
ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย คำถามสำคัญถึง “รัฐสวัสดิการ” VS “สวัสดิการชุมชน” ทางรอดของสังคมไทย ? ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนในงานมหกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน แก้จนคนอีสานใต้ ครั้งที่ 2 โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนมุมมองและบทเรียนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในมิติที่สำคัญ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ประสบการณ์การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ส่งเสริมศักยภาพเยาวชน รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีชุมชนสู่การยกระดับความยั่งยืน ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 สุนีย์ทาวเวอร์ อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
มหกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน แก้จนคนอีสานใต้ ครั้งที่ 2
“โครงการฯ มุ่งพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของครัวเรือนยากจนเป้าหมายผ่านนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย โครงการฯจึงมุ่งพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนยากจนเป้าหมาย โดยใช้ข้อมูลฐานข้อมูล PPAOS และพัฒนาระบบฐานข้อมูล Ubon Together” ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงที่มาที่ไปของกิจกรรม พร้อมย้ำถึงเป้าหมายการดำเนินโครงการ








“เป็นการดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบของ โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญความยากจน จังหวัดอุบลราชธานี (ระยะที่ 2 ปีที่ 2) เพื่อพัฒนาและยกระดับกลไกความร่วมมือเพื่อขจัดความยากจนระดับจังหวัด โดยได้ดำเนินโครงการย่อยในพื้นที่เป้าหมาย 3 โครงการได้แก่ 1) โครงการ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการท่องเที่ยววิถีชุมชนเพื่อการยกระดับรายได้อย่างยั่งยืน อำเภอดอนมดแดง 2) การเสริมสร้างโอกาสทางสังคมและสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชนสู่ห่วงโซ่คุณค่าสำหรับครัวเรือนยากจน อำเภอวารินชำราบและอำเภอเมือง และ 3) โครงการ การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
พร้อมทั้ง การวิเคราะห์ทุนการดำรงชีพ 5 ด้าน เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เช่น การส่งเสริมศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาตลาดชุมชน การพัฒนาศักยภาพด้านฝีมือ การสานตะกร้า กระเป๋าเสื่อกก การยกระดับผลิตผลทางการเกษตร เช่น การแปรรูปกล้วย มะม่วงหิมพานต์ ตลอดจนออกแบบกระบวนการติดตามหนุนเสริมให้คนจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้คนจนเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการวิจัย รวมทั้งการกระตุ้นให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็งควบคู่ไปด้วย การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทำให้โครงการสามารถรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จึงนำมาออกแสดงในงานมหกรรมสินค้า อันเป็นการพัฒนาทักษะอาชีพ นอกจากนั้นแล้ว งานมหกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน แก้จนคนอีสานใต้ นี้ยังเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการวิจัยฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วม และบทบาทในการนำเสนอและประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น”






“รัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการชุมชนกับทางรอดกับสังคมไทย ?”
หนึ่งในเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองถึงแนวทางการแก้จน คือ โจทย์รัฐสวัสดิการ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมเสวนา “รัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการชุมชนกับทางรอดกับสังคมไทย ?” นำโดย จำนงค์ จิตรนิรัตน์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม วลัย พวงผกา กลุ่มออมทรัพย์สวัสดิการเครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี อาจารย์นิรันดร คำนุ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิศิษฐ์ ผลดก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี และดำเนินรายการโดย ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จุดเริ่มต้นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเปราะบาง
ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบาง เช่น เขตน้ำท่วม หรือพื้นที่รุกล้ำที่ดินต่างเผชิญกับปัญหาซ้ำซาก เช่น ภัยพิบัติ ความยากจน หนี้สิน ระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ทั่วถึง ขาดการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและรายได้
จำนงค์ จิตนิรันดร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ชี้ว่า รัฐไทยยังไม่สามารถจัดสวัสดิการให้ประชาชนได้ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในมิติความมั่นคงทางอาหาร การจัดการภัยพิบัติ และสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน

“พวกผมซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน เห็นช่องว่างสิ่งที่อยู่ใกล้ชุมชน ทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ แล้วก็ศักยภาพของชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ผมสังเกตว่ามันถูกถ่ายเทไปสู่การจัดการของผู้อื่นซึ่งทำให้แทนที่วิถีชีวิตของชุมชน ทรัพยากรของชุมชน ที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา แทนที่จะหล่อเลี้ยงเป็นพื้นที่ทางอาหารที่หล่อเลี้ยงเราอยู่ให้เดินไปได้โดย ปกติเนี่ย มันไม่ปกตินะครับ มีนโยบายบางอย่างที่ทำให้เราสูญเสียความมั่นคงทางอาหารทางธรรมชาติ
เราก็เลยมาคิดว่าอย่างเช่น มีพี่น้องหลายชุมชนอยู่ตรงนี้ที่อยู่ในเขตภัยพิบัติ ดังนั้น ถ้าดูวงจรในหนึ่งปี ถึงแม้ว่าเราจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี มีรายได้เพิ่มเข้ามา แต่ถ้าภัยพิบัติเข้ามาโดยที่ไม่สามารถที่จะลดทอนความรุนแรงได้เราก็จะสะดุดเลยนะครับ รายได้ก็จะสะดุด การศึกษาลูกเราก็จะสะดุด ทุกชีวิต ทุกครอบครัวสะดุดหมดเลย ซึ่งอันนี้ ผมคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ปกติ ไม่โดนภาวะภัยพิบัติเราจะอยู่ได้โดยปกติทั้งปี แต่พอเจอภัยพิบัติปุ๊บ มันทำให้สะดุด ซึ่งอันนี้คิดว่าทำไงดี เราถึงจะดูแลการให้มีระบบสวัสดิการที่ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมองค่าของชุมชนยังไง คือ ถ้ามองว่าเป็นชุมชนที่เป็นแค่แรงงานถูก ๆ ไม่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การทุ่มเทลงมาดูแลช่วยเหลือก็จะน้อยลง แต่ถ้ามองว่าเป็นชุมชนที่มีคุณค่าเป็นรากฐานของสังคมไทยมันก็จะมีการทุ่มเทลงมานะครับ”
สวัสดิการชุมชนโมเดลทางรอดที่หยั่งรากจากฐานราก
กรณีศึกษาจาก “กลุ่มออมทรัพย์เครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี” นำโดย วิลัย พวงผกา แสดงให้เห็นถึงพลังของการรวมตัวในชุมชนเพื่อดูแลกันเอง ตั้งแต่การตั้งกลุ่มออมทรัพย์วันละ 1 บาท ไปจนถึงการจัดสวัสดิการครอบคลุม 7 ด้าน เช่น เจ็บป่วย ท้องแก่ การศึกษา อาชีพ และงานศพ แม้จะมีข้อจำกัดด้านทุน แต่ด้วยพลังของความร่วมมือและจิตสำนึก ชุมชนสามารถสร้างระบบสวัสดิการของตนเองอย่างเข้มแข็งได้ โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว และยืนยันว่า เรื่องที่ดินคือหัวใจสำคัญของคนจนเมือง
“เรื่องที่ดินที่เป็นหัวใจหลักสำคัญของคนจนเมืองนะคะ ทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นวารินฯ หรือว่าอุบลฯ เราก็ได้เข้าร่วมกับ พอช. ในโครงการบ้านมั่นคงนะคะ เมื่อมีการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้ระดับหนึ่ง เราก็มาคิดถึงความเป็นชุมชน ถึงโบราณที่เขาบอกว่า “เบิ่งแงงกัน” จนก้าวมาสู่การจัดตั้งกลุ่มสวัสดิการของเราอาจจะเป็นกลุ่มสวัสดิการที่แปลกประหลาดกว่าทุกที่ เพราะทุกที่กลุ่มสวัสดิการเขาจะจัดตั้งจากชุมชนหนึ่ง อยู่ในเขตสภาหนึ่ง ก็จะเป็นการทำชุมชนของชุมชนตัวเอง แต่ของเราเป็นกลุ่มสวัสดิการมาจากชุมชนสมาชิกเครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลฯ ที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นหลักนะคะ แต่เรามาทำเรื่องสวัสดิการ ดึงแนวทางการข้ามชุมชน เพราะเราคิดว่างานพัฒนามันไม่ได้อยู่ที่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่มันเป็นการเชื่อมร้อย เชื่อมโยง ที่จะหนุนช่วยซึ่งกันและกัน เราก็ลองทำทั้งหมด 10 ชุมชนนะคะ สมาชิกของเราก็เลยทำให้เราไม่ได้รับการสนับสนุนในแง่ของหนึ่งต่อหนึ่ง เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่เดียว เทศบาลก็จะไม่เป็นเจ้าภาพให้เรา เพราะว่าเราอยู่ในหลายเขต มีชุมชนที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ชุมชนที่อยู่ในเขตเทศบาลนครอุบล ชุมชนที่อยู่ อบต. ไร่น้อย ชุมชนที่อยู่ อบต. กุดลาด และชุมชนที่อยู่ที่หนองกินเพล
