เมื่อที่อยู่อาศัยถูกทำให้แพงขึ้น จากการขยายตัวของเมือง และนโยบายการพัฒนา ทำให้การจะมีบ้านสักหลังในเมืองกรุง อาจจะเป็นไปได้อยาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีรายได้น้อย มีรายได้ไม่มั่นคง
นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย เดินทางไปที่วัดดวงแข เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านชุมชนวัดดวงแข และเครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมือง กว่า 30 คน รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัย สมาชิกวุฒิสภา เพื่อชวนกันมองภาพอนาคตข้างหน้ากับความมั่งคงในที่อยู่อาศัยที่ทุกคนอยากเห็น
–ที่อยู่อาศัยในเมือง Vs ความจน–
วันจันทร์แรกในเดือนตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อเน้นย้ำว่าการไม่มีที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง และการอยู่อาศัยในสภาพที่ไม่เหมาะสม เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข
จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ประชาชนทั่วโลกถูกบังคับให้กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นทุกปี จนตอนนี้มีประมาณ 110 ล้านคนแล้ว
ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย โดยผลวิจัย ของการเคหะแห่งชาติ พบว่า คนไทยกว่า 5 ล้านครัวเรือนไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งความยากจน คนตกงาน ที่อยู่อาศัยราคาแพงขึ้น และนโยบายการพัฒนาเมือง
วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ ขบวนการคนจนเมือง เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยจากทั่วประเทศ กว่า 2,000 คน ออกมารณรงค์และยื่นหนังสือทวงสัญญารัฐบาล ในการดำเนินนโยบายที่อยู่อาศัยที่อยู่อาศัย 4 ข้อ คือ
- ให้รัฐบาลคำนึงถึงสิทธิของพลเมืองทุกคนที่จะเข้าถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตเพื่อตัวเอง และครอบครัว ปกป้องผู้ถูกละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัย ผู้ที่ต้องถูกบังคับให้รื้อย้ายเพราะโครงการพัฒนาของรัฐ
- มอบนโยบายที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่มีที่ดินจำนวนมาก เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ ที่ดินสาธารณะ ให้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสังคมและที่อยู่อาศัย ไม่คิดเพียงการให้ภาคธุรกิจเช่า
- ไม่ซ้ำเติมปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพง ด้วยการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าถึงที่ดินและมีสิทธิถึง 99 ปี และเพิ่มสัดส่วนการถือครองคอนโดมีเนียมจาก ร้อยละ 49 เป็น ร้อยละ 75
- แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการนำค่า Ft ออกจากระบบการคิดค่าไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
นี่คือข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาจากภาคประชาชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในห่วงเวลาที่การเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงทางรายได้ ความหวังจะมีบ้านสักหลังไม่ใช่เรื่องง่าย
คนไทยเข้ามีบ้านเป็นของตัวเองได้ยากขึ้น
ผลวิจัยของการเคหะแห่งชาติ พบว่า กว่าร้อยละ 60 ของประชากร มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 34,000 บาท สามารถซื้อบ้านได้แค่ในราคา 450,000 บาท แบบผ่อนชำระ 30 ปี แต่หากมองดูราคาบ้านในตอนนี้ ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท หาได้ยากมาก คนส่วนใหญ่จึงต้องหันมาเช่าบ้านอยู่ แทนการซื้อ
และหากดูจากสถิติชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ จากรายงานของการเคหะแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ จำนวน 1,678 ชุมชน โดยกว่า 1,561 เป็นชุมชนแออัด และกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร
โดยแบ่งเป็น ที่ดินรัฐ ร้อยละ 43.44 รองลงมา คือที่ดินของเอกชน ร้อยละ 35.94 ที่ดินของวัด มัสยิด โบสถ์ ร้อยละ 11.16 และมีเพียงร้อยละ 6.56 เท่านั้นที่ตั้งอยู่ในที่ดินของตนเอง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1.91 จะเป็นที่ดินแบบผสมมีเจ้าของตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
การเกิดขึ้นของชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร
กว่า 60 ปีแล้วที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร ขยายตัวไปพร้อม ๆ กับความเจริญของเมือง นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง เมื่อปี 2504-2509
การพัฒนาประเทศ ทำให้เมืองเกิดความต้องการแรงงานจำนวนมาก ดึงดูดผู้คนจากต่างจังหวัดให้เข้ามาหางานทำ จึงเกิดการสร้างที่พักอาศัยอย่างง่าย รวมตัวกันอยู่เป็นชุมชนที่บ้านหลังคาเกยกัน ทั้งในที่ดินเช่าและรุกล้ำพื้นที่แบบผิดกฎหมาย
อย่างชุมชนคลองเตย ที่มีประวัติศาสตร์คู่เคียงมากับแรงงานก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2481–2490 ต่อมาพื้นที่ทางพาณิชยกรรมเติบโตขึ้น แรงงานจึงพากันเดินทางเข้ามาและตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งงาน จนคลองเตยกลายเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
หรือชุมชนวัดดวงแข ชุมชนแออัดติดสถานีรถไฟหัวลำโพง ในเขตปทุมวัน ที่เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นแรงงานในสถานีรถไฟและค้าขายบนรถไฟ
ปัจจุบันนี้ กรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดกระจายอยู่เกือบครบทั้ง 50 เขต และผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดส่วนมากหารายได้จากการรับจ้าง อาชีพในภาคบริการ ขายอาหารรถเข็น และการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ
ในด้านหนึ่ง คนกลุ่มนี้นับเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองให้เดินหน้าและเติบโต แต่ในอีกด้าน ความแออัดของชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายที่มา ก็ทำให้เกิดปัญหา ทั้งเรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด สุขภาวะที่ไม่ดี และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้และอุบัติภัยต่าง ๆ
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความแออัดของชุมชนในกรุงเทพฯ
ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร พยายามจัดระเบียบชุมชน แก้ไขปัญหาเรื่องอยู่อาศัยในเมือง ด้วยหลายโครงการ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยโดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย สร้างแนวทางดูแลโครงสร้างพื้นฐาน หมู่บ้าน และคอนโดเก่า และปูพรมทำฐานข้อมูลชุมชนเพื่อจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานในการดูแลประชาชน
มีการดัดแปลงอาคารเก่าตามชุมชน ทำห้องเช่าราคาถูก ให้ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้บ้านที่ต้องการที่อยู่อาศัย ในราคาประมาณ 1,000-1,500 บาท ส่วนในโครงการบ้านมั่นคง กทม.ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยสนับสนุนด้านการจัดหาพื้นที่ การออม และการช่วยเหลือตามกลไกของรัฐ
