว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ประชาชนอยู่นอกแผน PDP ความมั่นคงนี้เป็นความมั่นคงของใคร ทำไมเราถึงยังเห็นประชาชนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ เพราะถนนที่บ้านไม่สามารถลงเสาร์ไฟได้ อย่างนี้แผน PDP จะเรียกได้ว่าเป็นแผนความมั่นคงทางไฟฟ้าได้หรือไม่

ขณะเดียวกันโรงงานอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าเลทค่าไฟที่ถูกที่สุดจะเป็นเลทไฟบ้าน แต่ยังมีบ้านอีกหลายหลังคาเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ยังมีนักศึกษาอีกหลายคนที่ต้องแบกรับหน่วยค่าไฟหอพักที่เกินจริง แบบนี้แผน PDP จะเป็นแผนที่มีประชาชนคนทั่วไปอยู่ในแผนจริงหรือ 

ชุติมา ประสบผลพาณิชย์ เครือข่ายคนรักษ์นครนายก แสดงความเห็นว่า ประชาชนเป็นลูกค้าที่ต้องจ่าย ถ้ารัฐมีนโยบายอย่างไร ก็เหมือนมัดมือให้เราต้องจ่าย แต่ทำไมทุกอย่างเราต้องรับกรรม เพราะเราไม่มีส่วนร่วม 

เวลาเลือกนักการเมือง เราตั้งใจเลือกคุณมาทำเพื่อประชาชน แต่พอขึ้นไปไม่มีใครมาทำ เรื่องไฟฟ้าสู่มา 30 ปี ค่า Ft เราพูดมาตลอด เราตั้งคำถามมาตลอดว่ามันคือค่าอะไร ทำไมเราต้องจ่าย หรือเวลาโดนยกหม้อไฟฟ้า แล้วจะไปขอใช้ไฟ ต้องจ่ายอีก 300 บาท มันคืออะไร

ผศ. นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล เครือข่ายคนรักษ์นครนายก แสดงความเห็นว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มานั่งคุยเรื่องแผน PDP เพราะที่ผ่านมาดูเป็นความลับ ไม่โปร่งใส มันความจะเกิดจากการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แต่จะมีคนไทยสักกี่คนที่รับรู้ว่าจะมีการทำ แผน PDP และแผนนี้เป็นแผนใคร ของประชาชนหรือเปล่า รัฐบาลต้องโปร่งใส เพราะเรื่องน้ำ เรื่องไฟ เป็นของสาธารณะ ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องโปร่งใส ให้เจ้าของทรัพยากรได้รับรู้ด้วย

– แผน PDP ความมั่งคงทางไฟฟ้าของใคร – 

จะเห็นว่า หลายคนสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องของค่าไฟแพง รู้ไหมว่า การปรับขึ้นค่า  Ft  และ การปรับขึ้นค่าความพร้อมจ่าย เป็นต้นเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้บิลค่าไฟเรา ‘ราคาแรง’ 

ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร คิดคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งคำนวณมากจากต้นทุนการสำรองไฟฟ้า เพราะมีการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี

ข้อมูลของ JustPow ระบุว่า ตั้งแต่ ต้นปี 2565 ค่า Ft ขยับขึ้นสูงแบบก้าวกระโดด ในช่วงสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ประเทศไทยนั้นก็นำเข้า LNG เพิ่มขึ้นด้วย

เรียกได้ว่าสงครามแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็เป็นภัยต่อความมั่นคงของเงินในกระเป๋าเราทุกคน  จากราคาพลังงานนำเข้า และค่า Ft ที่กลายเป็นเครื่องมือการันตีกำไรให้ผู้ผลิตไฟฟ้า แต่ผลักภาระและความเสี่ยงต้นทุนค่าไฟมาให้ประชาชนจ่ายแทน

แต่อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวพันกับ “ค่าไฟฟ้าแพง” คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เคยให้ข้อมูลไว้ คือการวางแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานแบบเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร

ข้อมูลล่าสุด เมื่อ 6 เมษายน 2567 กฟผ. รายงานข่าว สถิติใหม่การใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ อยู่ที่ 34,443.1 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าที่เคยทำไว้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ปีที่แล้ว กว่า 400 เมกะวัตต์ และคาดว่า เดือนพฤษภาคมนี้ จะมียอดใช้ไฟพีคอีกรอบ

แต่ถึงจะใช้ไฟฟ้าพีคอย่างไร เราก็มีไฟฟ้าสำรองอยู่  ซึ่งปัจจุบันบ้านเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบ อยู่ที่ 49,571.79 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูงถึง 43.92% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด แต่จริง ๆ แล้ว มาตรฐานไฟสำรองควรจะเพิ่มจากตัวเลขพีคประมาณ 15% เท่านั้น

ส่วนที่พีคกว่านั้น คือ เรามีปริมาณโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มกำลัง แต่ต้องร่วมจ่ายในราคาเต็มตามสัญญา 

โดย 16 ปีที่ผ่านมา คนไทยต้องจ่ายให้ส่วนนี้ ไปแล้วประมาณ 533,197 ล้านบาท ภาระก้อนนี้นี่เอง ที่ถูกผลักเข้ามาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา

ในอนาคตเรายังมีโรงไฟฟ้าที่รอเข้าระบบอีกหลายโรงจากแผน PDP2018 (ปรับปรุงครั้งที่1) ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ และก็ยังไม่รู้ว่าแผน PDP2024 ที่เตรียมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเร็วนี้ เพื่อเอาไปผนวกรวมในแผนพลังงานชาติ ปี 2567-2580 ที่คาดว่า จะประกาศใช้ได้ในเดือน ก.ย.นี้  จะกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีกกี่โรง

แม้ตอนนี้หลายคนจะหนีปัญหาค่าไฟแพง ไปติดตั้ง ‘โซลาร์เซลล์’ แต่เรื่อง โซลาร์เซลล์ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะต้องมีเงินทุนมากพอสมควร ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเข้าไม่ถึง  ขณะที่ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ยังสร้างภาระให้ประชาชนเกินควร  เพราะหากอยู่ในกลุ่มที่ติดตั้งขนาดไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์  ต้องไปทำเรื่องผ่าน 3 หน่วยงาน คือ ที่ทำการท้องถิ่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าภูมิภาค ทำให้ต้องใช้เวลานาน

ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2562 ที่สนับสนุนให้บ้านเรือนทั่วไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง และนำส่วนเกินมาขายให้กับการไฟฟ้าฯ ก็ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะรัฐซื้อไฟราคาถูก เพียงหน่วยละ 2.20 บาท แต่ปัจจุบัน (ม.ค. – เม.ย. 67) เราจ่ายค่าไฟให้การไฟฟ้าในราคาหน่วยละ 4.18 บาท  แถมจำกัดปริมาณในแต่ละรอบ แต่ละปี และบางช่วงก็ไม่เปิดรับซื้อเลยเป็นเวลาหลายปี แล้วอะไรจะช่วยเราลด ภาระค่าไฟฟ้าได้

3 มุมมอง แผน PDP ควรไปทางไหนต่อ –

นอกจากตัวแทน 30 คน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในวงเสวนา ฟังเสียงประเทศไทยยังได้เชิญตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องพลังงานไฟฟ้า ทั้ง 3 ท่าน มาร่วมเติมข้อมูลอนาคตแผน PDP ไทย  

  • อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงาน และ Grid Modernization
  • รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์​ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์
  • ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค

ความมั่งคงด้านพลังงาน ที่อยากให้เป็น 

อาทิตย์ เวชกิจ กล่าวว่า เราได้ยินเสมอเรื่องความมั่นคง เราเชื่อว่าเวลาเขาตอบเรื่องความมั่นคง คือ ไฟติด ๆ ดับ ๆ เรายืนยันว่าเขาเก่งจริง ๆ การไฟฟ้าของเราทั้ง 3 การไฟฟ้า มีไฟให้เราใช้มาตลอด 50-60 ปี ผมเคยอยู่การไฟฟ้าฝ่ายการผลิต ยืนยันว่าเรามั่นคงแน่ ๆ แต่ความมั่นคงปัจจุบันไม่ได้หยุดแค่นี้ 

เวลาประกาศสงคราม รัสเซีย-ยูเครน หรือ อิสราเอล-อิหร่าน ที่เรากลัวคือ น้ำมันขึ้น แก๊สขึ้น เราโดนอีก ดังนั้นความมั่นคงด้านราคาเป็นเรื่องสำคัญมาก ความมั่นคงว่าเราจะมีไฟฟ้าใช้หรือเปล่า เพราะเรานำเข้าแก๊สธรรมชาติ (Natural Gas) เยอะ เรานำเข้ามาจากต่างประเทศ ถ้าปิดแถวเกาะใต้หวันจะเกิดอะไร ถ้าแก๊สไม่สามารถผ่านมาได้ เรามีเหลืออยู่มากขนาดไหน 

ถ้าพูดถึงความมั่นคง แต่เรายังพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แปลว่าความมั่นคงเราได้ข้อเดียวคือ ไฟไม่ติด ไม่ดับ แต่การผันผวนของราคา และการมีใช้อย่างมั่นใจ อันนี้หนักใจมาก  

ความมั่นคงเรื่องพลังงานต้องดูทุกมุม ถ้าเราอยากได้ราคาที่มีเสถียรภาพ คาดการณ์ได้ ไม่แกว่งมาก ได้ราคาที่สมเหตุสมผล เชื่อถือได้ พึ่งพาได้ และต้องมีความแน่นอนของไฟฟ้า เวลาที่เราเปิดไฟทุกครั้ง ไฟต้องติดทุกครั้ง สุดท้ายหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ ความยั่งยืน (Sustainability) การแก้ปัญหาโลกร้อน เราต้องเอียงไปกับชาวโลก เรื่องการใช้พลังงานสะอาด 

ด้าน ผศ.ประสาท มีแต้ม กล่าวในประเด็นนี้ว่า เมื่อก่อนคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยบอกเราว่า ความมั่นคงทางพลังงาน คือการที่เรามีไฟฟ้าใช้ตลอด แต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งศึกษาเรื่องนี้ตลอด เขาบอกว่า ความมั่นคงของพลังงาน คือ ความมั่นคงของมนุษยชาติ ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องโลกร้อน อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่เราเกิดมา แล้วมนุษย์เราสูญพันธ์ุมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง เรากำลังจ่ออยู่ปากเหวครั้งที่ 6 ดังนั้นการวางแผนพลังงานต้องควบคุมที่โลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอน 

ถ้าถามรัฐก็คงบอกว่าเขาคำนึงถึงโลกร้อน แต่จริง ๆ ไม่ได้ทำ นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณได้ว่า เผาน้ำมันกี่ลิตร จะลดการปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ และถ้าไปดูข้อมูลของกระทรวงพลังงาน 1 หน่วยไฟฟ้า เราปล่อย 390 กรัม แต่องค์กรโลกเขาบอกว่า เราปล่อย 570 กรัม ถ้าเป็นไปตามสหประชาชาติ เราต้องปล่อย 20 กรัมต่อหน่วย ลดมา 20 กว่าเท่า ถามว่าทำได้ไหม ผมว่าทำได้ครับ

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ กล่าว เราได้ยินภาครัฐพูดมาตลอดเรื่องความมั่นคง เราต้องมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมงของทุกวัน มีการเกิดไฟดับน้อยสุด นี่คือความมั่นคงที่รัฐพูดถึง การจะเป็นแบบนี้ได้ต้องมีแหล่งพลังงานที่เพียงพอ ฉะนั้นเราจะไม่แปลกใจเลย แหล่งพลังงานที่รัฐพึ่งพาและพูดถึงเสมอคือแหล่งพลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเหลว สิ่งเหล่านี้เป็นความมั่นคงที่รัฐทำมาตลอด

แต่ความมั่นคงนี้ไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมันไม่ใช่แค่เราเปิดแอร์แล้วติด เปิดไฟแล้วสว่าง แต่มันเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ การแข่งขันของประเทศ คนจะมาลงทุนในไทยก็ดูว่าไฟในไทยสะอาดมั้ย มีพลังงานหมุนเวียนร้อยละเท่าไหร่ คนจะมาเที่ยวโรงแรมที่ภูเก็ตก็ดูว่า Eco-friendly หรือเปล่า ไฟฟ้าที่ใช้ต่าง ๆ มาจากไหน ถ้าเรามองความมั่นคงแค่เฉพาะเรื่องการมีไฟฟ้าใช้อย่างเดียว เราก็จะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน ขณะเดียวกันระยะยาว เราก็อาจจะถูกทอดทิ้งบนเวทีโลกที่เราได้ไปสัญญาไว้ว่าจะลดคาร์บอนปีนั้น ปีนี้เท่านี้ แต่เหมือนว่าแผนของเราที่ผ่านมายังไม่สอดคล้อง นี่ก็เป็นประเด็นสำคัญมาก ๆ ที่เราจะพูดถึงความมั่นคง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวที่ปล่อยพลังงานมากที่สุดคือ ถ่านหิน 1 หน่วยไฟ ปล่อยคาร์บอนประมาณ 300-400 กรัม แต่ถ้าถ่านหิน จะปล่อยเป็นกิโลกรัม ถ้าเราผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมาก ๆ นอกจากมลพิษที่เราได้เยอะแล้ว ยังได้คาร์บอนมาเกือบ 1 กิโลกรัม

แผน PDP ภาคประชาชน ทางออกวิกฤตพลังงาน ?

