กรุงเทพมหานคร เข้าขั้นวิกฤต ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ในฐานะเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่หลายวันติดต่อกัน โดยสาเหตุมาจากทั้งการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาจากภาคเกษตรหรือการเผาในที่โล่ง ฝุ่นควันจากภาคครัวเรือน และกระแสลมที่พัดพาฝุ่นจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามา
แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาของหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งรัฐบาลที่ออกมาตรการห้ามเผาในภาคเกษตร หรือจะเป็น กทม. ที่ใช้มาตรการ Low emission zone ห้ามรถบรรทุกเข้าบางเขตพื้นที่ รวมไปถึงภาควิชาการต่าง ๆ และภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น แต่เรากลับยังไม่สามารถเอาชนะปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้

ทำไม กทม. และภาคกลาง ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นได้ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย เชิญแขกรับเชิญทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ และภาครัฐ มาร่วมพูดคุยกัน
- วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีต รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- เรณู กสิกุล เกษตรกรชาวนาและนักวิจัยท้องถิ่นเรื่องข้าว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
- ดร.เนติยา การะเกตุ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และสภาลมหายใจกาญจนบุรี
- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า สภาผู้แทนราษฎร และ ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center)
- ธารา บัวคำศรี อดีตผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย
- เสริมสุข นพพันธ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
ทำไมปีนี้ ภาคกลาง ถึงยังแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นไม่ได้ ?
เริ่มต้นที่ ธารา บัวคำศรี อดีตผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย มองว่าสาเหตุที่ กทม. และภาคกลาง ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้ มีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก เป็นเรื่องของการที่เรามองข้ามแหล่งกําเนิดฝุ่น ประเด็นที่สอง ก็คือเรื่องของมลพิษ ข้ามพรมแดน
อย่างประเด็นแรก เวลาพูดถึงเรื่องฝุ่นในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง เราอาจจะมุ่งตรงไปที่เรื่องของการเผา เรื่องของการจราจรในเมือง แต่จริง ๆ มันมีประเด็นนึงที่อาจจะถูกมองข้าม ซึ่งในช่วงสัปดาห์หน้าเราจะมีการพบปะหารือกับทางรองผู้ว่าราชการ กทม. เพื่อที่จะหยิบยกประเด็นเรื่องนี้ มีงานวิจัยหลาย ๆ ส่วนพบ ว่าละอองลอยขั้นที่ 2 ละอองลอยทุติยภูมิ ที่ไม่ได้เกิดจากการเผาโดยตรง
“เวลาเราพูดถึงแหล่งกําเนิดฝุ่น PM 2.5 เราจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการปล่อยโดยตรง แต่เราพบว่าภาคการผลิตไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม มีส่วนสําคัญในการปล่อยก๊าซตัวนึงที่ เรียกว่า ‘ไนโตรเจนไดออกไซด์’ ในปริมาณค่อนข้างสูง มีการคํานวณเพื่อที่จะเทียบให้เห็น สมมุติว่าเราดูเรื่องของจราจรในกรุงเทพฯ เราพบว่าถ้าเทียบจํานวนเที่ยวของการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวต่อวัน ก็นับเป็นประมาณ 300 กว่าล้านเที่ยว ซึ่งคํานวณออกมาจะพบว่าการจราจรในกรุงเทพมหานครปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ประมาณ 140 ตันต่อวัน“
ในจำนวนนี้เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าที่อยู่รอบกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ แล้วก็ในเขตรอบรอบ กทม. รวมกัน มีทั้งหมดประมาณ 12 โรงไฟฟ้า ซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติแล้วก็ปล่อย โรงไฟฟ้าเหล่านี้รวมกันกําลังการผลิตทั้งหมด 4,700 เมกะวัตต์ ปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ออกมาประมาณ 124 ตันต่อวัน น้อยกว่าจราจรในกรุงเทพทั้งหมด ประมาณ 20%
