ซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะไปไกลได้อีก ถ้า…

ขอพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์จงสถิตอยู่กับท่าน

May The soft power be with you คือ พาดหัวรายงาน จำนวน 19 หน้า ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) Creative Economy Agency (Public Organization) ที่เพิ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เมื่อพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

รายงานฉบับนี้ ชวนทุกท่านตั้งคำถามเกี่ยวกับความสำคัญของซอฟพาเวอร์ สำรวจมูลเหตุ และวิธีการที่ประเทศต่าง ๆ สร้างพาวเวอร์ ประโยชน์ที่ได้รับ พร้อมทั้งบทบาทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนซอฟพาวเวอร์ของประเทศ โดยแบ่งหัวข้อรายงานออกเป็น 7 เรื่อง ได้แก่

01 เราจะสร้างซอฟพาวเวอร์กันไปทำไม
02 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กับการเป็นสื่อพาวเวอร์
03 มีพาวเวอร์แล้ว ดีอย่างไร
04 บทบาทรัฐร่วมเอกชน สร้างความสำเร็จให้เกาหลีใต้
05 เราจะวัดผลสำเร็จในการสร้างซอฟพาวเวอร์กันอย่างไร
06 ส่องนโยบายและงบรัฐผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยเทียบ UK
07 ชวนคิด “ไทยพาวเวอร์” ที่ประกอบสร้างได้

เนื้อหาของรายงานเริ่มต้นด้วย ที่มาของคำว่า Soft power  ซึ่งเกิดขึ้นโดยการบัญญัติของ คุณโจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ได้ให้นิยามไว้ว่าเป็น

“ความสามารถของประเทศในการชักชวน หรือ ดึงดูดให้ผู้อื่นทำตามสิ่งที่ต้องการโดยไม่ใช้กำลังบีบบังคับ แต่ใช้ความนุ่มนวลผ่านค่านิยมและวัฒนธรรม”

พร้อมระบุว่า จุดเริ่มต้นของการแข่งขันกันแผ่อิทธิพลซอฟพาวเวอร์ เริ่มต้นหลังยุคสงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เป็นการทำสงครามผ่านตัวแทนซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกอีกต่อไป และท้ายที่สุดประเทศที่มีซอฟพาวเวอร์ที่แข็งแกร่ง มักจะดึงดูดนักท่องเที่ยว แรงงาน การลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น

เทียบคะแนนปี 2024 ระหว่างไทยและประเทศชั้นนำ

รายงานระบุว่า จากการตัดเกรดเบื้องต้น ไทยยังคงมีชื่อเสียงและน่าดึงดูดใจ สำหรับประเทศอื่น ๆ แต่ประเด็นที่เราต้องเร่งปรับปรุง คือ เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สื่อ และการสื่อสาร รวมไปถึงการศึกษา และวิทยาศาสตร์

โดย รายงานยังได้ระบุถึง จุดแข็งของไทย ว่ามีความโดดเด่นเรื่องอาหาร ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ อัธยาศัยของผู้คน และ Service mind โดยสิ่งที่น่าสังเกต คือ ด้าน Culture & Heritage ซึ่งคนในประเทศมองเป็นจุดแข็งในการสร้างอิทธิพลต่อโลก แต่ในมุมมองระหว่างประเทศ ไทยอาจไม่มีอิทธิพลในเรื่องวัฒนธรรมต่อประเทศอื่นได้มากขนาดนั้น ส่วนประเด็นที่ต้องปรับปรุง คือ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สื่อ การสื่อสาร รวมไปถึงด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ชี้นให้เห็นถึงความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญนเรื่องของการสร้าง และรักษาภาพลักษณ์ โดยเฉพาะการปรับปรุงด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้คะแนนต่ำสุดเมื่อเทียบกับ Pillar อื่น ๆ