อาทิตย์ เวชกิจ กล่าวว่า แผน PDP ที่สภาอุตสาหกรรมทำ เราเรียกว่าแผน PDP ภาคประชาชน  มักถูกสร้างวาทกรรมว่า ธุรกิจเอกชนกับประชาชนเป็นคนละขั้วกัน รัฐชอบบอกว่า รัฐปกป้องประชาชน แต่นักธุรกิจเอาเปรียบประชาชน ทุกเวทีเราบอกว่า ธุรกิจเอกชนกับประชาชนคือพวกเดียวกัน ฉะนั้นเราเลยทำแผน PDP เชิญผู้เกี่ยวข้องทางสถาบันศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ใช้ และผู้ผลิตมา brainstorming กัน คือเราอยากให้แผนพลังงานชาติมันออกมาจากประชาชนและเอกชนจริง ๆ เพราะที่ผ่านมาอยู่ในมือของรัฐ มุมมองของเขาไม่ครอบคลุมพอ เราเลยพยายามเอามุมมองที่ครบไปชี้แจงทุกบรรทัด

ตั้งแต่แผน PDP 2018 เราไปให้ความคิดเห็น จนออกมาเป็น 2018 revision 1 เราให้ความเห็น และคัดค้านมาตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเลย เวลาเขาเอาโจทย์มาให้ก็มีเวลาแค่ 7 วัน และรับฟังเฉพาะในห้อง และได้พูดคนละ 10 นาที การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมันเลยไม่ครบถ้วน เราก็เลยคิดว่าก่อนที่เขาจะออกฉบับใหม่ เราทำอย่างละเอียด ทำการศึกษาครบทุกด้าน เอาตัวนี้เป็น benchmark แล้วส่งให้ภาครัฐไว้แล้ว

ดังนั้น แผน PDP ภาครัฐที่ควรจะออกตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่ก็เลื่อนมาเรื่อย ๆ คาดว่าเขาจะไม่มีข้ออ้างว่าไม่เห็นตรงนี้ ไม่ทราบตรงนั้น เพราะเราแจ้งไปหมดแล้ว ครั้งนี้เราเลยจะอ่านทุกบรรทัด เพราะด้าน executive กับ summary มันออกมาไม่ตรงกัน เขาอาจจะพูดแล้วไม่ได้ทำ หรือทำน้อยไปหน่อย เราเป็นห่วงว่ามุมมองของเขาไม่กว้างขวางพอ ไม่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีพอ

เราต้องการให้นำหน้าด้วยการใช้พลังงานสะอาดอย่างมั่นคง ทั้งรักษาสิ่งแวดล้อมและมั่นคงทางพลังาน เราเชื่อว่าพลังงานสะอาดที่มั่นคง ผมยกตัวอย่าง โซลาร์+แบตเตอรี่ ณ วันนี้ก็สู้ค่าไฟที่หลวงทำขายเราได้อยู่แล้ว เราพิสูจน์มาแล้ว เราจ่ายไฟเข้าระบบมาแล้วเป็นไฟฟ้าที่ถูกและสะอาด มั่นคง มันต้องถูกกว่าวันนี้แน่ ๆ และยิ่งเวลาผ่านไป ถ้าเราเพิ่มพลังงานสะอาดแบบนี้ ค่าไฟก็ต้องถูกลงแน่ ๆ ราคาค่าขนส่ง ค่าเชื้อเพลิงที่เขาขายแพงเวลาเกิดสงครามมันจะแพง ราคาเราจะไม่วิ่งตามเขาเลย เพราะมันได้ความนิ่งในระยะยาว ได้ความมั่นคงของราคาด้วย

ด้าน รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์​ กล่าวถึงแผน PDP ที่ทำอีก 2 ฉบับที่จัดทำโดยภาควิชาการ ว่า ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีทีมของผม แล้วก็คุณชื่นชม และอ.ชโลธร เราก็ทำแผน Green PDP นอกจากนี้ก็ยังมีเวอร์ชันที่ทำโดย GIZ หรือว่าองค์กรระหว่างชาติเยอรมัน ที่ทำแผน PDP ให้ประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ในมุมมองเรื่องของเพิ่มศักยภาพพลังงานหมุนเวียนให้กับประเทศว่ามีมากน้อยแค่ไหน 

ส่วน Green PDP เราต้องการเห็นแผนที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่เราให้คำสัญญาไว้กับนานาชาติ เราพูดว่า 2050 เราจะเป็นกลางทางคาร์บอน ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ แปลว่า มันต้องมีอะไรมาหักล้างให้หมดไป มีอะไรมาดูดซับ ถ้ายังมีการปลดปล่อยคาร์บอนอยู่ ก็ต้องมีอะไรมาดูดซับ ปลูกป่าเพื่อไม่ให้ปลดปล่อยออกไป เราเอาตรงนี้เป็นที่ตั้ง เพื่อดูว่าประเทศไทยควรจะมีพลังงานใด เท่าไหร่ ท้ายสุดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายลดคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ ในปี 2050

เป้าหมายรองลงมาคือ ทำให้ไฟฟ้าถูกที่สุดภายใต้เงื่อนไขการลดคาร์บอนด้วย เราทำ projection ราคาไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ และเลือกตามช่วงเวลาที่ดีที่สุดของแต่ละโรงไฟฟ้า ต่อเนื่องไป 20 ปี ดูว่าชั่วโมงไหนควรใช้ไฟอะไร สุดท้ายก็จะเป็นผลเป็น Green PDP