อย่างไรก็ตาม เวลาเราเทียบแบบนี้ ถ้าเราดูโรงไฟฟ้าแค่โรงเดียว 700 เมกะวัตต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เท่ากับการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ 3 ล้านกับรถยนต์ 3 ล้านคันต่อหนึ่งโรงไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ประเด็นของมันก็คือว่า ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์พอมันปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ มันจะไปทําปฏิกิริยากับสารระเหยตัวอื่น ๆ หรือสารที่อยู่ในชั้นบรรยากาศแล้วก็ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นขั้นที่ 2 ขึ้นมาซึ่งตรงนี้อาจจะยังไม่ได้เห็นความสําคัญมาก อันนี้เป็นอันหนึ่งที่ที่สําคัญมากก็คือประเด็นเรื่องของละอองลอยที่เกิดจากการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่มาจากการผลิตไฟฟ้า แล้วก็ตัวการจราจรด้วย
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า สภาผู้แทนราษฎร และ ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) มองว่า สาเหตุที่ภาคกลาง และกรุงเทพฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นได้ คล้าย ๆ ที่คุณธารากล่าวไป คือเรื่อง การขนส่งกับภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของภาคขนส่ง เราสังเกตได้ว่า เราแทบไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมากนักสําหรับคน กทม. เราก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ปกติใช้รถ รถไฟฟ้าฟรีแค่ 7 วัน แล้วก็จะมีวันที่เป็นเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone: LEZ) ที่ กทม. บังคับใช้กฎหมาย 2 วัน ที่เหลือเหมือนเดิม แล้วฝุ่นจะลดลงได้อย่างไร
เรื่องอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้เห็นมาตรการที่เข้มงวดขึ้นแต่อย่างใด อันนี้คือส่วนแรกที่เป็นการปล่อยฝุ่นโดยตรง และก็ฝุ่นหรือก๊าซที่มันไปทําให้เกิดเป็นละอองลอย แล้วก็เกิดเป็นฝุ่นทุติยภูมิตามมา นี่คือปัญหาข้อที่หนึ่ง
ประเด็นที่ 2 ก็คือด้านการเกษตร อย่างที่พี่เรณูพูดถึงว่า “จริง ๆ พี่น้องชาวนาก็ไม่อยากที่จะเผาฟาง อยากจะมีกระบวนการที่ทําให้สามารถย่อยสลายฟางได้ปุ๋ยเอามาใช้ประโยชน์ ได้ขาย ตัวฟางต่าง ๆ เหล่านี้ แต่มันไม่มีมาตรการที่เข้าไปช่วยหนุนสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่พอเรารอเดือน มกราคม แล้วเราก็ประกาศว่า ถ้าใครเผาจะถูกลงโทษ มันต้องคิด ตั้งแต่ปลายเดือน พฤศจิกายน ว่ามาตรการที่จะช่วยหนุนต่อไปมันควรจะมีอะไร อย่างไรบ้าง”
“ตัวแปรที่เป็นตัวสําคัญ ก็คือผู้ที่ให้บริการทางการเกษตร ก็คือ พูดง่าย ๆ ว่าผู้ที่ไปรับจ้างไถนา เค้ามีความพร้อมไหม เค้ามีตัวอุปกรณ์ที่จะช่วยในการที่ไถแล้วก็หมักตอซัง แล้วก็ไถต่อซังที่ผ่านการหมักแล้วหรือไม่ รวมถึงประเด็นเรื่องน้ําอย่างที่พี่เรณูพูด ถึงจะให้ย่อยและมีน้ําให้ไหม ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่ โจทย์ง่าย ๆ สําหรับพี่น้องเกษตรกร ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้เป็นโจทย์ยากเกินไปสําหรับรัฐบาลที่จะบริหาร และก็จัดการที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกร แต่มันต้องคิดล่วงหน้าเช่นเดียวกับโจทย์นโยบายของรัฐบาล“
เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องไร่อ้อย ปีนี้อาจจะมีความคืบหน้ามาบ้าง เรามีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลงจากประมาณ 26% เหลืออยู่ที่ประมาณ 15% แต่ว่าส่วนที่เหลืออยู่เนี่ย มันก็เป็นโจทย์ในเชิงนโยบายว่า เราจะลงทุนในการที่จะมีรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นได้อย่างไร รถตัดอ้อยที่เหมาะสมสําหรับแปลงขนาดเล็ก หรือมีความลาดชันควรจะเป็นยังไง ทั้งหมดนี้มันจําเป็นที่จะต้องคิดล่วงหน้า
