“เมล็ดพันธุ์” ฟื้นความหวังหลังน้ำท่วม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่พึ่งพาการเพาะปลูกเป็นแหล่งรายได้หลัก ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกับภัยพิบัติเหล่านี้ คือความมั่นคงทางอาหารที่ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง เมื่อพื้นที่เพาะปลูกถูกทำลาย สินค้าทางการเกษตรขาดแคลน และการเข้าถึงอาหารของชุมชนถูกจำกัด

ในสถานการณ์เช่นนี้ “เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน” กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่หลากหลายและมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ในการปลูกซ้ำในปีต่อ ๆ ไป ช่วยลดการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากภายนอกที่อาจมีราคาสูงและหายากในช่วงวิกฤติ

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน “สมบัติล้ำค่า”

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านถือเป็น “สมบัติล้ำค่า” ที่เกษตรกรได้สะสมและถ่ายทอดผ่านรุ่นต่อรุ่น ด้วยความรู้ในการเก็บและเพาะปลูกที่สอดคล้องกับสภาพอากาศและดินในท้องถิ่น การใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับระบบการเกษตรในชุมชน ในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถเริ่มต้นการเพาะปลูกใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้พื้นที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมหรือภัยแล้งก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านยังช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในระบบการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงของการสูญเสียผลผลิตจากโรคพืชหรือแมลงรบกวน การเพาะปลูกพืชที่มีความหลากหลายไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังช่วยให้ดินและสิ่งแวดล้อมฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังจากภัยพิบัติ

2567 ประเทศไทยมีพื้นที่น้ำท่วม รวม 48 จังหวัด

ข้อมูลสถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม  – 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 48 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ยังคงมีสถานการณ์  19 จังหวัด กระจายอยู่ทั้งในภาคเหนือ กลาง และอีสาน และมี 29 จังหวัดกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

โดยหากมองผลกระทบด้านการเกษตร พบว่า ด้านพืช ได้รับความเสียหาย 36 จังหวัด กระทบเกษตรกร กว่า 56,000 ราย พื้นที่ 423,163 ไร่ ในจำนวนนี้เป็น พื้นที่ปลูกข้าว 378,274 ไร่ และยังมี พืชไร่ /พืชผัก /ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่น ๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย วงเงิน กว่า 600 ล้านบาท

ส่วนด้านประมง ได้รับความเสียหายแล้ว 21 จังหวัด กระทบเกษตรกร 2,975 ราย พื้นที่รวม 3,775 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 22.42 ล้านบาท

ด้านปศุสัตว์ ได้รับความเสียหายแล้ว 14 จังหวัด กระทบเกษตรกร 80,428 ราย มีสัตว์ตาย/สูญหายรวม 90,212 ตัว ทั้ง วัว/ควาย/หมู/แพะ/แกะ และสัตว์ปีก ซึ่งความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรนี้ กระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เมื่อเผชิญกับน้ำท่วมหรือภัยพิบัติอื่น ๆ การฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน การเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและสามารถเพาะปลูกได้ทันทีเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนสามารถฟื้นฟูการเกษตรและผลิตอาหารได้โดยเร็ว เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมีบทบาทที่สำคัญในการกระบวนการนี้ เพราะสามารถนำมาใช้ได้ทันที และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมท้องถิ่นที่หลากหลาย

การสร้างเครือข่ายการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านในชุมชน การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชพื้นบ้าน เป็นวิธีการสำคัญในการเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติในอนาคต และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

คุณเล่าเราขยาย “เมล็ดพันธุ์” ฟื้นความหวังหลังน้ำท่วม

คุณเล่าเราขยาย ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ดำเนินรายการ โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ ชวนสนทนาแลกเปลี่ยนกับ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ผู้ประสานงาน Thai Climate Justice for All  เพื่อเน้นย้ำถึงการรับรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมหาทางออกในสถานการณ์ภัยพิบัติที่ทั่วโลกและไทยกำลังเผชิญ พร้อมมุมมองข้อเสนอในการรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารและ “เมล็ดพันธุ์”

โลกเดือด โลกรวนเกี่ยวกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ ?
“เกี่ยวโดยตรงเลยครับ เพราะว่าโดยสภาพทั่วไป ชุมชนที่เราเห็นประสบอุทกภัยหรือภัยพิบัติครั้งนี้ ถ้าเราได้เห็นปัจจัยพื้นฐาน คือ มีความเปราะบางอยู่เดิมนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบบแผนการใช้ทรัพยากรซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องของนโยบายรัฐ บ้างสัมพันธ์กับเรื่องตลาด อันที่สองก็คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำชลประทานนะครับ ซึ่งยังไม่ค่อยสอดคล้องกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อันที่สาม คือการใช้ที่ดินที่อยู่ในส่วนข้างล่างนะครับ ไม่มีพื้นที่รับน้ำ พื้นที่เก็บน้ำ อันนั้นเป็นปัจจัยอ่อนแอเดิม แต่ที่ว่าเกี่ยวโดยตรง

ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ไม่เคยเกิดหนักขนาดนี้มาก่อน ดังนั้นเราจะเห็นปรากฏการณ์ว่า แม้แต่บางพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์มาก ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งอนุรักษ์ป่าสมบูรณ์เป็นหมื่นไร่นะครับ แล้วก็พื้นที่ใกล้เคียงไม่มีปัญหาเรื่องของความเปราะบางเรื่องระบบนิเวศเลย แต่ก็เจอดินโคลนถล่มจากการที่ฝนตกหนัก ดังนั้นอันนี้เป็นตัวชี้วัดให้เห็นชัดเจนเลยครับ ว่า เรากําลังเผชิญวิกฤตโลกรวนซึ่งระบบพื้นฐานที่มีอยู่เดิมไม่พร้อมกับรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ครับ”  ดร.กฤษฎา บุญชัย  ขยายภาพความเชื่อมโยง