จริง ๆ แล้วพลังงานมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในส่วนของที่เป็นฟอสซิล ส่วนพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มถูกลง แต่ว่าเรามีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นการลงทุนเรื่องโรงไฟฟ้า หรือว่าภาคการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็ยังจำเป็นต่อเนื่อง และต้องทดแทนฟอสซิลไปเรื่อย ๆ  

เราคำนวณทั้งสามแผน ถ้าเราลดฟอสซิลลงให้ทันแผนปี 2040 กับเราลดการใช้ฟอสซิลลง แบบค่อย ๆ ลด ให้ทันปี 2050 ปราฏว่าเราอาจจะมีไฟฟ้าแพงขึ้นอีกเล็กน้อย ไฟฟ้าที่คำนวณได้อยู่ในช่วงระหว่าง 3.80-4.18 ตัวเลขเหล่านี้มันเกิดจากผลพวงของโซลาร์และแบตเตอรี่ เรายังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าในอนาคตมันจะถูกลงแค่ไหน ตอนนี้เราใช้ราคาปัจจุบันไปคำนวณเป็นหลัก นี่เป็นผลลัพธ์จาก stimulation

แผน PDP ใหม่ล่าช้า ศึกษาไม่ครอบคลุม หรือแค่เกม

ผศ.ประสาท มีแต้ม กล่าวประเด็นนี้ว่า เหตุผลที่เขายืดไป ย้อนไป 13 กันยายน ปีที่แล้ว เขาเพิ่งเซนซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาว 3 โรง ในราคา 2.9 บาทกว่า ซึ่งแพงกว่าในอดีตเยอะ แต่เขาซื้อด้วยแผน PDP เก่า ถ้าเขาออกแผน PDP ใหม่มา แผนเก่าก็ตก เขาไม่มีอะไรอ้างมาซื้อ นี่เป็นเหตุผลที่แท้จริง เขาพยายามยื้อต่อไป ยิ่งแผนใหม่ออกช้าเท่าไหร่ก็ใช้แผนเก่า ปี 2567 ก็จะมีเพิ่มโรงไฟฟ้า ลดโรงไฟฟ้านี้มีตลอดจนกว่าจะถึง 2580

แล้วเขาก็ถามว่าแสงแดดมันไม่ยั่งยืน มีน้อย แสงแดดที่ส่องให้เรา 1 ชั่วโมง เท่ากับพลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปี ปีหนึ่งมี 8760 ชั่วโมง ปัญหาในอดีตเราเก็บไม่ได้ แต่วันนี้เรามีโซลาร์เซลล์ แต่เมื่อแสงแดดไม่มีเราก็เอาลม มันจะสลับกันกลางวันมีแดด หัวค่ำมีลม กลางคืนก็เอาแบตเตอรี่ ตอนนี้มันก็ถูกลงเรื่อย ๆ 100 เศษเหรียญ/กิโลวัตต์ ถ้ามันลงอีกนิดเดียวก็จะคุ้มทั่วโลกเลย แล้ว SWB ศึกษาโดย Tony Seba กลุ่มสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเชิญมาพูด เขาพูดเรื่องระบบพลังงานเดิมจะเจ๊ง เขารู้ว่าโลกมันเป็นอย่างไร เขาเลยยื้อแผน PDP ออกไปเรื่อย ๆ

อาทิตย์ เวชกิจ กล่าวถึงสาเหตุที่พลังงานลมไม่เกิดว่า ความเห็นส่วนตัว เราค้นพบว่าเรามีกฎกระทรวง กฎระเบียบต่าง ๆ เป็นอุปสรรคในการคุมกำเนิดการเกิดพลังงานสะอาดเยอะมาก เช่น จะทำโซลาร์ต้องไปขอใบอนุญาติ รง.4 ใบอนุญาตตั้งโรงงาน คนก็งงว่า เทคโนโลยีมันไม่ได้ดีกว่าตู้เย็นเลย ถ้าเกิดเราจะทำโซลาร์เกิน 200 กิโลวัตต์ โซลาร์ฟาร์มต้องไปขออนุญาตตั้งโรงงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบเขาก็บอกว่าโซลาร์ลอยน้ำมันจะทำให้ออกซิเจนละลายในน้ำน้อยลง เราเจอปัญหาแบบนี้เยอะ คนก็บอกว่าไม่เห็นเป็นไรก็แค่ไปยื่นไปขออนุญาตโรงงาน 2 เดือนก็ได้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าจะได้ควบคุมเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อม แต่พอจะไปตั้งโรงงานก็มีกฎหมายอีกฉบับบอกว่า โรงงานจะตั้งได้เฉพาะในพื้นที่สีม่วงเท่านั้น พื้นที่สีม่วงในไทยมี 5% จากทั้งประเทศ แค่กฎหมายฉบับนี้ก็คุมกำเนิดได้แล้ว โซลาร์ที่ไม่อยู่บนหลังคา หรืออยู่บนหลังคา แต่เกิน 1 เมกะวัตต์ ห้ามทำบนพื้นที่สีม่วง คือคุมกำเนิดไปแล้ว 95% ของพื้นที่แล้ว ถ้าไม่เจาะลึกลงไปก็จะไม่เห็น อุปสรรคที่เกิดขึ้นมันมีอยู่มากมาย 

เราทำโซลาร์ติดบนบ้านเรา หรือโรงงาน ถ้าช่วงไหนแดดดี เราผลิตได้เยอะ แต่ภายในบ้านเราใช้ไฟน้อยลง ทั่วโลกบอกว่าพลังงานสะอาดแบบนี้ควรสงวนไว้ รับกลับเข้ากิตไป แล้วชดเชยจ่ายมาเป็นเงินก็ว่าไปตามความเหมาะสม ไม่ควรจะทิ้ง แต่ประเทศไทยบอกให้ทิ้ง ไม่อนุญาตให้รับกลับ ถามว่าทำไม บอกว่าเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพพลังงาน ตอบแบบนี้มา 15 ปีแล้ว ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ พอถามไปอีกบอกยังไม่มีนโยบาย จริง ๆ เรื่องพวกนี้มีเป็นตับเลยนะครับ เรื่องที่ขัดขวางให้เราทำไม่ได้ ฉะนั้นเรายังต้องไล่แก้ปัญหาอุปสรรค แต่วันนี้โชคดี วันนี้ท่านนายกฯ ตั้งคณะกรรมการแก้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกทำธุรกิจ แล้วก็มีคณะทำงานหนึ่งเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เราเห็นความเคลื่อนไหวแล้วว่ากฎหมายประหลาด ๆ ที่ขัดขวางไม่ให้พลังานสะอาดเกิดกำลังคลี่คลาย ผมเป็นหนึ่งในคณะทำงาน เราภาวนาให้คลี่คลายไปได้จนจบสิ้น ไม่สะดุดกลางทาง  

