นับหนึ่ง … ฝ่าด่าน สรรหา สว.2024 ?

เลือก สว. โอกาสในการเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้นะครับ ผมมองว่า มันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเข้าไปเปลี่ยน… แต่สุดท้ายผมมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเกมยาว รัฐธรรมนูญ เราต้องร่วมกันจับตาการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาจากประชาชน ตั้งแต่คำถามประชามติที่จะต้องยึดโยงกับประชาชน และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ นี่คือ หลักการสำคัญในเกมยาวที่เราจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ด้วยสองมือของประชาชน” ณัฐวุฒิ  กรมภักดี เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน กล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นจริงจัง ถึงความคาดหวังในการสรรหา สว. ครั้งนี้

ณัฐวุฒิ กรมภักดี

“การเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้นะครับ ผมมองว่า มันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเข้าไปเปลี่ยน การเลือกตั้ง สว.ในครั้งนี้ อยากให้ทุกคนย้อนกลับไปถึงที่มาและข้อจำกัดของการรับสมัครรับเลือกตั้ง สว. ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ที่มาของ สว. คือ คณะรัฐประหาร หรือ คสช. ฉะนั้น การออกแบบกลไกกติกาของการรับสมัคร สว. ย่อมนำไปสู่การรักษาอำนาจของชนชั้นที่ คสช. ออกแบบขึ้น 

สอง ก็คือว่า กระบวนการที่รับสมัครรับเลือกตั้ง พยายามที่จะสร้างข้อจำกัด กีดกัน ต่าง ๆ นานาที่ทำให้ผู้คนประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการเพื่อที่จะเป็น สว. เยอะมาก ตั้งแต่การรับสมัครที่มีเงื่อนไขของค่ารับสมัคร การที่ไม่เปิดโอกาสให้ สว. ได้แสดงวิสัยทัศน์ นะครับ 

ฉะนั้นถ้าเราตั้งหลักที่อยากจะเปลี่ยนประเทศนี้ผ่านด่านกลไกของ สว. ผ่านด้วยการเข้าไปเป็น สว. เราต้องมีความคิดที่จะเปลี่ยน เปลี่ยนในที่นี้ ตั้งแต่การที่เข้าไปเพื่อไปเปิดโปงกระบวนการ ความไม่ชอบธรรมของการรับสมัคร สว. หรือแม้แต่การเข้าไปเปลี่ยน เพื่อแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ

ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญคือคำตอบ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและยึดโยง กระบวนการ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนและหลักการของกฎหมายที่เราต้องสามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา คือ หลักใหญ่ใจความสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไต่ระดับตั้งแต่ สว. มาจนรัฐธรรมนูญ”

ณัฐวุฒิ กรมภักดี คือ หนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมล้อมวงสนทนา ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น ถอดรหัส เลือก สว. คนไทยได้อะไร ? เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสมาชิก กว่า 120 คน จากศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า นักศึกษาและคณาจารย์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมาทำหน้าที่ผู้แทนภาคประชาสังคมร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนถึงความคาดหวังในการฝ่าด่าน สรรหา สว. กับกติกาการสรรหาที่ซับซ้อนเป็นประวัติการณ์ผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย ที่จะออกอากาศทาง Thai PBS ช่อง 3 HD ในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 17.30 – 1800 น. ร่วมกับวิทยากรร่วมพูดคุย ได้แก่ มารุต  ชุ่มขุนทดCEO และผู้ก่อตั้งคลาสคาเฟ่, พรรณี เสมอภาค  เครือข่ายเกษตรกรกินสบายใจ, ศุภกิตติ์ อิงคมณี  นักศึกษา คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผศ.ดร. ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อมองหาความเป็นไปได้ไหม และปลดล็อกประเทศไทย

มารุต ชุ่มขุนทด

“การเลือกตั้ง สว.ในครั้งนี้ มันสะท้อนให้เราเห็นในหลาย ๆ เรื่อง ด้วยกัน ทั้ง มุมของภาคประชาชนเอง ที่จากเดิมมีกระแสการติดตามอย่างเข้มแข็ง มีกลุ่มประชาชนหลาย ๆ กลุ่มก้อน ที่ติดตามเรื่องนี้และอยากออกมาแสดงเสียงของพวกเขา อยากออกเข้ามาร่วม การเลือกตั้ง

แต่พอเวลาผ่านไป กลายเป็นว่าทุกคนเริ่มรู้สึกเฉย ๆ รู้สึกเฉยชา กับสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ กลายเป็นว่าเรารู้สึกสิ้นหวังรู้สึกหมดหวัง พอพวกเรารู้สึกอย่างนั้นก็ตามมันก็กลายเป็นว่าเราปล่อยวางและไม่มีการติดตามเกิดขึ้น ไม่อยากร่วมขบวนการเหล่านี้ แต่จุดเหล่านี้นะครับ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าประชาชนอย่าเพิ่งหมดหวัง ลุกขึ้นสู้ ลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนของเราอีกครั้งหนึ่งได้ครับ”

แม้ว่าความหวัง และพลังจากโอกาสในการสรรหา สว. ครั้งนี้ ดูเหมือนจะริบหรี่และมากไปด้วยเงื่อนไข แต่เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ในทางที่ดีขึ้น “ความหวัง” ของพลเมืองยังเป็นกำลังสำคัญที่ พรรณี เสมอภาค เครือข่ายเกษตรกรกินสบายใจเชื่อมั่น

