กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรังยื่นหนังสือค้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง

วันนี้ (21 มีนาคม 2568 เวลา 10.00 น.) ทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ได้เข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่ฃแวดลัอม หรือ คชก. โดยมีนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในที่ประชุม

โดยทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ให้กับผู้แทน คชก. โดย นายสิทธิชัย ปิติสินชูชัย ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับหนังสือคัดค้านและขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง และได้ยื่นข้อเสนอในการบริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย ให้กับคณะคชก.ในการประชุมพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าว โดย กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างบริษัทฯ ที่ปรึกษา ได้แก่ (1) บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด (2) บริษัท ทรานส์ เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด (3) บริษัท อินฟราทรานส์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ในการจัดทำรายงาน EIA โดยหนังสือมีรายละเอียดดังนี้

หนังสือ แสดงจุดยืนคัดค้าน / ไม่เห็นด้วยกับโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) : การก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี และ ทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำสะแกกรัง

เรียน เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ขอเข้าร่วมประชุมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ร่วมกับ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) “โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี” ภายใต้ขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR)  โครงการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ที่กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างบริษัทฯ ที่ปรึกษา ได้แก่ (1) บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด (2) บริษัท ทรานส์ เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด (3) บริษัท อินฟราทรานส์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

ซึ่งขณะนี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้ส่งเล่มรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อพิจารณาโครงการฯ และจะจัดให้มีการประชุมพิจารณารายงาน EIA โครงการนี้ ในวันศุกร์ ที่ 21 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 น. ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อาคารทิปโก้ ทาวเวอร์ 2 ชั้นที่ 10 เลขที่ 118/1 ถ.พระราม 6
แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 ทางชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการฯ ขอเข้าร่วมการประชุมพิจารณารายงาน EIA ในวันและเวลา ดังกล่าวด้วย โดยชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย จะขอส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม จำนวน 5 ท่าน ดังนี้ 1) นางสาววันเพ็ญ  นาทอง 2) นางอัจฉราวดี นวลปิ่น 3) นายชัชวาล นุ่มโต 4) นางสาวสุชาดา  บัวพันธ์ 5) นายธีรภัทร  เทพพันธ์

ที่ผ่าน ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 (สองพันห้าร้อยหกสิบเจ็ด) เวลา 13.00-16.00 น. บริษัท
ที่ปรึกษาฯ ได้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการฯ (เพิ่มเติม)  ณ วัดท่าซุง (วัดจันทาราม) ศาลา 12 ไร่ โดยมีกรมชลประทาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  คณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง เข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ด้วย ซึ่งเวทีดังกล่าวมีข้อจำกัด ดังนี้

  1. เวทีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้ เนื่องจากการจัดเวทีดังกล่าวไม่ใช่รูปแบบการจัดเวทีเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  เช่น ทางบริษัทฯ ที่ปรึกษาแจ้งกับชาวบ้าน
    ในเวทีว่าให้ชาวบ้านแจ้งความประสงค์มาเลยว่าต้องการค่าชดเชยค่าเสียหายอย่างไร  ซึ่งการกระทำดังกล่าวฯ เป็นการจัดเวทีฯ เพื่อให้จบกระบวนการเท่านั้น
  2. สถานที่จัดประชุม/ระยะเวลาไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่สามารถขยายเวลาพูดคุยได้ เนื่องจากทางวัดต้องเคลียร์สถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนาหลังเวลา 16.00 น และในการแสดงความคิดเห็นต่อข้อกังวลห่วงใย ของผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการฯแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น และ (คือ ตั้งแต่เวลา 15.10-16.10 น.) ทำให้ชาวบ้าน
    ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ และผู้มีส่วนได้เสียหลายรายไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเวทีดังกล่าว เนื่องจากบริษัทฯ ที่ปรึกษาพยายามจะอธิบายแต่ละประเด็นคำถาม ซึ่งทำให้เสียเวลาต่อคำถามของชาวบ้านในประเด็นถัดไป และในขณะที่ตัวแทนชาวบ้านกำลังพูดเพื่อซักถาม บางช่วงบริษัทที่ปรึกษาฯ พยายามจะขัดจังหวะ ทำให้เวลาในการถามคำถามของชาวบ้านถามทำให้ถามคำถามได้ไม่เต็มที่อและไม่ครบทุกประเด็น แทนที่บริษัทฯ ที่ปรึกษาจะจดประเด็นที่ชาวบ้านมีข้อห่วงกังวลต่อโครงการที่จะเกิดขึ้น และหามาตรฐานแก้ไขป้องกันข้อกังวลของชาวบ้าน และในบางช่วงมีการตอบโต้กันเล็กน้อยระหว่างการถามคำถามจากตัวแทนของชาวบ้าน และบริษัทปรึกษา จึงทำให้ข้อกังวลห่วงใยของชาวบ้านที่เตรียมมาถามในเวทีดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นทุกประเด็น