แผน PDP ที่เราบอกว่า ต้อง Carbon neutrality เป็นศูนย์ เราไปให้สัญญากับประชาคมโลกไว้ แต่จริง ๆ แล้วในภาคประชาชน และเอกชน เราไม่ได้มีเวลาถึงขนาดนั้น เพราะชาวโลกบอกว่า ถ้าไทยไม่เป็นประเทศที่สะอาด ผลิตคาร์บอนน้อย เป็นประเทศท่องเที่ยวที่ใช้พลังงานสะอาดเขาจะไม่มา ไม่ใช้ของเรา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้จะเกิดขึ้นในอีก 15 ปี ข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นปีหน้า ไม่กี่ปีนี้ ในภาคประชาชน และภาคธุรกิจมีเวลาสั้นมาก ในการหาพลังงานสะอาดมาผลิตสินค้า นี่หายนะยิ่งใหญ่นะครับ ถ้าเขาไม่ซื้อสินค้า ไม่มาท่องเที่ยว ถ้าเราไม่มีพลังงานสะอาดมาผลิตสินค้าและบริการ เราจะตกงาน เราจะไม่สามารถส่งสินค้าออกไปขายได้

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ กล่าวว่า ปกติแผน PDP จะถูกทำโดย สำนักนโยบายและแผน (สนผ.) แล้วส่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วส่งไปที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกฯ เป็นประธาน ถ้ากพช. เห็นชอบแล้วส่งเข้า ครม. กลายเป็นแผนพลังงานชาติที่ถูกใช้ 

เราควรมีแผน PDP ทุก ๆ 3 ปี อันดับถัดไปคือ 2021 แต่เราข้ามมา 2024 เลย แผนที่หายไปนอกจากเสียโอกาสแล้ว เราไม่มีโอกาสพัฒนาพลังงานสะอาด ไม่สามารถปรับแผนการพัฒนากำลังการผลิตของประเทศให้ตอบสนองต่อความต้องการได้ แล้วเรายังยึดแผนก่อนโควิด คือจะไม่รวมผลจากโควิด ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงไม่ได้เอามาคำนวณร่วมด้วย ผลจึงมีโรงไฟฟ้าจำนวนมากเกิดขึ้น แต่ไม่มีการเดินเครื่องผลิต เราต้องจ่ายค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าในบิลค่าไฟทุกคน

โรงไฟฟ้าเหล่านี้รวมกันอาจจะทำให้ค่าไฟเราแพงขึ้น 20 สตางค์/หน่วย และเรายังมุ่งหน้าสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ เดือนที่แล้วก็ยังมีการเซนสัญญา PPA เพื่อรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่ฉะเชิงเทราเป็นฟอสซิลพลังงานก๊าซ แพงที่สุดในพลังงานที่เรามี เรายังทำแบบนั้นอยู่ เพราะแผน PDP 2018 เป็นตัวปกป้อง และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะไม่มีใครรับผิดชอบ ไม่มีกฎหมายลงโทษ 

เราสังเกตแผน PDP มาในอดีต เวลาพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยจะทำนายการใช้ไฟสูงเกินไปทุกฉบับ สูงเกินกว่าความต้องการจริงกว่านั้นมาก สาเหตุคือ เพราะโรงไฟฟ้าสร้างนาน เดี๋ยวจะไม่ทัน ต่อความต้องการ แล้วก็อ้างโควิด-19 ว่าทำให้ความต้องใช้น้อย แต่พอโควิด-19 หาย เราก็ยังใช้ต่ำกว่าที่เขาคาดไว้อยู่ดี แผน PDP 2018 มันล้าสมัยไปอย่างมาก และควรจะยกเลิกไปได้แล้ว 

ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้การไฟฟ้ามาทำแผน PDP ประเทศไทยแปลกมากที่ให้ กฟผ. เป็นตัวตั้งต้นร่างแผน PDP กับคณะกรรมการ PDP กฟผ. จะมีทางไหมครับที่จะเขียนแผนให้ตัวเองลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ เพราะในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจะกระจายตัวไปตามหลังคาบ้านคน การไฟฟ้าจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ มันไม่มีทางเลยครับว่าแผน PDP ที่สอดคล้องกับอนาคตจะมาจาก กฟผ. ได้ มันเหมือนกับการเขียนแผนลดการสูบบุหรี่แล้วให้โรงงานผลิตบุหรี่มาเป็นคนเขียน มันไม่มีทางเกิดแผน PDP ที่ดีได้มาแต่ต้น 

อย่างประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม เขาทำ PDP ออกมา เขามี thinktank องค์กรอิสระที่มีความคิดเชิงกลยุทธ์ มองภาพประเทศระยะยาว ใช้วิจัยเป็นฐาน ท้ายสุดมีแผน PDP ที่ภาคการการเมืองไม่สามารถปฏิเสธได้ มีแผน PDP นโยบายพลังงานไฟฟ้าที่ต่อเนื่องได้ ทำไมเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้บ้าง เรากลับใช้ข้าราชการในบางกระทรวง มีผลประโยชน์ทับซ้อนไปนั่งในคณะกรรม PDP ท้ายสุดผลก็ออกมาเป็นแบบนี้

ผศ.ประสาท มีแต้ม ยกตัวอย่างแผน PDP ของต่างประเทศเพิ่มเติมอย่างเช่น แผน PDP เวียดนาม เป็นแผน ฉบับ 8 ออกปี 2022 เขามีวัตถุประสงค์ว่า ประเทศต้องเป็นอิสระจากพลังงานอื่น ๆ ที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ แล้วก็ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยหลักการ เขาจะใช้หลักประชาธิปไตยพลังงาน 5 เสาหลัก 

1. มีความยืดหยุ่น อย่างตอนนี้สัญญาที่เราใช้อยู่ 25 ปี ถ้าเศรษฐกิจเปลี่ยน เราก็เปลี่ยนตามไม่ได้ ถ้าไม่ซื้อก็ต้องจ่าย 

2. ต้องมีประสิทธิภาพ 

3. มีความเป็นธรรม 

4. ควบคุมโดยคนท้องถิ่น ท้องถิ่นได้ประโยชน์ 

5.  Low carbon เวียดนามเขาเขียนแบบนี้ รวมทั้งใช้เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองด้วยนะ หลักการ 5 ข้อของเขามันดิ้นยากแล้ว มีอยู่หัวข้อหนึ่ง ภายในปี 2030 จะต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุดให้อาคารบ้านเรือน และอาคาร์พาณิชย์อย่างละ 50% ติดโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตใช้เอง นี่คือ PDP ของเวียดนาม มันก้าวหน้ามาก เขาได้ที่ปรึกษาดี จาก JETP (Just Energy Transition) ได้รับเงินจากต่างประเทศ คุยจนตกผลึก จนออกมาเป็นแบบนี้

เวียดนามตอนนี้ 2.90 บาท โซลาร์ที่เขาซื้อจากประชาชน 2.93 บาท ส่วนประเทศไทยซื้อ 2.20 บาท พร้อมกติกามากมายจนทำไม่ได้ ไฟฟ้าจะแพง มันเป็นเทคโนโลยีเดียวกับมือถือ solid state  นักวิทยาศาสตร์คิดขึ้นมา ซึ่งมันถูกลงเรื่อย ๆ ผมเกิดหลังคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก 3 ปี 

ถ้าผมคิดเทียบราคานะครับ โทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันหมื่นบาทตอนนี้นะครับ เทียบกับคอมพิวเตอร์ยุคแรก มูลค่าเป็นหมื่นล้านนะครับ คิดไปถึงประสิทธิภาพด้วย ย้อนไป 1950 มันให้การสื่อสารได้สองทาง รับส่ง โซลาร์เซลล์ก็เหมือนกันเลย มันเป็นสองทาง แต่เราถูกบังคับจากผู้มีอำนาจให้ไปทางเดียว จากแม่เมาะเข้าบ้านเรา เงินออกจากเราไปแม่เมาะ เราก็จนลง ทั้งที่จริง ๆ มันเดินไปได้สองทางจากบ้านเราไปบ้านอื่นก็ได้ ไป กฟผ. ก็ได้ มันขายได้ เป็น Prosumer เมื่อก่อนเทคโนโลยีมันทำไม่ได้ แต่วันนี้ทำได้แล้ว แต่รัฐไทยไม่ยอมให้เราทำ ปัญหาอยู่ตรงนี้ ฉะนั้นเราต้องทลายตรงนี้ให้ได้ 

เราจ่ายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขายได้ด้วย เขาทำกันแล้วในออสเตรเลีย 3.6 ล้านหลังคาเรือน เขาทำกันแล้วแบบ net metering ด้วย เวียดนามแสนกว่าหลัง แคลิฟอร์เนีย 2 ล้านหลัง ของไทยเราไม่ได้เลย แต่เมื่อมันยังไม่ได้ ทางออกตอนนี้ เราติดตั้งเองเลย ตอนนี้มันคุ้มทุนในอีก 5 ปี เอาแค่ใช้ในบ้านอย่างเดียว คือ net metering ใช้กันใน 18 ประเทศ เคนย่าก็ใช้ ศรีลังกาก็ใช้ แต่ไทยห้ามใช้

‘โซลาร์เซลล์’ ทางเลือกพลังงานสะอาด

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์​ กล่าวถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันว่า การติดโซลาร์เซลล์หลายคนบอกว่าแพง แต่เราค่อย ๆ ทยอยติดได้ จาก 1 กิโลวัตแล้วค่อย ๆ เพิ่ม เราใช้ไฟเยอะก็ติดเยอะ บอกว่าติดเท่าไหร่ดี ไฟโซลาร์เซลล์ 1 กิโลวัตต์แผง ผลิตได้ 120 หน่วย/เดือน แปลว่าเราจะลดค่าไฟได้ 600 บาท/เดือน เราลงทุน 3 หมื่น ได้คืนเดือนละ 600 บาท

ผ่านไป 4 ปี เราจะได้เงินทั้งหมดที่ลงไปคืนมา เดือนถัด ๆ ไป มันก็ยังจ่ายให้เรา 600 บาทอยู่ดี แล้วอายุแผงโซลาร์เซลล์ 20-25 ปี ตัว invertor อาจจะ 10 ปี ต้องเปลี่ยน แต่ประโยชน์ระยะยาวมันคืนทุนตั้งแต่ 4-5 ปีแรก แล้วถ้าบ้านเราใช้ไฟเท่าไหร่ ก็สามารถติดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทีละ 1 กิโลวัตต์ 

หลายคนอาจจะกลัวว่ามันจะทำไฟไหม้ไหม เวลามีใบไม้มาติด เดี่ยวนี้มันฉลาดมากแล้ว มีเทคโนโลยีป้องกันการเกิดความร้อนเหล่านี้ ส่วนทำความสะอาดยากไหม ง่ายเหมือนเช็ดกระจก เราแค่ขึ้นไปบริเวณที่ติดตั้ง แล้วล้างเหมือนล้างกระจก เพียงปี 1-2 ครั้งเท่านั้น เพื่อให้มันสะอาดและผลิตได้เต็มที่ 

ส่วนระบบไฟฟ้าแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าติดขัดเรียกช่างมาดู ส่วนที่บอกว่ายิ่งติดโซลาร์เซลล์ ยิ่งทำให้คนที่ไม่มีเงินติด คนใช้ไฟส่วนกลางต้องรับภาระมากขึ้น เพราะมีคนมาหารค่าสายส่งน้อยลง ค่าไฟแพงขึ้น แต่ไม่เคยพูดถึงอีกด้านหนึ่ง การที่มีโซลาร์เซลล์มากขึ้น แน่นอนว่าเราลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ส่วนนั้นเองเราก้ไม่ต้องซื้อ LNG มาผลิตไฟฟ้าใช้ เอฟเฟคนี้มันมากลบค่าสายส่งหมดเลย เพียงแค่คนไทยช่วยกันติดโซลาร์เซลล์ 5,000 เมกะวัตต์ หรือบ้านละ 2-3 กิโลวัตต์ ไม่กี่หลังเท่านั้นเอง ค่า Ft ของเราลดไปเลย 3 สตางค์ เราติดโซลาร์เซลล์ แล้วยังช่วยบ้านข้าง ๆ ลดค่าไฟได้ด้วย อันนี้เป็นการทำแบบจำลองศึกษาวิจัยของ pro green ไม่ใช่แค่ช่วยคนที่ติด แต่มันช่วยคนไม่ติดด้วย

ด้านคุณอาทิตย์ เวชกิจ เสริมต่อว่า เราอยากจะแก้วาทกรรมที่เขาใช้กันมา เขามักจะใส่ร้ายว่าพวกที่ใส่โซลาร์เซลล์ไม่ดี มาเอาเปรียบคนจนที่ไม่มีเงินติด ถ้าเจอคนพูดแบบนี้ต้องบอกเขาว่าไปเรียนหนังสือใหม่ อย่าเอาความไม่รู้มาสร้างความเข้าใจผิด 

เรื่องต่อมาเขามักจะบอกว่า การทำโซลาร์ปล่อยไฟไหลย้อนทำให้เกิดความไม่เสถียรภาพในระบบ คือคนทั้งโลกยังทำได้ ต้องหยุดตอบประชาชนแบบนี้ได้แล้ว

เรื่องต่อมาเขามักจะบอกว่า การทำโซลาร์ปล่อยไฟไหลย้อนทำให้เกิดความไม่เสถียรภาพในระบบ คือคนทั้งโลกยังทำได้ ต้องหยุดตอบประชาชนแบบนี้ได้แล้ว พอไล่ไปมาก็บอกว่ารอนโยบายเหมือนกัน 

อีกเรื่องที่อยากแชร์คือแผน PDP เรามีกฎหมายว่าจะออกระเบียบราชการ กฎกระทรวงใหม่ ๆ ว่าต้องฟังเสียงประชาชน คือเรามีข้อด้อยในเรื่องการรับฟังเสียงประชาชนอย่างมาก เวลาประชาชนไปให้ความคิดเห็นเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ความคิดเห็นเราไม่ได้ถูกนำไปพิจารณา ปรับปรุงเลย

วันนี้เราอยากรณรงค์การฟังความคิดเห็นประชาชน โดยเฉพาะแผน PDP 2024 เราต้องตามทุกวันว่าทำอย่างไร ทำถึงไหน ทำไม่ได้เพราะอะไร ต้องออกมาทั้งหมด ไม่งั้นจบไป ออกคณะกรรมการออกมาเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ ต้องใช้อีก 20 ปี เรื่องนี้น่ากังวลมาก เราต้องช่วยไปฟัง ข้อเสนอ ติดตามว่าได้รับการแก้ไขหรือไม่ พวกเราทำการบ้านอย่างเต็มที่ รอแผน PDP ที่ท่านร่างอยู่เมื่อไหร่จะส่งมาให้เราอ่าน เราต้องการจะอ่านทุกบรรทัด และให้ความคิดเห็น ก็อยากจะรณรงค์ว่าความคิดเห็นนั้นต้องเอาไปแก้ไขปรับปรุง อยากให้กระจายไปเยอะ ๆ เพื่อให้เขาทำเหมือนเดิมไม่ได้

ประชาชนกับการมีส่วนร่วมในแผน PDP 

ผศ.ประสาท มีแต้ม เสริมข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องของการมีส่วนร่วมว่า รัฐพยายามทำให้เรามีส่วนร่วมเป็นแค่ผู้บริโภค จ่ายเงินอย่างเดียว แต่โลกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ผลิตและบริโภคด้วย เป็น Prosumer หน้าที่ที่ท้าทายของเราคือ ทำเรื่องนี้ให้สาธารณะเข้าใจ สื่อต้องทำแบบนี้ พวกเราทุกคนก็มีสื่อเป็นของตัวเอง ต้องสื่อให้เพื่อนรู้เรื่องโลกร้อน พลังงาน ที่ออสเตรเลียมีโซลาร์เซลล์ติดให้โรงเรียน แค่นักเรียนมาถามครูว่ามันคืออะไร ก็ถือว่าคุ้มแล้ว การสร้างให้เด็กมีจิตสาธารณะมันคุ้มจะตาย การสร้างชาติมันต้องมีหลายมิติ เราต้องช่วยกัน 

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์​ กล่าวว่า  ประเทศไทยประกอบด้วยพลเมืองทั้งหลาย พลเมืองมาจากคำว่า พละ + เมือง พลังในการแก้ไขปัญหาของเมือง เมื่อเมืองหรือประเทศเรามีปัญหา ทุกคนมีหน้าที่ช่วยกันแก้ ในฐานะที่เราเป็นพลเมือง สิ่งที่เราทำได้แน่ ๆ คือศึกษาให้เข้าใจ ช่วยกันเผยแพร่ต่อ ๆ ตรวจสอบ แสดงความคิดเห็น ร่วมลงชื่อ พยายามชักชวนพูดเรื่องนี้ให้เป็นกระแส 

ไฟฟ้าก็เป็นกระแสมาตลอดครับ ก่อนเลือกตั้งทุกพรรคพูดถึง หลังเลือกตั้งไม่มีใครทำอะไรเลย ถ้าเรากดดันพรรคการเมืองที่เราเลือกอยู่ให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย เขาจะถูกแรงกดดันทำให้ไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป ในเรื่องของ PDP เรามองมันเหมือน Roadmap พัฒนาประเทศ เหมือนเรามีเงินก้อนหนึ่งว่าจะไปทางซ้าย หรือขวา ถ้าเราเอาเงินนี้ไปลงกับพลังงานฟอสซิล ไปลงกับก๊าซธรรมชาติให้เป็นศูนย์กลาง LNG ของภูมิภาค เรามีพลังงานใช้จากฟอสซิลเป็นหลัก 

ถ้าเราไปทางนี้ ท้ายสุดเรามีความมั่นคงทางพลังงาน แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายแพงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศหายไป สิ่งแวดล้อมที่ถูกทอดทิ้ง เวทีโลกไม่ยอมรับ แต่ถ้าเราเลือกไปทางขวา พัฒนาบนฐานพลังงานหมุนเวียน เอาเงินไปใช้ในเรื่องการวางระบบ โครงข่าย Smart grid กักเก็บพลังงาน เพื่อให้โครงข่ายรับไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคนลงทุน เพราะมันกำลังเติบโต ขอแค่เปิดช่องนิดหน่อย ก็จะมีคนมาลงทุนอยู่แล้ว อยากจะฝากข้อเสนอ ให้ทุกคนไปช่วยพูด 

1. อยากเห็น PDP ฉบับหน้ามีการกำหนดโควตาไฟฟ้าภาคประชาชน ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต้องไม่ใช่จากฟอสซิลขนาดใหญ่ ภาคประชาชนสามารถช่วยรัฐผลิตไฟฟ้าได้แล้วอย่างโรงงานก็ด้วย เขียนเลยครับปี 2030 ขอ 5,000 เมกะวัตต์ ปี 2035 ขอหมื่นเมกะวัตต์ ต้องมีแผนกำหนดแบบนี้ไปจนถึง 20 ปี เมื่ออยู่ในแผนแล้วนโยบายต้องตาม 

2. เลิกทันทีในการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ จะทำทั้งที ทำไมเราไม่เลือกของดีที่สุด พลังงานสะอาดที่คนอยากใช้ 

3. เราต้องลดการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพราะว่าไฟฟ้าจากต่างประเทศไม่ได้เป็นการพึ่งพาตนเอง เงินไหลออกนอกประเทศ ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศเราเอง เหมือนเราไปทำนาที่ข้างนอก เราไม่ได้เอาคนของเรามาสร้างผลผลิต 

4. เราต้องการเห็นการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่ไม่สูงเกินจริง การทำแบบนั้นท้ายสุดจะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าล้นเกินไปจบสิ้น 

โหวตฉากทัศน์ –

หลังจากที่ได้ฟังมุมมองจากวิทยากรที่มาร่วมเปลี่ยนข้อมูลแล้ว เรามีภาพอนาคต 3 ภาพที่อยากจะชวนทุกท่านมาร่วมกันคิดต่อ ว่าอนาคตพลังงานไทยแบบไหนที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น 

รัฐเป็นผู้ลงทุน และเป็นผู้เล่นหลัก แบกรับต้นทุน ทั้งการผลิต โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการส่งเสริมการลงทุนของเอกชน เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับทุกภาคการผลิต ในราคาที่ประชาชนจ่ายได้

รัฐทำหน้าที่วางแผนและตัดสินใจ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงานในประเทศ โดยมีเอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็กร่วมผลิตไฟฟ้าทางเลือกตามโควตาที่รัฐให้ แต่ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน

ขณะที่การพยายามหาแหล่งพลังงานมาใช้ภายใต้โจทย์ความมั่นคงพลังงาน ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนต้องยอมเสียสละทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งต้องได้รับการชดเชยที่เหมาะสมจากรัฐ

มีการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพการผลิต และลดต้นทุนจากเชื้อเพลิงพลังงานที่มีราคาแพง

การดูแลผู้ใช้ไฟหรือพยุงราคาค่าไฟฟ้า แปรผันตามนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ

รัฐรับบท Regulator ผู้ควบคุม และเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และร่วมแบกรับความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้า โดยรัฐรับซื้อไฟฟ้าทั้งที่ผลิตโดยเอกชนและรัฐจากทั่วประเทศในราคาเดียว ด้วยการให้โควต้า และเอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้ผ่านสายส่งของรัฐ

รัฐทำหน้าที่กำกับดูแลระบบ ทั้งด้านการผลิต จำหน่าย การจัดการสายส่ง และการกำหนดกลไกราคาค่าไฟ พร้อมทำแผนการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เป็นทิศทางร่วมของประเทศ ซึ่งการไม่ต้องแบกภาระต้นทุนไฟฟ้า ทำให้รัฐสามารถขยายการบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในระดับท้องถิ่น ลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย และส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทางเลือกได้

มีการปรับปรุงกฎหมาย ส่งเสริมให้เอกชนแข่งขัน กระตุ้นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี การศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด และการดูแลสิ่งแวดล้อมของโลก

อย่างไรก็ตามภายใต้การแข่งขัน เอกชนรายใหญ่สายป่านยาวอาจยังเป็นผู้ครองสัดส่วนตลาด อีกทั้งราคาค่าไฟต้องสะท้อนต้นทุนการผลิต

กระจายอำนาจ และส่งเสริมประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า สู่การเป็นผู้ผลิตแบบกระจายศูนย์ในระดับครัวเรือน โดยไม่มีโควต้า เปลี่ยนการบริหารโครงข่ายและกิจการพลังงาน ให้เกิดผู้เล่นหลายราย หลายระดับ เปิดแข่งกันแบบเสรี ทั้งเอกชน ชุมชน และรัฐ (กฟผ.) ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้ารายภูมิภาค เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง รองรับการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมกับศักยภาพและข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดูแลกำกับกติกา และส่งเสริมองค์ความรู้ แต่ประชาชนต้องลงทุนสูงในครั้งแรก ขณะที่เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ หรือต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมสู่การผลิตไฟฟ้า

แก้ไขกฎหมายและระเบียบ เพื่อกำกับดูแลไม่ให้กิจการพลังงานส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ตั้งแต่ครัวเรือน ไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่

รัฐลงทุนกับเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า เพื่อจัดการความต้องการไฟฟ้าให้มีระบบ สร้างความยั่งยืนและประสิทธิภาพในการผลิตและใช้พลังงาน

หลังจากแลกเปลี่ยนข้อมูลในวงกันไป เราให้ผู้เข้าร่วมวงเสวนาร่วมกันโหวตฉากทัศน์ภาพอนาคตพลังงานไทย จาก 3 ฉากทัศน์ที่เราตั้งต้นไว้ โดยให้โหวตทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน คือก่อนเริ่มการสนทนา และหลังจากได้ฟังชุดข้อมูลจากวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในวง

ผลโหวตในรอบแรกฉากทัศน์ที่ถูกเลือกมากที่สุดคือ ฉากทัศน์ที่ 3 เช่นเดียวกันรอบสองที่ฉากทัศน์ที่มีผู้โหวตมากที่สุด คือ ฉากทัศน์ที่ 3 เช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ตัวเลข และเห็นได้ชัดว่า หลังจากรับฟังชุดข้อมูลแล้ว คนในวงเสวนามีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด 

แล้วสำหรับคุณ ภาพอนาคตพลังงานไทยแบบไหนที่อยากให้เกิดขึ้น คลิกโหวตด้านล่างนี้ได้เลย


แชร์บทความนี้