เมืองโต ชุมชนหาย
แต่ขึ้นชื่อว่าเมืองมหานคร สิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นคือการพัฒนา และหลายต่อหลายครั้งที่โครงการพัฒนาของรัฐได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน จนเกิดการตั้งคำถามว่า เรากำลังเดินหน้าการพัฒนาแบบไหน ? ที่กีดกันจนทำให้คนจนเมืองแทบจะไม่มีที่อยู่ ต้องออกจากเมืองที่เติบโต ไร้สิทธิ ไร้เสียงในการต่อรอง ไร้ตัวตนในการพัฒนาเมืองแห่งนี้
อย่างกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ต้องปิดฉากการต่อสู้ปกป้องชุมชนที่ยาวนานกว่า 26 ปีลงไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2561 หลัง กทม. ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินปี 2535 และได้นำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ หรือชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนริมทางรถไฟที่ถูกขับไล่จากการเข้ามาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นี่ยังไม่นับถึงการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เมือง สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อประโยชน์ด้านธุรกิจการค้า รวมไปถึงการออกนโยบายให้ต่างชาติเข้าถึงที่ดินได้ในระยะยาว ขณะที่ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ ก็กำลังถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม จากการปรับเปลี่ยนสีสู่พื้นที่สีแดงที่เอื้อต่อการลงทุน แต่ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของคนจน แล้วอะไรจะเป็นอนาคตของ “บ้าน คนจน เมือง”
–ที่อยู่อาศัยมั่งคงของชุมชนจะเป็นจริงได้อย่างไร–
ที่ดินแพง เมืองขยายโตขึ้นเรื่อย ๆ การจะมีบ้านสักหลังในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย หรือคนจนเมือง ที่ส่วนใหญ่ต้องเช่าบ้านอยู่ ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย นี่คือโจทย์ที่เราชวนแขกรับเชิญ 5 ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน ภาครัฐ สมาชิกวุฒิสภา และตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา มาร่วมพูดคุย
- ทองเชื้อ วระชุน ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค
- อินทิรา วิทยสมบูรรณ์ Feel Trip
- รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา
- เฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
- อิทธิพล อิงประสาร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน
การต่อสู้ของชุมชนรถไฟ เพื่อความหวังของการมีที่อยู่อาศัยที่มั่งคง
ทองเชื้อ วระชุน เล่าว่า ที่ดินรถไฟออกตัว ตั้งแต่ปี 2543 ตั้งแต่มติบอร์ด วันที่ 13 กันยายน 2543 บอกให้เช่าที่ดินราคาถูกได้ 61 ชุมชน ชุมชนเกิดเมื่อปี 2540 ผ่านมา 26 ปีแล้ว ตอนนี้ที่อยู่นอกมติบอร์ดก็เช่าได้ 63 ชุมชน ยังเหลือชุมชนสุดท้ายโรงปูนตะวันออกยังไม่เซ็นสัญญาเลย นั่นคือชุมชนสุดท้ายของมติบอร์ดปี 2543
และเมื่อปี 2565 มติบอร์ดใหม่บอกให้เช่า 300 ชุมชน ภายใน 5 ปี ตอนนี้ผ่านมา 2 ปี น่าจะได้ประมาณ 10 ชุมชน