พรรณี เสมอภาค

“แต่ก่อนก็เคยได้มีโอกาสเลือก สว.ด้วยตัวเอง แล้วก็รู้สึกดีมาก ๆ สว. ที่เลือกเนี่ยก็ได้ทำหน้าที่ในรัฐสภาได้ดีพอควร แต่ต่อมา หลังรัฐประหารปรากฏว่า ได้เห็น สว. ที่เราไม่รู้จัก เข้าถึงได้ยาก และการทำงานก็เห็นว่า ยกมือรับไม่รับตาม ๆ กันไป ก็เลยไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ สว. ทำงานอะไร แล้วก็ทำงานเพื่อใคร แล้วตอนนี้เนี่ยก็ถือเป็นโอกาสดีมีการเลือก สว. อีกครั้ง

แต่ก็ยังรู้สึกว่าเป็นการเลือก สว. ที่เงียบสุด ๆ แล้วก็ดูลึกลับ ซับซ้อน มากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา แล้วผู้คน ส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรกรนี่ไม่รู้เรื่องนะคะ ที่พอรู้เรื่อง ก็ เออ แบบงง ๆ เอ๊ะ…อะไร ยังไง เอ๊ะ! มากมาย ในใจ 

แต่ส่วนตัว คิดว่านี่ก็ยังถือเป็นสัญญาณที่ดี เป็นโอกาสที่ดี เป็นจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้เรามีความหวัง มีความหวังว่าอนาคตข้างหน้าเนี่ย ถ้าเราร่วมด้วยช่วยกันติดตาม แล้วก็ดูการทำงานของ สว.เราก็คงจะได้มีโอกาสตัดสินใจเลือก สว. เข้ามาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยตัวเองอีกครั้ง เพื่อทุกคน โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นรากฐานการผลิต แล้วก็เป็นฐานปิรามิดของสังคมไทย”

ฟังเสียงคนท้องถิ่น สะท้อนความหวังจากอีสาน สรรหา สว. 2024

“ในส่วนเวทีของอีสานนะครับ ถือว่าเป็นเวทีแรกของประเทศไทยนะครับที่ทาง Thai PBS ได้ลงไปจัดรายการฟังเสียงประเทศไทยนะครับ ผมได้เห็นถึงพลังเสียงของคนอีสานนะครับ จะมีทั้งความห่วงใย พลังเสียงของความสิ้นหวังนะครับ แต่โดยภาพรวมแล้ว เรียกว่าเป็นเสียงของคนอีสานอย่างแท้จริง ที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้นะครับ

เราไม่ได้มาคุยกันเฉพาะเพียงเรื่องของการสรรหา หรือการได้มาซึ่ง สว. เท่านั้น แต่เรามองถึงไกลกว่านั้นนะครับ เราเห็นพลังเสียงของคนรุ่นใหม่ ที่ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีโอกาสได้เข้าสู่กระบวนการสรรหา สว. ในรอบนี้นะครับ แต่ว่าเขาก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรที่มันลึกกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพของเสียง ที่เราไม่ใช่จะมองเฉพาะเรื่องของคนที่จะมาเป็นผู้แทนเท่านั้น แต่ทำอย่างไรความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนกับประชาชน จะมีความสัมพันธ์กัน 

ความแตกต่างของแนวคิดหรือมุมมองต่าง ๆ เนี่ย ทำอย่างไร เราจะสามารถนำเอาความแตกต่างที่เป็นมุมของประชาชนเนี่ย นำไปสู่กระบวนการถ่ายทอดในระดับที่เป็นผู้แทนของประชาชนได้

เราเห็นความหลากหลายของผู้สมัคร ที่มีความกังวลใจ แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายทุกคนมีพลังนะครับ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยต่อ ดังที่ผมได้เน้นใน section เมื่อจัดที่อีสานนะครับว่าเป็นซีรีส์ที่ 2 ที่พวกเราจะต้องมองไปข้างหน้านะครับ นี่คือพลังของชาวอีสานที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครับ” ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม

“ในฐานะที่ตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่นะครับ มีความคาดหวังกับ สว. ชุดนี้ ค่อนข้างที่จะสูงพอสมควรนะครับ เพราะเนื่องจากที่ผ่านมา ต้องยอมรับเลยว่า สว.250 คน ที่ผ่านมา ทำหน้าที่ในส่วนของเขา ก็อาจจะดีในระดับหนึ่ง แต่ในความคาดหวังของเราที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่อประเทศชาติที่เราจะต้องอยู่ต่อไปเนี่ย อาจจะสูงขึ้น แต่อาจจะทำให้ไม่ถึงขั้นที่เราต้องการอะไร

เพราะเนื่องจากว่า สว. ที่มาจากการคัดเลือก มันไม่ได้มาจากเรา จากประชาชนที่เลือกเองโดยฉะนั้นแล้ว สว. ชุดใหม่ ที่จะมาถึงเนี่ย เราก็เลยคาดหวังว่าอยากได้ สว. ชุดที่มี Mindset ที่เปิดกว้างและรับฟัง แล้วก็ยึดโยงการทำงานกับประชาชน นี่เป็นสิ่งสำคัญมากเลยครับ 