นอกจากนี้ รายงานยังวิเคราะนโยบายรัฐในการผลักดันซอฟพาวเวอร์ไทย หลังซอฟพาวเวอร์เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน มีเป้าหมายเน้นไปที่การเพิ่มอิทธิพลทางวัฒนธรรมและชื่อเสียงของประเทศในเวทีสากล ผ่านโครงการที่หลากหลาย เช่น การจัดตั้ง THACCA  (Thailand Creative Culture Agency) ซึ่งระบุถึงการยกระดับทักษะแรงงานด้วย OFOS (1 ครอบครัว 1 ซอฟพาวเวอร์) สร้างศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนทุกพื้นที่ รื้อกฎหมาย ทลายอุปสรรคการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยใช้กลไกการทำงานรัฐร่วมเอกชนผ่าน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ล็อกเป้า 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ท่ามกลางกระแสสนทนาในสังคม พูดถึง 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งภาครัฐ นโยบาย รวมไปถึงประชาสังคม บอกว่าอยากดันให้ 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ และสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับเศรษฐกิจในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งหมดนั้นจำเป็นต้องมีกลไกหรือองค์ประกอบของ “แรงงาน” รวมอยู่ด้วย การตั้งข้อสังเกตว่า  ซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะไปได้อีกไกล ถ้า…ยกระดับแรงงาน จึงเป็นโจทย์ในการชวนแลกเปลี่ยนเพื่อฟังเสียงกันและกัน ผ่านเวทีฟังเสียงประเทศไทย

เปิดผ้าม่านกั้ง ฟังเสียงแรงงานสร้างสรรค์ดนตรีและหมอลำอีสาน

“ผมซัน นันธะชัย หัวหน้าวงดนตรีวง sunder ครับ เราเป็นนักดนตรีเอาเสียงดนตรี เสียงแคน เสียงพิณ เสียงดนตรีในลุ่มน้ำโขง และในภาคอีสาน นำเสนอเรื่องเล่าบนเรื่องราวของการแสดงบนเวที ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ เราคิดว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าของพี่น้องชาวอีสาน รวมถึงเป็นหนึ่งในจิตวิญญาณของพี่น้องในอุษาคเนย์ จะบอกเล่าให้ทุกคนได้รับฟัง ให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า เราเป็นใครมีรากเหง้าชาติพันธุ์เป็นอย่างไร และมีเสียงของหัวใจที่เกิดมาครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่านี่คือสิ่งดีงามสิ่งหนึ่ง ที่จะสร้างเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ การเขียนประวัติศาสตร์ ในยุคปัจจุบันของคนยุคผมและนี่คือเสียงพิณ เสียงแคน เสียงดนตรีของพี่น้องชาวอีสาน” ปรัชญา นันธะชัย ศิลปินอีสานคลาสสิค วง Sunder เริ่มต้นบทสนทนาอย่างภาคภูมิถึงดนตรีอีสานและจิตวิญญาณของเขาและทีมงาน

เช่นเดียวกับ เจี๊ยบ นิสา ผู้เป็นทั้งนักร้อง และนักแต่งเพลงที่มากไปด้วยฝีไม้ลายมือ โดยมีเพลงดังซึ่งเธอแต่งให้กับศิลปินลูกทุ่งอีสาน เช่น  ลำไย ไหทองคำ,  กวาง จิรพรรณ, รวมถึง ต่าย อรทัย นั้น หลายเพลงมียอดการรับชมในสื่อสังคมออนไลน์ทะลุ 100 ล้านครั้งไปแล้ว และกว่าที่จะประสบความสำเร็จ มีรายได้เหมือนทุกวันนี้ เธอบอกว่าต้องใช้เวลาบ่มเพาะ ขัดเกลา เรียนรู้และเติบโตกว่า 11 ปีที่ผ่านมา ในฐานะฟันเฟืองของแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงเพลงลูกทุ่งหมอลำด้วยการเป็นแรงงาน