ส่วนสุดท้ายคือเรื่องของมลพิษข้ามพรมแดน คงหนีไม่พ้นว่าเราอาจจะคุ้นประเด็นนี้จากกรณีของภาคเหนือ ว่ามันมีการไปปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน และก็มีการเผาไร่ข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็เข้ามาที่ประเทศไทย แต่สําหรับกรุงเทพฯ และภาคกลางเราก็รับมลพิษจากประเทศเพื่อนบ้านอีกโซนนึง ซึ่งก็มีการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนไทย และก็ประเทศอื่นเช่นกัน แล้วก็เราก็จะเห็นจุด ฮอทสปอต ในช่วงเวลาที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจน เพราะฉะนั้นกลไกการแก้ปัญหาที่รัฐบาลเคยพูดแก้ปัญหาโดยใช้กลไกอาเซียนมันคืออะไร ในทางปฏิบัติเรายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นรูปธรรม
เสริมสุข นพพันธ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร อธิบายถึงปัญหาและกลไกการจัดการที่ กทม. กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันว่า ฝุ่น กทม. มันเป็นช่วงเวลา ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ เราให้เป็นตัวเลข 30 60 90 เลขนี้ กทม. เราพูดกันบ่อย
เราจะมีฝุ่นที่มาจากการจราจร 30 คือในช่วงเวลาปกติ 60 คือในช่วงเวลาที่อากาศปิด อย่างในช่วงฤดูหนาวปลายปี เดือนธันวาคม ปริมาณฝุ่นจะเพิ่มมากขึ้นจาก 30 เป็น 60 นอกจากว่ามีอากาศปิดแล้ว จะมีช่วงที่บอกว่ามีการเผา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเผามีส่วนมากในการที่ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพมหานครสูง
ทีนี้เรามาดูเรื่องขององค์ประกอบของฝุ่นในช่วงเวลาที่ปกติ เท่าที่เรารีเสิร์ชกับการศึกษาของ ม.เกษตรศาสตร์ เอาค่าฝุ่นไปวิเคราะห์ในห้องแล็บ เราจะพบว่าค่าฝุ่นส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับที่คุณน้ำบอก คือมาจากไอออนไนเกรด ที่มาจากทางท่อไอเสียรถยนต์ หรือมาจากภาคการจราจร ถ้าเป็นอีกช่วงนึง ช่วงที่มีฝุ่นเยอะ อย่างที่เรามีการทํามาตรการ LEZ วันที่ 23-24 มกราคมที่ผ่านมา พอไปวิเคราะห์ค่าที่เด่นชัดที่ออกมาเป็นธาตุโพแทสเซียม ทําให้เห็นว่าต้นตอสาเหตุหลัก ๆ มีที่มาจากการเผา
แต่ถามว่าแก้ได้ไหม ขอโชว์เลขเปรียบเทียบในช่วงที่เราทํา LMZ เราจะพบว่าทางพื้นที่ด้านในที่เราปิดไม่ให้รถเข้า ปกติแล้วก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าง ค่าฝุ่นจะน้อยกว่าประมาณ 7.6% แต่พอหลังจากที่เราประกาศแล้ว แล้วพบว่าฝุ่นข้างในน้อยกว่าปกติไปอีกก็คือเป็น 15.6% ตัวเลขนี้มันก็อาจจะเป็นตัวเลขที่ชี้ชัดเล็ก ๆ แต่ก็ทําให้เราแอบภูมิใจไม่ได้ว่า ค่าที่เราทําก็ส่งผล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็คงไม่ได้หวังว่าที่เราจะทํามาตรการนี้ เพื่อที่จะลดลงอย่างเดียว เราอยากได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการที่จะร่วมมือกัน ช่วยกันเพื่อให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพมหานครลดลง
ขณะที่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ มองว่า สิ่งที่ทำให้ปัญหาฝุ่นในพื้นที่ กทม. และภาคกลางแก้ไม่ได้ แม้ว่าชุดข้อมูลที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ จะค่อย ๆ ไหลออกมาทีละเล็กละน้อย แต่กว่าที่จะมาประมวลรวมกันแล้วบอกว่า จะต้องเริ่มต้นที่อะไรก่อน ดันหาจุดเริ่มต้นแบบเห็นพ้องต้องกันไม่ได้สักที เพราะฉะนั้นพอข้อมูลอะไรขึ้นมา ก็จะวิ่งไปที่จัดการตามเรื่อง
ถามว่ามีการลงมือไปจัดการไหม มี แต่พอผ่านไปอีกสัก 4 เดือน ข้อมูลใหม่มันขึ้นมา ก็วิ่งไปตรงนั้นใหม่ จึงทําให้ระบบเล่นให้เป็นวงเหมือนเพลงคอนเสิร์ตมันไม่ขึ้น มันดังเครื่องดนตรีทีละเครื่อง แล้วเดี๋ยวพอจบรายการ ฝนก็มา แล้วพอฝนมาทุกคนก็ลืมหมด แล้วก็เงียบหายไปอีก 8 เดือน แล้วมาส่งเสียงกันใหม่ตอนที่ฝนตก ซึ่งตอนนั้นแทบจะไม่ทันแล้ว และถ้าฝนขึ้นฟ้าแล้วก็มีแต่พระพายกับพระพิรุณ ที่จะช่วยได้
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มันซับซ้อน ความรู้ทิศทางลม ความรู้แหล่งกําเนิดของฝุ่นทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ความสัมพันธ์ของมัน หรือแม้กระทั่งบางคนไปพูดถึงเรื่องของละอองเกลือ ฟังดูอาจจะเป็นปัญหาเล็กน้อย แต่มันก็อาจจะไปกระตุ้นบางอย่างได้ ของพวกนี้เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นชิ้น ๆ แต่มันไม่ได้มาเรียงสานต่อถักทอให้มันกลายเป็นโน้ตเพลงที่เข้าใจทั้งหมด แล้วร้องเพลงเดียวกัน
แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร ต้องเริ่มจากการรับฟังปัญหา