เรารู้สึกว่า สว. เป็นผู้ที่แทนประชาชนที่สูงกว่าสมาชิกรัฐสภา สมาชิก ส.ส.เขามีหน้าที่มีส่วนสำคัญต่าง ๆ ในการดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ทางกฎหมาย รวมถึงการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา ฉะนั้นแล้ว การที่เราได้ สว.ชุดที่ทำงานที่โยงกับประชาชน ทำงานซื่อตรง ทำงานตรงไปตรงมา และที่สำคัญ คือ มีหัวที่เขาเรียกว่ามี Mindset ที่เปิดกว้าง แล้วก็รับสิ่งใหม่ ๆ ไม่ปิดกั้น นี่คือสิ่งสำคัญเลยครับ ที่คนรุ่นใหม่หวัง” ศุภกิตติ์ อิงคมณี  นักศึกษาคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศุภกิตติ์ อิงคมณี

สว. กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

“ผมว่าในขั้นแรกเราต้องดูกันถึงที่มานะครับ ผมว่าไม่มีใครอยากได้เทปม้วนเก่าของ สว.250 คน แบบที่ผ่านมาอีกแล้วนะครับ ดังนั้นเนี่ยแม้ว่าตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญ 60 จะบัญญัติวิธีการเลือกกันเอง ที่ทำให้ที่มาไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรงนะครับ 

แต่เราก็พยายามจะรณรงค์ว่า ทุกคนเราไปสมัครกันนะครับ เพื่ออย่างน้อยสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมของประชาชนและให้ที่มายึดโยงกับประชาชนและให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ ทีนี้ส่วนการทำงานนะครับ เราก็คาดหวังว่า สว. ชุดใหม่นะครับ เขาจะไม่ได้เข้าไปเป็น สว.เฉย ๆ ตามระบบปกตินะครับ เราอยู่อย่างภายใต้ รัฐธรรมนูญ 60 ที่มีความพยายามแก้ไขมาแล้วหลาย 10 ครั้งนะครับ  และหลายครั้ง ส.ส. ก็เห็นด้วยทั้งหมด แต่มีเพียง สว. ที่ยังไม่เห็นด้วยนะครับ

ดังนั้นภารกิจของ สว.ชุดนี้ ก็คือการไปปรับแก้ไข รัฐธรรมนูญ ​60 รวมถึงการเปิดทางจะทำรุ่นฉบับใหม่นะครับ รวมถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระ และรวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยนะครับ ที่ที่ผ่านมาถูกแต่งตั้งโดย พลพรรคของ คสช. ถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศนี้ได้ สว. จะเป็นกุญแจดอกแรกในการทั้งแก้ไขเรื่ององค์กรอิสระแล้วก็ธรรมนูญครับ” รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล

สว.ชุดใหม่กับข้อท้าทายในการยืนหยัดเพื่อประชาชน

มารุต ชุ่มขุนทด “ถ้า สว.​ผ่านกระบวนการต่าง ๆ และเข้าไปเนี่ย การพิสูจน์ตัวเองว่าคนอายุ 40 ขึ้นไปเนี่ยก็เป็นคนรุ่นใหม่ทางความคิด คนรุ่นใหม่ที่มีพลังที่จะมาเปลี่ยนแปลง พลังที่จะมาสร้างความหวังให้กับพวกเรา อันนี้เป็นโจทย์ที่มองข้ามช็อตไปว่าเราอยากได้คนแบบนั้น ตามกติกาแบบนี้ คนแบบนั้น ตามกติกาแบบนี้ คือสิ่งที่เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี 

เพราะว่าวันนี้ไม่ว่าเราจะไปทัดทานกระแสของความเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ตัดช่วงอายุออก กำหนดขั้นต่ำของค่าใช้จ่าย ที่ต้องมาจ่ายค่าใช้จ่ายแฝงอีกเยอะแยะมากมาย มันกลายเป็นว่ากลุ่มคนต่าง ๆ โดนตัดออกไป กลุ่มคนที่รายได้น้อย กลุ่มคนที่ไม่มีกำลังจ่าย กลุ่มคนที่อายุน้อย โดนตัดออกหมด  เพราะฉะนั้น วันนี้ สว.​ที่ผ่านกระบวนการเข้าไปเนี่ย จะต้องพิสูจน์ให้เราเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ พวกเขาเองสามารถทลายข้อจำกัดความเป็นคนรุ่นใหม่ความเป็นคนที่เข้าใจคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีกำลังจ่าย ไม่มีกำลังเงิน พวกเขาต้องยืนหยัดเพื่อพวกเราได้ ต้องยืนหยัดแทนพวกเราได้ครับ”

ณัฐวุฒิ กรมภักดี “ผมคิดว่า หลักการสำคัญของการมี สว. หรือที่เราเห็นในหลายประเทศนะครับ ประเทศที่มี สว. คือ การที่ สว. คือ ต้องเป็นกลไกที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจบริหารนิติบัญญัติ หรือตุลาการ แต่ถ้าในประเทศ เราเห็นได้ชัดที่ผ่านมาไม่ใช่แบบนั้น มันคือการรับใช้ รับใช้แม้แต่อำนาจนอกระบบ อันนี้ผมคิดว่า ต้องกลับมาทบทวนหลักการแนวคิดสำคัญของการมี สว.​ นี่คือ สว.ในฝัน คือคุณจะต้องแข็งขัน แข็งขืน ต่ออำนาจที่พยายามที่เขาแทรกแซงก่อนกลไกที่จะทำให้ประชาชนตรวจสอบให้ได้ อันนี้หลักการตรงนี้ที่ผมฝันเห็น