“สำหรับเจี๊ยบในการแต่งเพลง เจี๊ยบแต่งเพลงตั้งแต่ ป. 5 เริ่มต้นจากการเขียนเพลงให้ฟรีบ้าง หรือให้เขาไปร้องโดยคิดค่าแต่งเพลง แค่ 100 บาท ในช่วงเริ่มต้น เพลงที่เจี๊ยบแต่งที่หลายคนได้รู้จัก ใช้เวลาประมาณ 11 ปี กว่าที่ทุกคนจะรู้จัก เจี๊ยบ นิสา คนนี้ สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากการแต่งเพลงและรู้สึกว่า อยากให้ทุกคนได้รับเหมือนเจี๊ยบ คือ ส่วนแบ่งจากลิขสิทธิ์ ซึ่งเจี๊ยบคิดว่ามันเป็นผลตอบแทนที่เป็นกำลังใจ ให้กับนักแต่งเพลงหลาย ๆ ท่าน ให้เรามีพลังในช่วงเวลาที่เรายังมีกำลังอยู่ สิ่งที่เจี๊ยบอยากให้ทุกคนได้รับคืออยากให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์ในเรื่องลิขสิทธิ์เพลง”­

ไม่เพียง ดนตรี ทำนอง คำร้อง และเนื้อเพลง สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านหลากหลายแขนง หนึ่งในผู้ร่วมแลกเปลี่ยนยังเล่าถึงที่มาที่ไป ปมปัญหาของซอฟต์พาวเวอร์ในมิติแรงงานสูงวัยซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

“ที่ผ่านมารับทราบและพบเจอปัญหาของพี่น้องศิลปินมากมายโดยเฉพาะพ่อครู แม่ครู ที่เคยเป็นซุปเปอร์สตาร์เมื่อวันวาน ปัจจุบันท่านกลับกลายเป็นคนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีงานแสดงก็ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า ไม่ได้มีบทบาทอะไรในการที่จะมาเสริมสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกท่านเหล่านั้น คือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนอีสาน หากมีการหนุนเสริมมีการส่งเสริมอย่างแท้จริง จะกลายเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนภูมิปัญญาของอีสานให้ไปสู่ทั่วโลกได้”

“หมอลำ” อุตสาหกรรมบันเทิงอีสานมูลค่าพันล้าน

รายงานวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม และคณะ ระบุว่า อุตสาหกรรมที่กระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจได้มากที่สุดของภาคอีสาน คือ หมอลำ ซึ่งสามารถสร้างผลผลิตมวลรวมกว่า 6,600 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานเฉพาะในการแสดงหมอลำ 4,856 คน การจ้างงานรวมทั้งในระบบและนอกระบบอีกกว่า 39,000 คน

และจากการจัดอันดับของ global soft power index 2022 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก แต่สำหรับมิติด้านแรงงาน อาจยังไม่มีสามารถระบุสวัสดิการมารองรับแรงงานสร้างสรรค์ได้อย่างชัดเจนหรือมีรูปธรรม

แรงงานอีสาน กลางกระแสซอฟต์พาวเวอร์

รายการฟังเสียงประเทศไทยล้อมวงเสวนา ชวนมองภาพอนาคตแรงงานอีสานกลางกระแสซอฟต์พาวเวอร์ มีเครือข่ายศิลปิน ผู้ประกอบการ นักวิชาการและคนรุ่นใหม่ร่วมแลกเปลี่ยน ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 

ในการล้อมวงคุยครั้งนี้ มีการชวนแลกเปลี่ยนและโหวตฉากทัศน์ภาพอนาคตแรงงานอีสานกลางกระแสซอฟต์พาวเวอร์ในอีก 5 ปี ข้างหน้า และพบว่า 2 ใน 3 ของฉากที่ได้รับผลโหวตเป็นอันดับหนึ่ง คือวิ่งมาราธอน ผลิดอกออกผล มีวินัยอดทน วิ่งได้ไกล สร้างผลงานสู่สายตาชาวโลก ซึ่งหมายถึงการเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นจับมือกับสถาบันการศึกษาประสานองค์ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี ธุรกิจ และการศึกษาเข้าด้วยกัน ในระบบนิเวศสนับสนุนการเติบโตและการผลิตนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความพร้อมขับเคลื่อนพัฒนาฝีมือแรงงานสร้างสรรค์สู่สายตาชาวโลก