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นตอนนี้โจทย์อยู่ที่ภาคการเกษตร แต่ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องเริ่มต้นก่อนว่า พี่น้องเกษตรกรมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ถามว่าเราเผาไร่อ้อยไหม ? ก็อาจจะได้คําตอบว่า ไม่ได้เผา เพราะว่าสมัยก่อนเรามีแรงงานมากพอ เราเผาฟางไหม เราก็อาจจะไม่ได้เผาหรอก เพราะว่าการทํานาของเราเป็นรอบเดียว แต่เมื่อวิถีมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
พี่น้องเกษตรกร เจอปัญหาหลักอยู่ 2 เรื่อง 1. ปัญหาเรื่องของแรงงานที่หายากขึ้น 2. ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นคําถามก็คือว่า เราจะเอา 2 โจทย์นี้มาร่วมกันการแก้ปัญหาเรื่องการเผาในภาคเกษตรได้อย่างไร คําตอบก็คือว่า เราต้องเอามันมาบูรณาการกัน หาทางออกที่จะทําให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะหมักฟางได้ ย่อยสลายฟางได้ แล้วก็ไถได้ โดยที่มีเครื่องจักรหรือแรงงาน ที่เพียงพอ แล้วก็จะทําให้ต้นทุนลดลงเหมือนอย่างที่พี่เรณูพูด
แต่ว่าโจทย์มันไม่ได้ถูกมองแบบนี้ไง รัฐบาลมองแต่ว่าห้ามเผานะ แต่ว่าสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาไม่ได้มี เช่นเดียวกันกับรถตัดอ้อยก็เหมือนกัน มันมีโจทย์ของมันอยู่ เดิมทีเคยมีคนงาน ตอนนี้คนงานหายาก คนงานก็ไม่อยากทํางานในสภาพที่ยากลําบาก ก็เลยใช้วิธีจุดไฟกุยทางไปก่อน เดี๋ยวก็เข้าไปตัดจะง่ายขึ้น ในขณะที่มันก็จะเจอปัญหาอีกด้านนึงก็คือว่าจะซื้อรถตัดอ้อย แต่ไม่มีเงินทุน ไม่สามารถที่จะไปขอไฟแนนซ์ได้ เพราะว่าทํางานได้เพียงปีละ ประมาณ 4 เดือน ที่เหลือจากนั้นก็ไม่สามารถที่จะทํางานได้
ทั้งหมดมันอยู่ที่ว่าถ้ารัฐบาลมองเห็นแล้วว่าในระยะยาว สุดท้ายเราต้องใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน เพราะว่าแรงงานก็คงหายากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จําเป็นจะต้องมีลักษณะของการลงทุนที่จะเข้าไปช่วยทําให้กระบวนการผลิตในไร่อ้อย เป็นกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน รัฐบาลไม่ควรมองเรื่องนี้เป็นแค่เรื่อง PM 2.5 ควรจะมองด้วยว่า ถ้าเราไม่แก้ไข มันอาจจะเป็นเหตุให้เราถูกลงโทษในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ เพราะฉะนั้นทั้งข้าวแล้วก็อ้อย ถ้าเราเป็นผู้ผลิตในอันดับ 1 ถึง 3 ของโลกตลอดเวลาการที่จะมาลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 มันคือการลงทุนเพื่ออนาคตที่มันไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะ PM 2.5 เท่านั้น มันยังตอบโจทย์เรื่องต้นทุนของพี่น้องเกษตรกร ตอบโจทย์เรื่องของการที่เราจะรักษาอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตที่เข้มแข็งของของเราเอาไว้ให้ได้
ต้องเอาทุกคนเข้ามาอยู่ในจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา ว่าจะทําอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรได้คําตอบที่ดีที่สุด ในขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศได้คลี่คลายปัญหา มันมีทางออกของมันอยู่ เพียงแต่ว่าทางออกนั้น เราเอาจริงเอาจังแค่ไหน และเราทําทั่วถึงแค่ไหน นี่เป็นเรื่องสําคัญของพี่น้องเกษตรกร เวลาเราพูดว่า ปลูกข้าว ปลูกอ้อย เราอย่านึกว่าเค้าปลูกเหมือนกันหมด แต่ละที่มีข้อจํากัดต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจําเป็นจะต้องเร่งทําล่วงหน้า เพื่อที่จะเข้าถึงพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่มว่าตกลงแล้วมีข้อจํากัดอะไร ที่เราต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษ อย่างที่พี่เรณูเล่าให้เราฟัง คนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในทุ่งบางบาลไม่เข้าใจหรอกว่าทําไมต้องรีบทํา แต่เค้าที่อยู่ในทุ่งบางบาลก็จะรู้ว่า 15 กันยายน น้ำก็มาท่วมเสียหาย ปีที่แล้ว บางส่วนมาก่อน 15 กันยายนด้วยซ้ำ