อันที่สอง ผมคิดว่าเมื่อเราฝันเห็น สว.แบบนี้กระบวนการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นเนี่ย คนที่จะเข้าไปสมัคร สว. ในครั้งนี้ หรือสมัครแล้วนะครับ เพราะปิดรับสมัครแล้ว ผมคิดว่า คุณไม่เพียงแค่การเข้าไปสมัครเพื่อที่จะไปเป็น สว.แต่คุณต้องเข้าไปเพื่อจะไปเปลี่ยนระบบที่มันเป็นความชอบธรรม ที่ คสช. พยายามจะสร้างความชอบธรรรม ให้ตัวเอง

ถ้าคุณไม่ได้ไปเปลี่ยนกฎหมาย ไม่ได้อำนาจความเป็น สว. แบบที่เขาเพิ่มอำนาจขึ้นมา คุณก็ไม่มีทางที่คุณจะเปลี่ยน และเห็นหน้าตาของ สว.​ที่เราใฝ่ฝันได้ อันนี้ผมคิดว่านี่คือความใฝ่ฝันของผม และผมคิดว่ามันคือความใฝ่ฝันของทุกคน

แล้วถ้าวันหนึ่งมันไม่มีการเปลี่ยนเรื่องที่ผมกำลังพูดอยู่ ผมคิดว่าคำถามมันไม่ใช่แค่การถามแค่ว่า เฮ้ย สว.​เราอยากเห็นหน้าตาเป็นยังไง คำถามมันจะเลยเถิดไปถึงขั้นว่า จำเป็นต้องมี สว.ไหม อันนี้ครับคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ”

สว. และความเป็นไปได้ Possibility

ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม “ผมว่า จริงๆ แล้วเนี่ย ถึงแม้จะมองว่าเป็นเกมของผู้มีอำนาจในอดีตใช่ไหมครับ ที่ดีไซน์เกมนี้ไว้ แต่ถ้าเราต้องการไปเป็นผู้ Change game เราต้องเข้าไปเล่นในเกมครับ อันนี้คือกลยุทธ์ ซึ่งถึงแม้คนใกล้ตัวนะครับ ยกตัวอย่างเป็น Case Study ถ้าคนใกล้ตัวลาออกจากงาน ผมก็ถามว่าทำไมถึงลาออกจากงาน เขาต้องการอยากจะไปทดสอบ เขาบอกว่าเกมนี้มันเป็น experiment มันเป็นบททดสอบอันหนึ่งที่เขาอยากจะเข้าไปดูว่า ไอ้กลไกกระบวนการทำงานของ สว.ในซีรีส์ที่ 2 เนี่ยมันเป็นอย่างไร

แล้วถ้ามีโอกาสได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงก็จะนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง หรือกระบวนการทดสอบว่าซีรีส์ที่ 2 เนี่ยมันจะเวิร์คไหม ถ้าไม่เวิร์คเนี่ย อันที่ผมได้ได้พูดในเวทีอีสานบอกว่า มันเป็นกลไกการทดสอบความชอบธรรมนะครับ คือ เกมที่เขาดีไซน์มาเนี่ย ถ้าคนที่เข้าไปมีคุณภาพ แล้วเล่นตามเกม แต่เล่นมีอุดมการณ์นะครับ ต้องการการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ มันจะทำให้เกมนี้มันมันไปได้อีกสเต็ปหนึ่ง

แต่โอเคแหละ มันอาจจะมีจุดอ่อน แต่ยังอย่างน้อย คนที่เข้าไปเล่นตามเกมมีความเห็นที่แตกต่างจากเกมที่เดินไปนะครับ มันก็จะเป็นโอกาสในการแก้ไข แต่ถ้าเกิดเล่นตามเกม แล้วมัน fail นะครับ มันจะเป็นมันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เห็นถึงว่า เราถึงเวลาที่ต้องมีการแก้ไขในซีรีส์ที่ 3 ที่ผมได้มองไว้ครับ”

ผู้มีอำนาจไม่เคยทำนายอนาคตได้

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล “อย่างที่มีคนพูดไปแล้วนะครับ ก็คือว่าจริง ๆ เกมนี้มันเป็นเกมที่เขาวางเอาไว้นะครับ เมื่อผู้มีอำนาจวางเอาไว้เนี่ย แต่ผมก็ต้องเตือนไว้ว่า ผู้มีอำนาจวางอะไรไว้ มันไม่เคยเป็นแบบนั้นนะครับ เขาไม่เคยทำนายอนาคตได้ ถ้าใครจำกันได้ในการเลือกตั้งปี 62 ผู้มีอำนาจคิดระบบเลือกตั้งที่เพี้ยนที่สุดในโลก คือหนึ่งเดียวในโลกคือระบบแบบบัตรใบเดียวนะครับ