ซอฟต์พาวเวอร์ไทย จะไปได้ไกลอีกถ้ายกระดับแรงงานไทย

“แรงงานที่เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ก็คงต้องดูจุดยืนของตัวเองว่า ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในข้อจำกัดของวงการดนตรีเราว่าเราทำอะไรได้บ้าง ในฐานะของคนที่เป็นลูกอีสาน หรือคนที่อยู่ในอุษาคเนย์ ในระดับพื้นถิ่นและในระดับนานาชาติ ซึ่งเราขาดจุดไหน เราก็ต้องเติมจุดนั้น และสิ่งไหนที่มันดีอยู่ก็พัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นไป ไม่ใช่แค่ให้ทัดเทียมกับอารยะ แต่เราควรจะขึ้นไปสูงกว่านั้นในส่วนเริ่มต้น และอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ปัญหาที่พบมากในกลุ่มศิลปินดนตรีพื้นบ้าน ก็คือชีพรอดปลอดภัย หลาย ๆ คนที่เติบโตบนเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนด้วยสายตรง หรือการจดจำ เรามักจะสะดุดในวันที่เราไม่มีรายได้ คนที่มีความสามารถในแรงงานนี้ก็จะหายไปเรื่อย ๆ จากกรณีนี้ ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยดูแล” ปรัชญา นันธะชัย ศิลปินอีสานคลาสสิค วง Sunder ฉายภาพมุมมองต่อศักยภาพของคนดนตรีที่ทัดเทียมนานาประเทศ

“เรื่องของรายได้ คือการมีส่วนแบ่ง เพราะว่ามันคือกำลังใจ มันทำให้คนที่กำลังทำงานมีแรงทำต่อไปเป็นสิ่งที่สำคัญ  เรื่องลิขสิทธิ์มองว่า ควรมีส่วนแบ่งให้กับนักร้อง นักแต่งเพลงหรือแม้แต่ผู้เรียบเรียง เพราะถือว่าเป็นกำลังใจก็จะได้ช่วยกันผลักดันเพลงมันเป็นเรื่องที่ดี” สุจิตตา นามเดช นักร้อง/นักแต่งเพลง

“เราต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองก่อน และทำให้ดีที่สุด เพราะคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มันก็คือคุณภาพที่ดีไปนั่งอยู่ในใจเขา เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ควรที่จะเป็นแม่ทัพที่ดี แล้วมาบอกกับพลทหารอีสานอย่างเรา หรือพลทหารหมอลำอย่างเราว่า คุณจะต้องฝึกกลยุทธ์ปรับกลยุทธ์เพื่อที่จะไปสู้กับคนอื่น  ผมอยากจะบอกว่าคุณภาพอย่างเดียวไม่พอสินค้าที่คนอยากได้ ไม่ได้เป็นสินค้าที่ดีอย่างเดียว แต่มันต้องดังด้วย มันต้องจับดังชนดี” สุชาติ อินทร์พรหม ผู้ก่อตั้งคณะหมอลำอีสานนครศิลป์

“ที่ผ่านมาศิลปินคนทำงานด้านศิลปะวัฒนะธรรมเหมือนศิลปินเดี่ยวทำงานโดยลำพังมีความคิดสร้างสรรค์อยากทำก็ทำ ทำแล้วมันไปสุดแต่มันไปแค่ไปได้ไวแต่ไม่ยั่งยืน มองว่าถ้าหากจะทำให้มันเกิดพลังขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริงมันต้องทำงานร่วมกันแบบ 3 ประสาน หรือไตรภาคี คือจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม รัฐมีทุนรัฐมีงบประมาณ เอกชนมีนวัตกรรม มีเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์มีความพร้อมเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญ และในส่วนของภาคประชาสังคมจะมามาช่วยขับเคลื่อนตรงนี้หากคุณจะทำให้เกิดพายุหมุน มันจะหมุนอย่างเดียวไม่ได้ พายุหมุนที่มีพลังแล้วก็มีความแรงที่สุดก็คือมันจะต้องหมุนจากฐานราก คือการรวมเอาภูมิปัญญาทั้งหมดที่มีอยู่ 11 ด้านของเราไปอยู่ในสถาบันนี้ มีการขึ้นทะเบียนมีการให้สวัสดิการมีกองทุนที่จะไปสนับสนุน ส่งเสริม สามารถให้ทำงานด้านศิลปะวัฒนธรรมได้ เพราะหากศิลปินมาห่วงแต่ปากท้องฉันจะมีกินหรือไม่ฉันจะได้หรือไม่ ความคิดสร้างสรรค์ที่มันมีอยู่มันไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน” สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน

“รัฐบาลเขาก็มีเป้าหมายอยู่แล้ว องค์กรกลางที่พูดถึงคือรัฐบาล รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะตั้งองค์กรที่ชื่อว่า THACCA ตัวนี้จะเป็นหน่วยงานกลางที่ถ้าตามนโยบายเดิมจะขึ้นตรงกับท่านนายกรัฐมนตรีและดูแลทั้ง 11 สาขาในเรื่องของ ซอฟต์พาวเวอร์ ตอนนี้มันก็มี 2 แนวคิดไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ขอสนับสนุนว่าต้องมีองค์กรกลาง ที่จะทำหน้าที่นี้ เพราะว่าหน้าที่นี้น่าจะเป็นภารกิจที่เกินกำลังของกระทรวงวัฒนธรรม ส่วนตัวที่คิดว่ามาจากการสนับสนุนยกระดับแรงงานเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะต้องทำ

แต่ว่าเมื่อเราจะยกระดับเราต้องรู้ก่อนว่า เราจะยกระดับอย่างไร ความคิดผมคือใคร จะเป็นคนกำหนดนโยบาย และใครจะเป็นคนเอานโยบายนั้นไปดำเนินการ ถ้าเราดูในประเทศไทยผู้กำหนดนโยบายมักจะมาจากนักการเมือง นักการเมืองเอาข้อมูลไปกำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัตินโยบายคือข้าราชการ ซึ่งสองส่วนนี้จากที่ได้สัมผัสมาตลอดทั้งสองส่วนนี้ไม่มีความรู้และความเข้าใจในอุตสาหกรรมเหล่านี้ดีเพียงพอ หรืออย่างที่สหภาพแรงงานก็พูดถึงเรื่อง 11 ชั่วโมงหรือ 12 ชั่วโมงทำงาน คนกำหนดนโยบายรู้และเข้าใจเรื่องนี้ดีแค่ไหน ถ้าคุณไม่รู้คุณไม่มีทางแก้ได้เพราะฉะนั้นคำตอบคงจะเป็นว่า ถ้าจะยกระดับแรงงานให้ยกระดับข้าราชการ และข้าราชการการเมืองก่อนเป็นอันดับแรก

ถ้าคุณไม่ยกระดับความรู้ความเข้าใจธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหมอลำ จะเป็นคนเขียนบท คนทำหนัง เป็นคนแต่งเพลง คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะมีวิธีวิธีไหนไหม ที่จะตั้ง THACCA ในปีหน้าแล้วบอกว่า “รู้แล้ว” เมื่อพูดถึงเรื่องดนตรีมาว่าดนตรีมีสัดส่วนอะไรบ้าง ถ้าพูดถึงเรื่องดนตรีไทย ก็เริ่มตั้งแต่หมอลำ ลิเก ลำตัด ไปจนถึงเพลงร็อคเพลงป๊อบ เพลงแจ๊ส เพลงไทยยุคสุนทราภรณ์ ทั้งหมดนี้คุณเข้าใจทั้งหมดหรือยัง คุณจะทำอย่างไรให้คุณได้เข้าใจ ภายในหนึ่งปีมันท้าทายแน่นอน แต่ถ้ามีความตั้งใจจริง และมีเม็ดเงินเข้าไป และเริ่มต้นให้การศึกษากับตัวเราเองก่อนก่อนที่จะไปทำงาน ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม” พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์  ผู้กำกับภาพยนตร์ ย้ำถึงสภาพปัญหาและแนวทางในการยกระดับแรงงานซึ่งจำเป็นต้องมีความเข้าใจเรื่องแรงงานในขั้นต้น