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง เราไม่สามารถมองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารได้ โดยเฉพาะ สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคเหนือ ในปี 2567 ซึ่งอาจเป็นอีกรูปธรรมที่ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงและความถี่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจากการสนทนาในรายการคุณเล่าเราขยาย พอสรุปได้ว่าอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น 1) ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นและตกหนักในระยะเวลาสั้น 2) การบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ 3) การวางผังเมืองที่ไม่เหมาะสม และ 4)ภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำลายพื้นที่เกษตรกรรม แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและประเทศโดยรวม

“เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน” วัฒนธรรมอาหารของชุมชน

“อันแรกเลยก็คือ  กลับมาในภาวะที่ข้าวไม่มีกินนะครับ หมายถึงฤดูกาล ไม่นับที่เขาบริจาคนะครับที่จะต้องฟื้นกลับมาการมีพันธุกรรมพื้นบ้านนะครับ ซึ่งมันเหมาะกับระบบนิเวศนั้น ๆ และเหมาะกับระบบวัฒนธรรมและการกับการกินของเขาด้วย การเกษตรจึงต้องเป็นปัจจัยแรกคือฟื้นความมั่นคงอาหารกลับมา

เรื่องที่สองก็คือเมล็ดพันธุ์ สะท้อนถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัว อย่างเช่นช่วงนี้เจอภาวะน้ำท่วมรุนแรงนะครับปริมาณน้ำขังดินแฉะ อาจจะต้องใช้บางเมล็ดพันธุ์ หรือบางช่วง ถ้าเรากลับไปสถานการณ์ภัยแล้งสุดขั้วขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การมีเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะกับการภัยแล้ง อันเนี่ยก็มีความสำคัญเหมาะกับระบบนิเวศต่าง ๆ อันนี้ก็เรียกว่าการกระจายความเสี่ยง หรือทำให้เกษตรมีความยืดหยุ่นนะครับ ประการที่สาม ก็คือเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านกำลังกลับมาด้วยระบบเกษตรในเชิงนิเวศ เพราะว่าเกษตรเชิงเดี่ยวมีความเปราะบาง สารเคมี ปุ๋ยเคมี ที่เราเติมไปให้ดินแข็ง ดินแตก ไม่เอื้อให้การรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ได้เลย ดังนั้นการที่ระบบเกษตรเชิงนิเวศจะกลับมาได้เนี่ยต้องมีเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเป็นปัจจัยสำคัญ และอันที่สี่ คือการลดต้นทุนครับ หมายความว่าถ้าเราต้องเอาอาหารจากข้างนอกมาสนับสนุนชาวบ้านหรือเอาแม้กระทั่งเอาเมล็ดพันธุ์จากข้างนอกซึ่งต้องใช้เวลาในการเข้ากับระบบพื้นที่ ถ้าเกษตรกรมีพันธุกรรมพื้นบ้านอยู่ในมือ เราเอาตรงนี้กลับมาใช้ได้เลย เป็นการลดต้นทุน สุดท้ายก็คือการอนุรักษ์ระบบความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำให้ระบบนิเวศมีความเกื้อกูลและตอบโจทย์เรื่องวัฒนธรรมอาหารของชุมชนได้ครับ”

เมล็ดพันธุ์กับการฟื้นฟูระบบเกษตรกรรม

ภายใต้เวลาที่มีจำกัด แม้เพียงกว่า 10 นาทีของบทสนทนาบนหน้าจอทีวี แต่นั่นก็ช่วยให้ได้เห็นข้อมูลและมุมมองต่อความสำคัญของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากระบบเกษตรกรรม ซึ่งเน้นย้ำว่า “เมล็ดพันธุ์” มีบทบาทและเป็นต้นทุนสำคัญในการที่จะฟื้นฟูระบบเกษตรกรรมหลังเผชิญเกิดภัยพิบัติ ซึ่งพอสรุปประเด็นได้ ดังนี้

  1. ฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร: เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านช่วยให้เกษตรกรสามารถเริ่มต้นการผลิตอาหารได้อย่างรวดเร็ว
  1. ความยืดหยุ่นในการปรับตัว: เมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
  2. การส่งเสริมระบบเกษตรเชิงนิเวศ: เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านสนับสนุนการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความหลากหลายทางชีวภาพ
  3. การลดต้นทุนการผลิต: เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นโดยไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากภายนอก
  4. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ: ช่วยรักษาระบบนิเวศและวัฒนธรรมการบริโภคของชุมชน

ตลอดการสนทนา ดร.กฤษฎา บุญชัย ยังขยายและเน้นย้ำถึงบทบาทของภาคนโยบายที่ควรทำหน้าที่เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยืดหยุ่นของระบบเกษตรกรรมไว้อย่างน่าสนใจ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูระบบเกษตรกรรมจากภัยพิบัติและเป็นโอกาสในการวางระบบเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต  ที่ไม่เพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ 1) ส่งเสริมการทำเกษตรเชิงนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ 2) พัฒนาระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหารและการรับมือกับภัยพิบัติ 3)ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4) สนับสนุนการพัฒนาและอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และ 5) ส่งเสริมบทบาทของเกษตรกรรายย่อยในการผลิตและพัฒนาเมล็ดพันธุ์

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและรวดเร็ว  โดยแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ร่วมสนับสนุนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น เกษตรกรรายย่อยและชุมชนยากจน และหลีกเลี่ยงการใช้กลไกตลาดคาร์บอนเป็นข้ออ้างในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร การฟื้นฟูและเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบเกษตรกรรมจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนของระบบเกษตรกรรมในอนาคต

แชร์บทความนี้