ในมุมของเกษตรกร เรณู กสิกุล เกษตรกรชาวนาและนักวิจัยท้องถิ่นเรื่องข้าว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ข้อเสนอว่า อย่างให้ลองปรับมุมมอง จากนโยบายที่ลงพื้นที่ อยากลองมองกลับว่าให้พื้นที่สร้างนโยบายส่งขึ้นมาข้างบนบ้างได้หรือเปล่า ในฐานะทีมที่ทําวิจัยอยู่ในพื้นที่ เราพยายามคิดค้นทุกวิถีทาง คุยกันว่าปัญหาที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบัน เหมือนว่านโยบายลงไม่ตรงจุด ลงไปโดยที่นโยบายนั้น ไม่รู้ว่าพื้นที่นี้เป็นยังไง ไม่รู้จักพื้นที่ แล้วเข้าไปพัฒนา ความจริงการพัฒนาต้องเข้าให้ถึงพื้นที่ก่อนถึงจะพัฒนาได้ พัฒนาให้ตรงจุด ให้พื้นที่เป็นคนส่งนโยบายขึ้นมา ถึงจะแก้ปัญหาได้
เขาไม่รู้เลยว่า คนบางบาลต้องการอะไร และปัญหาคืออะไร ? เพราะเขาไม่เคยไปดู แต่ส่งนโยบายมา ห้ามทุกอย่างแต่ว่า การช่วยเหลือไม่มี มีแต่ห้าม ไม่เข้าใจพื้นที่ว่าเราอยู่กันยังไง อย่างตอซัง เกษตรกรทำนา 2 เดือน 60 วัน เราต้องเก็บเกี่ยวให้ตรงกับวันที่ 15 กันยายน เราทำ 2 ครั้งของปี ที่อื่น ทํา 3 ครั้ง 4 ครั้ง แต่เราไม่มีเวลา
ด้าน ดร.เนติยา การะเกตุ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และสภาลมหายใจกาญจนบุรี อธิบายในมุมของการเผาของไร่อ้อยว่า ไร่อ้อยมีทั้งแบบมีน้ำ ไม่มีน้ำ ต้องใช้เครื่องจักรหนัก เครื่องจักรเบา พื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี หรือว่าโดยรวมเอง มีพื้นที่ขนาดเล็ก มีไร่อ้อย ประมาณ 20 ไร่อยู่ที่ 80% นอกนั้นก็คือ 50 ไร่ขึ้นไปจนถึง 100 ไร่ขึ้นไป พวกนั้นก็จะใช้เครื่องจักรในการบริหารจัดการได้ เพราะเขามีเงินทุน
แต่สำหรับไร่เล็ก ๆ จะให้เอาเครื่องจักรเข้าไป มันก็เหลือพื้นที่บวกอ้อยนิดเดียว และมันก็ไม่คุ้มทุนในการที่จะทํา นอกจากนั้นยังมีเรื่องเข้าถึงแหล่งทุนด้วย จากการที่ทีมงานได้ลงพื้นที่ไป เราพบว่า ไม่มีใครอยากแต่เขาจำเป็นต้องเผา เพราะเงินไม่มี ถ้าจะรอ จองคิวไว้ แล้วเกิดรถเสียมาไม่ได้ ช่วงระยะเวลามันอาจจะเลยไปหมดแล้ว ทุกอย่างเลทไปหมด ถ้าไม่เผาก็อาจจะไม่ได้ หรืออย่างตอนนี้ ไม่ได้เผาแล้ว แต่จะทํายังไงกับใบอ้อยที่มันเต็มพื้นที่อยู่ตอนนี้ ปัญหามันก็หนักมากเหมือนกัน
การขยับของ กทม. ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ มองว่า ปีนี้เป็นปีแรก ต้องขอบคุณ กทม. ที่กล้าตัดสินใจประกาศนโยบายตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 จําได้ว่าในปีที่แล้ว กทม. เริ่มใช้มาตรการ ถ้าค่าฝุ่นขึ้นถึงระดับนี้ จะหยุดให้รถ 6 ล้อเข้ามาในเขตวงชั้นใน นี่เป็นแค่ก้าวที่หนึ่ง แต่เราอยากเชียร์ให้กล้าทําต่อ เพราะว่า นั่นคือการปกป้องไข่แดง และเราก็อยากจะชวนให้เขามาช่วยปกป้องไข่ขาว แล้วก็
ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะไม่กลับมาสู่วังวนเดิม วังวนจะบอกว่า ฉันต้องการรักษาวิถีชีวิตและปอดสะอาดของฉันด้วย การไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของเธอให้หมด เพื่อให้เป็นไปอย่างที่ฉันต้องการ ถ้าเป็นอย่างนี้ 6 แหล่งกําเนิด ก็จะต่างคนต่างชี้นิ้วใส่กันว่า ไปแก้อันโน้นก่อน ทําไมไม่มาแก้อันนี้ หรือว่าคนกรุงเทพฯ จะบอกว่า ฉันก็จะใช้รถของฉันอย่างนี้แหละ แต่เราก็อย่าลืมนะ ฝุ่นจากกรุงเทพไม่ได้ลงเฉพาะกรุงเทพ เพราะลมก็พาลมจากกรุงเทพออกไปหาคนอื่นด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นแบบนี้เราตั้งจิตสํานึกว่าอย่าชี้นิ้วใส่ใคร แล้วหันมามีความรู้ร่วมกัน และเรามาตกลงกันว่าเราทุกคนต้องกัดฟันด้วยกันทั้งสิ้น มันถึงจะฝ่าเรื่องนี้ไปได้
ขอบกระทะ ไล่ไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว เราเห็นต่อไปว่า ถ้าหากภาคประชาชนตื่นรู้ แล้วก็เชียร์ว่าเอาเลย เชื่อว่าผู้มีอํานาจตัดสินใจ จะมั่นใจมากขึ้นในการก้าวแน่นอน ไม่มีใครก้าวแรกแล้วได้ผลสําเร็จทั้งหมด แต่ว่าต้องเชียร์ให้ทำต่อ เพื่อให้เขาทําไป มีการเตือน แนะนำ เข้าไปร่วมกันอย่างนี้ เราจะเห็นได้ว่าในทุกทุกพื้นที่กําลังเงียหูฟังว่าตรงไหนมีใครมีความรู้อะไรอีกบ้าง ทุกคนอยากจะได้สูตรสําเร็จ แต่ไม่มีใครมีสูตรสําเร็จจริงหรอก มันเป็นเรื่องการแก้ไขรายหน้างานตามพื้นที่และช่วงเวลา