ส่วนตัวคิดว่า รัฐควรจะต้องมีนโยบายใหญ่ก่อน นโยบายให้นำที่ดินของรัฐ มาให้ชุมชนทำที่อยู่อาศัยราคาถูก ให้อยู่ในเมืองด้วย ต้องย้ำว่าอยู่ในเมือง อยู่ใกล้แหล่งงานเดิม เพราะคนจนเป็นกำลังแรงงานหลักของเมือง จำเป็นต้องอยู่ใกล้แห่งงาน ถ้ารัฐมีนโยบายใหญ่ หน่วยงานต่าง ๆ มีที่ดิน เราใช้คำว่า แบ่งปัน ไม่ได้เอาหมดเลย แบ่งปันบางส่วนมาให้ชุมชนได้อยู่ เพราะว่าโครงการพัฒนาของรัฐเนี่ย กระจายทั่วเมืองใช่ไหมคะ เราเข้าใจว่า การคมนาคมต่าง ๆ ต้องพัฒนา และส่วนใหญ่การพัฒนาก็ไม่ได้มองว่า มีชุมชนอยู่ไหม ไม่รู้เขาเห็น หรือเขาไม่เห็นใช่ไหมคะหรือเขาไม่นับเราเป็นชุมชน
ถ้ารัฐพัฒนาแบบทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม แบ่งปันที่ดินของรัฐ เริ่มจากที่ดินของการรถไฟ ซึ่งมีมติบอร์ดแล้ว และก็ที่สาธารณะ พี่น้องบางชุมชนอยู่มาแล้วกว่า 30 ปี ไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ รัฐไม่อนุญาตให้อยู่บอกว่ามาบุกรุก จะทำอะไรก็ไม่ได้
หัวใจของเมือง คือชุมชน
อินทิรา วิทยสมบูรรณ์ กล่าวว่า เรื่องของพื้นที่สาธารณะ มันอยู่ที่นิยามการตีความ ถ้าเราพูดเรื่องการอยู่ในเมือง ผู้คนควรจะมีอำนาจในการเข้าถึงหมายถึงว่า เข้าถึงปัจจัย 4 พื้นฐาน เข้าถึงแหล่งงาน แหล่งอาชีพ การศึกษาลูกหลาน ระบบสาธารณสุข ระบบขนส่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ การเข้าถึงเหล่านี้ ถ้าเกิดเขาเข้าถึงใช้ประโยชน์ได้ เขาจะรู้สึกเป็นเจ้าของ พอเขามีส่วนร่วม มันจะสามารถทำให้เมืองมีการบริหารจัดการ และอยู่ร่วมกันได้
แต่โจทย์ก็คือว่า เราทำสิ่งนี้ได้ยากมากในปัจจุบัน เพราะว่าหลายพื้นที่ผู้คนเข้าถึงใช้ประโยชน์ได้จำกัด ด้วยความที่ว่า ผังเมืองมันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็เหมือนกลับมาที่เมื่อกี้ว่า พอเราพูดเรื่องพื้นที่สาธารณะ ในเมืองมีพื้นที่สาธารณะเยอะ แต่พอตีความว่าสาธารณะแบบที่เราตีความกันอยู่เนี่ยมันดันมองว่า รัฐเป็นเจ้าภาพ เป็นเจ้าของ ไม่ใช่ประชาชนเป็นเจ้าของ
ดังนั้น โจทย์คือ ทำอย่างไรให้คำว่าพื้นที่สาธารณะ มันมองผู้คนที่เป็นองค์ประกอบของเมืองนั้น ๆ ด้วย และทำให้นิยามของคำว่า สาธารณะมันมีความหมายใหม่
ถ้าเกิดย้อนกลับมาที่ดวงแข จากกระบวนการที่เราเดินดวงแขกันหลายรอบ แล้วก็มีกระบวนการพาน้อง ๆ คนรุ่นใหม่มาเดินหลายรอบ เพราะว่า ดวงแขทำหน้าที่นี้กับเมืองอยู่ หน้าที่ของความเป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง ซึ่งสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ จะเห็นว่า เมื่อ พื้นที่สาธารณะที่มีประโยชน์ต่อเมือง มันเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้วที่ดวงแข
แต่เมื่อมองเทียบเคียงกับสิ่งที่รัฐมอง จะมองว่าคุณอยู่มานานแล้ว คืนพื้นที่ให้กับรัฐได้ไหม ให้ได้ใช้ประโยชน์บ้าง กลายเป็นว่าปัญหาของคำว่า ส่วนรวม กับส่วนร่วม มันซ้อนกันอยู่ แล้วคำซ้อนกันอยู่ รัฐให้น้ำหนักกับคำว่าส่วนรวมมากกว่า
ถ้ามองจริง ๆ กรุงเทพฯ 50 เขต ขอบตะวันออก ตะวันตก เป็นสีเขียวแต่ใจกลางที่เป็นตัวองค์ประกอบของเมือง เมื่อก่อนมันคือสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งก็คือพื้นที่โบราณสถาน แล้วก็จะแซงไปด้วยสีส้มเข้ม ที่มีความอยู่หนาแน่น แล้วก็ค่อย ๆ ส้มจาง ๆ ถึงเหลือง คือ การอยู่อาศัย มันก็จะมีแซมเขียวอยู่บ้าง แล้วก็มีแซมน้ำเงินอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ ถ้าเข้าไปดู ผังเมืองอันใหม่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยตอนนี้ธนบุรี มีแผนจะกลายเป็นแดงทั้งหมดแล้ว เท่ากับว่า การเปลี่ยนแค่ผังเมือง ผังสีมันกำหนดอนาคตผู้คน คำถามก็คือว่า แล้วผู้คนที่เขาอยู่ตรงนั้น มีอำนาจในการที่จะเห็นอนาคตของเขา เห็นชีวิตของเขาร่วมกับเมืองขนาดไหน อันนี้คือโจทย์ที่ยังมองไม่เห็น