แต่ทางกลุ่มชาวบ้าน ผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีการเตรียมยื่นหนังสือ เพื่อรวบรวมประเด็นข้อห่วงใย และข้อกังวล และคำถามจากชาวบ้านแต่ละกลุ่ม และได้มอบให้กับนายศรณ์จักร์ชัย ชูวาพิทักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง และบริษัทฯ
ที่ปรึกษา เพื่อจะได้นำประเด็น และข้อห่วงใยดังกล่าวไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมในรายงาน EIA และให้นำมาชี้แจงแก่คณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง และชาวบ้านรับทราบต่อไป

  • การจัดเวทีในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาไม่ได้ขอให้ชาวบ้านยกมือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการแต่อย่างใด เนื่องจากชาวบ้านที่มาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ได้รับผลกระทบทางตรงจากโครงการ
  • ข้อคิดเห็นการจัดเวทีรับฟังความคิดของบริษัทที่ปรึกษาฯ ยังมีข้อบกพร่องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยรับฟังความคิดเห็นไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินการโครงการ และกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นที่ไม่อำนวยต่อการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสรับรู้ เข้าใจ และได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการได้อย่างเต็มที่

เพื่อขจัดความกังวลต่อโครงการฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 (สองพันห้าร้อยหกสิบเจ็ด) ทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง และชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการฯ ได้ส่งหนังสือข้อห่วงกังวลต่อโครงการด้วยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางงานสารบัญ ถึงกรมชลประทาน แต่ก็ไม่ได้รับการชี้แจงจากกรมชลประทาน หรือบริษัทที่ปรึกษาในประเด็นข้อห่วงกังวลของชาวบ้านแต่อย่างใด และในวันเดียวกันนี้ทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรังชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ยื่นหนังสือข้อห่วงกังวลต่อโครงการฯ ถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วยเช่นกัน

ต่อมาในวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 (สองพันห้าร้อยหกสิบเจ็ด)  ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้ร้อง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ผู้แทนจากกรมชลประทาน ,ผู้แทนจากสน.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ,ผู้แทนจาก สน.ทรัพยากรน้ำที่ 2, ผู้แทนจาก สน.สิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4, ผู้แทนจาก สน.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุทัยธานี, ผู้แทนจาก สน.ประมงจังหวัดอุทัยธานี, ผู้แทนจาก สน.โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และบริษัทที่ปรึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานผลการตรวจสอบ และลงพื้นที่ของ กสม.

ทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ได้ประสาน สช. เพื่อจัดทำข้อมูลชุมชน CHIA (Community Health Impact Assessment) ซึ่งจะแสดงให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดต่อสื่อสาร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ด้านประมง ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งการศึกษาต้องใช้รอบระยะเวลาในการเก็บข้อมูล

ทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ได้ยื่นหนังสือข้อกังวล และห่วงใยไปยังกรมชลประทาน บริษัทที่ปรึกษา คณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง ฯลฯ แต่ยังมิได้รับการอธิบายข้อกังวล และห่วงใยจากโครงการฯดังกล่าว ทางกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง ขอแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วย และขอให้ทาง คชก. ทบทวนรายงานฯ และพิจารณาให้ยุติ โครงการก่อสร้างประตูระบายกั้นแม่น้ำสะแกกรัง เนื่องจากโครงนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ได้จริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต และสิทธิของชุมชน ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ในแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร เป็นโปรตีน ราคาถูก และมีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี (พื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่น) และยังเป็นระบบภูมินิเวศที่เอื้อต่อสัตว์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ประชาชนทุกคน ในพื้นที่ลุ่มน้ำมีสิทธิเข้าถึง และใช้ประโยชน์ ในทรัพยากรน้ำสาธารณะได้