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เสริมต่อว่า การดําเนินการมาตรการ อย่างเช่น LMZ หรือการได้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทําให้ฝุ่นลดลงในช่วงเวลานั้น แต่อยากจะส่งสัญญาณว่า จริง ๆ สามารถทําให้ขอบเขตกว้างกว่าช่วงเวลานั้นได้ เพราะว่าภาวะวิกฤตมันอยู่ที่เราตีความ อันนี้ไม่ได้คอมเมนต์ กทม. นะ แต่ว่าการตีความแล้วมองว่าใช้ในแค่ 2 วัน จากช่วงเวลาที่คนทั่วไปก็รู้สึกว่ามันหนักนานกว่านั้นเยอะเลย
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เป็นปีแรก อย่างที่อาจารย์พูดถึง แต่ก็อยากจะช่วยเชียร์ด้วย ว่าปีหน้าทําขอบเขตให้มันยาวขึ้น กว้างขึ้น และก็ลองดูว่าผู้ที่จะเข้าร่วมกระบวนการเขาติดขัดอะไร แล้วก็แก้ไขปรับปรุงตั้งแต่ปัจจุบันนี้
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะสะท้อนก็คือ เวลาเราอธิบายว่าฝุ่น กทม. 30 60 90 แล้วเราเรียก 30 ว่ามันเป็นปกติผมไม่ได้เถียงในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ผมอยากให้ระมัดระวังในเชิงคําอธิบาย มิฉะนั้นเราจะรู้สึกว่า 30 ก็คือปล่อยไปได้เรื่อย ๆ ส่วนที่ขึ้นมา 60 เนี่ยไม่ใช่เพราะ 30 ปล่อย เพราะ 30 ปล่อยทุกวันอยู่แล้ว ผมไม่อยากให้มองอย่างนั้น เพราะคนที่ปล่อย ตอนช่วง 90 จะกลายเป็นเหมือนผู้ที่ทําผิด เป็นแพะรับบาป
เราลองนึกภาพว่า ถ้าเราไม่ปล่อย 30 ก็อาจจะลดลงมาตามสัดส่วน แน่นอนทุกคนต้องช่วยกันทํา ผมเห็นด้วยเต็มที่ แต่ว่าไม่อยากจะให้เริ่มต้น อธิบายว่าสิ่งที่ชั้นปล่อยอยู่ คือภาวะปกติ ถ้าเราเริ่มคลี่คลายตรงนี้ เราทุกคนก็คงจะย้อนกลับมาว่า เราจะแก้ไขปัญหาของเราได้อย่างไร
ธารา บัวคำศรี มองความคืบหน้าในเรื่องของการต่อกรกับมลพิษ PM 2.5 ประเด็นหนึ่งที่เห็น เรื่องรถเมล์ไฟฟ้าที่วิ่งในกรุงเทพ ราคาอาจจะดูแพงสําหรับคนทั่วไป แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากการค่อย ๆ ทยอยปลดระวางรถเมล์ ที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลเก่าออกไป แล้วเอารถเมล์ไฟฟ้ามาแทน โดยทำให้ราคาสมเหตุสมผลลง จะแก้ได้ เพราะอย่างที่บอก แหล่งกําเนิดที่ถูกลืมก็คือไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งมันทําให้เกิด PM 2.5 ขั้นที่ 2 งานวิจัยบอกว่าประมาณครึ่งหนึ่งของไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา มีส่วนทําให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง
ที่กรุงปารีสในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาทําเรื่องนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์จากแหล่งกําเนิดทางรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งปล่อยน็อคที่ 3.6 กรัมต่อกิโลเมตร ถ้าเทียบกับรถยนต์เบนซินอยู่ที่ราวราว 0.5 กรัมต่อกิโลเมตร เครื่องยนต์ดีเซลเก่า ๆ แล้วก็โรงไฟฟ้าของเราที่อยู่รอบกรุงเทพเป็นปัญหาใหญ่ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ เขาจํากัดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าที่เป็นก๊าซธรรมชาติ 10 ส่วนในล้านส่วน ขณะที่มาตรฐานการปล่อยของบ้านเราอยู่ที่ 80-120 ส่วนในล้านส่วน ถามว่าเราไม่ต้องการจะยกเลิกการผลิตไฟฟ้า แต่จะทํายังไงให้ในช่วงที่มันเป็นวิกฤตของ กทม. เราจะทยอยหรือว่าลดกําลังการผลิตไฟฟ้ารอบ ๆ ลง เพื่อบรรเทา PM 2.5 ที่อยู่ในกรุงเทพฯ กทม. มีการประกาศว่าจะเป็นเมืองโซล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เราก็ต้องช่วยกันทํา
สุดท้ายคือเรื่อง ผังเมือง เรื่องทิศทางลม เราจะเห็นว่าตึกสูง ๆ ใน กทม. เป็นตัวบังลม แล้วมันก็จะทําให้เกิดการไหลเวียนของอากาศน้อยลง ถึงแม้ว่าจะมีกระแสลมแรงมาก แต่บางช่วงเวลา กรุงเทพฯ ก็เจอกับปัญหาที่มันเป็นการกระจุกตัวของฝุ่น เกิดวิกฤตฝุ่น
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เสริมต่อในประเด็นเรื่องการจัดการร่องลมในเมือง โดยสภาลมหายใจหายจากกรุงเทพฯ พูดถึงเรื่องการคํานวณร่องอากาศ 4 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปยันถึงเมษายน ทิศทางลมเปลี่ยน 3 รอบ สําหรับพื้นที่ภาคกลาง ถ้าเราเข้าใจว่าทิศทางลมเป็นอย่างนั้น คณะกรรมการ หรือรัฐบาลกลางต้องตั้ง ไม่ใช่ กทม. ไปตั้ง เพราะ กทม. จะกลายเป็นเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลกลางตั้งเพื่อจะทําให้จังหวัดต้นลม นั่งหัวโต๊ะ ถ้าเอาจังหวัดปลายลมนั่งหัวโต๊ะ เขาก็เป็นคนรับเคราะห์ แล้วให้จังหวัดต้นลมทั้งหมดมานั่งอยู่ในนั้น ล่วงหน้าเลย 8 เดือน ก่อนที่ 3 เดือน แห่งฝุ่นจะมา แล้วจะได้แก้ล่วงหน้า ส่วนโมเดล 8-3-1 เป็นกติกาที่เราเพิ่งเริ่มพูดกันในปีนี้ แต่ต้องเริ่มทําให้เป็นวัฒนธรรม