และคำนวณพิสดารนะครับ ก็ไม่เป็นไปตามนั้น ผลการเลือกตั้งก็ไม่เป็นไปตามนั้น ปี 66 ก็ไม่เป็นไปตามนั้น แล้ว สว. ชุดนี้ มันจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้ก็คือ ผู้มีอำนาจไม่เคยชนะ เมื่อเป็นเกมของประชาชน

เขาอาจจะวางกลไก เขาอาจจะวางสถาบันการเมือง เขาอาจจะวางอะไรบางอย่างเอาไว้ แต่เมื่อไรที่เราเข้าสู่คูหาเลือกตั้งเขาไม่เคยชนะนะครับ ดังนั้นเราก็เลยพยายามจะรณรงค์ว่า ประชาชนใครก็ตามที่พร้อมนะครับ มีกำลังทรัพย์ มีอายุเพียงพอ มีวัยวุฒิก็ไปกันนะครับ อย่างน้อยนี่ให้เป็นสนามของประชาชนให้ได้มากที่สุด เราทำให้มันคล้ายการเลือกตั้งมากที่สุด ถึงแม้มันจะไม่ใช่การเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนได้นะครับ โดยที่มีสนาม สว.​เป็นกุญแจดอกแรกนะครับ เวลาพูดว่าเราอยากเห็น สว.​แบบไหน มันกำลังจะพูดว่า เราอยากเห็นประเทศเป็นแบบไหนด้วยนะครับ

เพราะว่า ภาพของ สว.​มันซ้อนทับของภาพของรัฐธรรมนูญ ไม่มี สว. ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ก็จะทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้นะครับ ไม่มี สว.​เราก็ดึงให้องค์กรอิสระ เราก็ดึงให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลับมาอยู่กับร่องกับรอยไม่ได้ ดังนั้น ภาพของ สว. ชุดใหม่ มันจึงซ้อนทับกับอนาคตของประเทศด้วยนะครับ ว่าเราอยากเห็นประเทศแบบไหน ก็คือคำถามเดียวกันว่า เราอยากเห็น สว. เป็นแบบไหน”

เลือก สว. โอกาสสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย

พรรณี เสมอภาค “จริง ๆ  มองในแง่ดี นี่ก็คือจุดเปลี่ยนอีกจุดนะคะ ถึงมันจะเปลี่ยนเล็ก ๆ แต่ก็เป็น Turning Point ที่ดี แล้วอย่างที่บอกเนี่ย จุดอ่อนของผู้มีอำนาจก็คือ ถ้าเมื่อไรลงเลือกตั้ง ถ้าประชาชนให้เลือกคะแนนเสียงเนี่ยก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้นเลยวางเกมที่อาจจะสลับซับซ้อน เป็นทั้งออกแบบ แล้วก็เป็นทั้งกรรมการใช่ไหมคะ แล้วก็ควบคุม กำกับเส้นในสนามอะไรหมด เราก็เลยมองว่า จุดที่เปลี่ยนได้ก็ต้องขอบคุณหลายคนที่พยายามเข้าไป ถ้าไปถึงก็ให้เป็นพลังหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงข้างใน เหมือนระเบิดจากข้างใน

แต่พวกเราประชาชนที่อยู่ข้างนอกก็ไม่น่าจะอยู่นิ่งเฉย เรายังมีโอกาสที่จะติดตามตรวจสอบว่าชุดนี้เป็นยังไง ปกติไหม หรือผิดปกติอีก ถ้าผิดปกติ เราก็ต้องรีบส่งเสียงเพราะว่าอย่างน้อย เขาจัดการเราทุกอย่างได้ แต่เย็บปากเราไม่ได้นะคะ

เรื่องอะไรจะให้เขาเย็บปาก แล้วก็เย็บการกระทำของเรารอบนอก เพราะไม่ใช่ว่าระเบิดข้างในได้อย่างเดียว เพื่อที่จะหลุดรอดไปเนี่ย ก็คำนวณแล้ว คำนวณอีกนะ มันจะหลุดรอดไปกี่คน หลุดไปแล้วจะเจอด่านแบบยิ่งกว่า 18 อรหันต์ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น อยู่ข้างนอก อยู่เฉยไม่ได้แล้ว ยิ่งจะไม่ควรจะเฉยคือสื่อต้องช่วยกันนะคะ

สื่อยังเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลง แล้วทุกคนก็น่าจะต้องติดตาม ตรวจสอบแล้วก็สื่อสาร มีเวทีไหนที่เราจะโหวกเหวกโวยวายได้ทำเลยค่ะ ถ้าไม่เกินขอบเขตของ กฎหมายนะคะ เพราะฉะนั้น สิ่งนี้มันก็จะสะท้อนแล้วก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้คาดหวังทางใดทางหนึ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ยังเชื่อว่า มันต้องคาดหวังกับทุกคน มันถึงจะทำให้ทุกคนเป็นปกติขึ้นมาได้ อย่าให้มันอาการผิดปกติมากนะคะ”

ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม “ผมมองว่า พื้นที่สื่อหรือพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เนี่ย ไม่ใช่เฉพาะเราจะมาโหมกระแสในช่วงแรก ๆ ผมอยากจะมอง 3 สเต็ป นะครับ ในช่วงต้น ตอนนี้เรากำลังพูด ไม่ว่าจะเป็นเวทีฟังเสียงประเทศไทย เวทีต่าง ๆ ที่มีการพูดถึงเรื่อง สว. กันเยอะมากนะตอนนี้