แต่ว่าเราทำไมยังอยู่ได้? เราตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 นะคะ เราอยู่ได้ถึง 2568 เพราะพลังความตระหนักรู้ของเราล้วน ๆ ว่าจะทำยังไงให้ชุมชนเข้มแข็ง ให้ชุมชนอยู่รอด
ถามว่าแล้วสิทธิสวัสดิการดีไหม ? ก็ดีนะคะ แต่ยังไม่ตอบโจทย์นะคะ จริง ๆ แล้วควรจะเป็นการทำงานเชิงลึกระหว่าง พมจ. กับชุมชน และนำเสนอกฎหมายว่า ถ้าชุมชนไหนที่เขาเป็นกลุ่มเป็นก้อนเข้มแข็งแล้ว น่าจะมีงบเป็นโรงที่ชอบสวัสดิการชุมชนเลย โดยบริหารจัดการโดยชุมชนเองในบริบทนั้น ๆ นะคะ
อย่างยกตัวอย่างง่าย ๆ นี่ก็เปิดเทอมแล้วนะคะ เปิดเทอมนี้รัฐบอกช่วยค่าอุปกรณ์ โรงเรียนก็ไปจัดการใช่ไหมคะ
แต่บางอย่างผู้ปกครองก็ยังซื้ออยู่ ชุดนักเรียนรู้สึกว่าให้ 200-300 บาท แต่มันซื้อมากกว่านั้นนะคะ ไม่พอค่ะ
แต่สวัสดิการชุมชนเราเข้าใจนะคะว่าเปิดเทอมแบบนี้ สมาชิกเราต้องใช้เท่าไหร่ แล้วก็ดูแลกันได้ทั่วถึง แต่มันก็ไม่ได้เป็นภาพรวมทั่วประเทศ บางพื้นที่เขายังไม่มีกลุ่ม ไม่มีองค์กร ก็เป็นหน้าที่ว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดตั้งสวัสดิการชุมชนของตัวเองทุกที่ในจังหวัดอุบลฯ เพื่อจะได้เข้มแข็งนะคะ ของเรามี “สัจจะออมวันละหนึ่งบาท” เราดูแลได้ตั้งเจ็ดเรื่องแล้วนะคะ เกิด ตั้งครรภ์ เจ็บป่วย การศึกษา อาชีพ พิการ ผู้สูงอายุ และเสียชีวิต”
รัฐสวัสดิการบทบาทที่ยังต้องพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
ในขณะที่รัฐยังคงจำกัดการเข้าถึงสวัสดิการผ่านนโยบายที่ไม่ถ้วนหน้า หรือการจัดงบประมาณแบบไม่สมดุล เช่น งบรีโนเวทรัฐสภา 10,000 ล้านบาท เทียบกับข้อเสนอเบี้ยคนท้อง 3,000 บาท/เดือน ภาคประชาชนเสนอให้รัฐดำเนินการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน ได้แก่ สนับสนุนเงินสมทบให้สวัสดิการชุมชน ปกป้องพื้นที่อาหารและสมุนไพรของชุมชน รับรองโฉนดชุมชน และ จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติและอุปกรณ์รับมือในระดับพื้นที่
“ประเทศไทยหากจะพัฒนาให้เป็นรัฐสวัสดิการในอนาคต รัฐเองต้องเรียนรู้จากงานสวัสดิการชุมชน เพราะดีไซน์ของงานสวัสดิการชุมชนคือ “เครื่องมือ” ที่พัฒนาให้ประชาชน หน่วยงาน ภาคีความร่วมมือ ได้เรียนรู้ระบบ Community Care ที่ไม่ใช่เพียงการสงเคราะห์ที่หยิบยื่นให้ แต่มันคือ ระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในสังคม ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ” อาจารย์นิรันดร คำนุ ย้ำถึงข้อเสนอบทบาทของรัฐในการการหนุนเสริมชุมชนเพื่อให้เกิดสวัสดิการที่ทุกคนมีส่วนร่วม

โอกาสของคุณภาพชีวิตที่ดี หากมี “สวัสดิการชุมชน” และ “รัฐสวัสดิการ”
1. เมื่อชุมชนมีระบบสวัสดิการของตนเอง จะสามารถช่วยลดภาระชีวิตในยามวิกฤต เช่น ค่ารักษา คลอดบุตร หรือค่าทำศพ เกิดความเข้มแข็งในระดับรากฐาน ช่วยเหลือกันเองในชุมชน ช่วยให้เยาวชนได้มีส่วนร่วม เช่น การรณรงค์สิ่งแวดล้อม เลือกตั้ง และต่อต้านยาเสพติด ลดการพึ่งพาเงินกู้และหนี้นอกระบบ
2. เมื่อรัฐมีสวัสดิการถ้วนหน้า ประชาชนทุกช่วงวัยทุกสถานะมีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ดี มีระบบรับมือภัยพิบัติและสร้างความมั่นคงด้านอาหารและที่อยู่อาศัย เสริมศักดิ์ศรีความเป็นพลเมือง ไม่ใช่เพียงผู้รับความช่วยเหลือ แต่เป็นผู้ร่วมออกแบบสังคม เมื่อทั้งรัฐและชุมชนทำงานร่วมกัน จะสร้างระบบ Community Care ที่มีทั้งโครงสร้างจากรัฐ และหัวใจจากชุมชน ร่วมกันออกแบบสวัสดิการที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบทจริงของแต่ละพื้นที่
“รัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการชุมชนกับทางรอดกับสังคมไทย ?” สะท้อนความหวังและพลังของประชาชนที่ไม่สามารถรอพึ่งพารัฐเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยืนหยัดสร้างระบบดูแลกันเองอย่างมีศักดิ์ศรี พร้อมเสนอให้รัฐ “เติม” มากกว่า “ให้” และ “ฟัง” มากกว่า “สั่ง” เพราะ “สวัสดิการ” ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่คือเรื่องของ “ชีวิต” ที่เราต้องร่วมกันออกแบบให้ทุกคนอยู่รอดอย่างมั่นคงและเท่าเทียม