“ข้อเสนอของผมก็คือ ให้คนทำงานได้มีความรู้ความเข้าใจสิทธิ์พื้นฐานข้อมูลทางกฎหมายเบื้องต้นเพื่อที่จะได้รักษาสิทธิ์ของตัวเองได้ และกล้าที่จะยืนหยัดรักษาสิทธิ์ของตัวเองได้ ในขณะเดียวกันถ้าจะแก้ไขปัญหาในระยะยาวเราจะต้องมานั่งคุยและหารือร่วมกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น ฝ่ายของแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน ผู้ประกอบการ แล้วก็ภาครัฐ เป็นอย่างไรแต่ปัญหาก็คือ สภาพวงการในปัจจุบันไม่สามารถทำให้คนที่มีฝีมือสามารถอยู่รอดได้และคนรุ่นใหม่สามารถเติบโตได้” จักรภัทร ทรงพลนภจร สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ CUT ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าใจและรักษาสิทธิ์ของแรงงาน

“เมื่อคนทำงานเหล่านี้ไม่ได้มีสังกัดแตกต่างกับพนักงานประจำ ทำไมในอุตสาหกรรมนี้ถึงเป็นพนักงานประจำไม่ได้ กระทรวงแรงงานถ้าจะเข้ามาแก้ปัญหาไม่ใช่แก้แค่บนภูเขาน้ำแข็ง คุณต้องลงไปข้างล่างแล้วเราต้องกดปุ่ม หยุด  และเรียนรู้ก่อน” พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์

“เห็นด้วยอยู่นะ ว่ากดหยุด ที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมีการวางแผน ทุกคนมาทำงานร่วมกันมีเป้าของประเทศที่วางเป้าร่วมกัน การเมืองก็ต้องมองเป้าเดียวกัน เราก็อยากได้ความมั่นคง อยากได้ความยั่งยืน พ่อแม่ที่เป็นศิลปินรุ่นก่อนบอกว่าท่านเคยเป็นซุปเปอร์สตาร์ชื่อเสียงโด่งดัง แต่เมื่อแก่เฒ่ามาต้องมานอนป่วยไม่มีคนเหลียวแล ไม่มีคนเยียวยา มีแค่เงิน 900 บาท 1,000 บาทของผู้สูงอายุ ซึ่งมันไม่ได้ซึ่งมันไม่พอ ถึงแม้ว่าไปใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แต่กว่าจะมาถึงมันไม่ได้มีอะไรพิเศษถ้าไปคุยกับแรงงาน แรงงานจะบอกว่ามีประกันสังคมมาตรา 40 ที่ทุกคนจะสามารถเข้าไปจ่ายตรงนี้ได้ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือตัวเอง แต่ทำไมข้อมูลเหล่านี้ไม่เข้าถึงคนทุกคน” สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน

Possibility – ความเป็นไปได้ แรงงานสร้างสรรค์กลางกระแสซอฟพาวเวอร์

“คนอีสานบอกว่า ถ้าไม่ออกจากบ้านก็ไม่เห็นดินแดนที่ห่างไกล ถ้าไม่ไปร่ำเรียนก็ไม่มีความรู้ เมื่อไม่มีความรู้จะเอาอะไรไปสู้  ผมว่าทุกคนรู้ตัวว่าเราอยู่จุดไหนและทำอะไรได้บ้าง มากกว่านั้นคือแค่ทำได้บ้าง แต่เราอยากจะทำอะไร มันมีสิ่งที่เราอยากทำ ควรทำ และต้องทำ ผมว่าสามอย่างนี้ควรขึ้นครับ

คือผมเห็นปัญหาของนักดนตรี ผมจะย่อยเล็ก ๆ ลงมา คือ เรื่องราวของปากท้อง เราสูญเสียนักดนตรีฝีมือดีในประเทศนี้ไปทำอาชีพอื่นไปเป็นพ่อค้า ไปเป็นอาชีพอื่นที่ไม่ได้พัฒนาเรื่องราวของซอฟต์พาวเวอร์ แต่ถ้าเราสามารถจัดการปัญหาปากท้องได้เราจะมีแรงงานที่ดีฝีมือดีที่ทัดเทียมทุกอย่าง ล้ำกว่าคนบนโลกใบนี้ได้” ปรัชญา นันธะชัย ศิลปินอีสานคลาสสิค วง Sunder

ความเป็นไปได้สำหรับหมอลำ?

“เห็นด้วยครับกับการที่จะหยุด เพื่อที่จะศึกษาก่อนแต่เสริมว่าถ้าเกิดแบบคู่ขนานได้ เราต้องรู้จักหน้าที่ตัวเองให้มันเกิดคุณภาพที่ดีที่สุดก่อน ให้มันถูกการซื้อก่อน เมื่อมันถูกการซื้อแล้วผมเชื่อว่าเราก็อยากจะมาโฟกัสและช่วยกันแก้ปัญหา เอามันไปขายให้ได้ แม่ค้าก็ต้องเป็นคนไปศึกษากลยุทธ์ว่าโลกนี้ อะไรบ้างที่เราจะสามารถไปสู้ไปแข่งและทำดี แล้วคุณก็เอาสิ่งนั้นมาบอกเรา เพราะเดี๋ยวนี้มันง่ายกว่าสมัยก่อนเพราะมีข้อมูล ที่เก็บไว้หมดแล้วคือแหล่งแรงงานที่สร้างสรรค์ มีจิตวิญญาณและทำให้คนที่ชอบอาชีพแบบนี้หรือ ไปทำอย่างอื่นได้ยากเขามีอาชีพที่สร้างเนื้อสร้างตัว และเป็นครอบครัวได้จริงๆ มันจะถูกแก้ปัญหาได้ถูกจุด” สุชาติ อินทร์พรหม ผู้ก่อตั้งคณะหมอลำอีสานนครศิลป์

“อย่างเกาหลีใต้ ในเรื่องของภาพยนตร์ เราจะเห็นว่าในเรื่องภาพยนตร์เขาประสบความสำเร็จมากแต่ว่า หากย้อนไปก่อนหน้านี้ก่อนยุค 90 ระบบการทำงานของเขาถือว่าเละเทะมาก งานที่ออกมาประสบความสำเร็จถือว่าน้อยมากเพราะตอนนั้นเขาใช้เป็นแนวทางการทำงานแบบ over production ปัญหาที่ตามมาก็คือการทำงานที่ทะลุ 16 ชั่วโมง หรือค่าจ้างสัญญาจ้างต่างๆ อาจจะเรียกว่าแย่กว่าไทยด้วยซ้ำ และสุดท้ายทางกลุ่มแรงงานภาพยนตร์ของเกาหลีเขาก็ตั้ง เป็นสมาพันธ์แรงงานภาพยนตร์เกาหลีใต้ขึ้นมา และเจรจากับทางสมาคมผู้ประกอบการภาพยนตร์ ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นเราจะต้องมาร่วมมือกันแก้ไขกันอย่างจริงจัง จนสุดท้ายได้เป็นข้อตกลง การถ่ายทำไม่เกิน 12 ชั่วโมง สัญญาจ้างเข้าไปอยู่ใน พรบ. ภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ในปี 2558” จักรภัทร ทรงพลนภจร สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ CUT

“ตอนนี้ที่บอกว่าหยุดอะไรไว้ก่อน แต่กำลังมองว่าถ้าหากมันจะขับเคลื่อนได้ ตอนนี้เรื่องของกระแสของซอฟต์พาวเวอร์ กำลังเป็นที่สนใจเขาบอกว่า จะตีเหล็กต้องตีตอนร้อน ถ้าเราไม่ตีตอนนี้ถ้าหากเราไปหยุดเอาไว้บางส่วนมันจะไปไม่ได้ มองว่าสถาบัน THACCA ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นความหวังมาก ว่ามันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนวงการซอฟต์พาวเวอร์ ไปได้ แค่เพียงว่าองค์กรที่เกิดขึ้นมาต้องฟังคนที่ทำงานจริงคนที่เป็นตัวจริง อย่าไปเอาตัวแทน และฟังเฉพาะตัวแทนอย่างเดียว

และที่สำคัญที่สุดก็คือ เห็นว่าตอนนี้กำลังจะไปรับฟังความคิดเห็น โดยการยกร่างอะไรขึ้นมาแต่ไม่รู้เลยว่าไปเอามาจากไหน เอาเนื้อหาเอาข้อมูลมาจากไหน แล้วจะไปเปิดรับฟังความคิดเห็น ความจริงก็คือคน จากข้างล่าง มากกว่าที่จะมาจากข้างบนและไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่รู้ว่าทั่วถึงขนาดไหน เรื่องนี้ก็เลยอยากจะฝากไว้ว่า THACCA มาดีแล้ว ดูเหมือนจะมีความปรารถนาดีแล้วแต่กระบวนการ วิธีการ และเป้าหมาย ควรจะมีการออกแบบและวางแผนร่วมกัน เพื่อเป็นความหวังที่แท้จริงของซอฟต์พาวเวอร์ไทย” สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน

ซอฟพาวเวอร์ไทยจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้า…

“จับดีชนดัง” สุชาติ อินทร์พรหม ผู้ก่อตั้งคณะหมอลำอีสานนครศิลป์

“ส่งเสริมสิทธิแรงงานสร้างสรรค์” จักรภัทร ทรงพลนภจร สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ CUT

“เราช่วยกันสร้างระบบนิเวศที่ดี และต่อยอดในสิ่งที่มีอยู่อย่างก้าวกระโดด ไม่ทิ้งคนข้างหลังและไม่มองข้ามคนในปัจจุบัน วางแผนให้คนในอนาคตอย่างละมุนละม่อม” ปรัชญา นันธะชัย ศิลปินอีสานคลาสสิค วง Sunder

“เข้าใจคนลงมือทำ หนุนเสริมในสิ่งที่เขาไม่รู้” สุจิตตา นามเดช นักร้อง/นักแต่งเพลง

“ทำให้ศิลปินไม่ไส้แห้ง ถ้าปากได้กิน ท้องได้อิ่มเมื่อไร ความสร้างสรรค์จะบรรเจิดทันที และที่สำคัญที่สุดก็คือทำให้เขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน อย่าเอาเปรียบ แล้วมันจะมีพลังที่จะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปด้วยกัน” สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน

“เท่าที่คิดตอนนี้นะครับ เราจะแก้ปัญหาอะไรในชีวิตผมแก้ด้วยอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าคุณรู้ทุกข์และรู้เหตุแห่งทุกข์ คุณก็จะรู้วิธีแก้ปัญหา ผมคิดว่าซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นปัญหาใหญ่ที่เริ่มจากความไม่รู้

เพราะฉะนั้นต้องเริ่มที่รู้ก่อนครับ เพราะถ้าคุณรู้คุณจะแก้ไขปัญหาได้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือเรื่องแรก มันต้องเริ่มที่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าเราตั้งแง่กัน ว่าคนนั้นเป็นคนนี้การบริหารงานเรื่องคนไม่สำเร็จครับ เพราะฉะนั้นถ้าจะฝากก็คือ อริยสัจ4 และเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เอาสองอันนี้รวมด้วยกัน ถึงจะแก้ปัญหาซอฟต์พาวเวอร์ได้” พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ / ผู้กำกับภาพยนตร์

ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น ยังคงติดตามและสร้างพื้นที่สนทนาอย่างสร้างสรรค์ในหลายประเด็น รวมถึงแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ จึงจำเป็นอย่างมากมที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันระดมสรรพกำลังเพื่อเติมและยกระดับแรงงานไทยให้ไปไกลได้อีกภายใต้โจทย์ของซอฟพาวเวอร์ที่ขอให้พลังแห่งความคิด พลังแห่งชีวิตและความสร้างสรรค์ ยังสถิตอยู่กับคุณ

แชร์บทความนี้