ผมอยากให้มีอีก Series หนึ่งในช่วงกลางนะครับ เข้าไปแล้วเนี่ยเป็นอย่างไร หน้าตาของ สว. ที่เข้าไปแล้ว จะเป็นอย่างไร เป็นคนคุณภาพที่เราคาดหวังไว้ไหม เพราะตอนกลางเราจะเห็นอนาคตของ Series ที่ 3 ว่าความหวังของเรา อยากจะเห็นหน้าตาที่เปลี่ยนไปของรัฐสภาไทย มันจะเป็นอย่างไรความหวังของการอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเนี่ย มันจะเป็นไปตามที่เราหวังไว้หรือไม่ ในช่วงกลาง และตอนท้ายก็จะเป็นช่วงสรุปว่า สุดท้ายแล้วเนี่ย สิ่งที่เราผลัก 50,000 คนเข้าไปในระบบไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่”

Unlock ปลดล็อกประเทศไทย มองอนาคตการเมือง

ณัฐวุฒิ กรมภักดี “รู้สึกไฟดับเลยนะ อย่างที่บอกครับบ้านเรามันเป็น deep state เป็น “รัฐพันลึก” มาก มีหลายอย่าง เดี๋ยวก็มีหลายเรื่องให้เราวิเคราะห์ ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวโยงมาก แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคืออนาคตของเรา เราต้องออกแบบไว้ ประชาชนต้องมีกระบวนการของการออกแบบไว้ อย่างที่อีสานเครือข่ายภาคประชาชนพวกเราตอนนี้ก็มีหลายเรื่องที่เรากำลังชวนประชาชนออกแบบไว้ เพราะเราเรารู้สึกว่า เวลาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แม้แต่การเลือกตั้ง สว. อะไรต่าง ๆ ประชาชนมีความพร้อมน้อยมาก เพราะฉะนั้นโจทย์ของพวกเราที่อีสานของเครือข่ายภาคประชาชนคือการกลับไปเตรียมความพร้อมประชาชน

อันนี้คือ อนาคตที่พวกเราขีดเขียนได้ ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อำนาจต่าง ๆ นอกระบบ อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จะช่วยกันจับตา แต่เหมือนที่ทางพี่พรรณีบอกครับ สำคัญที่สุดคือการที่เราต้องสื่อสาร ต้องพูด ต้องทำให้เรื่องที่มันเคยอยู่ในแดนสนธยา ต้องทำให้เรื่องที่มันถูกพูดไม่ได้ ต้องทำให้เรื่องที่มีคนพยายามที่จะปิดปากไม่ให้คุณพูด ให้มันสร้างวัฒนธรรมของการพูดและวิพากษ์วิจารณ์กันได้สังคมมันจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า

แล้วมันก็จะสร้างกฎหมายที่มันก้าวหน้า มันก็จะสร้างผู้คนที่มีความคิดที่รับฟังกันมากขึ้นได้ โดยไม่ใช่การทะเลาะเบาะแว้ง คือผมไม่เคยเชื่อว่าการไดอะล็อกกันในความแตกต่าง มันจะเป็นความแตกแยกครับ แต่มันคือการสร้างพื้นที่สนทนาเพื่อสร้างข้อเสนอของสังคมใหม่ที่เราใฝ่ฝัน นี่ผมคิดว่าถ้าภาพอนาคต  พวกเราวางแบบนี้ เราก็จะมีพื้นที่ที่มันเป็น Emphaty ก็คือการเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แล้วก็สร้างกฎหมาย สร้างสังคมใหม่ที่มันอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ ผมคิดว่านี่คือภาพอนาคตที่ ไม่ใช่สิ…คือภาพปัจจุบันที่เราพยายามขีดเขียนร่วมกันด้วยครับ”

มารุต ชุ่มขุนทด “อนาคตของการเมืองไทยใช่ไหมครับ ผมว่ามันยังเคลื่อนไปเร็วมากนะครับ แล้วก็ Active citizen เนี่ยเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยพลังของคนที่ตื่นรู้มันเยอะขึ้น ความเปลี่ยนแปลงมันก็วิ่งเร็วขึ้น อัตราเร่งเร็วขึ้น

แต่ก็ยังมีอีกหลายเวทีที่เราอย่าลืมนะครับ อย่างเช่นช่วงสิ้นปีนี้ ปลายปีนี้จะมีเรื่องของท้องถิ่น เหมือนเดิมนะครับ ถ้ามันมีกระแสระดับประเทศ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ถ้าเมื่อไรที่เรามองข้ามไปนะครับ การเลือกตั้งท้องถิ่นเนี่ย ถ้าไม่มีกระแสนี่เสร็จเลย การเลือกตั้งเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน การเลือกตั้งเล็ก ๆ ในตำบล การเลือกตั้งในระดับอำเภอ ในระดับจังหวัดพวกนี้ครับ ที่มันจะเป็นกระแสของการเปลี่ยนแปลงได้ทุกอณู