ข้อเสนอทางเลือกการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย

1.ปัญหาน้ำเสีย : ควรเร่งรัดบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ทรัพยากรน้ำ 2561 หมวด 6 การอนุรักษ์ และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ ทั้งหน่วยงานหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำ  และมติ ครม. 2552  ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ โดบให้ทางเทศบาลเมืองอุทัยธานี ดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย รวมของเมือง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากมีการดำเนินก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย มาตั้งแต่ ปี 2550 จนถึงปัจจุบันการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และควรศึกษาระบบบำบัดน้ำเสีย ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อรองรับกับการการขยายตัวของเมือง และประชากรที่เพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลเมือง อบต.สะแกกรัง อบต.น้ำซึม อบต.ท่าซุง  อาทิเช่น ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland) เนื่องจากมีพื้นที่จำนวนมาก ที่มีลักษณะเป็นบึงธรรมชาติอยู่แล้ว เป็นระบบบำบัดน้ำเสีย ที่อาศัยกระบวนการทางธรรมชาติ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้ว แต่ต้องการลดปริมาณไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ก่อนระบายออกสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง นอกจากนี้ระบบบึงประดิษฐ์ ก็ยังสามารถใช้เป็นระบบบำบัดน้ำเสียในขั้นที่ 2 (Secondary Treatment) สำหรับบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ได้อีกด้วย ซึ่งข้อดีของระบบนี้ คือ ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้เทคโนโลยีในการบำบัดสูง และควรมีแผนงานโครงการ มาตรการส่งเสริม และสนับสนุนให้กับเกษตรกรที่ทำนา อยู่ติดกับแม่น้ำ ทำนา แบบปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย ลงสู่แหล่งน้ำ

2. การฟื้นฟูแม่น้ำสะแกกรัง : ควรให้ความสำคัญกับกับภารกิจการฟื้นฟูแม่น้ำสะแกกรัง ให้กลับสภาพมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ เนื่องจากมี คลอง หนองน้ำ และบึง หลายแห่ง อาทิเช่น คลองยาง บึงขุมทรัพย์ (หนองขุนหมา) บึงพระชนก (หนองผีเผา) บึงพะเนียด หนองปลากราย หนองเดิมพัน หนองแกแล หนองปลามัน  หนองใหญ่ ฯลฯ ที่เป็นที่เหมาะสำหรับเป็นที่หลบภัยของปลาวัยอ่อน และถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาในช่วงฤดูวางไข่ ที่ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา จะอพยพ และวางไข่ตามหนองน้ำ ต่างๆ ในแม่น้ำสะแกรัง และแม่น้ำตากแดด พอถึงฤดูน้ำท่วม ปลาก็จะแพร่กระจายไปในระบบนิเวศของหนองน้ำต่างๆ จึงทำให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ ฟูมฟักตัวอ่อนและ/หรือเส้นทางอพยพที่สำคัญของปลา ที่พึ่งพาอาศัยอยู่ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ นั้น จึงควรยกระดับให้เป็น พื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม การกำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่ควรนำมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไข และฟื้นฟูสภาพความวิกฤตของคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนป้องกันเหตุแห่งความวิกฤตในด้านต่าง ๆ อันจะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ เพื่อให้การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ
ระบบนิเวศ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลให้การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อยู่บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักของ SDG ตลอดจนป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่มิให้เสื่อมสภาพลงไป เนื่องจากในปัจจุบัน ได้มีโครงการพัฒนาของภาครัฐ หลายโครงการ ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ มีการใช้สารเคมีจากการเกษตรเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมี โครงการขุดลอกแม่น้ำสะแกกรัง โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง การบุกรุกที่หนองน้ำสาธารณะ เพื่อออกเอกสารสิทธิ์   เป็นต้น