เวลาเราพูดเรื่องการมีที่อยู่อาศัย มันไม่ใช่เพียงแค่การมีบ้านในมิติ housing ตัวอาคารบ้านเรือน แต่มันคือความสัมพันธ์ของผู้คน มันคือ Home กับ Heart ด้วย มันคือความเป็นชุมชนความเป็นพี่น้องเครือญาติ มันคือความทรงจำของเขา มันคือประวัติศาสตร์ของเขา มันคือการศึกษาของลูกหลาน คือผู้คนที่เขาคุ้นชิน ดังนั้นการที่จะมีบ้านมันไม่ใช่เพียงแค่ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แล้วก็บอกว่านี่ ก็จัดการบ้านใหม่ให้แล้วได้
ชุมชนขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง
อิทธิพล อิงประสาร กล่าวในฐานะเจ้าของพื้นที่เขตปทุมวันว่า พื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ใจกลางเศรษฐกิจเลย แล้วก็อย่างที่บอกว่า เราไม่ควรย้ายคนจนออกไปนอกเมือง เราควรให้เมือง มีสีสันคนจน
บรรทัดทอง ที่เรากำลังมีมหกรรม และทำย่านต่าง ๆ เราทำร่วมกับทางมูลนิธิพัฒนาเด็กด้วย ก็ให้ความกรุณาที่มาทำย่านหัวลำโพง ย่านรองเมือง แล้วก็ย่านบรรทัดทอง คนที่ทำงานในร้านอาหารบรรทัดทอง ที่มีเกือบ 200 ร้าน ก็จะเป็นคนที่อยู่อาศัยเหล่านี้ เขาไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่คนที่ขับเคลื่อนและทำงานตรงนั้น เขาก็ต้องอยู่แถว ๆ นี้ ซึ่งมันก็ต้องมีที่อยู่อาศัยในราคาที่ไม่สูง มันก็คือการขับเคลื่อนเมืองในมิติของเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งด้วย มันต้องคู่กัน
ขณะที่ เฉลิมศรี ระดากูล ในฐานะหน่วยงานที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย มองว่า จุดสำคัญของหัวใจที่เราคุยกันในโครงการบ้านมั่นคง คือ ชุมชนต้องเป็นเจ้าของ ต้องเป็นแกนหลัก ต้องรวมกลุ่มกัน เพราะเราไม่ใช่แค่สร้างบ้าน แต่เรากำลังสร้างคน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
บ้านเป็นส่วนหนึ่ง เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างคน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง มันจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร และแก้ปัญหาทุกมิติยังไง เพราะงั้นอันนี้ คือ หัวใจของโครงการบ้านมั่นคง พี่น้องต้องเป็นหลัก ต้องมีส่วนร่วม ต้องเป็นเจ้าของ แต่เราทำเองไม่ได้เราต้องร่วมกับ กทม. กับสำนักงานเขต เราพยายามที่จะเริ่มให้เห็นรูปร่าง แต่ในกลไกสำคัญ ชาวบ้านยินดีที่จะมีส่วนร่วม แล้วก็แก้ไขปัญหาอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
กระบวนการของเรา คือ กระบวนการที่พี่น้องอยากแก้ไขปัญหาไม่อยากได้ฟรี ฉันต้องออมทรัพย์ ฉันต้องมีส่วนร่วม ฉันต้องมาคิดว่าออกแบบบ้านแบบโน้นแบบนี้ได้อย่างไร ก็แล้วพอมีบ้านแล้ว ที่เราคุยกันตอนเริ่มต้นว่า กิน นอน งาน เพราะฉะนั้น บ้านที่บอกว่าต้องเป็นหนี้ กินอยู่ยังไง งานทำยังไง นอนยังไง มีความสุขยังไงสุขภาพดียังไง ซึ่งมันก็จะไปโยงกับสำนักงานเขตคล้าย ๆ เป็นพ่อบ้านที่จะมาเชื่อมต่อ เสียบปลั๊กต่อ ชุมชนหลายชุมชนตามโครงการบ้านมั่นคงมีความเข้มแข็ง สามารถขอใช้งบฯ สปสช. ได้ สำนักงานเขตไปหนุนเสริมได้ หลายที่เขายืนด้วยตัวเขาเองได้
จากโครงการบ้านมั่นคงไม่เคยมีเงินเก็บ ตอนที่มีเงินออม บางสหกรณ์มีเงินหมุนเวียนประมาณล้าน สองล้านสามล้าน ไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ บ้านมั่นคง อาจจะไม่ใช่ทางออกสุดท้ายทีเดียว แต่ถ้าคนเข้าไม่ถึงจะทำยังไง กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงจะทำยังไง เราก็ทำความร่วมมือกับ กทม. เราก็สำรวจตึกร้าง กับกระทรวง พม. กรมพัฒนาสังคม บ้านเช่าคนละครึ่งแถวนี้ แถวหัวลำโพง เพราะงั้น พอช. ก็เอาเมนูนี้มาพัฒนาเป็นอีกเมนูนึง คือ บ้านเช่าราคาถูก เพื่อให้คนที่เข้าไม่ถึงบ้านมั่นคง สามารถที่จะตั้งหลักตัวเองได้ ราคา 1,800 บาท ก็จะทำให้ชาวบ้านเขาถึงได้ แต่ทั้งหมดก็คือ เป็นการรวมกลุ่มแล้วเพื่อที่จะสร้างอนาคตตัวเอง