แล้วที่สำคัญ อยู่ใกล้กับประชาชน อยู่ใกล้และมีอำนาจของการเปลี่ยนมีพลังของการเปลี่ยนแปลงได้สูงขึ้น เร็วขึ้น เรื่องพวกนี้ ยังไม่อยากให้มองข้ามนะครับ ยังอยากไม่อยากให้เป็นแค่กระแสใหญ่ ๆ แต่อยากให้เป็นพฤติกรรมหรือเป็น Behavier ของคนไทย ที่ทุกครั้งที่มีการออกเสียง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทุกครั้งที่มีการใช้สิทธิ์ เราออกมาแสดงพลังของเราทุกครั้ง เราหวงแหนในสิทธิ์ของเราทุกครั้ง แล้วมันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ระดับครับ อันนี้คือสิ่งที่อยากเห็นนะครับ”

พรรณี เสมอภาค “จริงๆ ถ้าอยู่ในเวทีนี้ น่าจะได้ตำแหน่ง สว.​แล้วนะคะ เพราะสูงวัยค่ะ และจริง ๆ คือต้องเริ่มต้นจากที่ เราต้องมีความหวังแล้วก็ไม่หมดหวัง 2 คำนี้เลย ยังไงก็ต้องมีความหวังแล้วก็ไม่หมดหวัง เพราะอย่างที่เราเคยเห็นเนี่ย ก็ผ่านมาหลายเหตุการณ์ แล้วก็มันมีเหตุการณ์ที่เรายิ้มได้เ หตุการณ์ที่เราต้องร้องไห้ เหตุการณ์ที่เราอึดอัด เราอยากโวยวาย เราอยากร้องตะโกน เพราะฉะนั้น เราผ่านทุกเหตุการณ์มาแล้ว ที่เห็นความไม่เป็นธรรม แล้วเราก็เคยได้มีโอกาสกระทั่งได้เลือก สว.มาแล้ว แล้วมันมีช่วงหนึ่งที่เราไม่ได้เลือก ก็ไม่เป็นไร

แต่สิ่งที่เราไม่ควรหยุดก็คือ สิ่งที่อยู่ข้างพวกเรา คือ พลังของของคนรุ่นต่อไปนะคะ กาลเวลายังเอื้อ ถ้ามองดู อำนาจที่มีอยู่ปัจจุบัน เราว่าขาลงนะ ถ้าเป็นกราฟเราว่ามันลง แต่ของเรากราฟมันขึ้น ดูจากเหตุการณ์การเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ของ สส. เนี่ย กราฟมันขึ้นไม่หยุดนะคะ

เพราะฉะนั้นแล้ว พลังของคนรุ่นใหม่ที่ยังมีอนาคต มีกาลเวลา ก็มันมีแนวโน้มที่จะขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อขาลงกับขาขึ้นเนี่ย เราจะหยุดความหวังไม่ได้ แล้วจุดนี้มาถึง อย่างน้อยแต่ก่อนมืดสนิทใช่ไหมคะ ก็อาจจะแว๊บ ๆ มาบ้าง  ทีนี้ของเรามันเหมือนเปิดประตูบานหนึ่ง อย่างน้อยแม้ไม่ได้เปิดทุกบาน มันเหมือนเขื่อนปากมูลค่ะ เปิดบานเดียวก็ยังดีนะคะ เมื่อเปิด หนึ่งบานเรายังมีแสง เรายังมีช่องทางที่จะไปต่อได้ ก็ขอเพียงไม่หมดหวัง

แล้วก็ระเบิดจากข้างใน แล้วข้างนอกไม่หยุดการคิด ไม่หยุดความหวัง ไม่หยุดการสื่อสาร ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงได้ เราเลยเชื่อว่า บ้านเรา เมืองเรา คนรุ่นใหม่ยังจะได้อยู่บนผืนแผ่นดิน แล้วก็สังคมที่ดีกว่า”

อย่ามองคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่น่ากลัว

ศุภกิตติ์ อิงคมณี “โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกอยากเห็นอนาคตของการเมืองไทย ที่มันดีกว่านี้ครับ เรารู้สึกว่าการเมืองไทยมันยังดีกว่านี้ได้ ยังได้มากกว่าที่เป็นเหมือนทุกวันเนี้ยครับ เหมือนที่ที่หลาย ๆ ท่านพูดเลย ว่าปัจจุบัน เราต้องยอมรับเลยว่าพลเมืองไทยเราค่อนข้างที่จะ Active มากขึ้น แบบ Active แบบอย่างรวดเร็วเลย ซึ่งดูได้จากการเลือกตั้ง

ซึ่งแน่นอนว่าการที่เราดูจากกระบวนการเลือก สส.หรือว่าอะไรต่าง ๆ นานา ต่อให้คนรุ่นผมอาจจะเป็นผมคนเดียวก็ได้มั้งที่ รู้สึกสิ้นหวังกับคำว่า สว.​แต่ก็ไม่ได้หมดหวัง กับคำว่า สว.​เพราะเรารู้สึกว่ายังไง สว. ก็เป็นด่านสำคัญ ในการเปิดประตูหลาย ๆ อย่าง

ฉะนั้นแล้วก็เลยอยากให้สังคมไทย ที่แบบการเมืองมัน very good มากกว่านี้ อย่ามองคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ให้มองคนรุ่นใหม่เป็นภาพอนาคต ถ้าคุณสามารถสร้างคนรุ่นใหม่เหล่านี้ หรือวางรากฐานให้กับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้มั่นคง ไม่ต้องห่วงเลยครับว่าอนาคตประเทศไทยก็น่ามั่นคงแน่นอน เพราะว่าคนเหล่านี้ คนรุ่นใหม่เป็นพวกผมเนี่ย จะกลายเป็นฐานในอนาคตข้างหน้าแทนทุกคนที่ไปนั่งในสภาครับ