3. ปัญหาน้ำแล้ง : การขยายพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 13,906 ไร่ ควรมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และบริหารจัดการร่วมกันในพื้นที่ชลประทานเดิม และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ และควรสร้างระบบกระจายน้ำ ต่อจากระบบสถานีสูบไฟฟ้าเดิม ที่บึงทับแต้หรือคลองยาง เนื่องจาก ระดับน้ำในคลองยาง เชื่อมต่อกับแม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีน้ำไหลเข้าสู่บึงทับแต้/คลองยาง โดยไม่มีความจำเป็นต้องไปก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งใหม่ที่บ้านภูมิธรรม เพื่อผันน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่  และควรศึกษาแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) เป็นกรอบการดำเนินงาน ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพื่อมุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกันลดความเปราะบาง สร้างขีดความสามารถในการปรับตัวที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  โดยใช้การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) จัดเป็นหนึ่งใน แนวทางภายใต้ NbS ซึ่งให้ความสำคัญกับ “การใช้ความ หลากหลายทางชีวภาพ และประโยชน์ต่างๆ จากระบบ นิเวศเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปรับตัว เพื่อช่วยให้ มนุษย์สามารถรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นพื้นที่มีความอ่อนไหว และเปราะบาง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  และต้องให้ความสำคัญในการหาผู้เชี่ยวชาญ มาจัดทำแผนแม่บท และแผนค่าใช้จ่าย ในการจัดทำแผนการอนุรักษ์ และฟื้นฟู แม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างเร่งด่วน

ควรทำการปรับปรุงประตูระบายน้ำเสด็จประพาสต้น 3 บาน เพื่อให้น้ำในแม่น้ำในเจ้าพระยา ไหลเข้าได้สะดวก เนื่องจากปัจจุบันได้มีการปรับปรุง พัฒนาบึงขุมทรัพย์ ให้เป็นสวนสาธารณะ และสถานที่จัดกิจกรรม จึงทำให้มีการสร้างถนนกีดขวางทางน้ำ และมีการขุดลอก ระดับน้ำในบึงให้มีความลึก ซึ่งส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitat) ของนก และสัตว์น้ำ และควรมีการเพิ่มช่องทางของประตูระบายน้ำให้กว้างขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการปิดประตูระบายน้ำที่เชื่อมระหว่างบึงขุมทรัพย์และแม่น้ำสะแกกรัง ทำให้น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลผ่านในบึงขุมทรัพย์
ไม่สามารถไหลเข้าสู่แม่น้ำสะแกกรังได้  และ ควรบริหารจัดการน้ำร่วมกับเขื่อนเจ้าพระยา โดยควบคุมให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +15.80 เมตร (รทก.) ถึง +16.00 เมตร (รทก.) เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง และควรพิจารณาเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตต์ มาเพื่อรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำภารกิจผลักดันน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จากภูเขาสู่ทะเล

4) ปัญหาน้ำท่วม : โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ และจะกลายเป็นสิ่งที่ก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ เพราะต่อให้มีการก่อสร้างหรือไม่ก่อสร้าง ปตร. กั้นแม่น้ำสะแกกรัง
ในฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถข้ามเกาะเทโพเข้าท่วมแม่น้ำสะแกรัง อีกทั้งน้ำจากแม่วงก์ คลองโพ ห้วยทับเสลา ไหลงมารวมกันที่แม่น้ำตากแดด แล้วก็ไหลมาสมทบเข้าท่วม แม่น้ำสะแกรัง บริเวณ พื้นที่ ต.ท่าซุง
ต.น้ำซึม ต.สะแกกรัง ต.เกาะเทโพ ต.หาดทนง ตามลำดับ ดังนั้น การก่อสร้างประตูระบายน้ำ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ดังที่ได้กล่าวมาได้ ถ้าไม่บริหารจัดการการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ร่วมกับแม่น้ำสะแกกรัง

เครือข่ายคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง จึงขอแสดงจุดยืนว่า พวกเราไม่เห็นด้วย จึงส่งตัวแทนมายื่นหนังสือคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาความคิดเห็น และข้อกังวลของพวกเราต่อโครงการดังกล่าวทางนี้ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเป็นการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

แชร์บทความนี้