เสริมสุข นพพันธ์ อธิบายว่า เรื่องของทิศทางลมแต่ละปีไม่เหมือนกัน อย่างปีที่แล้วจำได้ว่าที่เราต้องทําเรื่องของ work from home ก่อนที่จะมาทํา LMZ เราประกาศตอนนั้นช่วงประมาณ 14 กุมภาพันธ์ แสดงว่าช่วงนั้นเป็นช่วงพีคของเมื่อปีที่แล้ว
แต่พอปีนี้ มันมาเร็วมาก เริ่มพีคช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม เป็นในเรื่องของทิศทาง แต่ละปีก็จะมีทิศทางที่ไม่เหมือนกัน เรื่องของฝุ่น เรื่องของคุณภาพอากาศ เป็นอะไรที่ที่ค่อนข้างยากที่เรา จะจัดการ นั่นคือเหตุผลว่า ทําไม กทม. มาเล่นมาตรการ LMZ เพราะช่วงสถานการณ์ปกติ ก็คือ ช่วงที่ว่าปกติที่มันไม่ได้มี เรื่องของ อากาศ สภาพอากาศ หรือว่า เรื่องของการเผา มาเกี่ยว แต่จะเป็นการจราจรซะส่วนใหญ่ เราเลยมองว่าสิ่งที่เราทําได้คือ ในเรื่อง ของจํากัดในเรื่อง ของ จราจร นี่แหละ ค่ะ ความเป็นเมืองของเราจราจรเยอะเนอะ รถเยอะอะไร อย่างเงี้ย เราก็เลยมามาตรงนี้ที่ว่าจะมาช่วยลด แต่ว่าอย่างที่บอกค่ะ เรื่องของทิศทางลม เรื่องของคุณภาพอากาศ เป็นข้อจํากัดที่ยากจริงจริงแล้วก็ในแต่ละปีก็ไม่ไม่ได้เป็นแพทเทิร์นเดียวกันไม่ต่างอะไร กับแต่ละจังหวัดแตกต่าง
ปลดล็อกประเทศไทย แก้ปัญหาฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
เสริมสุข นพพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากจะขอความร่วมมือทุกคนเริ่มต้นจากตัวเอง ส่วนนึงถ้ามองในมุมของ กทม. พอมันเป็นเรื่องของการใช้รถยนต์ เราก็ช่วยกันปรับเปลี่ยน ถ้ามีกําลังก็หันมาใข้รถไฟฟ้านิดนึง หรือว่าเรามาช่วยกันใช้รถยนต์สาธารณะ หรือว่าการเดิน เริ่มจากตัวเราเองได้ก่อน คิดว่าทุกคนมีส่วนร่วม อีกอย่างเครือข่าย กทม. เราเยอะมาก อย่างสภาลมหายใจก็เป็นเครือข่ายของเรา หรือหลาย ๆ ที่ เรามีเครือข่ายเยอะมากที่เข้ามาช่วยเหลือเราทั้งทางวิชาการแล้วก็สนับสนุน
ด้าน ดร.เนติยา การะเกตุ มองว่า จะต้องปลดล็อกทางฝั่งเกษตรด้วย เริ่มจากการเข้าถึงแหล่งทุน แล้วก็การพยายามรวมตัวแล้วก็เสริมทักษะให้กับเกษตรกร เพิ่มแรงงานคนที่จะมาแก้ไขปัญหาเรื่องของเครื่องจักร เพราะว่าในอนาคตมองแล้วว่ายังไงก็ต้องเป็นเครื่องจักรแน่นอนในการที่จะเข้ามาทําตรงนี้ เพราะว่าเราก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต้องใช้เครื่องจักรในการทํางาน เพราะฉะนั้นด้านการศึกษา ด้านการให้ความรู้ แล้วก็ลงเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการแปลงเนี่ยจะช่วยปลดล็อคตรงนี้ได้
เรณู กสิกุล เสริมต่อ ดร.เนติยา มองคล้ายกัน ว่าต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการกําจัด แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่ได้เผานะ แต่ทําไมพูดไม่เคยพูดถึงโรงงานเลย พี่มองว่าทุกหน่วยงานต้องประสานกัน เราต้องช่วยกันประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมคือโรงงาน เกษตรกรหรือไร่อ้อยต้องมาช่วยกัน ไม่ใช่ว่าสั่งเฉพาะเกษตรกรชาวนา กับชาวอ้อย เราจะไม่มีกินอยู่แล้ว เราอยากให้มีนโยบายช่วยเหลือ การเกื้อหนุนแบบอาจารย์พูดเลย ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะว่า คนเกษตรกรนี้ก็อายุมากแล้ว เด็กรุ่นหลังหลังก็ไม่เอาแล้ว เบื่อนโยบายแบบนี้
ธารา บัวคำศรี มองว่า เป็นเรื่องที่ต้องทําต่อเนื่อง และในกรณีของกรุงเทพฯ น่าจะใช้วาระของผู้ว่าฯหลายปีต่อกัน และเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องกัน ไไม่ต้องมีอะไรติดขัดมันถึงจะแก้ปัญหาได้