ฉะนั้น ถ้าสมมุติเขายังคิดกลัวคนรุ่นใหม่อยู่ ว่าจะไปล้ม ไปโค่น ไปทำนู่นทำนี่ ทำเสียระบบทุกอย่าง ประเทศไทยก็จะวนลูบเป็นวงจรเหมือนที่ทุกคนเห็น แล้วต้องมานั่งคุยกันอย่างนี้อีกต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าเราเลือกที่จะหยุดคิดตรงนั้น และก้าวข้ามตรงนั้นออกไปปุ๊บ ทุกอย่างก็จะเดินหน้า แล้วแน่นอนประเทศไทยก็จะ โอ้ว…สู้ประเทศมหาอำนาจได้เลยครับ”

สร้าง “พลังบวก” การเมืองไทย

ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม “ในฐานะนักวิชาการรุ่นใหม่ ผมอยากจะชวนทุกคนเป็นพลังบวกในการมองการเมืองของประเทศไทยนะครับ ถ้าเรามองย้อนประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย ผมคิดว่ามีการก้าวมาเป็นลำดับนะครับ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่อยากให้มองการเมืองเพียงแค่ระบบใดระบบหนึ่ง แต่การเมืองคือ Ecosystem ทั้งระบบ

แล้วก็เราจะเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเมืองภาคพลเมือง เห็นด้วยกับน้องณัฐนะครับที่พูดถึงว่า ณ ตอนนี้ เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เพราะว่าการเมืองภาคพลเมืองเนี่ยมันจะ เป็น Ecosystem ที่ส่งต่อทั้งตัวเล่นทางการเมือง คือ นักการเมืองคุณภาพ แล้วก็ประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมืองในสังคมการเมือง ให้มีคุณภาพเช่นเดียวกัน

คนที่ถูกเลือกกับคนที่เลือกก็จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ ฉะนั้นเนี่ย มันอาจจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีปัญหากันบ้าง ผมคิดว่ามันคือ Learning Loop แล้วก็มันเป็นกลไกในการสร้างสร้างภูมิคุ้มกันนะครับ เหมือนกับที่อธิบายไปที่ขอนแก่นเนี่ย ก็คือ ซีรีส์แรกเรายังไม่มีภูมิคุ้มกัน ซีรีส์ที่สองจะเป็นตัว Test ภูมิคุ้มกันนะครับ พอพลเมืองจะมีภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้น ถ้ามีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง จะนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนใด ๆ ต่อได้ อย่างมีพลังนะครับ

ผมยังมองบวกนะครับในเชิงของการขับเคลื่อนการเมืองของประเทศไทย เราไม่ได้มองแค่ระบบใดระบบหนึ่งนะครับ แต่มองทั้ง Ecosystem ของการเมือง เห็นความหลากหลาย เห็นการกล้าแสดงออกของคนรุ่นใหม่นะครับ แล้วก็เห็นคนรุ่นใหม่พูดถึงเรื่องของการเมือง แบบ Active นะครับ อันนี้ก็เป็นเป็นทิศทางหรือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของของประเทศไทยครับ”

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล “ผมคงไม่กล้าจะพูดว่า อนาคตเมืองไทยจะเป็นแบบไหนนะครับ เพราะว่าถ้าเราดูกัน 4-5 ปีที่ผ่านมานะครับ ก็มีการหักมุม ก็เรียกว่านักวิเคราะห์หลาย ๆ คน ก็หักปากกาไปหลาย ๆ ด้ามนะครับ แต่ผมคิดว่า ก่อนที่เราจะไปถึงว่าเราอยากเห็นประเทศเป็นแบบไหน เราต้องมีสิทธิ์ในการจัดจินตนาการก่อน ว่าเราอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหนนะครับ

ถ้าวันนี้เรา 1 2 3 4 5 6 7 คนนี้ ขึ้นมา แล้วเราบอกว่าผมอยากจะจินตนาการว่า สังคมที่ผมอยากเห็นหน้าตาเป็นยังไง จินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่า หน้าตาเป็นอย่างไรไม่ได้นะครับ เราก็คงจะพูดถึงอนาคตไม่ได้ เช่นเดียวกันนะครับอย่างน้อยผมคิดว่าทุกคนควรจะมีสิทธิ์ในการจะจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่าให้ได้เสียก่อน

เมื่อเรามีจินตนาการของเราเอง เรามีอุดมคติของเราเองแล้ว เรามาคุยกันว่าใครมีอุดมคติแบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไรแล้วเรามาแก้ปัญหาความแตกต่างกัน ด้วยระบอบประชาธิปไตยนะครับ ด้วยการถกเถียง ด้วยการลงคะแนนนะครับต่าง ๆ นานานะครับ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปฆ่ากัน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเอากฎหมายไปยัดปากใส่ใครนะครับ และสุดท้ายผมคิดว่า เมื่อเรามีสิทธิ์ในการจินตนาการ เมื่อเราจินตนาการได้แล้วนะครับ อนาคตมันก็เป็นไปได้”

แชร์บทความนี้