โมเดลที่อยู่อาศัยยั่งยืน
รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง มองว่า เมืองกรุงเทพฯ เหมือนกับฟองน้ำ เหมือนกับเดินมาอยู่ในรูฟองน้ำเลย เห็นพวกเราอยู่ทำซอกตามหลืบ แต่ว่าที่สำคัญก็คือ หลายท่านได้พูดไป ก็คือใช้คำว่า เป็นคนเลี้ยงเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจในระบบที่เป็นทางการอยู่รอดได้ด้วย มีของราคาถูกกิน
ประเด็นก็คือ ท่านก็ได้ย้ำว่าก็ต้องให้มีที่อยู่อาศัยราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นแบบเช่า หรือแบบเป็นของตัวเองก็ดี แถวตลาดน้อย หรือแถวเยาวราช เข้าไปดูสภาพห้องเช่า บางห้องเช่า ก็ร่วมกันเช่า ผลัดกันนอน 3 กะ ๆ ละประมาณ 10 คน แล้วก็เป็นที่ซุกหัวนอน เพราะว่างานก็กะไม่ตรงกัน
เวลาเราไปกินของกินที่เยาวราช พวกเราไปกินของอร่อย ๆ ก็มาจากพี่น้องเหล่านี้ที่อยู่ในซอกหลืบ อยู่ในรูเล็ก ๆ ของฟองน้ำ ของเมืองที่ช่วยเลี้ยงพวกเรา เพราะฉะนั้น ในเชิงของฐานคิดในเรื่องของการมีที่อยู่อาศัย จากประสบการณ์ และในระดับสากล ต่าง ๆ ด้วย โอกาสที่จะเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เป็นเจ้าของบ้านเล็กในป่าใหญ่ยากมากขึ้น
มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2025 จะมีคนจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ประมาณสัก 440 ล้านคน โดยประมาณ ทีนี้ในแง่ของบริบทโลก ในอินเดียเอง ที่ผมสำรวจ ก็จะใช้วิธีการสร้างบ้านราคาถูก แบบบ้านมั่นคงแบบนี้ ใช้โมเดลคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเมื่อปี 2019 เขาก็เริ่มรู้สึกว่าโอกาสที่คนจนเมือง จะมีสิทธิ์มีบ้านก็จะยาก เพราะว่า ค่าใช้จ่ายก็แพง น่าจะประมาณ 30% เพราะฉะนั้นหลายประเทศก็เปลี่ยน อาจจะไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด แต่ทำคู่กัน อย่างเช่น อินเดีย นำมาสู่เรื่องของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบเช่าโดยที่มีหลายลักษณะ เช่น โครงการแบบที่เรียกว่า ppp มองเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐจะต้องร่วมลงทุน คล้ายกับระบบราง ให้สัมปทานไป หรือเป็นรูปแบบของการอุดหนุน คล้าย ๆ ให้ BOI ให้บริษัท หรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไปสร้าง โดยที่รัฐก็จูงใจด้วยภาษีอะไรต่าง ๆ นี้ รวมถึง แบบที่เราทดลองทำอยู่ด้วย ก็คือ ไปเอาที่ตึกร้าง ตึกราชการอะไรต่าง ๆ มาปรับปรุง หน่วยงานราชการสร้างเอง รวมถึงถ่ายโอนไปให้ที่ท้องถิ่น เป็นคนสร้างอะไรต่าง ๆ พวกนี้
โมเดลนี้น่าจะทำ รูปแบบอื่น ๆ ก็เช่นในอเมริกาเอง ก็จะมีการแจกคูปองให้คนจนเมืองไปเช่าที่ต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีรูปแบบที่หลากหลาย ผมคิดว่าก็น่าจะลองปรับ มาเป็นนโยบายทำควบคู่ไปได้
–โหวตฉากทัศน์–
หลังจากได้ฟังมุมมองจากวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว คุณคิดว่า อนาคตบ้านคนจนเมืองควรเป็นแบบไหน ทางรายการเรามี 3 ฉากทัศน์ ที่เป็นสารตั้งต้นของการพูดคุย มาให้ได้ลองโหวตเลือกกัน
ฉากทัศน์ที่ 1
ฉากทัศน์ที่ 2
ฉากทัศน์ที่ 3
สำหรับใครที่อยากรับชมบทสนทนาบ้าน คนจน เมือง เต็ม ๆ จากในพื้นที่ สามารถรับชมจากคลิปด้านล่างนี้เลย