ตัวฝุ่นข้ามแดนที่มากรุงเทพฯ ไม่แน่ใจมันมาเท่าไหร่ แต่ผมคิดว่าถ้าเราดูจากตัวศูนย์อุตุนิยมวิทยา พิเศษของของอาเซียนที่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งเขามอนิเตอร์ Polution ในในแถบนี้ เราสังเกตเห็นว่าประมาณปลายธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์ มันจะเป็นช่วงที่มีการเผาเยอะในกัมพูชาอย่างที่อาจารย์ต้นบอก แล้วก็จะเห็นขอบเขตของ head polution ไหมอกควันข้ามพรมแดนที่มันมาถึงกรุงเทพฯ แต่เราไม่รู้ว่ามันมาเท่าไหร่ กทม. ก็คงไม่สามารถที่จะไปทําระดับอาเซียนได้ ต้องเป็นวาระแห่งชาติของอาเซียนที่ต้องคุยกันว่า ฃ มันจะทํายังไง และเราอยากเห็นรัฐบาลไทย เป็นผู้นําในเรื่องนี้ในแถบอาเซียนตอนบนด้วย
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า ทางลัดคงไม่มี ข่าวดีก็คือทุกความพยายามที่จะลด PM 2.5 มันมีประโยชน์อื่นแฝงอยู่ด้วย อย่างเช่น ถ้าลดการเผาในพื้นที่เกษตรได้มันก็ได้ปุ๋ยได้ธาตุอาหารลงไป แต่ว่าเราจะทําสิ่งเหล่านั้นได้ เราต้องไม่ใช่แค่ขอความร่วมมือ แต่เข้าใจเงื่อนไขข้อจํากัดของทุกคน แน่นอนมีบางคนอาจจะไม่ยอมร่วมมือใด ๆ เลย แต่ว่ามีส่วนน้อย ที่เค้าอะอยากจะร่วมมือแต่เค้ายังติดข้อจํากัด มันจะแก้ไขยังไง
รถยนต์ บางคนบอกว่าใช้ขนส่งสาธารณะ มันติดขัดยังไง แล้วมันจะเสริมยังไงทําให้ทุกคนสามารถที่จะร่วมมือกันได้อย่างจริงจัง งั้นถ้าเกิดเราเข้าใจเงื่อนไขข้อจํากัดมันก็จะตรงกับที่บอกว่าใส่เงินลงไป คําว่าใส่เงินลงไป จริง ๆ อย่างที่บอก มันต้องใส่ใจ เข้าใจก่อนว่ามันติดขัดตรงไหน แล้วพอใส่เงินลงไป มันก็จะสามารถที่จะทําให้เกิดผลได้
สุดท้ายก็คือ ในเขตของกรุงเทพมหานคร กลไกนึงที่น่าจะเริ่มนํามาใช้ได้แล้วก็คือการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษน ซึ่งถ้ามันมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ มาตรการฝ่ายที่ผู้ว่าฯ จะดําเนินการก็สามารถที่จะดําเนินการได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น รวมถึงสามารถร่วมงานกับจังหวัดอื่นที่อยู่รอบรอบข้างแล้วก็ใช้แผนควบคุมมลพิษเดียวกันได้ เพราะว่า นนทบุรี สมุทรปราการ ก็เป็นเขตควบคุมมลพิษอยู่แล้วะ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่อยากจะให้ดําเนินการ เพื่อที่จะช่วยทําให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จําเป็นจะต้องทําแบบสอดประสานกัน เป็นวงดนตรีเดียวกันเนี่ย ได้มีวาทยากรที่มาอยู่ข้างหน้าวง
ปิดท้ายที่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า อย่ารอร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดท่าเดียว จริง ๆ มีเรื่องที่สามารถทําได้ในระหว่างหลายอย่างเลย ฝุ่นควันข้ามแดน ถ้ารอให้หน่วยงานของรัฐเป็นคนไปตกลงกันเอง ยังไงมันก็มีท่าที สําคัญที่เค้าจะยอมกันเองมากไม่ได้ ควรจะมีสภาลมหายใจภาคประชาชนในอาเซียน สภาลมหายใจภาคประชาชนในลุ่มน้ําโขง แล้วก็สื่อสารกัน ดูดาวเทียมเห็นทุกอย่างด้วยกัน เพราะเราลมหายใจเดียวกัน ทุกคนมีปอด ไม่มีใครอยากเป็นป่วย
เรื่องที่สอง ผมอยากจะใช้ประโยชน์จากการที่มี มติ ครม. 17 ธันวาคม 2567 ที่บอกว่าให้พื้นที่สีเขียวและป่าชายเลน ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน เพราะเราได้เห็นแล้วใน 3 ปี มานี้ เจ้าของที่ดินจํานวนมากเลยไปทําเรื่องแปลก ๆ เพียงเพราะไม่อยากจะเสียภาษีที่ดิน เช่น การปักกล้วย ปลูกมะนาว แล้วก็ไม่เคยไปเก็บมันเลย ถ้าทําที่แบบนั้นที่ไหนก็ตามที่มีฟางมีเศษวัสดุการเกษตรไปเก็บอยู่ที่นั้น และมีที่ลานตากให้เค้าเรียบร้อยแบบนี้ ยกเว้นภาษีให้เค้าไปเลย ถือเป็นพื้นที่สีเขียว ผู้ที่มีอํานาจลงนามในเรื่องนี้ก็รับรู้แล้ว ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะผมได้อ่านรายงานชิ้นนี้ และท่านพอจะมองเห็นละเพียงแต่รอให้กฎกระทรวงฉบับนี้ที่มติ ครม. 17 ธันวาคม ออกให้แล้ว
เศษวัสดุการเกษตร ไม่ว่าจะ ข้าวโพด หรือ ฟางข้าว มีคนรอซื้อเยอะเลย แต่ว่าถ้าหากว่าไม่มีใครไปช่วย ขนออกมา และไม่มีที่ให้เขาเก็บ ต่อให้มีอุปกรณ์ขนออกมา แต่ไม่มีที่ให้เค้าเก็บ ในที่สุดก็เป็น ปัญหาเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นวิธีนี้ไม่ต้องรอละ ไม่ถึงกับเป็นทางลัด แต่เป็นทางที่ไม่ต้องรอ
ติดตามรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน ทำไม กทม. และภาคกลาง ถึงจัดการฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ เวอร์ชั่น UNCUT ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง